วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2552

[1295]ตั้งใจวันปีใหม่:จะฝึกใช้ดิก Eng-Eng ให้คล่องให้ได้

สวัสดีครับ
ทุกท่านพอจะตอบผมได้ไหมครับว่าจนถึงขณะนี้ ในจำนวน 10 ครั้งที่ท่านเปิดดิก ท่านเปิดดิกอังกฤษ-ไทย กี่ครั้ง ? และเปิดดิกอังกฤษ - อังกฤษ กี่ครั้ง?

ถ้าคำตอบของท่านคือ ท่านเปิดดิกอังกฤษ – ไทย มากกว่า ดิก อังกฤษ – อังกฤษ ผมก็อยากจะชักชวนให้ท่านตั้งใจฉลองวันปีใหม่ นี้ว่า ภายในสิ้นปี 2010 ท่านจะเปิดดิกอังกฤษ-อังกฤษ มากกว่า ดิกอังกฤษ – ไทย

ผมเชื่อว่าทุกท่านก็รู้อยู่ว่าการเปิดดิก อังกฤษ – อังกฤษ เป็นการฝึกภาษาที่เข้มข้นกว่า การเปิดดิก อังกฤษ – ไทย และมีประโยชน์มากกว่าหลายอย่าง เช่น
-เป็นการฝึกฝนทักษะการอ่าน – การเดา – การตีความ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นและมีประโยชน์มาก
-เป็นการฝึกคิดเป็นภาษาอังกฤษ
-การฝึกเปิดดิก อังกฤษ – อังกฤษ ประเภท learner’s dictionary จะช่วยให้เราเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ไปพร้อมกัน เช่น แกรมมาร์ รูปประโยคที่เราสามารถจดจำเอาไปใช้ในการพูดและเขียนภาษาอังกฤษ

เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็คือ ถ้าการฝึกฝนภาษาอังกฤษ คือการเดินทางจากกรุงเทพไปโคราช การเปิดดิก อังกฤษ – ไทย ก็เหมือนการขี่จักรยานไป แต่การเปิดดิกอังกฤษ – อังกฤษ จะเหมือนการขับรถยนต์ไป ท่านจะไปถึงโคราชได้สะดวกกว่าและเร็วกว่าหลายเท่า ขอเพียงอย่างเดียว ขอให้ท่านสามารถขับรถยนต์เป็นเท่านั้น

บางท่านอาจจะรู้สึกว่าคำเปรียบเทียบของผมเวอร์เกินไป เพราะการขับรถยนต์ให้เป็นง่ายหลายเท่ากว่าการเปิดดิก อังกฤษ – อังกฤษให้คล่อง!!

ผมอยากจะบอกว่า เรื่องนี้มันอยู่ที่ใจครับ คนเป็นจำนวนมากยังไง ๆ ก็ไม่ยอมหัดขับรถ และขับรถไม่เป็น อาจจะเพราะกลัวไปเฉี่ยวไปชน หรือเพราะอะไรก็แล้วแต่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความจริงก็คือว่า ใครก็ตามที่มีความตั้งใจจะขับรถยนต์ให้เป็น เขาก็ต้องขับเป็นจนได้ แม้ว่าบางคนจะขับเป็นช้ากว่าคนอื่น แต่ถ้ารักที่จะขับให้เป็น มันก็ต้องขับเป็นจนได้ และเมื่อขับเป็นแล้วก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขาจะเดินทางได้รวดเร็วและสะดวกมากกว่าการไปให้ถึงโคราชโดยถีบจักรยาน 2 ล้อ

การใช้ดิก อังกฤษ – อังกฤษ ก็เช่นดียวกันครับ ถ้าพยายามฝึกเรื่อยไปจนใช้ได้คล่องแล้ว จะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงให้ก้าวต่อไปในโลกของการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ มากกว่าการใช้ดิก อังฤษ – ไทย ..... หลายเท่า!!

