วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

[1807] ตอบ 2 คำถามยอดฮิตจากท่านผู้อ่าน

สวัสดีครับ
ในฐานะ blogger e4thai.com มี 2 คำถามที่ผมเจอมากที่สุด คือ
ข้อที่ 1 ถามว่า ต้องการฝึกภาษาอังกฤษ แต่ไม่รู้ว่าควรจะฝึกอะไรก่อน ระหว่าง ฟัง พูด อ่าน เขียน ศัพท์ หรือแกรมมาร์ ?
ข้อที่ 2 ถามว่า ฝึกตั้งนานแล้วยังไม่ได้เรื่องสักที จะทำยังไงดี ?
ผมยังไม่ขอตอบตอนนี้ แต่ขอเล่าอะไรให้ท่านสักเล็กน้อย แล้วค่อยวกกลับมาตอบ

เมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาผมไปเยี่ยมพ่อแม่ที่แม่กลอง แม่ทำกับข้าวที่ผมชอบทั้งนั้นเลยให้กิน คือ แกงเทโพกับหมู แกงจืดฟักกับกระดูกหมู ผัดผักรวมกับกุ้ง ยำวุ้นเส้น ผมกินหมดทุกอย่างและอิ่มมาก

เรื่องที่แม่ทำกับข้าวให้กิน ผมขอถามท่านว่า ถ้าท่านเป็นผม ท่านจะกินกับข้าวอะไรก่อน อย่างไหนมาก อย่างไหนน้อย จัดเรียงลำดับการกินอย่างไรในกับข้าว 4 อย่างนี้ และในกับข้าวแต่ละอย่าง ท่านจะกินเนื้อสัตว์หรือผักก่อน และท่านจะกินข้าวกี่จานจึงจะหยุดกิน

ท่านจะตอบผมว่าอย่างไรครับ ?

ท่านอาจจะตอบว่า อยากจะกินอะไรก็กินเข้าไปเถอะ กินมากกินน้อย กินอะไรก่อนหลัง กินหมูกินผักหรือจะกินอะไรก็ตามใจเถอะ เรื่องอย่างนี้ยังต้องถามอีกหรือ

นั่นน่ะซี ทำไมต้องถาม ! ผมไม่ควรถามก็เพราะว่า ผมรู้อยู่แล้วว่าผมอยากกินอะไร และอาหารที่วางตรงหน้าก็มีแต่ของชอบทั้งนั้น และจะกินอะไรก่อนหลังก็เชิญทำได้ตามใจชอบ ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์หรอกว่า คำที่ 1 กินแกงเทโพ, คำที่ 2 กินแกงจืด, คำที่ 3 กินผัดผัก, คำที่ 4 กินยำวุ้นเส้น และเมื่อครบรอบแล้ว ถึงคำที่ 5 ก็กลับมากินแกงเทโพอีก ผมไม่มีวินัยในการกินมากมายเช่นนี้เด็ดขาด ส่วนเรื่องกินเนื้อสัตว์หรือผัก ก่อน-หลัง-พร้อมกัน ก็ไม่มีกฎเกณฑ์อีกเช่นกัน วินาทีไหนอยากตักอะไรก็ทำตามใจร้อยเปอร์เซนต์ จนเมื่ออิ่มพอดี ๆ แล้วก็เลิกกิน มันจะเป็นหนึ่งจาน สองจาน หรือสองจานครึ่งก็เรื่องของมัน สรุปง่าย ๆ ก็คือ กินตามใจ ใจอยากกินอะไร กินเมื่อไร กินเท่าไร ก็กินอย่างนั้น

ผมอยากจะบอกท่านว่า การฝึกอังกฤษก็เหมือนกับการกินอาหารนั่นแหละครับ เหมือนกันอย่างไร

1)ท่านต้องฝึกทุกอย่าง เพราะทั้งชีวิตเราไม่ได้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราทำทุกอย่าง ทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน เราจึงต้องฝึกทุกอย่าง ในอาหารทั้ง 4 อย่าง คือ แกงเทโพกับหมู แกงจืดฟักกับกระดูกหมู ผัดผักรวมกับกุ้ง ยำวุ้นเส้น มีสารอาหารครบทุกหมู่ ถ้าท่านติดนิสัยจู้จี้ไม่กินนั่นไม่กินนี่ ไม่นานนักท่านก็จะเป็นโรคขาดสารอาหาร ในเรื่องของภาษา ถ้าท่านจู้จี้ยอมฝึกเฉพาะอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่ยอมฝึกอย่างโน้นอย่างนู้น และถ้าเป็นอย่างนี้ไปนาน ๆ ท่านก็จะเป็นโรคขาดสารทักษะ ซึ่งแสดงอาการต่าง ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น ฟังเขาพูดไม่รู้เรื่อง พูดให้เขาฟังไม่รู้เรื่อง อ่านเรื่องที่เขาเขียนไม่รู้เรื่อง เขียนเรื่องให้เขาอ่านไม่รู้เรื่อง ผมขอถามว่า ณ นาทีนี้ท่านเป็นโรคขาดสารทักษะอะไรบ้างหรือเปล่าครับ ถ้าเป็น ท่านต้องเลิกจู้จี้ฝึก เหมือนการกินนั่นแหละครับ ต้องกินได้ทุกอย่าง ไม่ใช่จู้จี้ไม่กินนั่นไม่กินนี่

