สวัสดีครับ
ในการเรียนภาษาอังกฤษ ถ้ามีใครให้ผมสรุปอย่างสั้นที่สุดถึงวิธีฝึกที่ทำให้ท่านพูดได้ คำตอบของผมคือ ท่านได้พูด
ในทำนองเดียวกัน วิธีที่ทำให้ฟังได้(รู้เรื่อง) ก็คือ ได้ฟัง
วิธีที่ทำให้อ่านได้ ก็คือ ได้อ่าน
วิธีที่ทำให้เขียนได้ ก็คือ ได้เขียน
มันเหมือนกับภาษิตฝรั่งนั่นแหละครับ practice makes perfect
คือ if you do an activity regularly, you will become very good at it
จากปริมาณจะนำไปสู่คุณภาพเองแหละ ถ้าเราไม่ทอดทิ้งการฝึก
วันนี้ผมขอพูดเรื่องการฟัง...
หลายคนที่เรียนภาษาอังกฤษมาจากโรงเรียนซึ่งมีโอกาสน้อยในการสนทนา (ฟัง+พูด) และเน้นมากเรื่องแกรมมาร์ อ่าน และคำศัพท์ อาจจะรู้สึกรำคาญตัวเองเมื่อถึงเวลาทำงานที่ต้องฟังให้รู้เรื่อง เพราะรู้สึกว่าเมื่อไหร่มันจะรู้เรื่องน้า..... ?
คำแนะนำของผมก็ยังสั้น ๆ เหมือนเดิมครับ คือ ถ้าได้ฟังเรื่อย ๆ ก็จะค่อย ๆ ฟังรู้เรื่อง แต่ถ้าหยุดฟังก็จะค่อย ๆ ฟังไม่รู้เรื่อง
ถ้าถามอีกว่า ที่ว่าฝึกฟังไปเรื่อย ๆ นี้ให้ฝึกยังไง คำตอบของผมก็คือ ก็มีมากมายหลายวิธีครับ แต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน เอาอย่างนี้แล้วกันครับ ผมรวบรวมเว็บไซต์และลิงค์มากพอสมควรให้ท่านได้เข้าไปเลือกฝึกฟังตามอัธยาศัย ถ้าถูกใจหรือได้ผลด้วยวิธีใดก็ใช้วิธีนั้นเถอะครับ ซึ่งอาจจะมีหลายวิธีใช้สลับกันไปสลับกันมาก็ได้ คลิกเข้าไปดูได้เลยครับ
รวมเว็บฝึก listening skill
แต่ถ้าท่านถามวิธีฝึกที่ผมใช้ ขอตอบว่าผมเองก็ใช้หลายวิธีครับ ในจำนวนนี้มีวิธีหนึ่งคือ การฝึกฟังครั้งละ 1 ประโยค ฟังซ้ำ ๆ จนคุ้นเคยมากขึ้น ๆ กับสำเนียง สำนวน และศัพท์ ในแต่ละประโยคที่ฝึกฟัง
และในการฝึกฟังเช่นนี้ ผมจะไม่รีบดู script คือผมจะให้หูของผมมันทำงานสักพักหนึ่งก่อน ให้มันสามารถแยกแยะได้ว่า เสียงคำใดที่มันฟังออก และคำใดที่ฟังไม่ออก หลังจากที่หูเริ่มเหนื่อยเล็กน้อย ผมก็ให้ตาเป็นตัวช่วย คืออ่าน script สัก 2 – 3 เที่ยว (อ่านและตีความให้เข้าใจ) หลังจากนี้ก็จะฟังใหม่โดยไม่อ่านตาม และดูซิว่าคราวนี้ฟังรู้เรื่องได้ครบถ้วนไหม ซึ่งโดยทั่วไปก็มักจะฟังได้ดีกว่าเดิม หรือรู้เรื่องหมดทุกคำ
หลังจากนี้ผมก็จะฝึกพูดตามที่ได้ฟัง ถ้ามีเวลาก็จะฝึกเขียนตามด้วย
สรุปก็คือ ใน 1 ประโยคที่อยู่เฉพาะหน้า ผมได้ฝึกครบทุกกระบวนท่า คือ ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน-ศัพท์-แกรมมาร์ (การทำความคุ้นเคยกับรูปประโยคทำให้เราเรียนรู้แกรมมาร์โดยไม่รู้ตัว)
และวันนี้ผมมีเว็บ Longman Dictionary มาแนะนำให้ท่านฝึก ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน-ศัพท์-แกรมมาร์ ทีละประโยค อย่างที่ผมเล่าข้างบน โดยท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เสียงอ่านแต่ละประโยค และนำเอาไปใส่เครื่องเล่น mp3 เพื่อฝึกฟังขณะเดินทางก็ได้