ดิกอังกฤษ – ไทย นั้น แม้จะพยายามทำอย่างสุดฝีมือปานใด หรือปรับปรุงบ่อยเพียงใด ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น หลายสาขาวิชาไม่มีดิกเฉพาะเพราะไม่มีศัพท์ไทย หรือบาลีเทียบ ยิ่งแปลยิ่งไม่รู้เรื่อง และภาษาอังกฤษนั้นมีศัพท์ใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นศัพท์ทั่วไปหรือ technical term เมื่อคนไทยเอาดิกอังกฤษ – อังกฤษ มาแปลและเรียบเรียงเป็นดิก อังกฤษ – ไทย กว่าจะแปล/เรียบเรียงเสร็จ กว่าจะพิมพ์เสร็จ กว่าจะนำออกขาย ศัพท์ที่อยู่ในดิกก็อาจจะเก่าเสียแล้ว ส่วนศัพท์ที่เกิดใหม่ก็ไม่มีอยู่ในนั้น ถ้าใช้ภาษาของอินเทอร์เน็ตก็ต้องพูดว่า ถ้ามี 2 เวอร์ชั่น ดิกอังกฤษ – อังกฤษ จะมีความเป็น ‘real time’ มากกว่าดิกอังกฤษ – ไทย

ถ้าอ่านมาถึงบรรทัดนี้ ท่านใดมีข้อแย้งว่า มันไม่ง่ายที่จะใช้ดิก อังกฤษ – อังกฤษ ให้คล่อง ผมก็ขอบอกว่า ใช่ครับ มันอาจจะไม่ง่าย แต่มันก็ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง มันอยู่ที่ใจครับ การเรียนภาษาอังกฤษก็คงไม่ต่างจากการเรียนอย่างอื่นที่จะเรียนได้ดีแค่ไหนก็สุดแต่ใจจะไขว่คว้า

ในส่วนท้ายของเรื่องที่ผมจะคุยแนะนำในวันนี้ จะเป็นการแนะนำการฝึกใช้ดิก อังกฤษ – อังกฤษ ให้คล่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ข้างบน คือ ภายในสิ้นปี 2010 ท่านจะเปิดดิกอังกฤษ-อังกฤษ มากกว่า อังกฤษ – ไทย และรู้เรื่องด้วย แต่ตอนนี้อนุญาตให้ผมเล่าประสบการณ์ส่วนตัวในการใช้ดิก อังกฤษ – อังกฤษสักนิดนะครับ

ผมเริ่มใช้ดิก อังกฤษ – อังกฤษ ครั้งแรกตอนอยู่ ม.ศ. 4 ที่ต่างจังหวัด เป็นดิก Oxford และก็ใช้ควบกับดิก อังกฤษ – ไทยไปเรื่อย ๆ จนประมาณ ปี 3 ที่เรียนมหาวิทยาลัย จึงสามารถเลิกใช้ดิก อังกฤษ – ไทย(ถ้าจำไม่ผิด) ยกเว้นคำที่เป็นศัพท์ที่ค่อนข้างเจาะจงหรือศัพท์ธรรมดาแต่ต้องหาคำไทยที่เหมาะเจาะมาแปล อย่างนี้ถึงจะเปิดดิก อังกฤษ – ไทย แต่ในช่วง 4 – 5 ปีที่ใช้ดิกอังกฤษ – อังกฤษ นี้ ต้องเรียกว่า “ฝืนใช้” เพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะว่า:

- ประเด็นที่ 1:มันอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องครับ บางทีคำอธิบายยากกว่าคำต้นซะอีก เช่น รู้แล้วว่า dog แปลว่า หมา แต่พออ่านคำนิยามที่เป็นภาษาอังกฤษชักจะไม่ค่อยแน่ใจว่า dog นี่มันแปลว่าหมาหรือแปลว่าอะไรกันแน่ เพราะอ่านแล้วงง และในคำนิยามมีหลายคำที่ไม่เคยเห็น อย่างนี้แหละครับที่ผมบอกว่าต้องฝืน คือต้องฝืนฝึกอ่านไปทั้ง ๆ ที่เข้าใจเบลอ ๆ นี่แหละครับ และต้องเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่า มันเบลออย่างนี้อยู่นานทีเดียวครับ แต่ก็ทนไป โดยไม่ได้มุ่งหวังว่าจะต้องเข้าใจ 100 % ในการอ่านคราวเดียว เมื่ออ่านมากครั้งขึ้น ทั้งคำเดิมและคำใหม่ ก็เข้าใจมากขึ้น ๆ หลายครั้งที่ย้อนกลับไปอ่านคำเดิมและก็งงว่า ทำไมตอนนั้นเราต้องงงด้วย มันก็ตรงไปตรงมาไม่เห็นจะซับซ้อนตรงไหน ผมว่าความรู้สึกที่ผมเจอนี้คงจะเกิดขึ้นกับทุกคนนั่นหละครับ มันมี “3 ง.” ที่ต้องผ่าน คือ “งง – งม – ง่าย “ คือตอนแรก ๆ อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องก็จะงง แต่ถ้าเรายอมงมลึกลงไปจนจับใจความได้ เรื่องที่งงก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย, งง และมา ง่าย โดยไม่ยอม งม น่าจะเป็นไปได้ยากนะครับ นี่ผมพูดถึงคนหัวสมองธรรมดา ๆ อย่างผม

-ประเด็นที่ 2:เมื่อใช้ดิก อังกฤษ – อังกฤษ มันติดความเคยชินที่จะต้องแปลทุกอย่างเป็นภาษาไทยในสมอง ผมอยากจะบอกว่า ไม่ต้องแปลก็ได้ครับ ค่อย ๆ อ่านไปช้า ๆ ถ้าอ่านครั้งที่ 1 ไม่เข้าใจก็อ่านครั้งที่ 2, อ่านครั้งที่ 2 ไม่เข้าใจก็อ่านครั้งที่ 3 ไปเรื่อย ๆ และถ้าสมองเราเข้าใจก็คือเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องแปลความเข้าใจออกเป็นภาษาไทยในสมอง ถ้าเกิดมีความเข้าใจโดยไม่ต้องแปล นี่แสดงว่าเราค่อย ๆ ก้าวขึ้นสูงอีก 1 ระดับแล้ว และเป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ ซึ่งหมายความว่า ถ้าเราฝึกฝนใช้ดิกอังกฤษ – อังกฤษ ไปเรื่อย ๆ และเข้าใจโดยไม่ต้องแปลออกเป็นไทย เมื่อถึงเวลาที่เราต้องพูดภาษาอังกฤษ เราจะสามารถพูดได้ง่ายขึ้น คล่องขึ้น โดยไม่ต้องนึกแปลเป็นไทยก่อนจะพูดออกไป

พัฒนาการที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ ถ้าเราเรียนด้วยความรัก ความชอบ ความใส่ใจ แม้อาจจะยากแต่เราก็จะไม่รู้สึกว่าต้องทน และแม้บางคราวต้องอดทนก็จะไม่รู้สึกอมทุกข์ ต้นทางของความสำเร็จ (อิทธิบาท 4) เริ่มต้นด้วยความรัก (ฉันทะ) ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความขยัน แต่ถ้าเรามีความขยันโดยไม่ค่อยมีความรัก ก็ต้องทำยังไงก็ได้ครับให้รักให้ได้

ผมเห็นคนจำนวนมากที่พยายามจะประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษโดยใช้เพียงอิทธิบาท 3 คือ ขยัน (วิริยะ), ใส่ใจ (จิตตะ), และใคร่ครวญ (วิมังสา) คนที่ใช้แค่อิทธิบาท 3 – มีไม่ครบอิทธิบาท 4 – คือไม่มีความรักหรือฉันทะในการเรียนภาษาอังกฤษ ถ้าสามารถประสบความสำเร็จได้ก็เป็นความสำเร็จที่ทนทุกข์และทุรกันดารครับ อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลยครับ พยายามหาแง่งามที่ทำให้ท่านสามารถรักภาษาอังกฤษได้ ผมเชื่อว่าท่านสามารถหาพบได้แน่ ๆ ถ้าท่านพยายามอีกสักนิดที่จะหามัน

