วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2553

[1313] ฝึกฟังภาษาอังกฤษ กับ The English Desk

สวัสดีครับ
อีกครั้งหนึ่งครับที่ผมมีไฟล์ mp3 มาให้ท่านดาวน์โหลดเพื่อนำไปฝึกฟัง และ ก็มี script เป็นไฟล์ pdf ของเสียงที่ฟังให้ด้วย

เว็บต้นทาง:
englishtips.org
englishdesk.blogspot.com

มีทั้งหมดประมาณ 80 ตอน ข้างล่างนี้ครับ
Mp3:
ตอนที่ 3,4,5,12,19,25
ตอนที่ 26-50
ตอนที่ 51-75
ตอนที่ 76-100
ตอนที่ 101-119

pdf:
English Desk Exercises with keys
English Desk Scripts

ทางเว็บเขาแนะนำวิธีการฝึกฟัง ดังนี้ครับ
1 Listen to the podcast without reading the text.
(เที่ยวที่ 1:ฟังอย่างเดียว ยังไม่ต้องอ่าน)

2 Listen to the podcast for a second time and quickly write a few notes about what you hear.
(เที่ยวที่ 2:ฟังซ้ำ และรีบจดโน๊ตสั้น ๆ ประเด็นที่ได้ยิน)

3 Read the text with the podcast as you listen for the third time.
(เที่ยวที่ 3:อ่าน script พร้อมกับฟังซ้ำ)

4 Read aloud with the podcast.
(อ่านดัง ๆ ไปพร้อม ๆ กับเสียง mp3 ที่เปิด)

5 Try to explain what you have heard in your own words.
( พยายามอธิบายสิ่งที่ได้ฟังด้วยสำนวนภาษาของตัวเอง)

รู้สึกว่าเป็นคำแนะนำที่ perfect มากๆ เพราะได้ฝึกทั้งฟัง – เขียน – อ่าน – พูด ครบทุกทักษะ

ผมมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมดังนี้ครับ
ก. ในข้อ 1 ที่ฟังนั้น
อาจจะฟังหลาย ๆ เที่ยวก็ได้ ฟังจนคุ้นกับสำเนียงที่ได้ยินแม้อาจจะเข้าใจได้ไม่ครบถ้วนก็ตาม แต่ในช่วงนี้ ห้ามดู script เด็ดขาด เพราะถ้าดู script ในช่วงนี้ แม้จะช่วยให้เข้าใจ แต่อาจจะเป็นความเข้าใจที่เกิดจาการอ่าน ไม่ใช่เกิดจากการฟัง ต้องไม่ลืมว่าในที่นี้เราต้องการฝึกหูให้สามารถฟังเข้าใจด้วยตัวของหูเอง ไม่ใช่เข้าใจโดยมีตาช่วยอ่าน ในช่วงนี้ที่ปล่อยให้หูทำงานด้วยการฟังโดยลำพัง แม้ท่านอาจจะรู้เรื่องบ้าง-ไม่รู้เรื่องมาก ก็ยังไม่ต้องไป serious หรือหงุดหงิดที่ฟังไม่รู้เรื่อง เพราะว่า การทำให้หูคุ้นเคยกับสำเนียงเป็นงานที่ 1, ส่วนการทำให้หูเข้าใจศัพท์หรือสำนวนเป็นงานที่ 2, ในช่วงแรกที่ฟังนี้ให้เราเอาสมาธิไปติดตั้งไว้ที่หูโดยให้ความสนใจ 100 % และทำงานที่ 1 ก่อน, ส่วนงานที่ 2 ค่อยทำในช่วงถัดไป

ข. ในข้อที่ 2 ที่ฟังซ้ำ และรีบจดโน๊ตสั้น ๆ นี้ ถ้าจดเป็นภาษาอังกฤษได้ก็ดีครับ (ไม่ต้องจดเป็นประโยคที่สมบูรณ์) ถ้าไม่ได้ก็จดอังกฤษปนไทย แต่พยายามอย่าจดเป็นภาษาไทยล้วน ๆ เลยครับ เพราะว่ายิ่งเราจดเป็นภาษาอังกฤษได้มากเท่าไหร่ ก็แสดงว่าเราคิดเป็นภาษาอังกฤษมากเท่านั้น และการคิดเป็นภาษาอังกฤษนี้เป็นสิ่งที่ควรฝึกอย่างยิ่งครับ

ค. ในข้อที่อ่าน script พร้อมกับฟังซ้ำนี้ ถ้าไม่สามารถอ่านและเข้าใจได้ทันที คงต้องเอา script มาแปลและตีความให้เข้าใจทะลุตลอด ก่อนที่จะฝึกในข้อถัดไป

