วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

[1253]ใครทำให้คนไทยพูดภ.อังกฤษไม่ได้และจะทำยังไงดี

สวัสดีครับ
บ่อยครั้งที่ผมได้ยินหลายคนบ่นว่า แม้ว่าเราจะเรียนภาษาอังกฤษกันมานับสิบปี แต่คนไทยเราก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ เราพูดว่าในต่างจังหวัดแหล่งที่จะฝึกสนทนาภาษาอังกฤษมีน้อยกว่าในกรุงเทพ เด็กต่างจังหวัดจึงพูดภาษาอังกฤษสู้เด็กกรุงเทพไม่ได้ แต่ครั้นเมื่อเราพบว่าเด็กกรุงเทพจำนวนมากก็พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ เราก็บอกว่าหลักสูตรไม่มีคุณภาพและต้องปรับปรุง ครั้นปรับปรุงหลักสูตรแล้วเด็กไทยก็ยังพูดภาษาอังกฤษได้อย่างกระท่อนกระแท่น เราก็บอกว่าครูไม่เก่งสอนแต่แกรมมาร์ แต่ครั้นเรามีครูเก่ง ๆ มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งครูรุ่นใหม่ หรือครูรุ่นเก่าที่ update เป็นเวอร์ชั่นใหม่ เด็กไทยก็ยังพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดี ทีนี้หันซ้ายหันขวาไม่รู้จะโทษใครก็เลยโทษสิ่งแวดล้อมและสังคมไปเลยเพราะ 2 สิ่งนี้เป็นนามธรรมไม่มีปากเสียงเถียงเราไม่ได้ เราโทษสิ่งแวดล้อมว่าไม่เปิดโอกาสให้เราได้พูดภาษาอังกฤษบ่อย ๆ พอนานทีปีหนมีฝรั่งหรือต่างชาติเข้ามาให้เราเจรจาด้วย มันก็เป็นธรรมดาที่เราจะพูดไม่ได้ หรือเราอาจจะทำตัวเป็นนักวิชาการว่า เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร ก็เลยไม่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษเป็นมรดกตกทอดมาจากมหาอำนาจเหล่านั้น ไม่เหมือนมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งพูดและเขียนอังกฤษ หรือแม้แต่เวียดนามและอินโดนีเซียก็ยังดีกว่าไทย เพราะแม้ว่าเขาจะไม่ได้พูดภาษาอังกฤษทุกวันแต่เขาก็ใช้อักษรโรมัน a, b, c, d…. ในการเขียน ซึ่งโยงไปหาการพูดได้ แต่ของไทยไม่มีทั้งพูดและเขียน

ท่านผู้อ่านคิดว่าสาเหตุตามคำบ่นข้างต้นนี้มีน้ำหนักหรือไม่ ?

แต่ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุที่ฟังขึ้นหรือไม่ก็ตาม ผมคิดว่า เราอย่าไปตำหนิสิ่งเหล่านั้นเลยครับ เพราะหลายเรื่องมันก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ถ้าเดินอยู่กลางแจ้งแดดมันร้อนและเราไม่ชอบ เราก็ต้องทำอะไรสักอย่างที่เราทำได้ เช่น เข้าไปในที่ร่ม หรือถ้าจำเป็นต้องอยู่กลางแดดก็กางร่มหรือใส่หมวก ฯลฯ แต่อย่าไปต่อว่าดวงอาทิตย์เลยครับที่ส่องแสงอย่างโหดร้ายมาโดนเรา