เอาละครับ คราวนี้มาถึงตอนสุดท้ายแล้วที่จะฝึกให้สามารถใช้งานดิกอังกฤษ – อังกฤษ ได้อย่างคล่องแคล่ว ผมขอแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ครับ
1.ตอนที่ท่านนั่งหน้าคอมฯ และต่อเน็ต (online)
2.ตอนที่ท่านนั่งหน้าคอมฯ และไม่ได้ต่อเน็ต (offline)
3.ตอนที่ท่านไม่ได้นั่งอยู่หน้าคอมฯ

* * * * *
1.ตอนที่ท่านนั่งหน้าคอมฯ และต่อเน็ต (online)
มีเว็บดิกอังกฤษ – อังกฤษ อยู่ 2 เว็บ ที่
-เป็นดิกเพื่อการศึกษาภาษาอังกฤษ หรือ learner’s dictionary
-ท่านสามารถคลิกฟังการออกเสียงคำศัพท์ คือเป็น talking dictionary ด้วย
-ทุกคำที่เขาใช้อธิบายคำศัพท์เป็นลิงค์ คือเพียงท่าน คลิก หรือ ดับเบิ้ลคลิก ที่คำนั้น ก็จะมีความหมายปรากฏขึ้นในหน้าต่างใหม่

ที่ 2 เว็บนี้ครับ
-Macmillan
-Wordsmyth

ท่านอาจจะตั้งใจว่า จะใช้เวลาอย่างน้อย 15 นาทีเพื่อฝึกฝนการใช้ดิกอังกฤษ – อังกฤษ ที่ 2 เว็บนี้ โดยพยายามอ่าน เดา ตีความ ทำความเข้าใจไปเรื่อย ๆ ความชำนาญจะค่อย ๆ เกิดขึ้นเองแหละครับ หรือท่านอาจจะอ่านภาษาอังกฤษและฝึกใช้ดิกอังกฤษ – อังกฤษ ประกอบการอ่านก็ดีครับ

ในกรณีที่ท่านต้องการตัวช่วย , 2 เว็บข้างล่างนี้ คือดิก อังกฤษ – ไทย (และ ไทย – อังกฤษ) ที่เป็น talking dict. ด้วย เพื่อความสะดวก ท่านอาจจะเปิด 2 เว็บคู่กัน โดยแบ่งเว็บละครึ่งจอ เมื่อใช้ด้านดิก อังกฤษ – อังกฤษและงง ก็ให้ด้านดิก อังกฤษ – ไทย ช่วยเหลือ
Google
Sanook guru

2.ตอนที่ท่านนั่งหน้าคอมฯ และไม่ได้ต่อเน็ต (offline)
บางท่านที่ใช้วิธีที่ 1คือต่อเน็ต online อาจจะเจอปัญหาเน็ตช้า คลิกแต่ละครั้งต้องรอนานเกินไปกว่าหน้าจะปรากฏ ถ้าเจออย่างนี้ ผมขอแนะนำให้ท่านดาวน์โปรแกรมดิกอังกฤษ – อังกฤษ มาฝึกจะดีกว่า และโปรแกรมที่ผมเห็นว่าดีที่สุดในงานนี้คือ ดิกฟรี WordWeb 6.0 ซึ่งมีชื่อเสียงทั่วโลก พูดง่าย ๆ ก็คือ แม้จะเป็นของฟรีแต่คุณสมบัติก็ไม่แพ้โปรแกรมดิกดัง ๆ เช่น Oxford หรือ Longman แถมยังเป็นโปรแกรมเบา ๆ ใช้งานได้ง่ายกว่าเสียอีก
คลิกเพื่อดาวน์โหลดที่นี่ครับ WordWeb 6.0

