วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

[1751] ขุด “ขุมศัพท์” ที่ฝังอยู่ในดิกชันนารี

สวัสดีครับ
ผมขอเปรียบง่าย ๆ อย่างนี้ครับ
ศัพท์ = เครื่องปรุงกับข้าว เช่น ผัก เนื้อสัตว์ เครื่องเทศ ของปรุงรสต่าง ๆ
ความชำนาญในการนำศัพท์มาร้อยเรียงได้อย่างที่ต้องการ = ฝีมือในการปรุงกับข้าว

มีเครื่องปรุงแต่ขาดฝีมือ ก็คงได้กับข้าวที่รสไม่ได้เรื่องแทบไม่มีคนกิน; มีฝีมือแต่ขาดเครื่องปรุงก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาปรุง

มีศัพท์แต่ไม่มีความชำนาญในการใช้ศัพท์ ก็คงสื่อความได้ไม่รู้เรื่อง หรือรู้เฉพาะเรื่องง่าย ๆ หรือรู้เรื่องแต่เป็นภาษาที่รสไม่ได้เรื่องแทบไม่มีคนรับ; รู้วิธีการเรียบเรียง แต่ไม่รู้จักศัพท์ที่จะนำเอามาเรียบเรียง ก็ไม่มีอะไรจะให้เรียบเรียง

คำเปรียบเทียบ 2 คู่นี้บอกเราว่า...
1.ทั้ง 2 สิ่งต่างมีความสำคัญ คือ ศัพท์และความชำนาญในการใช้ศัพท์; เครื่องปรุงและฝีมือในการปรุง
2. ทั้ง 2 สิ่งมีความสำคัญไม่เท่ากัน คือ เครื่องปรุงสำคัญมากกว่าฝีมือปรุง คือ การปรุงอย่างไร้ฝีมือ แม้จะทานไม่ค่อยลงแต่อย่างน้อยก็มีกับข้าวให้ทาน; ศัพท์สำคัญมากกว่าฝีมือในการเรียบเรียงศัพท์ (หรือแกรมมาร์) เพราะถ้าไม่รู้ศัพท์ก็ไม่มีอะไรให้หยิบมาสื่อความ แต่ถ้ามีศัพท์แม้จะสื่อได้ไม่สละสลวยหรือไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่อย่างน้อยก็รู้เรื่องบ้าง หรือพอให้เดาต่อไปได้ไม่มากก็น้อย

ในการเรียนและใช้ภาษาอังกฤษ ศัพท์จึงสำคัญมาก ๆ ด้วยประการฉะนี้ เปรียบได้กับขุมทรัพท์ทางภาษา เพราะฉะนั้นขุมศัพท์จึงเท่ากับขุมทรัพย์

ขุมศัพท์อยู่ที่ไหน? ถ้าเป็นคนที่เกิดในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เด็กก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ จดจำ และใช้ศัพท์ได้โดยอัตโนมัติทีละคำ ๆ จนเขาอาจจะแทบไม่มีความจำเป็นที่ต้องพึ่งดิกชันนารีเลย แต่ถ้าเป็นคนที่เกิดในประเทศไทยซึ่งมิได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ศัพท์ภาษาอังกฤษที่ได้จากห้องเรียน จากการอ่านหรือฟังจากสื่อต่าง ๆ บ้างคงไม่พอใช้ จึงต้องหาเพิ่มเติมจาก “ขุมศัพท์” ซึ่งเรารู้จักกันดีในชื่อ “ดิกชันนารี”

คำว่า “ขุม” แปลว่า มีมาก และ มีค่า ขุมศัพท์ในดิกชันนารี คือขุมทรัพท์ทางภาษาซึ่งมีมากเพียงพอต่อการใช้ และทุกคำมีค่าดุจทรัพย์

ด้วยเหตุที่เป็น คนบ้าดิก  ขออนุญาตให้ผมคุยอะไรสักนิดนะครับ...

ผมเองรู้จักดิกชันนารี อังกฤษ – อังกฤษ มาตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยม และก็ค่อย ๆ คุ้นเคยสนิทสนมกับครูดิกมาเรื่อย ๆ เพราะดิกชันนารีมักจะเป็นที่ปรึกษารายแรกที่ผมเข้าไปหาเมื่อมีปัญหาทางภาษา หลายปีที่ผ่านมานี้ผมเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นมากของดิกชันนารี อังกฤษ – อังกฤษ ดังนี้

1.ด้านปริมาณ: มีดิกชันารีหลายยี่ห้อ หลายสำนัก หลายเวอร์ชั่น หลายเอดิชั่น ออกมาบริการลูกค้า ผมเคยแนะนำไว้แล้วข้างล่างนี้
-learner's dictionary ของ Webster
-Oxford
-Longman
-Cambridge
-MSN Encarta
-Cobuild
-Newburry House
-Google Dictionary
-Macmillan

2.ด้านคุณภาพ: ดิกชันนารีเพื่อผู้ศึกษาภาษาอังกฤษ หรือ learner’s dictionary ทุกยี่ห้อต่างแข่งขันกันด้านคุณภาพ เช่น การให้ความหมายที่ชัดเจน ถูกต้อง มี edition ที่ update บ่อยขึ้น; มีตัวช่วยที่แสดงการใช้คำศัพท์มากขึ้น เช่น ประโยคหรือวลีตัวอย่าง, มีการเปรียบเทียบคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน, มีการแสดง collocation, synonym, หรือ pattern ของแกรมมาร์ที่ควรใช้กับศัพท์บางคำ ฯลฯ ถ้าใช้อุปมาเดิมก็ต้องพูดว่า ในดิกชันนารีสมัยใหม่นี้ เพิ่มทั้งเครื่องปรุง (คือคำศัพท์) และสอนวิธีการปรุง (คือการใช้ศัพท์) ไม่เหมือนดิกชันนารีสมัยก่อน ที่เน้นเฉพาะคำศัพท์แต่ไม่ค่อยได้แสดงการใช้ศัพท์มากเหมือนสมัยนี้

เรื่องการแสดงวิธีการใช้ศัพท์ที่ผมบอก เช่น ประโยคตัวอย่าง,เปรียบเทียบคำ, collocation, synonym, grammar pattern ฯลฯ นี้ เป็นเรื่องที่ผมตั้งใจจะพูดเป็นพิเศษในวันนี้ ท่านใดที่มี learner’s dictionary คุณภาพดีอยู่ในมือลองพลิกเข้าไปดูก็ได้ครับ เขามักจะมีคำอธิบายสั้น ๆ แสดงการใช้คำศัพท์บางคำหรือบางคู่ให้ไว้ดูเป็นระยะ ๆ ตลอดเล่ม โดยอาจจะใช้หัวชื่อทำนองนี้: Usage, Usage Note, Word Choice เป็นต้น

เท่าที่เคยสังเกตผมรู้สึกว่า คำอธิบายการใช้คำศัพท์ที่อยู่ใน learner’s dictionary แม้จะเป็นคำอธิบายที่สั้น ๆ แต่ก็เขียนได้เข้าใจง่าย จำง่าย และเอาไปใช้ได้อย่างง่าย ๆ ทันที นี่อาจจะเป็นเพราะว่าผู้ที่เขียนคือผู้เชี่ยวชาญด้านคำศัพท์ มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับความหมายและการใช้ศัพท์ แต่ขณะเดียวกันหน้ากระดาษในเล่มดิกชันนารีมีจำกัด เขาจึงต้องเขียนให้ทั้งดีและสั้น คนอ่านสามารถจับเอาไปใช้ได้ทันที ผมยังคิดเลยว่า ถ้าใครมีเวลาแค่แปล Usage Note เหล่านี้และรวบรวมพิมพ์เป็นภาษาไทยก็พอจะหากินได้แล้ว

และวันนี้ ผมได้รวบรวม Usage Note เหล่านี้จาก learner’s dictionary ทั้งเล่ม มาให้ท่านผู้อ่านได้คลิกศึกษา ซึ่งมักเป็นการอธิบายการใช้คำศัพท์ที่พบบ่อยมาก ๆ ในการพูดและเขียน เขาไม่ได้นำคำที่นาน ๆ เจอทีมาลงพิมพ์ไว้ให้เปลืองหน้ากระดาษหรอกครับ

จริง ๆ แล้วเราอาจจะไม่ต้องสนใจ Usage Note เหล่านี้ก็ได้ เพราะถ้าเรา ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ภาษาอังกฤษไปเรื่อย ๆ เราก็อาจจะสังเกตได้เองว่าการใช้ศัพท์คำนี้ ๆ อย่างถูกต้องในการพูดและเขียน จะต้องใช้ยังไง แต่ถ้าเราศึกษาจาก Usage Note เหล่านี้ มันจะช่วยทุ่นเวลาที่เราจะต้องไปจดจ่อสังเกต เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านดิกช่วยสังเกตจากการใช้แบบผิด ๆ ของทั้ง native speaker และคนต่างชาติมาเขียนให้เราศึกษาอย่างเข้าใจง่าย ๆ ใน “ขุมศัพท์” ที่ว่านี้

เมื่อเข้าไปแล้ว ผมขอแนะนำว่า ขอให้ท่านคลิกลิงค์พร้อมกับกด Shift เพื่อให้ลิงค์นั้นเปิดในหน้าต่างใหม่ เมื่อเลิกใช้จะได้ close ได้ทันที ไม่ต้องคลิก Back ให้เสียเวลา (หรือถ้าต้องการให้ลิงค์นั้นเปิดใน tabใหม่ ก็ให้ท่านคลิกลิงค์พร้อมกับกด Control)

เชิญครับ...
[1] Oxford Dictionary
Usage note:1- 2- 3

[2] Longman Dictionary
 WORD CHOICE

[3] Cambridge Dictionary
1.ไปที่ http://dictionary.cambridge.org/
2.คลิก resources
3.คลิกหัวข้อใต้ Topic Areas ตามที่ต้องการ ท่านจะพบกลุ่มคำที่แสดงคำที่มีความหมายเหมือนกัน (synonyms), และคำ/วลี ที่เกี่ยวข้องกับคำใน Topic นั้น

วันนี้ผมขุด “ขุมศัพท์” ที่ฝังอยู่ในดิกชันนารีมาได้แค่ 3 ขุม คือขุม Oxford, Longman, Cambridge วันหน้าถ้าขุดได้อีก จะเอามาเพิ่มครับ

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

2 ความคิดเห็น:

kwangjow กล่าวว่า...

ขอบคุณนะค่ะ ที่นำสิ่งดี ๆ มีประโยชน์มตีแผ่บนโลกอินเตอร์เนต แล้วหนูจะติดตาม blog นี้ตลอดทุกวันเลยค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณความู้ที่นำมาแบ่งปัน สิ่งที่คุณพิพัฒน์
เขียนมานั้นเป็นโยชน์มากค่ะ
ขอให้เขียนต่อไปเรื่อย ๆ นะคะ
จะมาอ่านทุกวันค่ะ