แม้แต่ในประเทศที่เขาพูดภาษาอังกฤษ เราก็อย่าไปคิดว่าเขาไร้ปัญหาโดยสิ้นเชิงในเรื่องนี้ ผมเคยคุยกับข้าราชการประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์บางคนที่มีอายุแล้ว เขาเล่าให้ฟังว่า คนรุ่นเขามีโอกาสได้รับการศึกษาภาษาอังกฤษค่อนข้างดีจากระบบการศึกษาในโรงเรียน จึงพูดเขียนได้คล่อง แต่ในระยะหลัง ๆ เกิดกระแสค่านิยมรักชาติขึ้นมาในประเทศของเขา และบีบให้รัฐบาลลดการใช้ภาษาอังกฤษลงในการเรียนการสอนในโรงเรียนและเพิ่มการใช้ภาษาประจำชาติเข้าไปเป็นภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน เด็กรุ่นใหม่ที่อยู่ในโรงเรียนช่วงนี้จึงพูดและเขียนภาษาอังกฤษได้ไม่คล่องแคล่วเหมือนคนรุ่นเขา แต่ตอนหลังบางช่วงรัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบายหันกลับมาให้ความสำคัญแก่ภาษาอังกฤษดังเดิม ซึ่งช่วยให้ทักษะภาษาอังกฤษของเด็กรุ่นใหม่ดีขึ้น ตัวอย่างที่เล่านี้มิได้แปลว่าผมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล 2 ประเทศนี้ ผมเพียงต้องการสรุปง่าย ๆ ว่า เมื่อมองย้อนกลับมาดูตัวเราเองในฐานะที่เป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง คงไปทำอะไรไม่ได้มากเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลว่าให้เดินหน้าถอยหลังหรือเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาอย่างนั้นอย่างนี้ เราคงทำได้แค่ทำสิ่งที่ดีที่สุด เหมาะสมกับตัวเราที่สุด ที่จะช่วยให้เราสามารถพูดภาษาอังกฤษได้

แต่ถ้าเรายังยืนยันที่จะโทษสิ่งภายนอก เช่น ถ้ามีคำถามเกิดขึ้นมาว่า ทำไมคนไทยโดยส่วนรวม หรือตัวเราเองโดยเจาะจง จึงพูดภาษาอังกฤษไม่ได้หรือพูดได้อย่างทุรกันดาร ทุกคนก็จะมีคำตอบเสมอว่าอะไรคือสาเหตุของการพูดไม่ได้นี้ สาเหตุที่แต่ละคนให้อาจจะแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่คงจะเหมือนกันก็คือ “ตัวเราเอง” ไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้เราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ การที่เราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เมื่อถึงเวลาที่จำเป็นต้องพูดนั้น สาเหตุล้วนมาจากคนอื่นและสิ่งอื่นทั้งสิ้น

เรื่องนี้ผมก็ไม่เถียงหรอกครับ แต่.....

ผมว่าถึงเวลาแล้วแหละครับที่เราต้องหันมามองตัวเองจริง ๆ จัง ๆ และถ้าเราต้องการพูดภาษาอังกฤษเป็น พูดได้ และพูดได้ดี เราต้องเริ่มที่ความคิดจิตใจของเราเอง, เริ่มที่ตัวของเราเอง, และเริ่มที่ปากของเราเอง เริ่มที่อื่นคงไม่ได้หรอกครับ

เริ่มยังไง….
ผมขอคุยด้วยเท่าที่นึกออกแล้วกันครับ พิมพ์ไปพูดไป สบาย ๆ วันเสาร์ครับ

1.ไม่มีครูจริงก็ใช้ครูจำลอง:
หลายคนมีความเชื่อฝังใจว่า ถ้าไม่ได้เรียนกับครูจะไม่มีวันพูดได้ ผมอยากจะบอกว่าอย่าไปยึดมั่นกับความเชื่อนี้อย่างเหนียวแน่นเกินไปนักเลยครับ โดยทั่วไปการเรียนกับครูต่างชาติวิธีที่ได้ผลที่สุดคือเรียนเดี่ยวกับครูหนึ่งต่อหนึ่ง แต่การเรียนอย่างนี้มักจะแพง ครั้นเมื่อจ่ายน้อยลงโดยการเรียนเป็นกลุ่มไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็ตาม เวลาในชั้นเรียนที่ครูจะให้แก่ผู้เรียนแต่ละคนก็ย่อมน้อยลง เท่าที่ผมเห็น มุขที่ครูใช้อยู่ประจำก็คือ พูดหน้าชั้นให้ผู้เรียนพูดตาม หรือให้ผู้เรียนแบ่งเป็นกลุ่มย่อยหรือจับคู่แล้วโยนหัวข้อให้คุยกัน ถ้ามีเวลาก็อาจจะให้แต่ละกลุ่มหรือแต่ละคู่ส่งตัวแทนออกไป present หน้าห้อง พอรอบใหม่ก็เวียนให้คนอื่น present บ้าง แต่ถ้าไม่มีเวลาตอนที่แต่ละกลุ่มหรือแต่ละคู่ speak English กันครูก็อาจจะเดินไปเดินมา กวาดสายตาและฟังว่าผู้เรียนพูดผิดพูดถูกอย่างไรบ้าง ในสถานการณ์เช่นนี้ซึ่งมีเวลาจำกัดและมีหัวข้อที่ต้องสอนให้ครบ มี 2 เรื่องที่ครูมักจะทำได้ไม่ครบทั้ง ๆ อยากจะทำ คือ (1) ไม่มีเวลาแก้ไขสิ่งที่นักเรียนพูดผิดให้ถูก และ (2)ไม่มีเวลากระตุ้นให้คนอายที่ไม่พูดหรือพูดไม่ได้- ได้พูดออกมา เลยกลายเป็นว่า เราอาจจะเสียเวลานั่งรถ 2 ชั่วโมง, เดินทางไปนั่งในชั้นเรียน 2 ชั่วโมง และมีโอกาสให้ครูฟังเราพูดเดี่ยว ๆ 2 ประโยค โดยเสียค่าเรียนชั่วโมงละ 200 บาททุกชั่วโมง ตัวอย่างที่ผมยกมานี้ถ้าไม่ใช่ก็ใกล้เคียง นี่คือการเรียนกับครูจริง ๆ ที่หลายคนหวังนักหวังหนาว่าได้ผล