เมื่อดาวน์โหลดและติดตั้งแล้ว วิธีใช้งานก็ง่าย ๆ ครับ คือ
-วางเมาส์บนคำศัพท์ และ กด control + คลิกขวา จะใช้กับหน้าเว็บ ที่ท่าน save มาเก็บไว้หรือขณะต่อเน็ต, หรือจะใช้กับเอกสาร Word, Excel, PowerPoint, pdf ได้ทั้งนั้นครับ บางทีแม้แต่ไฟล์รูป เช่น JPEG ยังใช้ได้เลยครับ
-WordWeb เวอร์ชั่นใหม่ 6.0 นี้มีเสียงอ่านที่เป็นเสียงธรรมชาติของมนุษย์ ทั้งสำเนียงอังกฤษ และอเมริกัน ประมาณ 6,000 คำ แต่ถ้าคำใดไม่มีรูปตัวโน้ตให้ท่านคลิกฟังเสียงอ่าน ท่านสามารถคลิกที่ไอคอนรูปลำโพง ด้านบนเยื้องไปทางขวามือเพื่อฟังเสียงเครื่องอ่านได้
-เมื่อท่านกด control + R ก็จะมีศัพท์คำใหม่ random มาให้ท่านฝึกศึกษาทุกครั้ง
-ที่ Menu Bar ท่านสามารถคลิก Options (Font, Preferences) และเลือกตั้งค่าตามที่ต้องการ

เมื่อท่านใช้ดิกอังกฤษ – อังกฤษ WordWeb และต้องการตัวช่วย เชิญดาวน์โหลด ดิก อังกฤษ – ไทย ; ไทย – อังกฤษ ข้างล่างนี้ ไปใช้งานได้เลยครับ
Thai_Dictionary V.3
LEXiTRON

3.ตอนที่ท่านไม่ได้นั่งอยู่หน้าคอมฯ
คราวนี้มาถึงสถานการณ์สุดท้าย คือ ท่านไม่ได้อยู่หน้าคอมฯ ผมขอแนะนำให้ท่านไปซื้อดิก อังกฤษ – อังกฤษ เล่มใดเล่มหนึ่ง (หรือหลายเล่มก็แล้วแต่ท่าน) มาฝึกศึกษา ข้างล่างนี้ครับ ที่ร้านหนังสือใหญ่ ๆ น่าจะมีวางขาย
Oxford
Longman
Cambridge
Cobuild
Webster
Macmillan

และถ้าท่านใดต้องการให้มีตัวช่วยพร้อมในเล่มเดียวกัน ก็อาจจะชอบใจ
Oxford Basic English Dictionary พจนานุกรมเบื้องต้น อังกฤษ-ไทย/ศ.ทักษิณา สวนานนท์ ซึ่งแทรกคำอธิบายศัพท์เป็นภาษาไทยด้วย ดิกทำนองนี้อาจจะมีอีกสัก 2- 3 เล่ม ถ้าผมมีโอกาสไปร้านหนังสือที่วางขาย จะกลับมาเรียนพิ่มเติมครับ

ท่านผู้อ่านครับ คำแนะนำทั้งหมดในวันนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมใช้แล้วได้ผล ผมหวังว่าท่านจะได้รับประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ผมจะรอจนถึงปีหน้าซึ่งเป็นวาระที่ผมจะเขียนเรื่อง New Year's resolution 2011 พอถึงวันนั้น (ถ้ายังมีชีวิตอยู่) ผมอยากจะได้ฟังท่านผู้อ่านเขียนเล่าประสบการณ์บ้างว่า การฝึกใช้ดิก อังกฤษ – อังกฤษ ของท่านในปี 2010 ได้รับผลเป็นประการใดบ้าง

สวัสดีปีใหม่ 2553 ครับ

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

20 ความคิดเห็น:

Ddy กล่าวว่า...

สวัดดีปีใหม่ ครับ
ลุงพิพัฒน์

เพื่อลูกค่ะ กล่าวว่า...

สวัสดีปีใหม่ค่ะคุณพิพัฒน์
ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากๆนะคะ สำหรับคำแนะนำดีดีค่ะ

เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2553 นี้ ขออวยพรให้คุณพิพัฒน์และครอบครัวมีความสุขมากๆ สุขภาพร่างกายแข็งแรง สุขสมหวังทุกประการนะคะ

จะติดตามผลงานของคุณพิพัฒน์ตลอดไปค่ะ

สวัสดีปีเสือค่ะ

ewe กล่าวว่า...

ดิช eng-eng ควรเริ่มที่ อะไรดีครับ
ที่ร้าน ซีเอ็ด มีของ oxford
เห็นมีวางขายหลายขนาดมากเลย เท่าที่จำได้ก็...
pocket
essential(esl)มี ซีดี(ต้องเพิ่ม100+)
Advanced Learner's มีซีดี(ต้องเพิ่ม100+)

จะขอบคุณมากๆครับ ถ้าช่วยตอบ มีงบอยู่ 500 -600ครับ

pipat - blogger กล่าวว่า...

คุณ ewe ครับ
เรื่องนี้ตอบยากครับว่าควรเริ่มที่เล่มไหน ผมอยากให้คุณยืนพลิกดูที่ชั้นหนังสือสักพักใหญ่ ๆ แล้วจึงค่อยตัดสินใจ
-อย่าเลือกเล่มที่ยากเกินไป จนอ่านแล้วท้อ และไม่อยากหยิบอ่าน
-ถ้าตั้งใจจะพกพาด้วย อย่าเลือกเล่มที่ใหญ่หรือหนาเกินไป มันจะทำให้ไม่อยากพก
-ดิกมีไว้ใช้หลายวัตถุประสงค์ เช่น ถาม (คำศัพท์), ทบทวน, ท่อง, (พลิก)ทัวร์ (คำศัพท์) ฯลฯ ให้เลือกดิกเล่มที่เหมาะที่สุดที่ตัวเองจะเปิดใช้บ่อยที่สุด
พิพัฒน์

SeSUnA กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำแนะนำดีๆอยางนี้

สวัสดีปีใหม่นะคะ

ewe กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ สำหรับ คำแนะนำดีๆ (ในการเลือก ดิช )และบทความดีๆ ครับ

รู้สึกมีความหวัง ในการพยายาม เรียนภาษาอังกฤษขึ้นอีกนิดแล้วครับ

สุขสันต์ปีใหม่ล่วงหน้าครับ ขอให้ ไม่มีโรคภัย ไข้เจ็บครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมใช้ Cambridge Advanced Learner's Dictionary แต่เป็นแบบ software ที่ลงใน PC น่ะครับผมว่าอันนี้ดีนะครับ โดยเฉพาะตัวอย่างการนำคำที่เราต้องการความหมายไปใช้ ใน 4shared น่าจะมีนะ ลองดู ถ้าชอบแล้วค่อยไปซื้อแบบ hardcopy เอา จริงๆหลายเล่มที่ดังๆอย่าง longman ก็น่าจะมีแบบที่เป็น software.....นะ ถ้าหาไม่เจอวันหลังจะเอามาโพสใน 4shared ให้

pipat - blogger กล่าวว่า...

จะเป็นประโยชน์มากเลยครับถ้าคุณช่วยหาหรือเอามา post ให้ตอนนี้เลย ว่าแต่ว่าโปรแกรมที่ว่านี้มันขนาดสักกี่ MB ครับ

มีอีกอย่างหนึ่งที่ผมพยายามหา แต่ยังหาไม่พบ คือ text Learner's dictionary ฉบับสมบูรณ์ยี่ห้อต่าง ๆ เช่น Cambradge, Oxford เป็นต้น ที่เป็นไฟล์ pdf ถ้าพอทราบรบกวนแจ้งหน่อยนะครับ