2)อย่าเลือกกินเฉพาะเนื้อสัตว์หรือผัก เหมือนการฝึกภาษาอังกฤษที่ต้องสนใจทั้งศัพท์และแกรมมาร์ ไม่ใช่เอาแต่ศัพท์เกลียดแกรมมาร์ หรือชอบแกรมมาร์แต่เกลียดที่จะจำศัพท์ เพราะจริง ๆ แล้วศัพท์และแกรมมาร์ก็คือเครื่องปรุงของการฟัง พูด อ่านเขียน เหมือนกับที่ผักและเนื้อสัตว์เป็นเครื่องปรุงของกับข้าวทุกชนิด เมื่อเราตักกับข้าวขึ้นมากินเราก็ได้กินทั้งผักและเนื้อสัตว์ เราคงไม่ต้องซื้อหมูมา 1 กิโล หรือซื้อผักมา 1 กิโลและต้มกินเข้าไปดื้อ ๆ คงกินไม่ลงและเบื่อตาย ในทำนองเดียวกัน เราคงไม่ต้องเอาศัพท์มานั่งท่องเป็นร้อย ๆ คำ หรือเอาแต่เปิดหนังสือแกรมมาร์ศึกษาไปทีละหน้า ๆไม่ทำอย่างอื่นเลย การที่เราฝึกฟัง พูด อ่าน เขียน ด้วยการสังเกต ใส่ใจ และเพลิดเพลิน ก็จะช่วยให้เราจำศัพท์และเข้าใจแกรมมาร์ไปพร้อม ๆ กัน เหมือนตอนที่เรากินข้าวและตักกับข้าวกินอย่างเพลิดเพลิน เราก็ได้กินทั้งผักและเนื้อสัตว์ไปพร้อมกัน

3)จะกินอะไรก่อนหลังเชิญทำได้ตามใจชอบ เพียงแต่กินให้ครบ 5 หมู่เท่านั้น เหมือนท่านจะฝึกทักษะใดก่อนหลัง สลับไปสลับมา ก็ทำได้ตามใจครับ ขอเพียงฝึกให้ครบเท่านั้น แต่ก็ไม่จำเป็นที่ท่านจะต้องฝึกเท่ากันเด๊ะ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมถูกถามบ่อยว่า ควรจะฝึกอะไรก่อนหลัง หรือควรเริ่มต้นฝึกอะไรก่อน แต่ผมก็ตอบไม่ได้ ที่ตอบไม่ได้ก็เพราะว่า ผมไม่รู้ว่า...
-ท่านอ่อนแก่ในทักษะใดบ้าง
-ท่านชอบมากน้อยในเรื่องใด
-ท่านสะดวกหรือมีความพร้อมที่จะฝึกในเรื่องใดมากน้อยกว่ากัน
-ท่านจำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะใดทักษะหนึ่งมากน้อยแค่ไหน
-ฯลฯ

เพราะฉะนั้นจะฝึกอะไรก่อนหลัง ท่านต้องวิเคราะห์ตัวเอง และจัดแบบฝึกหัดให้แก่ตัวเอง แต่อย่างหนึ่งที่ห้ามลืมก็คือ ขอให้ฝึกครบทุกเรื่อง ทั้งฟังพูดอ่านเขียน แต่ไม่จำเป็นต้องฝึกเท่ากัน [ เหมือนกินอาการให้ครบ 5 หมู่ คือ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เกลือแร่ วิตามิน แต่ว่าไม่จำเป็นต้องกินแต่ละหมู่ในปริมาณที่เท่ากัน ]

ในบล็อกนี้ น่าจะมีแบบฝึกหัดมากพอสมควรให้ท่านหยิบเอาไปใช้ได้ทันที ถ้าเป็นอาหารคงเหมือนอาหารบุบเฟ่ต์ที่มีหลากหลาย พร้อมให้ท่านตักใส่จานเอาไปกินที่โต๊ะได้อย่างสบาย ๆ โดยที่ท่านไม่ต้องเสียเวลาปรุงมากนัก แต่ถ้าท่านยังเลือกตักไม่ถูกเพราะอาหารเยอะจนท่านลานตา เชิญเข้าไปอ่านวิธีตักอาหารได้ที่ลิงค์นี้ครับ คลิก

พอผมพิมพ์มาถึงบรรทัดนี้ ผมก็นึกขึ้นมาทันทีเลยว่า คงจะมีบางท่านที่ตอบผมว่า ก็ฝึกมาตั้งเนิ่นนานแล้ว แต่ทักษะภาษาอังกฤษก็ยังไปไม่ถึงไหน !!

ผมขอชวนท่านให้อ่าน เรื่อง “สีไฟ” ที่หลวงพ่อชาเล่าให้ฟัง

การประพฤติปฏิบัติเหมือนกันกับบุรุษที่ไปสีไฟ
ได้ฟังท่านบอกว่า เอาไม้ไผ่สองอันมาสีกันเข้าไปเถอะ
แล้วจะมีไฟเกิดขึ้น บุรุษนั้นก็จับไม้ไผ่เข้าสองอัน สีกันเข้า
แต่ใจร้อน สีไปได้หน่อย ก็อยากให้มันเป็นไฟ ใจก็เร่งอยู่เรื่อย
ให้เป็นไฟเร็ว แต่ไฟก็ไม่เกิดสักที
บุรุษนั้นก็เกิดความขี้เกียจแล้วก็หยุดพัก แล้วจึงลองสีอีกนิด
แล้วก็หยุดพัก ความร้อนที่พอมีอยู่บ้าง ก็หายไปล่ะซิ
เพราะความร้อนมันไม่ติดต่อกัน
ถ้าทำไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ เหนื่อยก็หยุด
มีแต่เหนื่อยอย่างเดียวก็พอได้ แต่มีขี้เกียจปนเข้าด้วย เลยไปกันใหญ่
แล้วบุรุษนั้นก็หาว่าไฟไม่มี ไม่เอาไฟ ก็ทิ้ง เลิก ไม่สีอีก
แล้วก็ไปเที่ยวประกาศว่า ไฟไม่มี ทำอย่างนี้ไม่ได้ ไม่มีไฟหรอก
เขาได้ลองทำแล้ว
ถ้าต้องการอ่านภาษาอังกฤษ คลิก

หลวงพ่อชาเปรียบเทียบการปฎิบัติธรรม เช่น การฝึกสมาธิภาวนา วิปัสสนาภาวนา การฝึกมีสติดูจิตดูใจ ละวางอารมณ์โลภ โกรธ หลง เป็นต้น เหมือนกับการเอาไม้ไผ่สองแผ่นมาสีกัน แต่คนสีใจร้อน สี ๆ หยุด ๆ ตลอดเวลา ไฟมันจึงไม่เกิดสักที คือไม่ได้รับผลจากการปฏิบัติ เพราะปฏิบัติไม่ต่อเนื่องนานพอ ใจร้อนเลิกเสียก่อน

ผมขอให้ท่านลองนึกตอบตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่า ท่านฝึกภาษาอังกฤษคล้าย ๆ กับคนสีไฟซึ่งใจร้อนอย่างที่หลวงพ่อชาเล่าให้ฟังบ้างหรือเปล่า ท่านฝึกติดต่อกันนานแค่ไหน นานพอหรือยัง

ผมขอเล่าประสบการณ์ของตัวเองแล้วกันครับ คือ ผมคิดว่า การที่ผมไม่ได้เรียนจบนอก และการเรียนเมืองไทย เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ผมไม่เคยมีประสบการณ์ในการเรียนกับครูฝรั่งแม้แต่ชั่วโมงเดียว ทุกอย่างเรียนด้วยตัวเองมาโดยตลอด และนี่เป็นประสบการณ์ที่ผมอยากเล่าให้ฟัง ผมขอว่าไปทีละเรื่องนะครับ

เรื่องแรกคือการอ่าน สามารถพูดได้ว่า ผมใช้เวลามากที่สุดในสถานศึกษาและเมื่อเรียนจบ ไปกับการอ่าน ตอนที่เรียนธรรมศาสตร์ บ่อยมากที่ผมฝึกอ่านตำราและหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ อ่านไปเป็นชั่วโมง ๆ ก็ยังจับใจความไม่ได้ว่า มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ไม่ใช่รู้เรื่องคร่าว ๆนะครับ แม้แต่เรื่องคร่าว ๆ อ่านจบแล้วก็ยังบอกไม่ได้ว่ามันคืออะไร และเป็นอย่างนี้บ่อยซะด้วย จนหลายครั้งที่ผมรู้สึกว่า ไม่น่าจะเสียเวลาไปกับการอ่านตั้งนานสองนานและจบลงท้ายก็ยังไม่รู้เรื่องอยู่นั่นเอง จนมี 2 เหตุการณ์เกิดขึ้น เป็น 2 เหตุการณ์ที่ทำให้ผมเห็นชัดว่า เรื่อง“สีไฟ” ที่หลวงพ่อชาเล่าให้ฟัง เป็นความจริงแท้แน่นอน ผมเคยเล่าไว้แล้วในบทความอื่น ขอ copy มาฉายซ้ำนะครับ

จากบทความ [173] แนะนำเทคนิคการฝึกอ่าน นสพ.ภาษาอังกฤษ
ตอนผมเริ่มเรียนปี 1 ผมบอกตัวเองว่าก่อนขึ้นปี 2 จะต้องอ่าน Bangkok Post ให้รู้เรื่องเหมือนอ่านไทยรัฐ ฉะนั้น (แทบ) ทุกวัน เมื่อกลับถึงบ้านผมจะนั่งที่โต๊ะอ่านหนังสือ เอาเชือกผูกเอวตัวเองไว้กับพนักเก้าอี้ และอ่านให้จบอย่างน้อย 1 หน้าก่อนลุกไปไหน ถ้าจะลุกก่อนจบก็เอาเก้าอี้ไปด้วย ทำอย่างนี้จนเรียนจบปี 1 ผลปรากฏว่าก็ยังไม่สามารถบันดาลให้ Bangkok Post กลายเป็นไทยรัฐไปได้ แต่… มันอ่านรู้เรื่องขึ้นเยอะครับ เพราะก่อนหน้านี้ Bangkok Post สำหรับผมมันยากพอ ๆ กับหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า ยังไง ยังงั้นเลยครับ

ด้วยเหตุที่ผมเรียนคณะวารสารศาสตร์ เอกหนังสือพิมพ์ พอขึ้นปี 3 ผมก็อยากจะมีประสบการณ์ในสถานที่ทำงานจริงบ้าง ผมเลยลองไปสมัครฝึกงานแปลข่าวที่หนังสือพิมพ์หัวสีฉบับหนึ่ง ซึ่งเน้นข่าวประเภท crime & sex บรรณาธิการบอกว่า ไม่มีงานให้ฝึก มีแต่งานให้ทำ จะทำไหม? ถ้าจะสมัครทำงานอยู่ฝ่ายต่างประเทศล่ะก็ได้ เพราะคนเก่าเพิ่งลาออกไป ผมตอบตกลงสมัครเข้าทำงานทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ไว้ใจความสามารถของตัวเองเท่าใดนัก (เขาให้เงินเดือน 3,600 บาทแก่นักศึกษาที่ยังเรียนไม่จบอย่างผม จำได้ว่าเงินเดือนปริญญาตรีของหน่วยราชการตอนนั้นประมาณ 2,700 บาท)

ผมถือโอกาสประหยัดค่าเช่าหอพัก โดยย้ายมานอนที่ห้องแปลข่าวที่โรงพิมพ์เลย ซึ่งอยู่แถว ๆ บางลำพู ทุก ๆ วันผมจะตื่นประมาณตี 4 รีบลุกขึ้นมาฉีกข่าวจากเครื่อง telex AP ซึ่งรับข่าวจากต่างประเทศ (สมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต) คัดเลือกข่าว แปลข่าว ไปเรื่อย ๆ ทำอย่างนี้ไปถึงเช้า และรีบอาบน้ำในห้องอาบน้ำที่โรงพิมพ์ และรีบขึ้นรถเมล์ไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ตอนบ่ายเลิกเรียนประมาณบ่าย 3 โมงก็รีบนั่งรถเมล์กลับโรงพิมพ์และทำงานอย่างเดิมอีกจนถึงประมาณ 4 ทุ่มจึงค่อยนอน และตื่นขึ้นมาทำงานเวลาตี 4 วันรุ่งขึ้น ทำอย่างนี้ทุกวัน

เมื่อผมทำงานแปลข่าวที่โรงพิมพ์ได้ครบ 1 เทอม เกรดที่เคยได้เทอมที่แล้ว 3.2 แต่เทอมนี้ลดลงมาเหลือ 1.6 ผมต้องขยันเพิ่มขึ้นมากพอสมควรกว่าจะทำให้เกรดเฉลี่ยเกิน 2.0 มิฉะนั้นต้อง retire เรียนไม่จบ

แต่งานแปลข่าวในเทอมนี้และเทอมต่อ ๆ ไปก็ต้องถือว่าคุ้มค่า เพราะเนื่องจากฝ่ายต่างประเทศทั้งฝ่ายมีผมอยู่คนเดียว จึงไม่มีใครให้ปรึกษาแต่ขณะเดียวกันก็ห้าม “แปลผิด” ผมถือว่านี่เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาก เพราะเมื่ออ่านข่าวเราจะต้องพยายามเข้าใจให้ได้อย่างถ่องแท้ ถ้าอ่านแล้วรู้สึกคลุมเครือหรือไม่แน่ใจ ก็ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองเข้าใจ เพื่อจะได้ย่อ/สรุป/แปล เพื่อตีพิมพ์ลงไปในครึ่งหน้าที่รับผิดชอบ และอย่างที่บอกแล้วว่าห้าม “แปลผิด” เด็ดขาด เพราะถ้าแปลผิด มันจะไปขัดกับหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นซึ่งแปลข่าวจาก telex เหมือนกัน

ผมทำงานแปลข่าวที่โรงพิมพ์แค่เทอมเดียว ก็รู้สึกขึ้นมาเลยว่าทักษะในการอ่านดีขึ้นมากกว่าฝึกด้วยตัวเองเป็นปี ๆ ซะอีก (ขออนุญาตโม้สักนิด คงไม่ว่ากันนะครับ) ในเทอมต่อมาผมลงทะเบียนเรียนวิชา “แปลข่าว” ที่คณะฯ ถึงวันสอบเขาให้เวลาทำข้อสอบ 3 ชั่วโมง ผมใช้เวลาทำ 15 นาทีและก็ส่งกระดาษคำตอบ ผมโม้กับเพื่อนว่าวิชานี้ถ้าไม่ได้ A ผมจะฟ้องอาจารย์ว่ากดคะแนนอย่างไม่เป็นธรรม โชคดีที่ผมไม่ต้องเป็นความกับอาจารย์

เมื่อเรียนจบและไปทำงานเป็นพัฒนากรต่างจังหวัด 10 ปี (ชลบุรี – สงขลา – ระนอง – นครพนม – สมุทรสงคราม – เพชรบุรี) การอ่านเป็นทักษะเดียวที่ผมได้ฝึก โดยผมจะพยายามมีหนังสือภาษาอังกฤษอย่างน้อย 1 เล่มติดบ้านหรือติดกระเป๋าไว้เสมอ หรือไม่ก็พยายามอ่าน Bangkok บ่อย ๆ ผมบอกร้านขายหนังสือพิมพ์ในอำเภอที่ผมทำงานว่า ตอนเข้าเมืองไปรับหนังสือพิมพ์ ให้ซื้อ Bangkok Post มาให้ผมเล่มนึงด้วย ปกติเขาไม่ซื้อมาขายเพราะไม่มีลูกค้าซื้อ เพื่อนพัฒนากรด้วยกันบอกผมว่า ถ้าผมยืนยันจะอ่าน Bangkok Post ประจำเช่นนี้ ก็ไม่ควรจะซื้อกล้วยแขกอาหารว่างของโปรดมากินเป็นประจำ ควรจะหัดกิน Macdonald แต่ถ้ายืนยันจะกินกล้วยแขก ก็ขอให้เปลี่ยนไปอ่านไทยรัฐ คำวิจารณ์นี้ผมไม่สนใจ เพราะคนวิจารณ์ก็หยิบกล้วยแขกที่ผมซื้อไปกินโดยไม่บอกกล่าว แล้วยังมีหน้ามาว่าผมอีก

ก็เป็นอันว่า ทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ เป็นทักษะเดียวที่ผมได้มาจากชั้นประถม มัธยม มหาวิทยาลัย และระหว่างช่วงการทำงานอีก 10 ปีที่ทำงานเป็นพัฒนากรในชนบทหลังเรียนจบ ช่วงเวลาทั้งหมดนี้ ผมไม่เคยมีประสบการณ์หรือได้ฝึกเรื่องการฟัง การพูด การเขียน แม้แต่นิดเดียว ต้องอย่าลืมว่าสมัยนั้นไม่เหมือนสมัยนี้ที่การฝึกภาษาอังกฤษทุกทักษะทำได้ง่ายเหลือเกิน

และแล้ววันหนึ่ง ผมก็ได้ย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพ ทำงานในฝ่ายที่ต้องติดต่อกับต่างประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องมีทักษะครบทั้งการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน แต่ผมทั้งเนื้อทั้งตัวมีอยู่แค่ทักษะเดียวคือการอ่าน ผมทำยังไงจึงได้อีก 3 ทักษะให้พอที่จะทำงานได้?