ผมไม่ได้บอกว่าการฝึกพูดกับครูต่างชาติไม่ได้ผล แต่ผมกำลังบอกว่า ถ้าผู้เรียนฝากความหวังทั้งหมดไว้กับเวลาในชั้นเรียนที่อยู่กับครู โดยไม่ได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้าหรือฝึกฝนตามหลัง การฝึกพูดเช่นนี้คงช่วยเราไม่ได้มากหรอกครับ

แล้วการเรียนกับครูจำลองล่ะแทนครูจริงได้หรือ? ครูจำลองก็คือ หนังสือที่เราใช้ตาดู, mp3 ที่เราใช้หูฟัง, ฯลฯ และปากที่เราใช้ฝึกพูดจากสิ่งที่เราเห็นด้วยตาและฟังด้วยหู การที่เราอ่านบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ จนชินตาและชินหู จะช่วยให้เราสามารถฝึกพูดได้ไม่ค่อยผิด คือในการฝึกพูดโดยใช้อวัยวะ 3 อย่างนี้: ให้ตาและหูเป็นครูคือผู้สอน และให้ปากเป็นศิษย์คือผู้เรียน ถ้าครูสอนดีศิษย์ก็มักจะได้ดี ถ้าครูสอนไม่ดีศิษย์จะดีได้ยังไง ตา-หู-ปาก จึงเป็นศิษย์กับครูที่ต้องอยู่คู่กันตลอดไป

2.เอาใจใส่ไว้ที่หู:
ข้อนี้แหละครับที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ หลายครั้งที่ผมได้ยินคนพูดว่า การเรียนภาษาอังกฤษควรจะเน้นการพูดมากกว่าแกรมมาร์ แต่ไม่บ่อยนักที่ผมจะได้ยินการเน้นเรื่องฟัง เรื่องของเรื่องก็คือว่า ถ้าการฟังมีปัญหาการพูดก็จะมีปัญหาตามมาด้วยเพราะคนเราจะพูดตามที่ได้ยิน จริงอยู่หลายท่านคงเคยเห็นการสอนพูดโดยให้ทำลิ้นอย่างนั้น ทำปากอย่างนี้ แตะเพดาน-แตะฟันอย่างโน้น นี่เป็นการสอนที่มีประโยชน์ครับ แต่อย่าลืมนะครับว่าตอนที่เรายังเด็กและหัดพูด เราพูดได้โดยไม่ต้องให้ใครสอนว่าต้องทำลิ้นอย่างนั้น ทำปากอย่างนี้ แต่เราพูดตามที่เราได้ยิน เพราะฉะนั้นถ้าใครถามผมว่าครูที่สอนพูดเก่งที่สุดคือใคร ผมขอตอบว่า “อาจารย์หู

