วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

[1074] พจนานุกรม ไทย – อังกฤษ ที่สมบูรณ์ที่สุด

สวัสดีครับ
ผมซื้อพจนานุกรม ไทย – อังกฤษ เล่มนี้มาใช้ตั้งแต่ First Edition (1994) และซื้ออีก 2 edition ที่ออกตามมา คือ Second Edition (1999) และ Third Edition (2006) คือ พจนานุกรมไทย-อังกฤษ : ฉบับปรับใหม่ให้ทันโลก ที่รวบรวม/เรียบเรียง โดย ดำเนิน การเด่น และ เสฐียรพงษ์ วรรณปก คลิกดูหน้าปก

ผมรู้สึกพอใจในคุณภาพของพจนานุกรมไทย-อังกฤษ เล่มนี้ยิ่งนัก และฟันธงตั้งแต่เริ่มใช้แล้วว่านี่คือ พจนานุกรม ไทย – อังกฤษ ที่สมบูรณ์ที่สุด เท่าที่เมืองไทยมีอยู่ขณะนี้ เหตุที่ผมฟันธงเช่นนี้ก็เพราะว่า ผมมีงานอดิเรกขนาดเล็กอย่างหนึ่งคือจับผิดดิกชันนารี และดิกชันนารีหลายเล่มในเมืองไทยก็มีจุดผิดให้ผมจับ ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ผมไม่รู้สึกตำหนิผู้เรียบเรียงเพราะรู้ว่างานนี้เป็นงานยาก ต้องอาศัยความรู้ ความอดทน และความละเอียดรอบคอบเป็นอย่างมากที่สุด เรื่องที่น่าเห็นใจก็คือ ต่อให้เรียบเรียงถูกต้องทั้งเล่ม แต่ถ้ามีผิดเพียงแค่ 10 คำ คนช่างจับผิดก็จะพูดเฉพาะตรงที่ผิดนี่แหละ ส่วนที่ถูกทั้งเล่มไม่พูดถึงหรือชมเชย รู้สึกว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานสถานก็มีชะตากรรมเช่นเดียวกันนี้

และเรื่องที่ผมจะบอกก็คือ แม้ว่าผมจะใช้พจนานุกรมไทย-อังกฤษของอาจารย์ดำเนิน การเด่น และ เสฐียรพงษ์ วรรณปก มาหลายปีก็ไม่เห็นมีหน้าไหนให้ผมจับผิดเลย มีแต่ชื่นชม เพราะศัพท์ – วลี – ประโยคตัวอย่าง ในเล่มนี้มีมากทั้งปริมาณและคุณภาพ เป็นที่ปรึกษาที่ดีมากในการพูด เขียน และแปลจากไทยเป็นอังกฤษ หรือจะใช้เป็นเครื่องมือในการเล่น ‘ dictionarying ’ ก็ได้ ยิ่งได้ใช้คู่กับ CD ที่ให้มายิ่งเหมือนพยัคฆ์ติดปีก สามารถค้นคำไทยหรืออังกฤษได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แถมออกเสียงได้อีกด้วย

เดิมผมเข้าใจเอาง่าย ๆ ว่าคงเป็นเพราะความรู้ความสามรถของอาจารย์ 2 ท่านนี้จึงผลิตพจนานุกรมไทย-อังกฤษ : ฉบับปรับใหม่ให้ทันโลก เล่มนี้ออกมาได้ เพราะเมื่ออ่านประวัติของท่านก็ไม่แปลกใจอะไรเลย
ประวัติ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก คลิก
ประวัติ ดำเนิน การเด่น คลิก

แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่ช่วยเสริมอย่างมากให้พจนานุกรมไทย-อังกฤษ : ฉบับปรับใหม่ให้ทันโลก เล่มนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้นก็เพราะมีการใช้เทคโนโลยีที่ดิกชันนารีระดับโลกทุกฉบับเขาใช้กัน คือ
1.ใช้ประโยชน์จาก คลังคำศัพท์ โดย พจนานุกรมไทย-อังกฤษเล่มนี้ใช้ฐานข้อมูลของThai National Corpus จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.ใช้ Google Search ตรวจสอบกับภาษาที่มีการใช้อยู่จริง ๆ ไม่ใช่เรียบเรียงจากวินิจฉัยของผู้เรียบเรียงเพียงส่วนเดียว

และในด้านการอ้างอิงนั้น ก็ได้อาศัยราชกิจจานุเบกษาของทางราชการ และดิกชันนารีที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Webster, Oxford, Longman, Collins COBUILD และ American Heritage

ที่บล็อกนี้ มีท่านผู้อ่านถามเรื่องการพูดภาษาอังกฤษให้เก่ง คำถามนี้ถ้าท่านพิมพ์ลงไปใน Google ว่า วิธีพูดภาษาอังกฤษให้เก่ง ก็จะมีคำตอบให้อ่านมากกว่า 400,000 หน้า แต่ถ้าคลิกที่ “ค้นหาค้นหา ภายใน ผลการค้นหา” และพิมพ์ "พจนานุกรม ไทย อังกฤษ" เพื่อค้นให้ลึกลงไปอีก ก็จะพบว่ามีเพียงประมาณ 900 หน้าเท่านั้นที่มีวลีนี้ ทำให้ผมตีความว่า คนไทยใช้ประโยชน์จาก "พจนานุกรม ไทย อังกฤษ" น้อยมากเป็นตัวช่วยในการฝึกพูดภาษาอังกฤษ

วันนี้ขอคุยแค่นี้ก่อนนะครับ วันหน้าผมจะขอคุยต่อว่า "พจนานุกรม ไทย อังกฤษ" เป็นตัวช่วยในการพูดภาษาอังกฤษได้อย่างไร
สวัสดีครับ

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: