วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

[1788] ต้องทั้ง realistic และ optimistic ในการฝึกอังกฤษ

สวัสดีครับ
จากการเขียนบล็อกนี้ ผมได้อ่านข้อความที่หลายคนเล่าปัญหาในการเรียนภาษาอังกฤษ หลายคนท้อแท้ หลายคนบ่น และก็แน่นอนว่า คนที่ท้อแท้หรือบ่นมักจะเป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษอย่างที่ต้องการ คนที่เก่งได้ดังใจมักไม่ค่อยบ่น หรือไม่ท้อแท้

แต่ในโลกอินเทอร์เน็ตนี้ก็มีผู้รู้และผู้หวังดีมากมายให้คำแนะนำว่า จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เก่ง คำแนะนำเหล่านี้มีความยาวตั้งแต่ 1 บรรทัด, 1 หน้า, จนถึง 1 เล่ม จนน่าแปลกใจว่า ทั้ง ๆ ที่คำแนะนำที่ดีก็มีมากมายเช่นนี้ ทำไมคำบ่นและคำท้อแท้ก็ยังมีให้อ่านมากมายเหมือนเดิม หรือนี่หมายความว่า คำแนะนำใช้ไม่ได้ หรือใช้ได้แต่คนไม่เอาไปใช้ หรือจริง ๆ แล้วมันมีอะไรที่มากกว่านี้ ซับซ้อนกว่านี้

อย่างไรก็ตาม วันนี้ผมขออนุญาตเขียนสิ่งที่ตัวเองคิดเกี่ยวกับการฝึกภาษาอังกฤษสักนิดนะครับ

เมื่อมองมามองไปหลายเที่ยว ผมได้ข้อสรุปว่า การที่ใครจะฝึกภาษาอังกฤษได้สำเร็จ เขาจะต้องเป็นคนที่ทั้ง realistic และ optimistic ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
Realistic คือ มองความจริงของชีวิต
Optimistic คือ มองด้านดีของชีวิต

ในระยะหลังๆ นี้ ผมได้ยินคนพูดถึงคำหลังมากกว่าคำแรก โดยแปลคำว่า optimistic ว่า คิดบวก คิดในด้านบวก หรือถ้อยคำทำนองนี้ แต่ผมได้ยินคนพูดถึงคำว่า realistic น้อยกว่า และวันนี้ผมขอพูดถึง 2 คำนี้ในการฝึกภาษาอังกฤษ

คำว่า realistic คือ มองความจริงของชีวิต เมื่อมองจริง ๆ ก็ต้องเห็น คือเห็นว่าทุกกิจกรรมของชีวิต ซึ่งรวมทั้งการฝึกภาษาอังกฤษด้วย มี 2 อย่างคู่กัน คนที่ฝึกภาษาอังกฤษก็ต้องเจอทั้ง 2 อย่าง จะเลือกเจออย่างเดียวคงยาก แม้ว่าอาจจะเจอไม่พร้อมกัน ไม่เท่ากัน เช่น

-เจอทั้งเรื่องที่เรียนแล้วรู้เรื่องและไม่รู้เรื่อง ทั้งเรื่องที่เข้าใจและไม่เข้าใจ ภาษาอังกฤษบางเรื่องอ่านแล้วรู้เรื่อง แต่บางเรื่องก็อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง คนที่ไม่ยอมเจอ 2 เรื่อง พออ่านรู้เรื่องก็ใจฟู พอไม่รู้เรื่องก็ใจแฟบ

-เจอทั้งเรื่องที่เจอแล้วจำ และเจอแล้วลืม บางคนเจอศัพท์และจำได้ก็ลิงโลด แต่เจอแล้วลืมก็หงุดหงิด นี่ก็แสดงว่ายังอยากจะเจออย่างเดียวอย่างที่ผมว่า
-เรื่องภาษาอังกฤษที่จำเป็นต้องฝึกฝน ก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีทั้งเรื่องที่ชอบและไม่ชอบ ถ้าชอบแม้จะยากก็ออกแรงเยอะ แต่ถ้าไม่ชอบแม้ง่ายก็ทำเป็นสมองง่อยไม่ยอมออกแรง นี่เป็นอีก 1 ตัวอย่างของคนที่ไม่ยอมรับความจริง 2 ด้านของชีวิต