และการที่การฟังมีปัญหานี้ ไม่ได้หมายความว่าระบบประสาทฆ้อน-ทั่ง-โกลนในหูมีปัญหา แต่เป็นเพราะว่าเครื่องมือ 3 ชิ้นในหูมันไม่คุ้นเคยกับเสียงแปลกหู เหมือนตาที่ไม่คุ้นเคยกับแขกแปลกหน้า เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมมี 3 ตัวอย่างที่อยากจะเล่าให้ฟังครับ

[1] เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ผมเคยคุยกับผู้เชี่ยวชาญชาวสหรัฐฯคนหนึ่งที่มาทำงานที่หน่วยงานของผม ผมบอกเขาว่า ผมพูดเสียง th (เช่น thin ซึ่งต่างจาก sin ) และ th (เช่น then ซึ่งต่างจาก den ) ไม่ค่อยได้ ทำยังไงดี? เขาตอบว่า มิใช่ผมพูดไม่ได้หรอก แต่ผมฟังแยกเสียงไม่ออกต่างหาก ถ้าผมฟังแยกเสียงออก ผมก็พูดได้ ผมรู้สึกขอบคุณที่ได้ฟังคำอธิบายเช่นนี้

[2] หลังจากนั้นไม่นานนัก ผมได้เรียนคอร์สสนทนาภาษาอังกฤษที่แถวอนุสาวรีย์ฯ ผมถามอาจารย์ซึ่งเป็นคนจาก New York ว่า คำว่า
ทำไมเมื่อ s อยู่หน้า t เสียง จึงกลายเป็น
เช่น Top – ท็อป - stop – สต็อป
ทำไมเมื่อ s อยู่หน้า p เสียง จึงกลายเป็น
เช่น park – พาร์ค - spark – สปาร์ค
ทำไมเมื่อ s อยู่หน้า k เสียง จึงกลายเป็น
เช่น kill – คิล - skill - สกิล

เขาตอบผมว่า คำ 3 คู่นี้ไม่เห็นจะต่างกันตรงไหนเลย หรือต่างก็น้อยมาก top – stop, park – spark, kill – skill ผมบอกว่ามันต่างกันนะ ต่างกันมากทีเดียวในหูของคนไทย

[3] ในระยะใกล้ๆ กัน ผมไปเจอฝรั่งคนหนึ่ง อยู่เมืองไทยมาหลายปี แถมจีบสาวไทย จะขอไปอยู่กินที่สหรัฐด้วยซ้ำ เพื่อนๆบอกว่า Mr. Carlton คนนี้พูดภาษาไทยเก่งมาก ฟังรู้เรื่องหมด ผมบอกว่า ขออนุญาตเล่นอะไรด้วยนิดนึงได้ไหม โดยบอกเขาว่า มีภาษาไทยที่ฟังยาก พูดยากอยู่ 3-4 ตัว คือ มวย(ฺBoxing) หมวย(Chinese girl), สวย(beautiful), ซวย( unlucky) แล้วผมก็ให้นาย Carlton แปลภาษาไทย 3-4 ประโยค ต่อไปนี้ สลับไปสลับมา คือ หมวยสวยมาก - หมวยซวยมาก - มวยสวยมาก - และ มวยซวยมาก ถามไป - ตอบมา อยู่ 2-3 ทีเท่านั้นแหละครับ Mr.Carlton ใบ้รับประทานเลยละครับ แยกไม่ออก

เมื่อโยง 3 เรื่องนี้เข้าด้วยกัน ผมจึงได้ข้อสรุปว่า เรื่องอย่างนี้มันของใครของมัน หูและปากของฝรั่งก็คุ้นเคยและชำนาญที่จะฟังและพูดภาษาฝรั่ง หูและปากของคนไทยก็คุ้นเคยและชำนาญที่จะฟังและพูดภาษาไทย

แต่เมื่อเราต้องฟังหรือพูดภาษาต่างชาติ มันก็เป็นธรรมดาที่เราต้องปรับหูเพื่อฟัง-ปรับปากเพื่อพูด ภาษาที่เราไม่คุ้นเคย ถ้าปรับได้เร็วก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ถ้าปรับได้ช้าก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องยินร้ายหรือเสียใจ ฝึกไปเรื่อย ๆ ปรับไปเรื่อย ๆ มันก็ค่อย ๆ ดีขึ้นเองแหละครับ