ง. ในข้อที่อ่านดัง ๆ ไปพร้อม ๆ กับเสียง mp3 ที่เปิดนี้ เป็นสิ่งที่น่าฝึกอย่างยิ่งครับ เพราะเรื่องของเรื่องก็คือว่า ถ้าในข้อแรกหูของเราสามารถซึมซับสำเนียงที่ได้ยินไว้ได้ดีเพียงใด เราก็จะสามารถอ่านอกเสียงได้ดีเพียงนั้น นี่แหละครับที่ผมบอกไว้ในข้อแรกว่า ให้เราเอาสมาธิไปติดตั้งไว้ที่หูและให้ความสนใจ 100 % แก่การฟัง, อย่าวอกแวก ฟังได้ชัดมากเท่าไร-ก็จะพูดได้ชัดมากเท่านั้น และบ้างครั้งบางคราว ท่านอาจจะใช้ earphone ด้วยก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้เราฟังสำเนียงชัดมากขึ้นอีก,

การอ่านออกเสียงดัง ๆ พร้อม ๆ กับเสียง mp3 ในข้อนี้ อาจจะฝึกมากกว่า 1 เที่ยวก็ได้

จ. ในข้อ พยายามอธิบายสิ่งที่ได้ฟังด้วยสำนวนภาษาของตัวเองนี้ ผมนึกไปถึงอาจารย์สอ เสถบุตร ผู้เรียบเรียงดิกชันนารี อังกฤษ – ไทย, ไทย – อังกฤษ ซึ่งมีชื่อเสียงมาค่อนศตวรรษ ท่านได้พูดไว้ว่า การฝึกพูดภาษาอังกฤษอย่างถูกวิธีคือการพูดแบบ “จำขี้ปาก” ฝรั่ง ผมเห็นว่านี่เป็นคำแนะนำที่วิเศษมาก เมื่อเรา “จำขี้ปาก” คือ พูดตามอย่างที่จำได้ ไม่ว่าจะเป็นการจำศัพท์เป็นคำ ๆ, จำวลีสั้น ๆ, หรือ จำสำนวนได้ทั้งประโยค นาน ๆ เข้าเราก็จะไม่หยุดเพียงเท่าที่จำได้ หรือหยุดที่การ “จำขี้ปาก” แต่ธรรมชาติของมนุษย์จะพยายามสร้างคำพูดของตัวเองขึ้นมาตามที่ต้องการจะพูด ก็คือข้อนี้ที่เขาต้องการให้เราฝึกนี่แหละครับ

ท่านผู้อ่านครับ วิธีการฝึกพูดกับไฟล์ mp3 และ pdf ที่แนะนำมาทั้งหมดนี้ ใช้ได้กับ mp3+pdf ทุกชุดที่ผมมีไฟล์ให้ดาวน์โหลดในบล็อกนี้ ผมขอแนะนำเพิ่มเติมว่า ถ้าไฟล์ชุด The English Desk ในหัวข้อนี้ไม่ถูกใจท่าน เพราะมันยากเกินไป ยาวเกินไป เนื้อหาไม่ถูกใจ พูดเร็วหรือพูดช้าเกินไป หรือเพราะอะไรก็แล้วแต่ ขอให้ท่านหาเอาใหม่ที่ถูกใจท่านจริง ๆ และฝึกฟังกับไฟล์ชุดนั้น, mp3 ภาษาอังกฤษก็เหมือนกับคนที่เรารักนั่นแหละครับ ถ้ารักแล้วก็อยากจะฟัง อยากได้ยินเสียงเขาพูด ฟังทั้งวันก็ไม่เบื่อ แต่ถ้าเป็นคนที่เราไม่รักก็ไม่อยากฟัง ถึงได้ฟังก็อาจจะไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ขอให้พยายามหาสิ่งที่ท่านรักที่จะฟัง และท่านจะได้ยินและพูดตามได้ ภาษารักเป็นเช่นไร ภาษาอังกฤษที่เราจะฝึกเรียนให้รู้ก็เป็นเช่นนั้นแหละครับ
· * * * *

ผมตั้งใจจะจบแค่นี้ แต่นึกขึ้นมาได้ว่า มีอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมน่าจะนำเอามาเล่า เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อบางท่าน ขอคุยต่ออีกนิดนะครับ