-เมื่อต้องพูดให้คนอื่นฟังหรือเขียนให้คนอื่นอ่าน ในตอนแรก ๆ ปฏิกิริยาจากคนอื่นมันก็ต้องมีทั้ง 2 แบบ แต่เพราะเราอยากจะเห็นแต่ใบหน้าที่แสดงว่าชื่นชมและรู้เรื่อง ไม่อยากเห็นใบหน้าที่ออกอาการงุนงง หลายคนใจหมดแรงซะก่อนและเลือกที่จะไม่พูดและไม่เขียนซะเลย จึงไม่มีโอกาสได้เห็นปฏิกิริยาจากหน้าใครเลย ซึ่งหมายถึงไม่มีโอกาสทำให้หน้าที่งุนงงกลายเป็นหน้าที่เข้าใจ เพราะปิดโอกาสที่จะทำให้ตนเองได้เรียนรู้ภาษาจากหน้าคน

-และเมื่อเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่พูดภาษาอังกฤษ หลายคนก็อยากเด่นในสายตาของคนฟัง ไม่อยากด้อย เมื่อฝึกให้เด่นทันทีไม่ได้ก็ไม่ฝึกมันซะเลย ก็เลยด้อยอยู่คนเดียวเงียบ ๆ ด้อยอยู่ตลอดไป

-คนที่ฝึกภาษาอังกฤษจะต้องเจอและยอมรับความจริงของชีวิตที่ว่า เมื่อเราอดไม่ได้ที่จะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า เป็นธรรมดาที่คนเราอาจจะไม่เท่ากันหรือไม่เหมือนกัน บางคนโชคดีกว่า เช่น เกิดในครอบครัวหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เขาเก่งภาษาอังกฤษมากกว่าเรา แต่มักไม่ค่อยมองว่าบางคนก็โชคร้ายกว่าเรา เช่น คนที่ทั้งอ่อนและเกลียดภาษาอังกฤษมากกว่าเราซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยถ้าเรามองให้รอบ เพราะเราเองก็ไม่อ่อนหรือเกลียดภาษาอังกฤษมากขนาดเขา ก็ต้องถือว่าเราโชคดีกว่าเขา เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบก็ควรจะเปรียบเทียบกับทั้งคนที่โชคดีกว่าและโชคร้ายกว่าเรา จะได้ไม่มีความรู้สึกเอียง

เรื่องความจริงของชีวิตที่มีทั้ง 2 ด้านนี้ยังมีตัวอย่างอีกเยอะให้หยิบมาพูด แต่ผมขอพูดพอหอมปากหอมคอแค่นี้ก่อนแล้วกันครับ

สรุปอีกครั้งก็คือว่า เมื่อความจริงของชีวิตในการฝึกภาษาอังกฤษมีทั้ง 2 ด้าน เราก็ต้องมองให้เห็นมันทั้ง 2 ด้าน ยอมรับทั้ง 2 ด้าน และทำใจให้อยู่กลาง ๆ ไม่ว่าเจอด้านไหน ไม่ต้องไป “in” กับด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป โดยเฉพาะด้านลบของชีวิตไม่ต้องเอาใจไปแอนตี้มันมากนัก เพราะถึงอย่างไรชีวิตก็ไม่ได้มีด้านเดียว ฤดูหนาวของชีวิตไม่ได้มีไว้ให้ผู้คนเกลียด แต่มีไว้เพื่อให้ผู้คนเรียนรู้ที่จะผ่านมันไปให้ได้ด้วยใจสงบ โดยไม่ต้องเกลียดมัน

ในภาษาอังกฤษมี 2 คำนี้คู่กัน  คือ optimistic - มองโลกในด้านดี และ pessimistic - มองโลกในด้านร้าย

โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า เมื่อชีวิตมี 2 ด้าน เราก็ควรจะมองให้เห็นมันทั้ง 2 ด้าน คือ realistic แต่ในการฝึกภาษาอังกฤษ เราควรฝึกด้วยใจที่เชื่อว่า ความสำเร็จมากขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แน่นอนถ้าเราพยายามไม่ลดละ นี่คือ optimistic

ผมขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เหมือนเราเดินจากตีนขึ้นสู่ยอดภูกระดึง บนเส้นทางที่เราเดินไปนั้นมีทั้งทางขรุขระ รก เป็นหลุมเป็นบ่อ ลื่น ชัน และก็มีทางที่ราบเรียบ และลาดเดินได้สบาย ๆ

การที่หลายคนเมื่อเจอกับทางที่ลำบากแต่ก็ยังเดินได้อย่างสนุกสนานและมีกำลังใจที่จะเดิน ก็เพราะใจของเขาไม่ได้รู้สึกแอนตี้เส้นทางที่ขรุขระ รก เป็นหลุมเป็นบ่อ ลื่น ชัน เหล่านั้น
-เมื่อใจไม่แอนตี้ก็ไม่รู้สึกต่อต้านตัวเองที่ต้องเดิน
-เมื่อเดินไป พักไป ผ่านไปได้ทีละช่วง แม้จะเหนื่อยแต่แรงก็เริ่มอยู่ตัวมากขึ้น และความสำเร็จจากการเดินผ่านไปได้ทีละช่วงก็สร้างความภูมิใจให้มากขึ้นทีละน้อย
-การเดินบนทางที่ลำบาก สอนให้ผู้เดินฉลาดในการเดิน และเดินอย่างระมัดระวัง การตั้งใจเอาชนะความลำบากที่เกิดจากการเรียนภาษาอังกฤษ เมื่อผ่านไปได้ก็จะค่อย ๆ ฉลาดขึ้น เพราะความลำบากสอนให้ฉลาด และจะได้ความสุขจากความสำเร็จที่พยายามด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นความสุขถาวร

ผมขอสรุปว่า เมื่อเราเรียนภาษาอังกฤษ ไม่ว่าเราจะเก่งหรือไม่เก่ง เรียนได้สำเร็จเร็วหรือช้า มีตัวช่วยในการเรียนมากหรือน้อย สิ่งนี้ไม่สำคัญเท่าการทำใจให้ realistic ต่อการเรียนภาษาอังกฤษ เมื่อเจอกับปัญหาหรือความลำบากก็ไม่ควรปล่อยใจไปแอนตี้มัน แต่หาทางว่าเราจะเดินไปกับมันได้อย่างไร เพราะในด้านร้ายก็มีสิ่งดีซ่อนอยู่ ความพยายามที่ต่อเนื่องจะทำให้อุปสรรคกลายเป็นความสำเร็จ เพราะอุปสรรคก็เป็นอนิจจัง มันจะไม่เป็นอุปสรรคไปตลอดกาลถ้าเราไม่ยอมแพ้มัน ในทางตรงกันข้าม เมื่อเจอด้านดีของชีวิตในการเรียนภาษาอังกฤษ เช่น อยากเรียนรู้เรื่องก็รู้เรื่อง อยากจำก็จำได้ อยากพูดอยากเขียนก็พูดได้เขียนได้ดังใจ แม้สมใจอย่างนี้ก็ไม่ควรชะล่าใจ เอ้อละเหยลอยชาย ความประมาทเช่นนี้สามารถทำให้ความก้าวหน้ากลายเป็นการหยุดนิ่งได้โดยไม่รู้ตัว

ก่อนจบผมขอยกตัวอย่างที่เจอมาด้วยตัวเอง มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปเข้าคอร์สอบรม presentation skill ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพ และก็ได้เห็นว่าทุกคนที่เข้าคอร์สนั้นพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วหรือค่อนข้างคล่องแคล่ว และจากการพูดคุยก็ได้รู้ว่าแทบไม่มีใครจบเอกภาษาอังกฤษหรือเป็นนักเรียนนอกเลย แทบจะทั้งหมดคล้าย ๆ กับผมนี่แหละครับ คือเรียนภาษาอังกฤษมาด้วยตัวเอง เรียนมาอย่างเดี่ยว ๆ โดยไม่มีเพื่อน

