วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

[1732] วิธีการย่อบทความภาษาอังกฤษ

สวัสดีครับ
คุณ Chanuwan เขียนมาขอให้ผมพูดเรื่องการย่อบทความภาษาอังกฤษ ด้วยความยินดีครับ แต่ก่อนอื่นผมขอคุยปะหน้าสักนิดนะครับ

สมัยที่ผมเรียนอยู่ชั้นมัธยม ผมชอบวิชาเรียงความมาก ชอบไปทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่า ในอนาคต 2 วิชานี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่องานอาชีพที่ทำ ที่ชอบก็เพราะว่า การเรียงความคือการใช้ความรู้ ความคิด และจินตนาการ ที่มีอยู่อย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเขียนออกมาให้คนอ่านรู้อย่างที่เราอยากให้เขารู้, เขียนให้เขารู้สึกอย่างที่เราอยากให้เขารู้สึก จะทำเช่นนี้ได้ไม่ใช่ของง่าย แต่มันสนุกตรงที่เมื่อได้ทำและทำได้

ส่วนวิชาย่อความนั้น ครูบอกว่าทำได้ยากกว่าเรียงความ เหมือนในลัง ๆ หนึ่งมีของบรรจุอยู่เต็ม ชิ้นเล็กบ้างใหญ่บ้าง ครูบอกว่าการเรียงความเหมือนกับการเอาของออกมาจากลังและเรียงบนโต๊ะพร้อมทั้งอธิบายให้คนอื่นรู้และเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่ามีของอะไรบ้าง ส่วนการย่อความเปรียบเหมือนการนำของบรรจุกลับเข้าไปในลังเหมือนเดิม ซึ่งมันก็ไม่ง่ายนัก ดีไม่ดีเต็มลังแล้วแต่ของยังเหลือใส่ลงไปไม่หมด อุปมาของครูแม้จะฟังดูไม่เนียนนัก แต่ก็พอใช้ได้ และผมเองก็ยังหาอุปมาที่ดีกว่านี้ไม่ได้

ในสมัยนั้นซึ่งยังไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ และการขอโทรศัพท์มาติดที่บ้านที่จังหวัดผมก็ต้องรอกันเป็นปี ๆ ดูเหมือนวิชาย่อความจะเป็นประโยชน์มากที่สุดก็เมื่อไปโทรเลขซึ่งต้องส่งข้อความสั้น ๆ แต่ให้คนรับรู้เรื่อง เพราะเขาคิดค่าบริการตามจำนวนคำ สมัยผมมีขำขันเรื่องหนึ่งที่ยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ คือ มีสามีคนหนึ่งต้องไปทำงานที่ต่างจังหวัด ส่วนภรรยาอยู่กรุงเทพไม่ได้ตามไปอยู่ด้วย มีครั้งหนึ่งภรรยาโทรเลขไปบอกสามีว่าเสาร์อาทิตย์นี้จะมาหา สามีก็โทรเลขตอบกลับว่า
ถ้ามา-ไม่ต้องไป, ถ้าไม่มา-ไปได้
ผมเดาว่าสามีคนนี้ตอนเรียนมัธยม น่าจะได้คะแนนเต็มในวิชาย่อความ (สังเกตการใช้คำว่า มา และ ไป ด้วยนะครับ นี่น่าจะได้คะแนนเต็มในวิชาเรียงความด้วย เพราะใช้คำว่า มา และ ไป ได้ถูกต้อง)

เอาละครับ ขอเข้าเรื่องที่คุณ Chanuwan เขียนมา คือ ให้ผมพูดเรื่องการย่อบทความภาษาอังกฤษ
เรื่องนี้ ถ้าอนุญาตให้ผตอบแบบวิชาย่อความก็ง่ายมากครับ คือ
ถ้าจะตอบเป็นภาษาไทย ก็ให้คลิกที่ลิงค์ Google Search นี้
หลักเกณฑ์การย่อความ
ส่วนถ้าจะตอบเป็นภาษาอังกฤษ ก็ให้คลิกที่ลิงค์ Google Search นี้
how to summarize an article

ในลิงค์ที่ Google หามาให้ได้อธิบายหลักเกณฑ์การย่อความไว้อย่างละเอียด ซึ่งโดยหลักใหญ่ก็ไม่ต่างจากที่ครูเคยสอนผมสมัยเรียนมัธยม คือ ต้องจับใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้าให้ได้, ใช้ดินสอขีดเส้นใต้ไว้ก็ได้, แล้วนำใจความสำคัญนั้นมาเรียงร้อยกันด้วยสำนวนภาษาของตัวเองให้กลมกลืน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บทย่อสุดท้ายที่ได้มาจะต้องเก็บประเด็นสำคัญได้หมด และไม่เพี้ยนหรือเพิ่มจากต้นฉบับเดิม วิธีการย่อก็มีง่าย ๆ แค่นี้แหละครับ

ผมคิดไปคิดมาแล้วก็เห็นว่า ความยากของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ตรงนี้หรอกครับ แต่อยู่ตรงที่ว่าทำอย่างไรเราถึงจะย่อได้เก่งและเร็ว ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษหลักเกณฑ์คงไม่ต่างกัน เมื่อเรารู้ทฤษฎีแล้วถ้าได้ฝึกหัดปฏิบัติเยอะ ๆ และมีคนตรวจสอบติติงก็คงจะย่อได้เก่งไปเอง

มาถึงตรงนี้ ผมก็เลยคิดว่า น่าจะหาเว็บไซต์ที่มีต้นฉบับเต็มและฉบับย่อที่ดีนำมาให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาเปรียบเทียบ การได้เห็นตัวอย่างดี ๆ เช่นนี้ก็น่าจะช่วยให้เรามีทักษะในการย่อความได้เก่งอย่างรวดเร็ว

ผมเคยเขียนบทความนี้ลงบล็อก
[1058]อ่านเรื่องย่อ สารพัดหนังสือดังระดับโลกที่นี่ !

