วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

[1816]ขอให้ตั้งใจ “ฟังหนัง” ไปพร้อม ๆ กับ “ดูหนัง”

สวัสดีครับ
ในโลกอินเทอร์เน็ต ไฟล์วีดิโอเป็นเครื่องมือที่ดีมากๆ สำหรับการฝึกภาษาอังกฤษ ท่านคิดง่าย ๆ อย่างนี้ก็ได้ครับ ในเวลาครึ่งชั่วโมงท่านอาจจะฟังเสียงคนพูดภาษาอังกฤษโดยไม่รู้เรื่องเลยหรือรู้เรื่องน้อยมาก ๆ แต่ถ้าท่านดูวีดิโอที่มีเสียงพากย์ภาษาอังกฤษ แม้ว่าท่านแทบจะไม่เข้าใจเสียงพากย์นั้นเลย แต่ภาพเคลื่อนไหวของวีดิโอก็จะช่วยให้ท่านเข้าใจเนื้อเรื่องได้พอสมควร

ตรงนี้แหละครับมาถึงจุดที่ผมต้องการจะพูด คือ ท่านคงเคยได้ยินผู้รู้บางท่านแนะนำว่า ในการอ่านนั้นถ้าเราไม่รู้ศัพท์คำใดก็ให้พยายามเดาจากบริบทแวดล้อม หรือ context พูดง่าย ๆ ก็คือ ใช้ศัพท์ที่รู้เดาศัพท์ที่ไม่รู้ ทำให้ช่วยเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ แม้ว่าจะไม่รู้ความหมายของศัพท์บางคำหรือหลายคำในเรื่องที่อ่าน

และสำหรับการดูวีดิโอ เราก็ทำในทำนองเดียวกัน คือ ใช้ศัพท์คำที่เราฟังรู้เรื่องเดาศัพท์คำที่เราฟังไม่รู้เรื่อง พอให้กล้อมแกล้มจับประเด็นสำคัญ ๆ ได้ แต่นอกจากนี้เรายังสามารถเดาคำศัพท์จากภาพเคลื่อนไหวของวีดิโอ จากหน้าตา ท่าทีการพูดของบุคคล จากดนตรีประกอบ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็จะช่วยให้เรารู้เรื่องมากขึ้นเยอะ มากกว่าการอ่าน

แต่จุดที่ผมต้องการเน้นเป็นพิเศษ สำหรับท่านที่ต้องการฟิตภาษาอังกฤษก็คือ ขอให้เอาสมาธิไปตั้งไว้ที่หูของท่านเพื่อฟังเสียงพากย์หรือเสียงบรรยาย แล้วเอาตาดูภาพเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเพิ่มความเข้าใจที่ได้รับจากการฟัง

เรื่องที่ผมพูดนี้ฟังเผิน ๆ อาจจะคล้าย ๆ ว่าผมเป็นคนเรื่องมาก เมื่อมีวีดิโอเปิดให้ดู ก็ดู ๆ เข้าไปเถอะ จะอะไรกันนักหนา แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นครับ เพราะว่าถ้าเราต้องการฝึกฟัง เราจึงต้องมอบหมายให้หูของเราทำงานอย่างตั้งอกตั้งใจเต็ม 100 % ตามสมรรถภาพของมัน แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราจดจ่อกับการดู เช่น ใช้สมาธิกว่า 70% ให้กับการดู และให้หูตั้งใจฟังอย่างเสียไม่ได้แค่ 30% หูก็จะมิได้รับการฝึกอย่างจริงจังในการทำหน้าที่ของมัน และ listening skill ก็จะพัฒนาช้า


ท่านอาจจะบอกว่า ฉันก็ดูรู้เรื่องนี่นา ใช่ครับท่านรู้เรื่อง แต่มันอาจจะเป็นการรู้เรื่องที่มาจาก “ตาดู” มิใช่ “หูฟัง” และการรู้เรื่องที่ไม่ได้ช่วยเพิ่ม listening skill อย่างเต็มที่เช่นนี้ อาจจะทำให้ท่านประหลาดใจว่า เมื่อท่านฟังฝรั่งพูด ไม่ว่าจะเป็นการสนทนา หรือฟังการอภิปราย ซึ่งไม่มีฉากช่วยเหมือนวีดิโอที่ท่านดู ท่านอาจจะรู้เรื่องน้อย

ผมขอสรุปสั้น ๆ ว่า เมื่อท่านดูวีดิโอ ขอให้ท่านตั้งใจเป็นพิเศษที่จะฟังวิดิโอไปพร้อมๆกัน  เมื่อท่านดูหนังพากย์ภาษาอังกฤษ ขอให้ความตั้งใจในการฟังหนังของท่าน เท่ากับหรือมากกว่า การดูหนัง อย่าสนุกไปกับการดูหนังจนลืมการฟังหนัง หรือฟังอย่างแกน ๆ