วิธีทำ
1.เข้าไปที่เว็บ Longman Dictionary http://www.ldoceonline.com/
2.พิมพ์คำศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วยตัว d หรือ s และคลิกเลือกคำศัพท์ที่เว็บโชว์
3.คลิกรูปลำโพงหน้าประโยคตัวอย่าง (อย่าเพิ่งอ่านประโยคนะครับ)
ขอเรียนว่า ขณะที่เขียนเรื่องนี้ ผมเปิดเว็บด้วยโปรแกรม Internet Explorer มันไม่มีเสียงให้ได้ยิน, ผมก็เลยลองเปิดด้วยโปรแกรม Firefox ก็ยังไม่สะดวกเพราะต้องคลิกที่ไอคอนลำโพงทุกครั้งจึงจะได้ยินเสียงอ่าน จนในที่สุดผมเปิดฟังด้วยโปรแกรม Google Chrome คราวนี้วิเศษเลยครับ เพราะว่าจะได้ยินเสียงอ่านประโยคซ้ำแล้วซ้ำอีกจนคุ้นเคย ไม่ต้องคลิกประโยคเดิมบ่อย ๆ
แต่ถ้าคลิกแล้วแต่ไม่ได้ยินเสียงอ่าน เพราะมีหน้าต่าง เล็ก ๆ ขึ้นข้อความว่า This site is attempting… Allow - - Deny ให้ท่านคลิก Allow ก็จะได้ยินเสียงอ่านครับ
ถ้าท่านไม่มีโปรแกรมดังกล่าว เชิญไปดาวน์โหลดข้างล่างนี้ และติดตั้งในคอมฯของท่าน
คลิกดาวน์โหลดโปรแกรม Google Chrome (19.02 MB)
คลิกดาวน์โหลดโปรแกรม RealPlayer (25.4 MB)
ส่วนในเรื่องการดาวน์โหลดไฟล์เสียงอ่านประโยคนี้ ขอเรียนว่า เมื่อท่านได้ยินเสียงอ่านผ่าน Google Chrome, ไฟล์เสียง mp3 ประโยคนั้น ๆ ได้ถูกดาวน์โหลดเรียบร้อยแล้ว โดยขอให้ท่าน
-คลิก My Documents
-คลิก Downloads
-คลิกที่ไฟล์ mp3 ที่ขึ้นต้นชื่อไฟล์ด้วยคำว่า MED.pronsentence
-ขอแนะนำให้ copy ไฟล์เหล่านี้ไปไว้ในโฟลเดอร์ที่ท่านตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ ท่านอาจจะ rename ชื่อไฟล์เสียใหม่ก็ได้ตามที่ท่านเห็นสมควร
สำหรับท่านอาจารย์ ผมเห็นว่าไฟล์ mp3 เหล่านี้เป็นสื่อการสอนที่ดีมาก ๆ ในการสอนภาษาอังกฤษ
สำหรับท่านที่ยังข้องใจว่า เราก็ได้ฝึกเฉพาะศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วยตัว d และ s เท่านั้น มันน้อยเกินไป ผมขอเรียนว่า จริง ๆ แล้วเราได้ฝึกกับศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วยตัว a ถึง z แหละครับ เพราะนอกจากคำศัพท์นี้ที่ขึ้นต้นด้วย d หรือ s, คำอื่น ๆ ในประโยคก็มีตั้งแต่ a ถึง z
คำแนะนำที่เล่ามาตั้งแต่ต้น อาจจะดูยุ่งยากสักนิด และถ้าท่านลองทำดูให้ได้สัก 1 รอบก็จะเห็นเองว่า ง่ายมาก ๆ เลยครับ และเราก็จะได้สื่อที่คุ้มค่ากับการฝึกภาษาอังกฤษของเรา
ศึกษาเพิ่มเติม:
[910]ฝึก ฟัง–พูด,ทีละคำ–ทีละประโยคกับ Talking Dict
พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com
วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น