ตอบอย่างสั้นที่สุดก็คือ ตะลุยฝึกมันทุกรูปแบบ เช่น
-เรื่องการฟัง ก็ฝึกฟังช่องข่าวภาษาอังกฤษ BBC และ CNN จากเคเบิ้ลทีวีช่อง UTV ที่ผมรับที่บ้าน (ตอนหลังช่อง UTVมารวมกับ ช่อง IBC เป็นช่อง UBC ทุกวันนี้) ตอนหลังเมื่อมีอินเทอร์เน็ต ปัญหาการหาเรื่องฟังก็หมดไปโดยสิ้นเชิง
-เรื่องสนทนา ผมมีโอกาสพูดภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติที่มาติดต่องานที่กรม หรือเมื่อไปประชุมในต่างประเทศ ท่านเชื่อหรือไม่ครับว่า ครั้งแรก ๆ ที่พูดภาษาอังกฤษออกไปจากปาก ผมไม่แน่ใจเลยว่า ผมพูดถูกหรือเปล่า ออกเสียงถูกหรือเปล่า ใช้ศัพท์ถูกหรือเปล่า ผูกประโยคถูกหรือเปล่า มันไม่แน่ใจไปหมด แต่ก็พยายามฝึกพูดทั้ง ๆ ที่พูดไม่ค่อยได้นี่แหละครับ
-ส่วนเรื่องการเขียน เรื่องนี้ค่อนข้างฝึกยากครับ ผมเดาว่าการที่หลายคนไม่ชอบการเขียนเท่ากับการพูดก็เพราะว่า แม้ว่าการเขียนและการพูดต่างก็เป็นการสื่อความให้คนอื่นเข้าใจเหมือนกัน แต่การพูด พูดแล้วพูดเลย เมื่อเข้าใจกันแล้วก็แล้วกัน ไม่ทิ้งร่องรอยให้คนจับผิดเหมือนการเขียน คนก็เลยไม่ค่อยอยากเขียน (นี่ผมเดาเอาเองนะครับ อาจจะผิดก็ได้ )

จากประสบการณ์การฝึกภาษาอังกฤษของผมที่เล่ามานี้ ผมต้องการสนับสนุนคำสอนของหลวงพ่อชาที่ท่านเล่าเกี่ยวกับชายที่เอาไม้ไผ่ 2 แผ่นมาสีกันเพื่อให้เกิดไฟ ซึ่งพอจะสรุปความได้ว่า

[1] -อย่าใจร้อน ให้ฝึกต่อเนื่อง จนกว่าผลจะเกิดขึ้น เพราะความจริงก็คือ “ได้ทำ” ต้องมาก่อนนนนนนนนนนน...... “ทำได้” และการได้ทำนี้ ต้อง ทำนานนนนนนนน......จนเพียงพอที่จะก่อให้เกิดผล ไม่ใช่ทำไปนิดเดียวแล้วจะให้เกิดผลทันที ผมเห็นว่าทุกวันนี้คนในสังคมถูกสินค้าที่โฆษณาสอนให้เป็นคนใจร้อน จะทำอะไรสักอย่างก็อยากเห็นผลทันที รอไม่เป็น จึงไม่อดทนที่จะทำอะไรอย่างใจเย็นเป็นเวลานาน ๆ และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่เก่งภาษาอังกฤษ ทั้ง ๆ ที่อยากเก่งใจแทบขาด เรามีความอยากมาก แต่มีความพยายามน้อย

บ่อยครั้งที่ผมได้รับคำถามทำนองนี้ “ฝึกฟังมาตั้งนานแล้วยังฟังไม่รู้เรื่องสักที ถ้าฟังต่อไปนาน ๆ มันจะรู้เรื่องหรือเปล่า?” คำตอบของผมคือ “รู้เรื่องครับ” แต่ขอให้อ่านต่อไปอีกสักนิด

[2] ผมขออุปมาการฝึกให้ครบทั้ง 4 ทักษะเหมือนขาตั้งกล้องมี 3 ขา เรารู้อยู่แล้วว่า ภาษาอังกฤษมีอยู่ 4 ทักษะ คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน ที่เราต้องฝึกให้ครบ เช่น ถ้าเราฝึกพูด เราก็อย่าละทิ้งเรื่องการฝึกฟัง อ่าน และเขียน เพราะการฟัง อ่าน และเขียน จะเป็นเสมือนขาตั้งกล้อง 3 ขาที่ทำให้การพูดคือตัวกล้อง ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ผมเคยได้ยินบางคนบ่นทำนองนี้...
ตอนพูดกับฝรั่ง พอเราพูดไป(ช้า ๆ) เขาฟังรู้เรื่อง แต่พอเขาพูดมา(เร็ว ๆ) เราฟังไม่รู้เรื่อง นี่แสดงว่า เรายังต้องฝึกการฟังให้เข้มขึ้นอีก

-บางคนก็พูดว่า มันนึกแต่งประโยคไม่ค่อยทันเวลาจะพูดโต้ตอบ แต่ผมขอบอกว่า ถ้าท่านฝึกเขียนอยู่เรื่อย ๆ เมื่อถึงเวลาที่ท่านจะพูด ท่านจะสามารถนึกแต่งประโยคและพูดออกไปได้เร็วขึ้น เพราะการฝึกเขียนนั้นก็คือการฝึกพูดด้วยมือ ซึ่งเมื่อถึงเวลาก็จะช่วยให้การพูดด้วยปากไม่เป็นเรื่องลำบากมากนัก