อย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังหลายครั้งในบล็อกนี้ สำหรับคนรุ่นผม ภาษาอังกฤษที่เรียนตั้งแต่เด็กจนจบมหาวิทยาลัย กว่า 90 % เป็นเรื่อง reading และ grammar ส่วนการพูด-การฟัง แถบไม่เคยผ่านปาก-ผ่านหูเลย หลังจากเรียนจบและในช่วงสิบปีที่ทำงานในต่างจังหวัดก็เพียงแค่อ่านภาษาอังกฤษแต่ไม่เคยฝึกพูดหรือฟังเลย และเมื่อย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพและถูกงานบังคับให้ต้องฟังรู้เรื่อง จึงต้องฝึกฟัง ช่วงนั้นแหละครับที่ผมรู้สึกหงุดหงิดท้อแท้ เพราะมันฟังไม่รู้เรื่องหรือรู้เรื่องน้อยเกินไปไม่ทันใจเอาซะเลย บ่อยครั้งที่ผมถามเพื่อนรุ่นพี่ว่า ผมต้องทนฟังไปอย่างนี้อีกนานไหมจึงจะฟังรู้เรื่อง ทุกคนตอบว่า ฝึกฟังไปเรื่อย ๆ ทุกวันเดี๋ยวก็รู้เรื่องเองนั่นแหละ ผมฟังคำตอบแบบนี้มาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ไม่เห็นจะฟังรู้เรื่องมากขึ้นสักเท่าไหร่ ท้อครับ !!

ช่วงนั้นเมื่องไทยยังไม่มีอินเทอร์เน็ต และผมได้ติดเคเบิ้ลทีวีเพื่อฟังข่าว BBC และ CNN ขอบอกว่า ต้องฟังแล้วฟังอีกเนิ่นนานเหลือเกินครับกว่าจะเริ่มฟังรู้เรื่อง แต่... แต่เมื่อเริ่มฟังรู้เรื่องแล้วมันก็ใช้เวลาไม่นานนักในการฟังให้รู้เรื่องมากขึ้น มันคล้าย ๆ กับเพิ่งขับรถเป็นใหม่ ๆ เข้าเกียร์ยังไม่ค่อยคล่อง แต่เมื่อเริ่มจะคล่องแล้ว จากเกียร์ 1 เป็นเกียร์ 2.. 3.. 4.. ก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ผมได้ข้อสรุปของการฝึกฟังภาษาอังกฤษของตัวเอง ดังนี้ครับ
1.ไม่ควรต้องใจร้อน ผลทุกอย่างในโลกนี้มาจากเหตุ ถ้าทำเหตุให้ดีผลก็จะตามมาเอง การที่ในระยะแรกผมฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็เพราะผมไม่ได้สร้างเหตุคือการฝึกฟังอย่างต่อเนื่อง ผลที่อยากได้คือการฟังรู้เรื่องอย่างดีจึงไม่เกิด แต่พอผมฝึกฟังนาน ๆ เข้า คือได้สะสมเหตุอย่างต่อเนื่อง ผลของมันก็ตามมาเอง คือผมฟังรู้เรื่องมากขึ้น และต่อให้ผมไม่อยากจะฟังรู้เรื่องมันก็ยังรู้เรื่องอยู่นั่นเอง เพราะการจะฟังรู้เรื่องมันไม่ได้อยู่ที่ผมอยากหรือไม่อยาก แต่มันอยู่ที่ผมได้สร้างเหตุไว้หรือไม่ได้สร้าง เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นไม่ต้องใจร้อน – ไม่ต้องหงุดหงิด ทำเหตุให้ดี ผลดีจะตามมาเอง

2.(เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ไม่ได้ “โม้” นะครับ) มีเพื่อนของผมบางคนเจอเหตุการณ์คล้าย ๆ กับผมแต่ฟังได้ช้ากว่า ผมมานั่งวิเคราะห์ดูแล้วก็ได้ข้อสรุปว่า น่าจะเป็นเพราะเขาฝึกอ่านภาษาอังฤษมาน้อยกว่าผม การฝึกอ่านนี้ทำให้เรารู้ศัพท์และสำนวนจากการอ่าน ผมขอย้ำ จากการอ่านผ่านตา, มิใช่จากการฟังผ่านหู แต่อย่างหนึ่งที่ผมทำเป็นนิสัยก็คือ เมื่อจะจำความหมายของศัพท์ ผมจะต้องฝึกออกเสียงศัพท์ที่ต้องการจำ จะต้องมั่นใจให้ได้ว่าผมออกเสียงคำศัพท์ถูกต้อง ตอนที่ผมใช้ดิกอังกฤษ – ไทย ผมก็ออกเสียงตามคำอ่านที่ดิกให้ไว้ และเมื่อผมขยับขึ้นมาใช้ดิกอังกฤษ – อังกฤษ ผมก็พยายามอ่านเครื่องหมายโฟเนติกส์ให้ออก เพื่อจะได้รู้วิธีการออกเสียง เพราะฉะนั้นผมจึงรู้ศัพท์โดยมีเสียงคำอ่านอยู่ในใจโดยที่หลาย ๆ คำก็ไม่เคยฟังฝรั่งออกเสียงด้วยหูของตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าจะไปฟังได้ที่ไหน (ผู้เรียนสมัยนี้ โชคดีกว่าสมัยผมเยอะเลยครับ)

