วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2551

[843] “The Last Lecture”

สวัสดีครับ
ตอนนี้มีหนังสือแปลเล่มหนึ่งออกวางขาย ชื่อหนังสือ “The last Lecture” หรือ เล็กเชอร์ครั้งสุดท้าย ผู้เล็กเชอร์ ชื่อ Dr Randy Pausch เป็นอาจารย์สอนวิชาคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ที่สหรัฐอเมริกา ท่านใดต้องการอ่านหนังสือเล่มนี้ที่เป็นต้นฉบับภาษาอังกฤษ เชิญคลิกเพื่อดาวน์โหลดได้เลยครับ The Last Lecture

ขณะที่เขียนบทความนี้ Dr Randy Pausch ได้เสียชีวิตไปแล้วด้วยโรคมะเร็งที่ตับอ่อน เขาเกิดปี 2503 เพิ่งตายเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 นี้เอง

เรื่องของเรื่องก็คือว่า หมอวินิจฉัยเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2549 ว่ามะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้ายที่เขาเป็นอยู่จะทำให้เขามีสุขภาพดีต่อไปได้ไม่เกิน 3 – 6 เดือน

เขาพยายามใช้การรักษาทุกอย่างแต่ก็ไม่ได้ผล และเมื่อได้รับเชิญ เขาจึงตอบรับคำเชิญที่จะไปพูดที่มหาวิยาลัย Carnegie Mellon เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 ในหัวข้อ "Really Achieving Your Childhood Dreams". (ทำความฝันในวัยเด็กของคุณให้เป็นความจริง)

-ถ้าท่านต้องการชมวีดิโอที่เขาพูด คลิก YouTube, Windows streaming video, หรือ Google video
-หรือต้องการดาวน์โหลดวีดิโอ ก็คลิก ดาวน์โหลดวีดิโอ ขนาดประมาณ 240 MB

ทั้งวีดิโอการเล็กเชอร์เรื่อง "Really Achieving Your Childhood Dreams". และหนังสือเรื่อง “The Last Lecture” ได้รับการเผยแพร่และจำหน่ายเป็นหนังสือขายดีไปทั่วโลก

Randy มีภรรยาอายุ 41 ปี และลูกเล็ก ๆ อีก 3 คน เขาบอกว่าเป็นธรรมดาที่พ่อแม่จะมีเรื่องราวและประสบการ์ที่จะเล่าให้ลูกฟัง แต่ตอนนี้ลูกของเขาทั้ง 3 คนยังเล็กเกินกว่าที่จะเข้าใจเรื่องที่เขาจะเล่า และเขาก็สรุปว่า
If I were a painter, I would have painted for them.
If I were a musician, I would have composed music.

But I am a lecturer. So I lectured.

และนี่ก็คือที่มาของเล็กเชอร์เรื่อง "Really Achieving Your Childhood Dreams". ประมาณ 10 เดิอนก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็ง

หลังจากวันที่เขาเล็กเชอร์ เขาพยายามรักษาสุขภาพให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขาได้ขี่จักรยานไปรอบหมู่บ้านของเขา และพูดโทรศัพท์ชนิดมีที่ครอบศีรษะกับ Jeffrey Zaslow ข้อมูลจากการเล่าเรื่องราวขณะขี่จักรยาน 53 เที่ยวรอบหมู่บ้านนี้ได้รับการเรียบเรียงจาก Jeffrey Zaslow และกลายเป็นหนังสือ The Last Lecture ที่ผมนำมาให้ท่านดาวน์โหลด

ในเล็กเชอร์เรื่อง “ทำความฝันในวัยเด็กของคุณให้เป็นความจริง” เขาได้พูดถึงความฝันในวัยเด็กของเขา และการที่เขาทำให้ฝันนั้นเป็นจริง และบทเรียนที่ได้เรียนรู้ คือ จะทำอย่างไรให้ความฝันของตนเป็นจริงและการช่วยสานฝันขอผู้อื่นด้วย

ผมฟังเล็กเชอร์และอ่านหนังสือของเขาแล้ว แม้จะรู้เรื่องไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็จับใจความได้ว่าเขาพูดถึงสิ่งที่ดีในชีวิต มีถ้อยคำหลายตอนที่ผมชอบ ขอยกตัวอย่างมาสัก 2 – 3 ตอนนะครับ เช่น
We cannot change the cards we are dealt, just how we play the hand. (เราเปลี่ยนไพ่ที่เจ้ามือแจกไม่ได้ ที่ทำได้ก็คือเราจะเล่นไพ่ในมืออย่างไรเท่านั้นเอง) ...ตัวอย่างนี้ก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะพัวพันกับการพนัน...

อีกตอนหนึ่งที่ Randy พูดถึงพ่อของเขา...
He’d also warn me that even if I was in a position of strength, whether at work or in relationships, I had to play fair. “Just because you’re in the driver’s seat,” he’d say, “doesn’t mean you have to run people over.”
(พ่อยังเตือนผมอีกว่า แม้เราจะอยู่ในตำแหน่งที่เข้มแข็งกว่า ไม่ว่าเรื่องงานหรือความสัมพันธ์กับบุคคล เราก็ต้องปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างแฟร์ ๆ เพียงแค่เรานั่งอยู่ที่นั่งคนขับรถไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องขับรถทับคน)

และที่ผมชอบมากที่สุด คือตอนนี้ ที่เกี่ยวกับการหาความรู้ในครอบครัวของ Dr Randy
Most every night, we’d end up consulting the
dictionary, which we kept on a shelf just six steps from the table. “If you have a question,” my folks would say, “then find the answer.” The instinct in our house was never to sit around like slobs and wonder. We knew a better way: Open the encyclopedia. Open the dictionary. Open your mind.

(แทบทุกคืน เราจะต้องเปิดดิกชันนารีซึ่งเราเก็บไว้บนชั้นหนังสือห่างจากโต๊ะเพียง 6 ก้าว ทั้งพ่อและแม่จะบอกว่า “ถ้ามีคำถามก็ให้พยายามหาคำตอบ” สัญชาตญาณที่เป็นอยู่ในบ้านของเราก็คือ เมื่อสงสัยพวกเราจะไม่นั่งขี้เกียจอยู่เฉย ๆ เรารู้วิธีที่ดีกว่า คือ... (3 ปรโยคต่อไปนี้อย่าให้ผมแปลเลยครับ เพราะเป็นประโยคที่ผมชอบมากจริง ๆ แปลแล้วเสียรสชาติครับ คือ... )
Open the encyclopedia.
Open the dictionary.
Open your mind.

สำหรับผมแล้วเล็กเชอร์เรื่อง "Really Achieving Your Childhood Dreams" เป็นสิ่งที่น่าฟัง และหนังสือเรื่อง “The Last Lecture” ก็เป็นหนังสือที่น่าอ่าน
* * * *

ท่านผู้อ่านครับ สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้อาจจะดูขัดกับสิ่งที่ผมพูดข้างบน แต่ถ้าท่านอ่านไปเรื่อย ๆ จะรู้ว่ามันไม่ได้ขัดกันหรอกครับ ผมเพียงแต่จะพูดอีกแง่มุมหนึ่งเท่านั้น มุมที่อาจจะไม่ค่อยมีใครมองกัน

The Last Lecture ไม่ได้เป็นหนังสือ best seller เกี่ยวกับบุคคลเล่มแรก ที่เข้ามาถึงเมืองไทยและมีการแปลออกเป็นภาษาไทยให้คนไทยอ่าน คำที่สำคัญที่สุดที่อธิบายคุณค่าที่หนังสือเหล่านี้มีให้คนอ่านดูเหมือนจะเป็นคำว่า “inspiration” หรือ “แรงบันดาลใจ” และก็ดูเหมือนแรงบันดาลใจ คือประวัติชีวิตและผลงานที่เป็นตัวอย่างของคนเป็น ๆ นี้จะมีหลายประเภททีเดียว ขอยกตัวอย่างสัก 2 ประเภท คือ (1) แรงบันดาลใจที่ช่วยให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อทำให้รวย และ (2) แรงบันดาลใจทำให้มองโลกในด้านดี(ผมต้องใช้คำว่า positive thinking ซีนะถึงจะไม่ตกยุค) จะได้มีสุขภาพจิตดีและไม่บ้าก่อนที่จะได้เสพสุขกับความรวย หนังสือแปลพวกนี้บางยุคมีเยอะจริง ๆ จนผมชักสงสัยขึ้นมาดื้อ ๆ ว่า ถ้าเมืองไทยไม่มีหนังสือพวกนี้อ่าน คนไทยจะกลายเป็นคนบ้าไปทั้งเมือง หรือขี้เกียจไม่ขยับตัวทำงานเพราะขาดแรงบันดาลใจ มันจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่านะ? ท่านผู้อ่านอย่าได้คิดว่าผมแอนตี้ฝรั่งนะครับ ผมเพียงแต่สงสัย

เมื่อหันมามองตัวอย่างที่เราคุ้นเคยหรือมีอยู่ (ถ้าคลิกแล้วไม่ได้ผล ให้คลิกพร้อมกด shift) เช่น เรื่องราวของ
พระพุทธเจ้า
พระภิกษุ - ภิกษุณี,
อุบาสก,
อุบาสิกา,
และอื่น ๆ