สำหรับผมซึ่งได้เล่าแล้วว่า ฝึกอ่านมามากกว่าฝึกอย่างอื่น ผมพบว่า reading skill นี้ ช่วยให้การฝึกทักษะอื่น ๆ ง่ายขึ้น คือ

-เมื่อผมฝึกฟัง ส่วนใหญ่ ผมมีปัญหาเฉพาะเรื่องสำเนียงที่ผมไม่คุ้น แต่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสำนวน ที่ผมรู้มาแล้วจากการอ่าน จึงทำให้การฟัง เช่น ฟังข่าว BBC, CNN มีภาระแค่ 50 % คือทำให้หูของตัวเองคุ้นกับศัพท์ที่รู้ความหมายอยู่แล้ว

-เมื่อผมต้องเขียนภาษาอังกฤษในงานที่รับผิดชอบ เช่น เขียนอีเมล จดหมายโต้ตอบ สุนทรพจน์ อยากจะบอกว่า การที่เราฝึกอ่านสิ่งที่คนอื่นเขียน พอถึงเวลาที่เราจะเขียนเอง reading skill ที่เราสะสมไว้ จะกลายมาเป็น writing skill โดยเราไม่รู้ตัว
-และเมื่อผมต้องพูด เห็นชัดได้เลยว่า ศัพท์ สำนวน และสไตล์ภาษา ที่เราเรียนรู้ไว้จากการอ่าน มันทำให้เราพูดได้โดยไม่ต้องเค้นสมองมากนัก อย่างหนึ่งที่ผมขอเล่าให้ฟังพอให้เห็นอานิสงค์ของการอ่านต่อการพูดก็คือ ทุกวันนี้ เมื่อผมเข้าไปในร้านหนังสือตรงชั้นหนังสือภาษาอังกฤษ เมื่อหยิบหนังสือภาษาไทยที่สอนเกี่ยวกับประโยค conversation ขึ้นมาพลิกดู ผมก็เห็นว่ามันมีประโยชน์ต่อการฝึกพูด ไม่ว่าเราจะอ่านประโยคเหล่านี้เพียงผ่าน ๆ หรืออ่านและฝึกพูดตามอย่างเอาจริงเอาจังก็ตาม แต่โดยส่วนตัวผมก็แทบไม่มีเวลาศึกษา conversation sentence จากหนังสือเหล่านี้ และเมื่อต้องพูดก็มักจะพูดออกไปเลยโดยอัตโนมัติ ผมเชื่อจริง ๆ ว่าถ้าไม่ได้สะสม reading skill ไว้, speaking skill ของผมก็คงจะแย่กว่านี้เยอะ

ตัวอย่างทั้งหมดนี้ ผมยกมาเพียงเพื่อจะบอกท่านผู้อ่านว่า ไม่ว่าท่านต้องการจะฝึกทักษะอะไรเป็นพิเศษ ห้ามละเลยอีก 3 ทักษะที่เหลือ อย่าลืมทฤษฎีขาตั้งกล้อง 3 ขานะครับ

[3] อย่าปล่อยไฟให้มอดเพราะไม่เติมเชื้อ ท่านที่ฝึกภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่องจนได้รับผล ซึ่งเหมือนสีไม้ไผ่จนไฟลุกแล้ว ขอให้ท่านฝึกอยู่เรื่อย ๆ เหมือนกับโหมไฟให้ลุกโชนยิ่งขึ้น ๆ แต่บางท่านอาจจะมีงานอื่นเยอะจนไม่มีเวลาฝึกหรือใช้ภาษาอังกฤษ ทักษะที่มีอยู่ก็จะค่อย ๆ น้อยลง ๆ เหมือนไฟที่ติดแล้วแต่ค่อย ๆ มอดลงเพราะไม่ได้เติมเชื้อเรื่อย ๆ ถ้าท่านปล่อยให้เป็นเช่นนี้เรื่อย ๆ สักวันหนึ่งไฟก็คงมอดสนิท คือทักษะภาษาอังกฤษหมดไปเพราะไม่ได้ใช้คือเติมเชื้อ

ผมเคยมีผู้บังคับบัญชาคนหนึ่ง เขาจบปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา แต่ทุกครั้งที่เขาต้องต้อนรับชาวต่างประเทศซึ่งมาเยี่ยมที่ทำงาน เขาจะพูดอยู่ประโยคเดียวตอนยื่นมือ shake hand กับแขกว่า “Nice to meet you.” ประโยคเดียว net ๆ สุทธิถ้วน ๆ จริง ๆ, ส่วนที่เหลือก็ให้ลูกน้องลำดับต่อไปพูดต่อ

ปัญหาในที่ทำงานหาคนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้หรือพูดได้น้อยมากนี้ เป็นปัญหาจริง ๆ นะครับไม่ใช่พูดเล่น ๆ ผมเคยได้ยินเพื่อนบางคนในหน่วยงานอื่นเล่าให้ฟังว่า พอมีฝรั่งมาเยี่ยมสักทีโกลาหลมาก ตำแหน่งใหญ่อันดับ 1 พูดไม่ได้มอบอันดับ 2, อันดับ 2 มอบอันดับ 3, อันดับ 3 มอบอันดับ 4, ผมยั้งปากไม่ได้ถามว่า ถ้าทุกอันดับไม่มีใครพูดฝรั่งได้เลย ต้องเชิญ รปภ.มาพูดแทนหรือเปล่าถ้ามี รปภ.คนไหนพูดภาษาอังกฤษได้