ครั้นเมื่อผมมาเริ่มฝึกฟังเอาจริง ๆ จัง ๆ เสียงอ่านคำศัพท์ที่ได้ยินผ่านหู (จากช่องทีวี UBC หรืออินเทอร์เน็ต) มันก็ไป match กับเสียงอ่านของตัวเองที่ผมตุนฝึกไว้ เมื่อฝึกฟังนาน ๆ สำเนียงผ่านหูของสารพัดคำศัพท์ มันก็ไป match กับสำนวนผ่านตา ที่ได้สะสมไว้ ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ช่วยให้ผม เมื่อฝึกฟังจึงฟังรู้เรื่องได้เร็ว เพราะมีหน้าที่เพียงเอาสำเนียงที่เรียนรู้ใหม่ไป match กับสำนวนที่เรียนรู้มาก่อนเก่า ถ้าต้องฝึกฝนทั้งสำนวนและสำเนียงในเวลาเดียวกัน คงต้องใช้เวลาเยอะทีเดียวครับกว่าจะฟังได้รู้เรื่องเป็นที่น่าพอใจและใช้งานได้ เพราะฉะนั้น การฝึกฟังและการฝึกอ่านควรทำไปพร้อม ๆ กัน

ท่านผู้อ่านครับ ผมเชื่อว่า ทุกท่านทำได้ หลายท่านอาจจะทำได้ง่ายกว่าผมด้วยซ้ำไป

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

11 ความคิดเห็น:

NIPON PROMPILAI กล่าวว่า...

Why is it so hard to master other languages other than ours? One factor that comes to my mind now is culture differences. That's, besides keep practicing, we got to truly understand what the differences between our ways of life and the target language's culture are. Most of time, it's funny for a native speaker when they hear our stories but for us there's nothing to do with it.
Keep producing your good work. I love to read what you put in your blog.
Belated Happy New Year.
Nipon

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะ ติดตามบล็อกมานานแต่เพิ่งได้แสดงความเห็นค่ะ ที่กล่าวเป็นวิธีที่ดิฉันเองก็ทำโดยไม่รู้ตัว ชอบเลียนแบบการออกสำเนียงเวลาดูรายการต่างๆของฝรั่ง ทำบ่อยๆเข้ากลายมาเป็นสำเนียงตัวเอง นอกจากฟังได้มากขึ้นแล้วสำเนียงก็ดีขึ้น แต่ก็ยังพูดติดขัด เพราะไม่ได้ใช้เลย
ขอบคุณนะคะที่สร้างบล็อกที่ไม่ใช่แค่บล็อก แต่มันยังคือแหล่งความรู้อีกค่ะ
ป.ล. ไม่ทราบว่าเคยฟัง How to Talk to Anyone, Anytime, Anywhere ของ Larry King หรือยังคะ นอกจากจะได้ฝึกการฟังแล้วยังได้ข้อคิดในการพูดด้วย มีประโยชน์มากทีเดียว^^

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดีครับคุณอาคือว่าในเวปมันเป็นภาษาอะไรก้ไม่รู้ครับ อ่านไม่ออก

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

link มันเข้าไม่ได้นะค่ะช่วยแก้ไขให้ทีไม่ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

pipat - blogger กล่าวว่า...

ช่วย copy เฉพาะลิงค์ที่เข้าไม่ได้ ให้ผมทราบด้วยครับ จะได้เช็กเฉพาะลิงค์นั้น ขอบคุณครับ
พิพัฒน์

Phar กล่าวว่า...

ขอบคุณคุณพิพัฒน์ที่ให้คำแนะนำดีๆค่ะ

PK กล่าวว่า...

จะลองทำตามนะคะ

Unknown กล่าวว่า...

mp3 1-15 ทำไมมีแค่ 6 file เองคะ

pipat - blogger กล่าวว่า...

ถาม:mp3 1-15 ทำไมมีแค่ 6 file เองคะ
ตอบ: แหล่งที่ผมไปดาวน์โหลดมันก็มีอยู่เท่านั้นแหละครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณ อาจารย์มากค่ะสำหรับแหล่งความรู้ที่มีค่านี้

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะคุณพิพัฒน์ มีประโยชน์มากเลยค่ะ จะเอาไปฟังดูนะคะ