วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2551

[845] ดาวน์โหลดโปรแกรมดิกชันนารี สอ เสถบุตร

สวัสดีครับ
ดิกชันนารีเล่มใหญ่ที่สุดที่ผมเคยซื้อครั้งแรกในชีวิต คือ ดิกชันนารี อังกฤษ – ไทย ฉบับตั้งโต๊ะของอาจารย์ สอ เสถบุตร สมัยนั้นอยู่ชั้นมัธยมต้น ยังจำความรู้สึกได้เลยว่าตื้นเต้นมากที่ได้เปิดดิกเล่มนี้เป็นครั้งแรก ท่านจะเข้าใจความรู้สึกของผมได้ดีถ้าท่านได้อ่านสิ่งที่ผมเขียนไว้ในเรื่อง “คนบ้าดิก”

เมื่อผมขยับชั้นสูงขึ้น จนเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อมีหนังสือภาษาอังกฤษที่ต้องอ่านมากขึ้น และเปิดหาในดิกของอาจารย์สอแล้วไม่พบ ผมจึงตัดสินเลยว่า ดิกของสอ เสถบุตรไม่ค่อยดีเท่าไหร่เพราะมีศัพท์น้อย ก็ด้วยความไร้เดียงสานี่แหละครับที่ทำให้ผมมีเกณฑ์เพียง 1 ข้อในการตัดสินว่าดิกเล่มใดดีที่สุด คือ ดิกเล่มนั้นจะต้องมีศัพท์มากที่สุด

ทุกวันนี้มีดิกมากมายหลายยี่ห้อวางขายในท้องตลาด ผมไม่รู้ว่าเคยมีการทำวิจัยกันหรือเปล่าว่า ดิกเล่มใดได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ถ้าจะให้ผมเดา ถ้าดิกของอาจารย์สอ เสถบุตรไม่ใช่ดิกที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 แต่อย่างน้อยก็ต้องอยู่ในความนิยมระดับแนวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ใช้ดิกที่ scope ของศัพท์ไม่กว้างมากนัก เช่นนักศึกษาระดับประถม และมัธยมที่มีอยู่ทั่วประเทศ

ดิกของอาจารย์สอ เสถบุตร ที่มีวางขายขณะนี้มีทั้งขนาดจิ๋ว ขนาดตั้งโต๊ะ และฉบับห้องสมุด และมีทั้งฉบับดั้งเดิม และฉบับปรับปรุงซึ่งเท่าที่ผมเห็นก็มีอยู่ 2 เวอร์ชั่น ผมคาดว่าคงเป็นเหตุผลทางลิขสิทธิ์หรือทางอะไรสักอย่างหนึ่งจึงทำให้ดิกของอาจารย์สอมีวางขายถึง 3 เวอร์ชั่นในเวลาเดียวกัน คือเวอร์ชั่นดั้งเดิม และเวอร์ชั่นใหม่อีก 2 เวอร์ชั่น เอาเถอะครับ แม้ดูแล้วเวอร์ชั่นใหม่จะมีคุณภาพดีกว่าเวอร์ชั่นเก่า แต่ผมขอพูดถึงเวอร์ชั่นเก่าแล้วกันครับ ก็คือว่ามีเหตุผลที่ทำให้คนจำนวนมากยังนิยมดิกของสอ เสถบุตร

ทำไมผมถึงตัดสินอย่างนี้? ถ้ามองให้แง่ความทันสมัยของศัพท์ พูดได้เลยว่าดิกของอาจารย์สอแพ้ขาด ดิกยี่ห้อใหม่ ๆ มีศัพท์มากกว่า มากกว่าทั้งจำนวนคำศัพท์ มากกว่าทั้งจำนวนความหมายของศัพท์คำหนึ่ง ๆ

แต่สิ่งที่ทำให้ผมหงุดหงิดทุกครั้งที่เปิดดิกยี่ห้อใหม่ ๆ (กว่าดิกของอาจารย์สอ) ก็คือ ในดิกอังกฤษ – ไทย พวกนี้ มีบางคำหรือหลายคำที่แปลคำศัพท์อย่างผิด ๆ ถูก ๆ หรือน่าจะแปลได้ถูกกว่านี้ หรือบางทีก็พิสูจน์อักษรผิดอย่างไม่น่าให้อภัย

แต่ดิกของอาจารย์สอ เสถบุตร แทบไม่มีการพิสูจน์อักษรผิดเลย และคำแปลศัพท์ของดิกของอาจารย์สอ แม้ไม่มีความหมายใหม่ ๆ หรือบางความหมายที่ให้ไว้เป็นความหมายเก่าที่คนไม่ค่อยใช้กันแล้ว แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นการแปลศัพท์ผิด

ลักษณะที่เด่นที่สุดของดิกอาจารย์สอ ทั้งดิกอังกฤษ-ไทย และไทย-อังกฤษ ก็คือ มีการเทียบคำระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนมาก ผมเห็นว่าอาจารย์สอเจนจัดทั้งด้านวิทยาศาตร์และอักษรศาสตร์จึงทำดิกได้มีคุณภาพดีเป็นอมตะ

ในยุคอินเตอร์เน็ตนี้ ท่านสามารถใช้ดิกของอาจารย์สอ ได้ฟรี online และมีเสียงอ่านทั้งศัพท์ไทย และศัพท์อังกฤษ คือเป็น Talking Dictionary Online นั่นเอง ที่นี่ครับ
- ดิกชันนารีอังกฤษ-ไทย
- ดิกชันนารีไทย-อังกฤษ

และไม่กี่วันนี่เองที่ผมไปพบเว็บ 4shared.com ที่เขามีโปรแกรมดิกชันนารีสอ เสถบุตร ทั้ง อังกฤษ – ไทย และ ไทย – อังกฤษ อยู่ในโปรแกรมเดียวกัน ให้ท่านดาวน์โหลดไปใช้ฟรี ๆ
คลิกดาวน์โหลดโปรแกรมดิกสอ เสถบุตร

อนึ่ง โปรแกรมนี้มีขนาดใหญ่ถึง 54 MB ผมพบปัญหาอย่างหนึ่งในการดาวน์โหลด คือ มันมักจะหลุดระหว่างที่ดาวน์โหลดจนดาวน์โหลดไม่สำเร็จสักที ผมจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการ ไปดาวน์โหลดโปรแกรมประเภทที่เพิ่มความเร็วในการดาวน์โหลดและทำให้ไม่หลุดง่าย ๆ และถึงแม้หลุดก็จะช่วยดาวน์โหลดต่อจากที่หลุดไว้ คือ โปรแกรม Download Accelerator

ท่านใดพบปัญหาอย่างผมก็ดาวน์โหลดโปรแกรมนี้และติดตั้งให้เรียบร้อยซะก่อน แล้วจึงค่อยดาวน์โหลดโปรกรมดิกสอ เสถบุตรโดยผ่านโปรแกรม Download Accelerator นี้

อ่านประวัติ สอ เสถบุตร และการทำพจนานุกรมของอาจารย์
- จาก Wikipedia
- จากเว็บอื่น

พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ลองใช้ Mozilla Firefox สิครับแล้วจะติดใจ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ให้คำนิยามเข้าใจง่ายมีอยู่ครั้งหนึ่งผมรับจ้างแปลหนังสือให้ นศ.ปริญญาโททั้งเล่มเกียวกับการบริหารการศึกษา เป็นเงิน20000บาทค้นหาความหมายจากdict. หลายเล่มไม่สามารถให้ความหมายได้ดีเท่าที่ควรผมเคยได้ยินเพื่อนรุ่นพี่ว่า dict. ของ สอ เสถบุตรดีจึงไปซื้อมาเล่มนิดเดียวราคาไม่ถึงร้อยบาท ไม่น่าเชื่อผมสามารถแปลได้ทั้งเล่มอย่างง่ายดาย จนกลุ่มนักศึกษากลุ่มนั้นได้ Aครบทุกคน เงินไม่ถึง100แลกเงิน 20000บาทผมจึงได้รับงานมาตลอดในการแปลภาษาอังกฤษ
เรวัต ปัญสมคิด

Unknown กล่าวว่า...

ลิงค์ ที่ให้มา ไม่สามารถดาวน์โหลดได้ครับ
เสียดายมากที่สุด