ก็ดูเหมือนจะเป็น inspiration หรือแรงบันดาลใจให้แก่มวลชาวไทยไม่ได้เอาซะเลย เพราะเป็นเรื่องของคนที่สละโลกแล้ว อะไร ๆ ก็เลิกอยากแล้วทั้งนั้น ก็เลยไม่รู้จะศึกษาประวัติของท่านเหล่านี้ไปทำไม

ตัวเลขที่ผมขอยกเอามาให้ท่านดูเล่น ๆ ก็คือ อัตราการฆ่าตัวตาย ของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ 11 % และของไทย คือ 7.8 % (แหล่งข้อมูล)

ตอนนี้ ผมนึกไปถึงคำสอนที่เป็นโอวาทปาติโมกข์ของพระพุทธเจ้าว่า
สัพพะปาปัสสสะ อะกะระณัง, การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา, การทำกุศลให้ถึงพร้อม
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส


และนึกเลยไปว่า หนังสือ best seller เล่มไหนก็ตามของฝรั่ง หรือของจีน ของญี่ปุ่น หรือของชาติไหนก็ตามเถอะที่คนไทยเห่อแปลและเห่ออ่าน ถ้าสอนให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สอนให้รวย สอนให้มีสุขภาพจิตส่วนตัวดี โดยไม่พูดถึงการหยุดทำบาปหรือการหยุดมีชีวิตที่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม, ไม่พูดถึงการทำชีวิตให้มีคุณค่าเพราะเมตตาและกรุณา, ไม่พูดถึงจิตใจที่บริสุทธิ์เพราะงดงามและมีพลัง ถ้า best seller เล่มไหนไม่ได้พูดถึง 3 สิ่งนี้เลย เมื่ออ่านจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษครับ

พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ก็ว่ากัันไปนะคะพี่พิพัฒน์
สำหรับหนูคิดว่าปรัชญาชีวิตจากฝรั่ง หรือแม้กระ่่ทั่งจากพระพุทธเจ้าเองก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ต่างกันตรงที่ของฝรั่งพูดถึงการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขซึ่งไม่ยั่งยืนถาวร
ในส่วนของพระพุทธเจ้าก็พูดถึงเรื่องนี้เช่นกันคะ
เพียงแต่พระองค์มองลึกไปอีกถึงการเวียนว่ายอยู่ในวัฎฎสงสาร และการหลุดพ้นจากห้วงนี้
ฉะนั้นใครใคร่ศึิกษาการใช้ชีวิตจากท่านไหนก็ศึกษากันไป
ขอให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งดีเท่านั้นเพียงพอ
เพียงแต่เราชาวพุทธที่ศึกษาพระธรรมโชคดี
ที่ได้เรียนรู้วิถีที่เข้าสู่นิพพาน

ก็ขอให้พี่พิพัฒน์และผู้อ่านท่านอื่นๆ ประสบความสำเร็จในชีิวิตนะคะ

แลกเปลี่ยนความคิดวันละนิด จิตใจสบายแจ่มใส
น้องวันลี

Blackdog กล่าวว่า...

จะว่าไป หนังสือเล่มนี้ (ไม่ว่าจะดีหรือไม่โดยตัวของมันเอง)ก็ออกมาตามกระแสนั่นแหละครับ กระแสหนังสือประเภทนี้ในเมืองไทยกำลังพุ่งขึ้นสูง เนื่องจาก (ในความคิดของผม) คนไทยชอบอะไรที่สำเร็จรูป แค่อ่านหนังสืออย่างเดียวก็หวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในชีวิต ต่อให้อ่านสักสิบเล่มร้อยเล่มก็ไม่เกิดผลใดๆ หรอกครับ ถ้าไม่คิดจะลงมือเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง อ่านหนังสือประเภทนี้ก็ทำให้สุขใจ มีแรงบันดาลใจประเดี๋ยวประด๋าว และก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม

Laychan K. กล่าวว่า...

คงเพราะฝรั่งชาติตะวันตก มุ่งเน้นพัฒนาแต่ภายนอก
จึงได้แต่ทรัพย์ภายนอก แต่ฝั่งตะวันออกมุ่งเน้นพัฒนาจากภายนอกสู่ภายใน จะพัฒนาจิตใจมากกว่า
ประมาณว่าทำใจได้มากกว่า แต่ถ้าวันนึงคนไทยเราหลงกับคำสอนของต่างชาติมุ่งพัฒนาภายนอก จนลืมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มุ่งเน้นพัฒนาภายใน ไม่แน่อัตราการฆ่าตัวตายอาจสูงกว่าก็ได้มังคะ