วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2553

[1314] ชวนอ่าน Reader’s Digest อีกครั้ง นะครับ

สวัสดีครับ
เมื่อเราอ่านภาษาอังกฤษ เราคงไม่ได้หวังเพียงเพิ่มทักษะการอ่าน หรือ reading skill แต่เราน่าจะได้อะไรอื่นพร้อมกันไปขณะที่อ่านหรือเมื่ออ่านจบ เช่น
-ความสนุก
-ความรู้
-เนื้อหาใช้ประกอบการเรียน – ทำการบ้าน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเลือกอ่านเพื่อให้ได้รับประโยชน์ครบตามที่กล่าวข้างต้น จะต้องเป็นข้อเขียนที่มีคุณภาพ และ Reader’s Digest ก็คือแหล่งของข้อเขียนนี้

ที่ผมกล้าพูดเช่นนี้ก็เพราะว่า เนื้อหาที่ตีพิมพ์ในหน้านิตยสารหรือหน้าเว็บของ Reader’s Digest มีทั้งคุณภาพและความหลากหลาย และไม่เก่าง่าย ๆ แม้จะเป็นฉบับย้อนหลัง

ผมเคยแนะนำ Reader’s Digest [http://www.rd.com/ ]ไว้ที่ลิงค์นี้
[79] นิตยสารที่มีคนอ่านมากที่สุดในโลก
โดยมีข้อความโดยสรุปว่า
Reader’s Digest เป็นนิตยสารที่ขายดีและมีคนอ่านมากที่สุดในโลกกว่า 100 ล้านคนในกว่า 70 ประเทศ, มากกว่า 50 edition และพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ กว่า 20 ภาษา เนื้อหาที่นำมาลงตีพิมพ์มีทั้งบทความที่พิมพ์เป็นครั้งแรก, เนื้อหาที่คัดย่อมาจากหนังสือเล่มๆ, ขำขัน-เรื่องเล่าสนุกๆที่ผู้อ่านส่งมา, และคอลัมน์ต่างๆ เขาบอกว่านิตยสารของเขาทำ 3 อย่าง คือ inform (ให้ข้อมูล) entertain (ให้ความบันเทิง) และ inspire (ให้แรงบันดาลใจ) เนื้อหาแต่ละบทใน Reader’s Digest มักจะสั้นๆ ใช้เวลาไม่นานก็อ่านจบ และมีเรื่องหลากหลายให้เลือกอ่าน
[และลิงค์อื่น ๆ ที่ผมเคยเขียนแนะนำ คลิก ]

เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากนิตยสารยักษ์ใหญ่ระดับนานาชาติฉบับนี้ วันนี้ ผมขอแนะนำอะไรเพิ่มเติมอีก 2 เรื่อง คือ
1.การหาบทความภาษาอังกฤษ และ
2.การหาบทความภาษาไทย

- - -- ขอแนะนำให้ท่านอ่านคำแนะนำข้างล่างนี้พร้อมกับคลิกทำ อ่านเฉย ๆ โดยไม่คลิกทำไปพร้อมกัน มีโอกาสงงครับ- - -- -


1.การหาบทความภาษาอังกฤษ จาก Reader’s Digest
[1] เมื่อเข้าไปที่เว็บ Reader’s Digest http://www.rd.com/ แล้ว ท่านสามารถค้นหาเรื่องได้ 2 วิธีคือ (1) คลิกที่ปุ่มเมนูต่าง ๆ ที่เขาทำไว้ให้ และ (2) พิมพ์ key word ลงไปในช่อง Search

ในหน้าที่แสดงผลของการ Search, บรรทัดบน ๆ จะมีรูปถุงหิ้ว นี่คือรายการขายหนังสือของเขา ถ้าท่านไม่ได้ประสงค์จะซื้อก็ไม่ต้องไปคลิกให้เสียเวลา, ให้เลือกคลิกที่บรรทัดใต้รูปถุงหิ้วถุงสุดท้าย ซึ่งจะเป็นบทความต่าง ๆ ตาม key word ที่ท่าน Search

ถ้าบทความหนึ่งมีหลายตอนให้คลิกเลข 1 – 2 – 3 – 4 … ไปตามลำดับ ขอเรียนว่า ถ้าชอบใจบทความใดให้ save ไว้เลยครับ

ในยุคอินเทอร์เน็ตนี้ให้ท่านพก flash drive ติดตัวหรือติดกระเป๋าถือไว้ตลอดเวลา ไปเจอไฟล์ดี ๆ กระทันหันจะได้สามารถ save ได้ทันท่วงที

สำหรับแฟนบล็อกนี้ ผมขอแนะนำเป็นพิเศษว่า ให้ท่านสร้างโฟลเดอร์ใน flash drive นี้อย่างน้อย 3 โฟลเดอร์ คือ
1.โฟลเดอร์ ชื่อ reading - รวมไฟล์ทั้งหลายที่ท่านจะฝึกอ่าน อาจจะตั้งโฟลเดอร์ย่อย ๆ ก็ได้ เช่น “อ่านวันนี้”, “อ่านเสาร์-อาทิตย์ นี้” เป็นต้น
2.โฟลเดอร์ ชื่อ listening – รวมไฟล์ mp3 หรือ วีดิโอที่ท่านจะฝึกฟัง
3.โฟลเดอร์ชื่อ reading+listening – รวมไฟล์ mp3 หรือวีดิโอ ที่มีไฟล์ script ด้วย
ส่วนท่านจะตั้งโฟลเดอร์อื่น ๆ อีก เช่น ศัพท์, grammar, สนทนาภาษาอังกฤษ ฯลฯ ก็เชิญได้ตามอัธยาศัยครับ
โฟลเดอร์ที่ท่านเก็บไฟล์ไว้นี้ คือห้องสมุดเคลื่อนที่ส่วนตัวของท่าน ยังไงก็อย่าลืมเข้าห้องสมุดบ้างนะครับ

[2] ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า Search ที่มีให้บริการในเว็บ Reader’s Digest นี้ หาบทความได้ต่างจากผลที่ท่านให้ Google Search ช่วยหา ผมขอเปรียบเทียบให้ท่านดูอย่างนี้ครับ

-เมื่อท่านไปที่ http://www.rd.com/ และพิมพ์ คำว่า conversation ลงไป จะได้ผลการค้น ดังนี้ คลิก

-หรือถ้าพิมพ์ intitle:conversation เพื่อหาเฉพาะบทความที่มี คำว่า conversation อยู่ในชื่อบทความ ก็จะได้บทความ 3- 4 เรื่อง ดังนี้ (ค้นวันที่ 14 มค 53) คลิก

คราวนี้ลองใหม่ครับ ให้ท่านไปที่ http://www.google.com/ และให้ Google ค้นคำดียวกัน คือ conversation จากเว็บ http://www.rd.com/ ให้ท่านพิมพ์อย่างนี้ conversation site:www.rd.com
ลงไป, google ก็จะแสดงผลอย่างนี้ คลิก
ลองดูนะครับ ชอบใจผลการค้นแบบไหน ก็ใช้วิธีค้นแบบนั้น

2..การหาบทความภาษาไทย จาก Reader’s Digest
1).ไปที่นี่ Reader’s Digest ฉบับภาษาไทย http://www.readersdigest.co.th/

2).ต้องลงทะเบียนก่อน จึงจะมีสิทธิอ่านแต่ละบทความโดยสมบูรณ์ โดยให้คลิกที่ ลงทะเบียนที่นี่ ซึ่งอยู่ที่มุมบนด้านซ้ายของหน้าใต้คำว่า Reader’s Digest

3).เข้า email ที่ให้ไว้ตอนลงทะเบียน, เปิด email ฉบับที่ Reader’s Digest ลงไปให้ และคลิกลิงค์ในนั้นเพื่อยืนยันการลงทะเบียน (email ฉบับที่ Reader’s Digest ส่งมาให้นี้ ถ้าหาไม่เจอ ให้ดูในโฟลเดอร์อีเมลขยะด้วย เพราะอาจจะไปตกอยู่ในนั้น)

หลังจากนี้ ท่านจะสามารถ Search และ save บทความได้เต็มบทความ ถ้าไม่ล็อกอิน ท่านจะเห็นคำว่า
"เพียงแค่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกเว็บไซต์รีดเดอร์ส ไดเจสท์ คุณก็จะได้อ่านเนื้อหาทั้งหมดของบทความนี้"
ที่บรรทัดสุดท้ายของ part 1 ของบทความ คือไม่สามารถอ่านหรือ save บทความทั้งหมดนั่นเอง