และอีกครั้งหนึ่ง ผมไปเข้าประชุมที่ประเทศหนึ่งในเอเชียนี่แหละแต่จำไม่ได้แล้วว่าที่ไหน คนที่เข้าประชุมมาจากหลายประเทศ เท่าที่สังกตดูในการประชุมลักษณะนี้ ชาติที่พูดภาษาอังกฤษเก่ง ก็มักหนีไม่พ้นมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน แต่ชาติที่พูดไม่ค่อยเก่งก็จะเป็นลาว กัมพูชา และไทย แต่ปรากฏว่างวดนี้ผมเจอลาวและกัมพูชาที่พูดได้คล่องแคล่วมาก พอถามดูประสบการณ์ในการศึกษาภาษาอังกฤษก็คล้าย ๆ ผมอีกเช่นกัน คือ ฝึกเอง

ณ นาทีนี้ผมอยากจะบอกว่า ถ้าท่านมีเพื่อนที่เรียนภาษาอังฤษด้วยกัน นี่เป็นเรื่องดีครับเพราะจะได้ช่วยเหลือกัน และเป็นกำลังใจให้กันและกัน แต่เรื่องที่ท่านอาจจะไม่ค่อยได้นึกถึงก็คือ ในโลกทุกวันนี้ที่ภาษาอังกฤษมีความสำคัญมากขึ้นและคนจำนวนมากขึ้นฝึกภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น

ถ้าในจำนวนนี้มีท่านอยู่ด้วยคนหนึ่ง และท่านต้องฝึกภาษาอังกฤษอยู่คนเดียว ขอให้ทราบว่า ท่านมิได้เป็นคนกลุ่มน้อยหรอกครับ แต่ท่านเป็นคนกลุ่มใหญ่ในโลกนี้ที่ฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง ถ้าบนเส้นทางแห่งการเดินทางนี้ท่านรู้สึกเหงาเพราะฝึกอยู่คนเดียว เหมือนเดินทางอยู่คนเดียว ผมขอรับประกันว่า ที่สุดท้ายปลายทางแห่งเส้นทางการฝึกนี้ ท่านจะได้พบคนอื่นที่เดินทางอย่างท่านนี่แหละ ปลายทางที่ว่านี้ อาจจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่ผ่านการทดสอบและได้รับคัดเลือกจากบริษัทให้เข้าไปทำงานเหมือนกัน อาจจะเป็นคนจากประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษที่ท่านพบในการประชุมนานาชาติ อาจจะเป็นคนจากประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษและท่านได้ไปเที่ยวในกรุ๊ปทัวร์เดียวกัน

ทั้ง 2 ตัวอย่างที่ผมยกมานี้เป็นเรื่อง realistic ที่รอให้ท่านทำให้มัน real ขึ้นมาเท่านั้นเอง ทำด้วยใจที่ optimistic ในการฝึกภาษาอังกฤษ

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

8 ความคิดเห็น:

mazz กล่าวว่า...

สมัยเด็กผมอ่อนภาษาอังกฤษมาก เกเรไม่เคยตั้งใจเรียน พอโตมาถึงรู้ว่า ภาษาอังกฤษสำคัญ ทุกวันนี้คือ ฝึกหัดอ่านเองเรียนรู้เอง ซึ่งบางครั้งก็รู้สึกเหนื่อยครับ เพราะบางทีไม่เข้าใจหลายอย่าง ไม่รู้จะหันไปถามใคร และมองไปว่าคนอื่นไม่เห็นเป็นแบบเราเลย เราเหนื่อยลำบากเรียนรู้คนเดียวหรือเปล่า คนอื่นไม่เห็นมาเรียนรู้ลำบากแบบเราเลย(คิดไปนู่น)

พอได้อ่านแล้ว ผมมีกำลังใจขึ้นมาเยอะเลยครับ ผมจะพยามให้มากขึ้นครับ

ขอบคุณมากครับ ขอให้สร้างสรรค์สิ่งดีๆให้น้องๆตลอดไป

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณคับ
เป็นกำลังใจได้เยอะเลย
ครอบครัวผมไม่ค่อยมีตังค์เยอะ ดังนั้นผมจึงต้องเรียนรู้เอง

Narongsak กล่าวว่า...