ผมขอเปรียบการตั้งใจฟังเสียงพากย์ภาษาอังกฤษ เหมือนแมวที่นั่งนิ่งอย่างสงบอยู่ที่มุมมืดของห้อง พร้อมตลอดเวลาที่จะตะครุบหนูที่เพ่นพ่านเข้ามาในรัศมีของการตะครุบ เมื่อฟังหนัง หรือฟังวีดิโอ ก็ขอให้หูของท่านจ้องตะครุบเสียงในลักษณะนี้

ท่านอาจจะบอกว่า ถ้าดูวีดิโอในลักษณะนี้คงจะเครียดตาย ผมขอบอกว่า ไม่เครียดหรอกครับ จริงอยู่ในระยะแรก ๆ ของการฝึก หูของท่านอาจจะตะครุบเสียงได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ความชำนาญของหูในการตะครุบเสียงจะมากขึ้น ๆ ถ้าท่านฝึกต่อไปไม่ขาดตอน  ส่วนความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น มันไม่ได้เกิดจากความตั้งใจฝึกหรอกครับ แต่มันเกิดจากความใจร้อน อยากฟังให้รู้เรื่องเร็ว ๆ เกิดจากรอไม่เป็นจึงเย็นไม่ได้ ถ้าท่านรอเป็น-ใจก็เย็นได้


ประเด็นต่อไปที่ผมขอพูดก็คือ ในอินเทอร์เน็ตนี้ มีวิดิโอจำนวนมากพอสมควรที่มี script หรือ subtitle ภาษาอังกฤษ ให้ท่านอ่านไปพร้อม ๆ กับดูหรือท่านอาจจะอ่านก่อนก็ได้ กรณี script ท่านอาจจะอ่านทำความเข้าใจให้รู้เรื่องโดยตลอดเสียก่อน หรือในกรณี subtitle ในการดูเที่ยวแรก ท่านอาจจะดูแต่ภาพและปิดเสียง ทำความเข้าใจ subtitle ไปทีละประโยค ๆ (กด play-pause-play… ไปเรื่อย ๆ) หรือท่านอาจจะอ่านไปพร้อม ๆ กับ “ฟังหนัง”, “ฟังวีดิโอ” ก็เชิญได้ตามสะดวก

และข้างล่างนี้ ก็คือ วีดิโอซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยท่านในการฝึก listening skill เมื่อท่าน “ฟังหนัง” หรือ “ฟังวีดิโอ

วีดิโอที่แนะนำในบล็อกนี้ 
วีดิโอที่แนะนำในบล็อกนี้ ซึ่งมี script หรือ subtitle
CNN video ที่มี script

การ search วีดิโอ ที่เว็บ BBC
-ไปที่เว็บ BBC http://www.bbc.co.uk/news/video_and_audio/
-พิมพ์คำค้นลงไปที่ช่อง Search (มุมบนขวา), Enter
-มองที่คอลัมน์ซ้ายมือสุด ใต้คำว่า Media, คลิก Video (หรือ Audio)
-คลิก ไฟล์วีดิโอที่ต้องการ ที่คอลัมน์กลางหน้า

การ search วีดิโอ ที่เว็บ CNN
-ไปที่เว็บ CNN http://edition.cnn.com/video/
-พิมพ์คำค้นลงไปที่ช่อง Search (มุมบนขวา), Enter
-ที่แถบด้านบนซ้ายของหน้า คลิก CNN Videos
-คลิก ไฟล์วีดิโอที่ต้องการ ที่คอลัมน์กลางหน้า

แถม: เรื่องการเลือกคลิปวีดิโอที่จะฝึกฟังภาษาอังกฤษ
1-เป็นเรื่องที่เราชอบ สนใจ หรือ ไม่รังเกียจที่จะฟัง
2-เนื้อเรื่อง หรือศัพท์ ไม่ยากเกินไป หรือยากพอฟัดพอเหวี่ยง
3-ถ้ามี script หรือ subtitle ภาษาอังกฤษ (ยิ่งดี  แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร ถ้ามีข้อ 1และ 2)

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

4 ความคิดเห็น:

Kru-Bew กล่าวว่า...

กด like

vinsant กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
vinsant กล่าวว่า...

ผมอยากจะแนะนำการ์ตูนน่ารักๆเรื่องหนึ่งครับ ชื่อ pocoyo search หาใน youtube เลยครับ เป็นภาษาอังกฤษที่ฟังง่ายครับ ไม่มีซับอิ้ง แต่เขาพูดไว้ชัดมาก เหมาะแก่การเริ่มต้นฟังเลยครับ

pipat - blogger กล่าวว่า...

ขอบคุณครับคุณ vinsant
ผมขอศึกษาดูก่อนนะครับ