คำแนะนำง่าย ๆ ของผมก็คือ ขณะที่ฟังขอให้เอาใจเป็นสมาธิจำนวน 100 % วางไว้ที่หู คอยจับเสียงที่จะผ่านเข้าช่องหูเหมือนผู้รักษาประตูจับบอลที่ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามยิงเข้ามาให้อยู่มือ การหย่อนสมาธิ ณ step ที่ 1 คือการฟัง จะทำให้งานใน step ที่ 2 คือการพูดหย่อนประสิทธิภาพตามไปด้วย และเมื่อเราฝึกใช้สมาธิกำกับหูจนชำนาญ ในการฟังครั้งหลัง ๆ เราก็ไม่ต้องเกร็งหูมากเท่ากับครั้งแรก ๆ คือเมื่อชำนาญแล้วงานหนักก็จะกลายเป็นงานเบา ทำงานน้อยลงแต่ได้ประสิทธิภาพเท่าเดิม และหูก็จะบอกปากเองแหละว่าให้ออกเสียงยังไง เมื่อสมทบด้วยการทำลิ้นอย่างนั้น ทำปากอย่างนี้ แตะเพดาน-แตะฟันอย่างโน้นอย่างที่เขาสอน การพูดก็จะดีขึ้นจนถึงดีที่สุด

เรื่องที่ผมอยากจะบ่นก็คือ ผมเห็นว่าเด็กเดี๋ยวนี้จำนวนไม่น้อยไม่สามารถกำกับใจให้มีสมาธิได้นาน ๆ การเรียนทุกเรื่องก็เลยไม่มีแรงและเลิกล้มเสียก่อน

3.เค้นคำออกมา - อย่าค้างเอาไว้:
หลายปีมาแล้วผมสอบชิงทุนได้ไปเข้าคอร์สอบรมระยะสั้นที่ประเทศเยอรมนี ตอนไปถึงวันแรก ๆ รู้สึกหงุดหงิดกับปากมากที่มันพูดไม่ได้เหมือนใจ ทำให้ไม่อยากพูด แต่พอมาคิดอีกทีถ้าไม่ฝึกพูดตอนนี้แล้วเมื่อไหร่จะได้พูด ฉะนั้นถ้ามีเรื่องจำเป็นที่ต้องพูด – น่าจะพูด – หรือผมต้องการจะพูด ผมก็ตั้งไว้ในใจเลยว่าจะต้องพูดออกไปให้ได้ ไม่ว่าจะหงุดหงิด งุ่มง่าม เชื่องช้า น่ารำคาญเพียงใด ก็จะต้องเค้นมันออกไปทางปากให้ได้ ผมเปรียบคำพูดที่ค้างอยู่ในใจเป็นคล้าย ๆ เสลดที่จุกอยู่ที่คอ เมื่อมันขึ้นมาค้างถึงที่คอแล้ว จะไม่ยอมกลืนลงคอไปอีกเด็ดขาด จะต้องถ่มออกไปเป็นคำพูดดังใจให้ได้ เสลดมันอาจจะมีสีที่น่ารังเกียจ คือพูดผิด ๆ ถูก ๆก็ช่างมัน และก็ได้ผลครับ คือผมพูดได้ดังใจมากขึ้น เพราะไม่ยอม “กลืนเสลด
ถ้าตัวอย่างนี้ท่านใดพอจะเอาไปใช้ได้ ก็ขออนุโมทนาด้วยครับ

4.กล้าลองผิดก่อนลองถูก:
หน่วยงานที่ผมสังกัดอยู่ทุกวันนี้มีคนที่เป็นช่างอยู่จำนวนมาก มีคำพูดที่ดูเหมือนจะได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปว่า คนเรียนช่างไม่ชอบภาษา เพราะฉะนั้นผู้ที่จบมาทางช่างมักจะไม่ค่อยชอบเรียนและก็ไม่ค่อยก่งภาษาอังกฤษ ผมก็เลยสงสัยว่าแล้วทำไมไม่สามารถชอบทั้ง 2 อย่างล่ะ ผมเคยถามน้อง ๆ บางคนว่าทำไมไม่ชอบภาษาอังกฤษ เขาบอกว่า ภาษาอังกฤษมีแต่เรื่องต้องจำเยอะ เขาไม่ชอบจำ ชอบใช้ความคิด ชอบคำนวณ ก็เลยไม่ชอบภาษาอังกฤษ ได้ฟังคำตอบนี้ผมถึงกับอึ้ง เพราะกลายเป็นว่า คนที่ชอบเรียนภาษาเป็นคนที่เอาแต่จำลูกเดียว ไม่ค่อยชอบใช้ความคิด คนที่ชอบใช้ความคิดก็เลยไม่ชอบเรียนภาษาอังกฤษ