ตอนนี้ท่านจัดการคลิก LOGIN ได้เลยครับ โดยใช้ username และ password ที่ให้ไว้ตอน REGISTER , ตำแหน่ง LOGIN อยู่ใกล้ ๆ กับลงทะเบียนที่นี่

3).ตอนนี้มาถึงขั้นตอนการ Search, ก็คล้าย ๆ กับ การ Search ที่เว็บภาษาอังกฤษ, ที่เว็บภาษาไทยนี้ในหน้าแสดงผลการ Search จะมีข้อความว่า “สินค้าในคลังสินค้าอิเล็คทรอนิค” นี่คือการขายหนังสือ ถ้าท่านไม่ประสงค์จะซื้อ, ให้เลื่อนลงไปดูชื่อบทความที่ใต้บรรทัด “บทความในนิตยสาร

ผมเชื่อว่าท่านที่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับ Reader’s Digest เพื่อได้อ่านไปสักพักหนึ่ง ไม่ว่าเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังฤษ จะต้องชอบนิตยสารฉบับนี้แน่นอน คำว่า “ชอบ” ในที่นี้มิได้หมายความว่าท่านชอบทุกบทความ, แต่หมายความว่า ใน Reader’s Digest จะต้องมีบางบทความหรือหลายบทความที่ท่านชอบอยู่ แน่ ๆ, ใช้เวลา Search นิดนึง ขอรับรองว่าท่านเจอแน่ครับ

ก่อนจากขอแถมอีกนิดนึงครับ อย่างที่ผมเรียนแล้วข้างต้นว่า Reader’s Digest พิมพ์จำหน่ายหลายภาษา และแม้ฉบับภาษาอังกฤษที่พิมพ์จำหน่ายในประเทศต่าง ๆ ก็มีเนื้อหาไม่เหมือนกันนัก เมื่อท่านเข้าไปที่เว็บ http://www.rd.com/ และเลื่อนลงมาข้างล่างใต้บรรทัด Reader's Digest Around the World ท่านจะเห็นรายชื่อประมาณ 40 ประเทศที่มี Reader’s Digest ฉบับของประเทศนั้นพิมพ์จำหน่าย (ในจำนวนนี้รวม Thailand ด้วย)

เฉพาะฉบับของประเทศที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ น่าจะมี 6 ประเทศข้างล่างนี้:
1.Australia
2.Asia ( ฉบับ Singapore, Malaysia, Philippines เนื้อหาเหมือนกัน
คลิก )
3.Canada (English)
4.Great Britain
5.New Zealand
6.India (บทความที่สมบูรณ์ มีให้อ่านเฉพาะะในฉบับย้อนหลัง คลิก PAST ISSUES แต่ก็น่าสนใจครับ)

เรื่องสุดท้ายที่ขอเรียนให้ทราบก็คือ ถ้าท่านอ่านบทความใดถึงบรรทัดสุดท้ายและพบประโยคนี้
To access the complete story, you have to be a registered member of RDAsia website.
Please LOGIN or REGISTER now.

นี่แสดงว่าเขาไม่ยอมท่านอ่าน จนกว่าท่านจะ REGISTER และ LOGIN (รวมทั้ง Reader’s Digest Thailand ด้วย)

คิดว่าจุดสำคัญ ๆ น่าจะหมดแล้ว ต่อไปนี้ก็ขอเชิญท่านเข้าไปอ่าน Reader’s Digest ซึ่งจะช่วยให้ได้รับทั้ง reading skill, ความรู้ และความเพลิดเพลิน ขอเรียนเชิญคลิกลิงค์ที่แนะนำแล้วข้างบนได้ตามอัธยาศัยครับ

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

อยากทราบว่า ถ้าสมมติเราสั่งซื้อหนังสือเป็นเซต ฉบับภาษาอังกฤษ การจ่ายเงินแบบไหนสะดวกคะ คือหนูยังไม่มีรายได้ เป็นนักศึกษา ไม่มีบัตรเครดิต