ที่พูดไม่ได้ทั้ง ๆ ที่เคยพูดได้หรือพูดได้คล่องก็เพราะว่า ปล่อยให้ทักษะที่เคยมีมอดลงสนิทเหมือนไฟที่ไม่ได้เติมเชื้อ เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้ไฟมอดจนยากที่จะจุดใหม่ สำหรับท่านที่มีงานเยอะ กิจกรรมฝึกภาษาอังกฤษที่ง่าย ๆ แต่ไม่ควรขาดก็คือ หากิจกรรมฝึกภาษาอังกฤษที่ทำได้โดยไม่เสียเวลา เช่น

-ถ้าขับรถไปทำงานก็เปิดวิทยุคลื่นที่ฟังข่าวหรือดีเจพูดภาษาอังกฤษ,
-พยายามอ่านหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ ถ้าไม่ได้อ่านทั้งฉบับได้อ่านแค่ข่าวเดียวก็ยังดี,
-หาโอกาสพูดภาษาอังกฤษให้ได้อย่างน้อยครึ่งเดือนต่อ 1 ครั้ง ถ้าไม่มีฝรั่งให้พูดด้วย ก็เดินเข้าไปที่โรงเรียนสอนภาษาที่ไหนก็ได้ครับที่ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน บอกเขาว่าต้องการพูดกับครูฝรั่งสัก 2 ชั่วโมง (ยอมจ่ายไปเถอะครับค่าป้องกันทักษะมอด)
-และสุดท้ายเรื่องการเขียน ผมขอแนะนำให้ท่านเขียนไดอะรี่เป็นภาษาอังกฤษสัปดาห์ละ 1 ครั้งตอนวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ได้
กิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน ที่ยกตัวอย่างมานี้ จะช่วยป้องกันมิให้ไฟทักษะที่มีอยู่มอด เพราะถ้ามอดแล้วการทำให้ติดใหม่คงเสียเวลามาก

พูดมายาวพอสมควรแล้ว ผมขอย้อนกลับไปยัง 2 คำถามที่ผมตั้งไว้ คือ
ข้อที่ 1 ถามว่า ต้องการฝึกภาษาอังกฤษ แต่ไม่รู้ว่าควรจะฝึกอะไรก่อน ระหว่าง ฟัง พูด อ่าน เขียน ศัพท์ หรือแกรมมาร์ ?
ข้อที่ 2 ถามว่า ฝึกตั้งนานแล้วยังไม่ได้เรื่องสักที จะทำยังไงดี ?
ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ รู้สึกว่า ผมตอบคำถามทั้ง 2 ข้อครบถ้วนหรือยังครับ?

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

15 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

บทความนี้อ่านแล้วเหมือนถูกถีบยอดหน้าเลยครับ แหม มันตรงกับชีวิตผมจริงๆเลยเทียว

ส่วนตัวก็กำลังมีความรู้สึกแบบนี้ตลอดเวลาเลยครับ รู้สึกว่าฝึกไปแล้วมันไม่พัฒนาสักที ก็เลยเปลี่ยนแนวทางฝึกบ้าง หยุดฝึกไปเฉยๆบ้าง ทำให้ไม่ไปไหนสักที

ตำรามีเต็มห้อง E-book ก็มีเต็มเครื่อง นิยายภาษาอังกฤษจะเอาเป็นหนังสือหรือ Audio book ก็มีหมด เรียกได้ว่าอะไรที่คิดว่าดี มีหมด ขาดแต่ความพยายามให้มันถึงที่สุดเท่านั้นเอง

"เรามีความอยากมาก แต่มีความพยายามน้อย" ประโยคนี้นี่เป็นจริงที่สุดเลยครับ

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ

Nott กล่าวว่า...

อ่านแล้วก็คงปฏิเสธไม่ได้ ตรงกับชีวิตผมมาก แม้กระทั่งตอนนีผมก็ยังรู้สึกเหนื่อย และก็อ่อนล้ากับการฝึกที่ยังไม่เห็นผมมากเต็มที แต่พอผมได้อ่านบทความนี้แล้ว อย่างแรกที่ผมเห็น ผมเห็นความพยายามของคุณพิพัฒน์ คงจะมีมากกว่าผม มากๆๆ ผมรู้สึก "ศรัทธา" ในตัวคุณพิพัฒน์ กับเหตุการณ์ที่เล่าว่าตัวเองทำงานที่โรงพิมพ์ จากเกรด 3.2 เหลือ 1.6 และต้องเสียงกับการ retrie ถ้าเป็นผมคงต้องลาออกมาตั้งหน้าตั้งตาเรียนเพื่อให้ได้ผลการเรียนที่ดีขึ้น แต่คุณพิพัฒน์ไม่อย่างนั้น ผมชอบแนวคิดในการฝึกภาษาอังกฤษเหมือนกับการกินอาหาร ที่คุณพิพัฒน์ยกขึ้นมา ชอบการเปรียบการฝึกกับการสีไฟ ช่างสั้นและก็ได้ใจความ ผมอ่านจบแล้วสิ่งที่ผมได้ก็คือแรงบันดาลใจที่อยากจะเป็น (ต้องพยายามขึ้นอีก) แม้ว่าความรู้สึกท้อ และเหนื่อยยังไม่หมดไป ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ นะครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ได้ทำ มาก่อน ทำได้
ประโยคนี้โดนใจจริง ๆ ค่ะ ยิ่งเรื่อง สีไฟ ช่างเป็นเรื่องที่ตรงกับตัวเองมากกก
ขอบคุณ คุณพิพัฒน์มาก ๆ เลยค่ะ ที่คอยชี้แนวทางให้คนที่จะหมดความพยายามในการสีไฟ ให้กลับมาลงมือทำอีกครั้ง

PP กล่าวว่า...