แต่ผมมีอีกคำตอบหนึ่งที่ต่างไปจากน้องคนนั้น คือผมเห็นว่า ไม่ว่าเรียนวิชาอะไรมันก็ต้องใช้ทั้งความคิดและความจำทั้งนั้นแหละครับ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะต่างอย่างชัด ๆ ระหว่าง 2 วิชานี้ก็คือ วิชาที่ต้องคำนวณมีสูตรที่ใช้คำนวณอย่างแน่นอนชัดเจน ใครเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับสูตรเหล่านี้ก็จะเรียนดีหรือจะคิดสูตรใหม่ ๆ ที่ดีกว่าลัดกว่าขึ้นมาก็ทำได้ แต่โดยทั่วไปสูตรเดิมมักจะไม่ค่อยผิดและไม่ถูกยกเลิก เส้นรอบวง = 2พายR และพื้นที่ของวงกลม = พายRยกกำลัง2 เมื่อพันปีที่แล้วเป็นอย่างไร วันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น แต่ภาษาไม่ได้เป็นอย่างนี้ เช่น
1.ภาษามีการเกิดแก่เจ็บตาย และมีอายุสั้นกว่ากฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ ผมขอยกตัวอย่างภาษาไทยแล้วกันครับ สมัยผมเด็ก ๆ คำว่า สังเกต เขียนอย่างนี้ครับ “สังเกตุ” คือต้องมีสระอุด้วย, คำว่า ลอกแลก ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกว่าจะต้องเขียน “ล่อกแล่ก” คือต้องมีไม้เอกด้วย ภาษาไทยเป็นเช่นใด ภาษาอังกฤษก็เป็นเช่นนั้น ทุกภาษาเป็นเหมือนกันหมด ยกเว้นภาษาที่ตายแล้วเช่นภาษาบาลีซึ่งตายแล้วและไม่ตายอีกแต่ก็ไม่โตกว่าเดิม คนที่ไม่ชอบภาษาอาจจะเป็นเพราะภาษาเป็นสิ่งที่มีชีวิต จับไม่มั่นคั้นไม่ตาย ไม่­สยบยอมง่าย ๆ เลยไม่อยากจะไปยุ่งกับมัน
2.ภาษามีอารมณ์เข้าไปเกี่ยวข้อง การแสดงอารมณ์ในภาษาสามารถทำได้สารพัดรูปแบบ เช่น ร้อยกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน) อุปมาอุปมัย คำผวน การเล่นคำของร้อยแก้วซึ่งมีสัมผัสสระสัมผัสพยัญชนะ ฯลฯ ผู้ใช้ภาษาสามารถทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งได้ผ่านภาษาที่เลือกใช้ ไม่เหมือน 2 + 2 หรือ 2 X 2 ซึ่งต้องเป็น 4 ชั่วนิรันดร์ คนที่ชอบคำนวณจึงอาจจะไม่ชอบภาษาด้วยประการฉะนี้

จากข้อ 1. และ 2. ที่คุยมานี้ จึงเห็นได้ว่า การเรียนภาษา ไม่มากก็น้อย เป็นเรื่องของการ ลองผิด-ลองถูก ผิดมาก่อนถูก ไม่ยอมผิดก็จะไม่รู้จักถูก และเมื่อใช้ภาษาไปนาน ๆ เข้าก็จะเห็นว่า ไม่มีผิด-ไม่มีถูก ยิ่งถ้าเป็นการพูดคุยถ้าเข้าใจกันได้ก็ถือว่าใช้ได้