แต่มันก็มีแต่เรื่องย่อ ไม่มีต้นฉบับเต็ม ผมจึงไปที่ลิงค์นี้ซึ่งเขาย่อเรื่องต่าง ๆ ไว้หลายเรื่อง
http://www.wikisummaries.org/Category:Summaries

แต่การจะหาต้นฉบับเต็มคงต้องพยายามสักหน่อย ผมขอแนะนำ 2 เว็บข้างล่างนี้ครับ ให้ท่านพิมพ์ชื่อหนังสือ หรือชื่อผู้แต่งลงไป ถ้าโชคดีอาจจะเจอทันที, ถ้าโชคดีไม่มากอาจจะต้องหาอยู่นานกว่าจะเจอ, ถ้าโชคร้ายก็คงไม่เจอ ลองดูนะครับ
http://www.4shared.com/
http://filetram.com/

ตอนที่ผมเขียนบทความนี้ ผมลองหาเรื่อง The Da Vinci Code ซึ่งโชคดีไม่มาก คือ เมื่อเจอฉบับย่อแล้ว ต้องใช้เวลานานหน่อยกว่าจะเจอฉบับเต็ม
ฉบับย่อ
ฉบับเต็ม

ท่านผู้อ่านก็ลองหาเรื่องที่ท่านต้องการดูนะครับ ขออวยพรให้โชคดี หรืออย่างน้อยก็โชคดีไม่มาก อย่าถึงกับโชคร้าย

แล้วผมก็มานึกขึ้นได้ว่า Magazine ฉบับหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงดังก้องโลก คือ Reader’s Digest
http://www.rd.com/ [ซึ่งผมเคยเขียนแนะนำไว้ที่ลิงค์นี้]แท้จริงแล้วก็คือนิตยสารที่ตีพิมพ์บทความย่อต่าง ๆ นั่นเอง ในฉบับออนไลน์ที่เขาให้เราอ่านฟรีนั้น ท้ายบทความมักจะมีคำว่า Source ซึ่งเป็นแหล่งของต้นฉบับเต็ม

ยกตัวอย่าง 2 บทความนี้ครับ
Can Extreme Exercise Destroy Your Marriage?
ฉบับย่อ
ฉบับเต็ม

The 4 Best Credit Cards
ฉบับย่อ
ฉบับเต็ม

แต่บางบทความก็บอกเพียงแหล่งของต้นฉบับเต็ม แต่ไม่มีฉบับเต็มให้อ่านหรือดาวน์โหลด อย่างนี้ก็โชคร้ายหน่อยครับ

ขอจบเรื่องที่จะคุยวันนี้เพียงเท่านี้แล้วกันครับ เพราะวันนี้ผมว่าด้วยเรื่องการย่อความ ถ้าพูดยาวเกินไปจะไม่เป็นการย่อ

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

5 ความคิดเห็น:

Chanuwan กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับ อาจารย์พิพัฒน์
Reader's Digest
เป็นแหล่งข้อมูลศึกษาภาษาอังกฤษที่ดี

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

โอ้โห ...คุณพิพัฒน์ขยันอัพเดตจริงๆครับ เห็นcommentเกี่ยวกับการย่อบทความเมื่อวาน วันนี้คุณพิพัฒน์จัดให้แล้ว ...เร็วจริงๆ

chaiwat กล่าวว่า...

สวัสดีครับคุณอา ผมอยากให้คุณอาช่วยแนะนำเกี่ยวกับบทสนทนาในสถานที่ต่างๆ อะครับ ประมาณว่าจะถามอะไรดีเมื่ออยู่ที่นั้น แล้วคำตอบแบบสุภาพเป็นอย่างไร เพราะบางทีเห็นเพื่อนบอกผมว่าที่ตอบไปไม่ค่อยสุภาพ

และก็อยากให้คุณอาช่วยแนะนำเกี่ยวกับการนำเสนอบทความทางวิชาการเป็นภาษาอังกฤษหน่อยครับ



ขอบคุณมากครับ

pipat - blogger กล่าวว่า...

คุณครับ chaiwat ครับ
สิ่งที่คุณถามนั้นมีอยู่แล้วในบล็อกนี้
แต่ผมอยากให้คุณเข้าไปหาดูด้วยตัวเอง ผมเกรงว่าสิ่งที่ผมหามาให้มันอาจจะไม่ถูกใจคุณ สู้เข้าไปรื้อ ๆ ค้น ๆ เอาเองดีกว่าครับ เพราะมีให้เลือกเยอะ
ไปที่ลิงค์นี้ซึ่งอยู่มุมบนซ้ายสุดของหน้าครับ
หาเรื่องไม่เจอ? คลิกที่นี่ครับ
พิพัฒน์ - blogger

chaiwat กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