ขอบคุณอาจารย์พิพัฒน์ ที่แบ่งปันความรู้และคอยเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ฝึกภาษาอังกฤษที่กำลังท้อให้มีพลังใจต่อสู้และก้าวต่อโดยไม่หวั่นไหว

ปุ้ย กล่าวว่า...

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ
และขอบคุณมากค่ะที่เขียนหัวข้อนี้ทำให้มีกำลังในเพิ่มขึ้น อีกเยอะเลยค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ตัวเองเคยฝึกๆหยุดๆอยู่หลายครั้งเหมือนกัน ก็เลยคิดว่าปัญหาที่ทำให้ฝึกไม่สำเร็จสักทีเป็นเพราะ "ความใจร้อน" คิดว่า2-3เดือนคงจะพัฒนาได้มากทันใจ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่รู้เรื่องจึงหยุด(เป็นระยะๆ)แต่ตอนนี้ฝึกสม่ำเสมอมาเป็นเวลา1ปีติดต่อกัน ถึงได้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงตอนนี้อ่านbangkok postได้เหมือนอ่านนสพ.ไทย จึงอยากเล่าประสบการณ์ให้กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ว่าอย่าเพิ่งท้อ ขอให้อ่านและฟังอย่างตั้งใจ พยามยามจำศัพท์จากบทความ นิยาย การ์ตูน อย่าท่องศัพท์โดยไม่มีองค์ประกอบข้างศัพท์เพราะจะจำแล้วลืม........ที่สำคัญตั้งเวลาไปเลย 1ปี..เพราะเราไม่ใช่อัจฉริยะที่จะใช้เวลาเพียงแค่3เดือน..

nok7959 กล่าวว่า...

ความตั้งใจเมื่อครั้งก่อน หยุด! ไปแล้วโดยสิ้นเชิง
แต่ ณ วันนี้ ได้อ่านบทความนี้ของอาจารย์ ทำให้รู้สึกว่าทำไมเราต้องท้อ (เพราะไม่เก่ง ไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง) จะสู้ สู้ ใหม่ (อีกรอบ) เพื่อตัวเอง...

Unknown กล่าวว่า...

ผมจะพยายามอีกครั้งครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เป็นเหมือนกับเพื่อนๆข้างบนเลยครับ ฝึกภาษาอังกฤษสักพัก แล้วก็หยุด แล้วก็มาฝึกใหม่ ไม่ไปไหนสักที

ตอนนี้กลับมาฝึกจริงจังแล้วครับ แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะได้นานเท่าไร แต่ตั้งเวลาไว้แค่ 6 เดือน(น้อยกว่าเพื่อนข้างบนอีก) ต้องดีอย่างเห็นความแตกต่างให้ได้ ...

สู้ๆครับ เพื่อนๆทุกคน (ตัวผมเองด้วย)

ขอบคุณคุณพิพัฒน์มากๆครับ อ่านบทความอย่างนี้แล้วก็รู้สึก"ใจฟู"ขึ้นมาบ้าง ฝึกคนเดียวนานๆมันก็รู้สึกใจแฟบอยู่บ้างนิ ...

"ฤดูหนาวของชีวิตไม่ได้มีไว้ให้ผู้คนเกลียด แต่มีไว้เพื่อให้ผู้คนเรียนรู้ที่จะผ่านมันไปให้ได้ด้วยใจสงบ โดยไม่ต้องเกลียดมัน" ...ผมล่ะชอบประโยคนี้จริงๆ