รักบทความตอนนี้ที่สุดค่ะ
อ่านแล้วอบอุ่นและมีพลังมากค่ะ

เด็กจบใหม่ไฟแรง ยังว่างงาน กล่าวว่า...

ขอบคุณบทความมากๆเลยค่ะ เป็นประโยชน์มาก ตั้งแต่เรียนจบมาก็ยังคงฝึกทั้่ง 4 ทักษะอยู่ทุกวันเพราะจบเอกอังกฤษมาแล้วก็อยากทำงานที่ไำด้ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ปัจจุบันก็ยังหางานทำที่ได้ใช้ภาษาไม่ได้ เครียดมากๆค่ะ เด็กเพิ่งจบใหม่แต่ไม่มีประสบการณ์ไม่มีใครอยากจะรับ บางครั้งเกือบท้อใจนี่ฉันจะฝึกไปทำไม แต่ก็พยามสู้ๆเพราะโอกาสดีๆข้างหน้ายังรออยู่ เห้ออ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ่านบทความนี้แล้วกระแทกใจจริงๆ ทุกวันนี้รู้สึกว่าตอนเรียน ม ปลายภาษายังดีกว่านี้อีก นี่เรามัวไปทำอะไรอยู่ อุปกรณ์ต่างๆ หนังสือ ไฟล์ มีหมด ขาดอย่างเดียว การฝึกฝนอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อรอวันที่มันจะสำเร็จ ขอบคุณคุณพิพัฒน์มากๆ เลย ที่เสาะแสงหาสิ่งดีๆ มา share ให้คนอื่นๆ ที่อยากฝึกฝนภาษานะคะ ^^ ขอให้ผลบุญกุศลอันนี้ส่งผลให้คุณประสบความสำเร็จทุกๆเรื่องนะคะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เป็นเลคเชอร์ให้กำลังคนเรียนภาษาได้ดีที่สุดเท่าที่เคยอ่าน เคยเห็นมาเลยครับ ขอบคุณมากครับที่ยอมเสียเวลาพิมพ์ยาวๆ เพื่อให้กำลังใจคนเรียนภาษาอย่างนี้

luk_aviation กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ คุณหรือคนจุดประกายความคิดเเก่คนที่หลง ทาง ขอบคุณจากใจจริง ค่ะ

maiinjun กล่าวว่า...

อ่านหลายครั้งชอบทุกครั้ง ขอบคุณอาจารย์ค่ะ

tik กล่าวว่า...

เข้า รร.สอนภาษา ขอคุยฝรั่งประมาณ 2 ชม.
(ต้องจ่าย) อาจจะประหยัดได้โดย
เสาะหา เลียบเคียง โบสถ์แบ๊บติสต์นะครับ

ตอนที่เค้าเทศน์ เราก็เข้าไปฟัง
ของสืบดูว่า เค้าเทศน์อังกฤษล้วนๆ ตอนไหน
(เค้าแบ่งเป็น2 ภาค : พากษ์ไทย/sound track)

เสียอย่างเดียวฝรั่ง ที่โบสถ์ จะชอบพูดไทยมากๆ
อ้ายเรา ก็อยากพูดหรั่ง ฮิฮิ
ถ้าเค้าพูดไทยมา เราตอบไทยไปเร็วๆ เลยครับ (แกล้งซะ)

พอเค้าเหวอ เราก็จัดตาม dialog ที่ฝึกฝนมาในกระเป๋า
ฟรีครับ ลูกทุ่ง/ทุลักทุเลหน่อย

tik กล่าวว่า...

เค้าแบ่งเป็น2 ภาค : พากษ์ไทย/sound track

ภาคแรก ฝรั่งเทศน์ แล้วมีคนไทยแปลตาม เป็นระยะ
ภาค sound เทศนา/เล่าตำนาน eng ล้วนๆ ครับ

tik กล่าวว่า...

ข้อความแรก ไม่ขึ้นครับ ขอส่งใหม่

เราอาจ ประหยัด ในการจ่ายเงินคุยกับ อ.ฝรั่งที่ รร.

โดยเสาะหา โบสถ์แบ๊บติสต์
เค้าจะการเทศนา แบ่งเป็น 2 ภาค
(ตามข้อความด้านบน)

ฝรั่งส่วนใหญ่ที่โบสถ์ จะชอบพูดไทยมากๆ
เวลาเค้าคุยมา เราก็ตอบไทยรัวๆ เร็วๆ (แกล้งซะ) ฮิฮิ
พอเค้า เหวอ.... เราก็งัด dialog ที่เตรียมไว้
คุยกับเค้าครับ

English Test กล่าวว่า...

Thanks you!

Me กล่าวว่า...

กำลังตั้งใจที่จะเรียนภาษาอังกฤษค่ะ อาจราย์ อย่างที่กล่าวค่ะ ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนเลย งง อยู่เหมือนกัน พักนึง แต่ไปไปมามา จับอะไรได้ก็เริ่มมันตรงนั้นก่อนเลยและตอนนี้ เริ่มตั้งแต่ เรียน I am, You are เลยด้วยช้ำ (เพราะทึ้งมาเกือบเป็นสิบปี)และก็จริงอย่างที่บอกค่ะ พูด อ่าน เขียน และฟัง ทำอันไหนก่อนก็ได้ แต่ต้องทำทุกทั้งหมด

pipat - blogger กล่าวว่า...

ดีแล้วครับ
จริง ๆ แล้ว มันก็อาจจะไม่ชัดเจนในการทำครั้งแรกหรอกครับ
แต่เมื่อฝึกต่อเนื่อง มันก็จะค่อย ๆ ชัดขึ้น และดีขึ้น
ขออวยพรครับ