ผมขอยืนยันคำเดิมอีกครั้งว่า ในการพูดภาษาอังกฤษ เราพูดเพื่อสื่อสารให้รู้เรื่อง ไม่ได้พูดเพื่อให้ได้รับประกาศนียบัตรหรือเหรียญเชิดชูเกียรติว่าเราเป็นคนพูดเก่ง และจริง ๆ แล้วการที่คน 2 คนจะ “สื่อ” “สาร” ถึงกันเองให้เข้าใจกันและกันนั้น ภาษาเป็นเพียงเครื่องมือ 1 อย่างในหลาย ๆ อย่างที่มนุษย์ใช้ บางทีไม่ได้พูดสักคำ หรือพูดตก ๆ หล่น ๆ ผิด ๆ พลาด ๆ ก็ยังเข้าใจกันได้ เราจึงไม่จำเป็นต้องกังวลใจเกินเหตุเมื่อต้องพูดภาษาอังกฤษ ผมมี 2 ตัวอย่างที่ขอยกให้ฟังครับ

เมื่อตอนที่หลานชายของผม (ชื่อ เจน) ยังเด็กและผมยังอยู่ต่างจังหวัด วันนั้นฝนตกมากและข้างบ้านก็มีหนองซึ่งเป็นที่อยู่ของอึ่งอ่างจำนวนมาก จำได้ว่าอึ่งอ่างร้อง อึ่ง – อ่าง, อึ่ง – อ่าง, อึ่ง – อ่าง, ติดต่อกัน ดังและนาน ผมเองไม่รู้สึกอะไรเพราะชินแล้ว แต่หลานชายของผมซึ่งยังพูดไม่ค่อยได้คงจะรำคาญแต่ไม่รู้จะบอกแม่ที่กอดแกอยู่ได้ยังไง ก็เลยบอกเท่าที่จำนวนศัพท์อันจำกัดจะสามารถใช้อธิบายได้ คือเจนใช้นิ้วชี้ที่รูหูของตัวเอง และบอกแม่ของเขาซึ่งก็คือพี่สาวของผมว่า “แม่.. เจนไม่เอาไอ้นี่” และแม่เขาก็เข้าใจว่าลูกชายต้องการจะบอกอะไร

อีกครั้งหนึ่ง พวกเราหลายคนไปเยี่ยมบ้านเพื่อนซึ่งอยู่กับยายชราชาวจีน ยายพูดภาษาไทยไม่ค่อยคล่อง แต่ยายจำผมได้แม้ว่าผมจะไม่ได้ไปเยี่ยมยายบ่อยเหมือนกับเพื่อนคนอื่น ๆ พอยายเจอหน้าผม ยายก็พูดด้วยสำเนียงชาวจีนว่า “นาน ๆ ค่อยมาทีนะ” พวกเราทุกคนเข้าใจ เพราะรู้ว่ายายไม่ได้ขับไล่เพียงแต่ตัดพ้อล้อเล่น

ผมยก 2 ตัวอย่างนี้เพราะอยากจะแสดงให้ท่านเห็นว่า การพูดภาษาอังกฤษ แม้จะต้องฝึกหัดกันต่อเนื่องและนาน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวลใจหรือท้อแท้ การผิด ๆ พลาด ๆ ตก ๆ หล่น ๆ เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเราได้รับโอกาสพูดและหาโอกาสพูด และพูดเมื่อมีโอกาส เราก็จะค่อย ๆ พูดได้เพราะเราได้พูด แต่ถ้าเราไม่พูดเราก็จะพูดไม่ได้ แม้ว่าอยากจะพูดได้ (ใจแทบขาด)

5.เพราะอายจึงไม่พูด:
ถ้าถามว่า อายใคร? อายอะไร? ทำไมต้องอาย?
ความอายทำให้คนไทยจำนวนมากมายมหาศาลไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ ทั้ง ๆ ที่พอพูดได้ แม้ว่าอาจจะไม่ดีเท่ากับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นคนอื่นที่เรารู้จัก

มีถ้อยคำที่ท้าทายหรือปลุกปลอบสร้างเสริมกำลังใจมากมายให้คนเราพยายามเอาชนะความอาย แต่การจะเอาชนะความอายต้องทำอะไรลงไปจริง ๆ ไม่ใช่แค่คิด ผมไปพบแห่งหนึ่งเขาแนะนำไว้ 4 ประการ สั้น ๆ ตรงไปตรงมา แต่ต้องกล้าที่จะทำ

1. Make a commitment to walk away from shyness. ตั้งใจมุ่งมั่นที่จะเอาชนะความขี้อายให้ได้ (ในกรณีนี้ คือความอายไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ)

2.Note the situations where you feel shyness holding you back most strongly. นึกถึงสถานการณ์ที่คุณรู้สึกอายสุด ๆ (ในกรณีนี้ อาจจะเป็นการต้องพูดภาษาอังกฤษต่อหน้าคนจำนวนมาก)

3.The next time you are in this situation, do something just a little bit more outgoing than you would normally do (smile, make eye contact, ask a question, etc.). คราวหน้าถ้าเจอสถานการณ์เช่นนี้ ให้ทำอะไรสักนิดหนึ่งที่เป็นการแสดงออกมากกว่าปกติ เช่นยิ้ม สบตา ตั้งคำถาม ฯลฯ (ในกรณีนี้ อาจจะเป็นการเป็นผู้เริ่มพูดภาษาอังกฤษสัก 1 ประโยคกับคนต่างชาติ หรือไม่ยอมหนีไปรวมกลุ่มเฉพาะคนไทยจึงไม่ต้องกังวลใจว่าต้องพูดภาษาอังกฤษ)

4. Relax and remember that mistakes help you learn. ผ่อนคลายและจำไว้ว่า เราเรียนรู้จากความผิดพลาด (ในกรณีนี้ อาจจะเป็นการพูดภาษาอังกฤษผิด ๆ ถูก ๆ ไปบ้าง)

5.Repeat steps 1-4 until you have reached your desired level of 'outgoingness.' ทำตามข้อ 1 – 4 ซ้ำหลาย ๆ ครั้งจนถึงระดับ “เข้ากับคนอื่นได้ง่าย” ตามที่เราต้องการ (ในกรณีนี้ คือ อยากพูดภาษาอังกฤษเมื่อใดก็พูดออกไปโดยไม่ต้องเขินอาย)

Tips:
1. As you know, this can be a really tough process. Don't give up. ขั้นตอนที่แนะนำนี้เป็นเรื่องยากมาก เพราะฉะนั้นอย่ายอมแพ้ง่าย ๆ
2. Once you cycle through the steps a few times it gets easier and easier.
แต่เมื่อทำได้สัก 2 – 3 ครั้ง คราวต่อ ไป ก็จะค่อย ๆ ง่ายขึ้น ที่มา

ขอแถมท้ายตรงนี้นิดหนึ่งก่อนที่จะลืม - คำว่า “อาย” ซึ่งในภาษาอังกฤษ คือ shy นี้ ในภาษาเกาหลีใช้คำว่า "sarang hae yo" ซึ่งแปลว่า “I love you.” เพราะฉะนั้น ถ้าท่านรู้สึก อาย หรือ shy ที่จะพูดภาษาอังกฤษ ก็แปลว่า ท่านรักที่จะพูดภาษาอังกฤษแล้วกันนะครับ ที่มา

ท่านผู้อ่านครับ จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมต้องพูดภาษาอังกฤษนิด ๆ หน่อย ๆ ในการทำงาน เคยไปประชุม เข้าคอร์สอบรม และทำงานจรเล็ก ๆ น้อย ๆ ในต่างประเทศ ปีละครั้งสองครั้ง ทำให้ผมเห็นชัดว่า ประเทศไทยและคนไทยมีอะไรดี ๆ มากมายที่ต่างชาติไม่มี หากเราทำให้ตัวเราเองมีความสามารถอีก 1 ประการคือสื่อสารกับเขารู้เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียน หากทำได้เช่นนี้ เราจะได้รับอะไรต่าง ๆ อีกมายมายจากโลกนี้ และเราจะสามารถมอบอะไรอีกมากมายเช่นกันให้แก่เพื่อนร่วมโลกใบนี้

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

4 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

เยี่ยมมากๆ ขอบคุณมากครับ อาจารณ์

NIPON PROMPILAI กล่าวว่า...

Great!! This is what our kids need to know. Overcome the shyness is the first step for good English speaking. This message should be spread over the Ministry of Education. Keep producing your work Ajarn Pipat. I've learned a lot from your writings. They inspire me as a rural English teacher near Cambodia border.I frequent your website.

nevikup กล่าวว่า...

อ่านแล้วก็ได้ทั้งความรู้ กำลังใจ และความอยากที่จะพูดภาษาอังกฤษได้

ขอบคุณมากๆครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เพิ่งจะเปิดมาเจอ blog นี้ครับ
ขอบคุณมาก จะติดตามเสมอครับ