ขอบคุณมากครับ
พิพัฒน์

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

โปรแกรม Cambridge Learner's dictionary ขนาด 600 MB กว่าๆครับ เดี๋ยวผมจะลองแบ่งลง 4sharedให้ เพราะแน่ใจว่า ใน4shared คงไม่มีใช่ไหมครับ? ^ ^
ตอนแรกเพราะผมคิดว่าแผ่นที่แถมมาแบบนี้ คงมีคนเอามาแบ่งให้ใช้กัน อย่างไรก็ตามผมคงต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะ upload ให้ได้เพราะความเร็วเนตที่ใช้ค่อนข้างช้า แต่จะลงให้ชัวร์ครับ
ส่วน text Learner's dictionary ผมยังไม่เคยเห็นเหมือนกัน ถ้าพบจะเอามาฝากนะครับ

ด้วยความยินดีและขอบคุณมากเช่นกันครับ
Dan.

pipat - blogger กล่าวว่า...

คุณ Dan ครับ
Cambridge Dict ขอเวอร์ชั่น 2008 หรือใหม่กว่า ตามลิงค์ข้างล่างนี้นะครับ

http://gigapedia.com/items/151097/cambridge-advanced-learner--039-s-dictionary-cd-rom--3rd-edition---2008-

ถ้าเอาลง 4shared.com ขอให้แตกเป็นไฟล์ย่อย ๆ ขนาดไม่เกินไฟล์ละ 20 MB ได้ไหมครับ จะได้สะดวกต่อคนต่างจังหวัดที่เน็ตช้า

ไม่ต้องรู้สึกผูกมัดนะครับว่าต้องทำให้เสร็จไว ๆ, เสร็จเมื่อไรก็เมื่อนั้นแล้วกันครับ

ขอบคุณมากครับ

พิพัฒน์

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ป.ล. สุดท้ายนี้ผมมีบทวิเคราะเรื่องการเลือกซื้อ Dictionary ของคุณ tansy (iwrite4u) ที่เคยโพสไว้ใน เวปของ Pantip คิดว่าคงเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านทีเดียว
=================================
เดินทางถูกแล้วที่หัดใช้ esl dictionary และ Longman Dictionary of Contemporary English เป็นหนึ่งใน esl dictionaries 4 เล่มที่ดีที่สุด

แต่ที่เดินทางผิดก็คือ หลงผิดคิดว่ากฎ 25 ข้อจะช่วยได้ (เราได้ยินมาในห้องสมุดรวม pantip จนหูชาไปนานแล้ว)ไอ้นั่นมันเป็น advertising gimmick ของโรงเรียน Fast English ดูชื่อโรงเรียนก็รู้แล้ว ทุกอย่างเป็น advertising gimmick หมดเลย เนื่องจากฝ่ายการตลาดตระหนักดีว่า คนไทยชอบคำว่าเรียนไวๆเหมือนชื่อบะหมี่แล้วเก่งเร็ว แบบประมาณว่าเอาตำราภาษาอังกฤษมาเผาไฟ แล้วเอาเถ้าถ่านผสมน้ำผึ้งดื่ม ก็จะเก่งภาษาอังกฤษข้ามวันไปเลย

เว้นเสียแต่ว่า จะหมั่นเปิด esl dictionaries 4 เล่มที่ว่านี้ บ่อยๆ แล้วฝึกจำตัวอย่างการนำคำศัพท์มาใช้รวมกลุ่มกัน (collocations) ที่ทำให้ความหมายของคำศัพท์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือนเพลงกระบี่ที่พริ้วไปจนยากที่จะคาดเดาได้ ดุจดั่งกระแสน้ำที่ไหลต่อเนื่อง (ฮั่นแน่ะ เล่นนิยายกำลังภายในเสียเลย)
คำศัพท์แต่ละคำ มีวิธีการเฉพาะตัวของมัน ในการนำมันไปสร้างประโยคได้อย่างถูกต้อง และนี่คือ grammar ที่คนไทยลืมเรียนกัน เพราะมัวแต่ไปฝันลมๆแล้งๆกับไอ้กฎ 25 ข้อนี่แหละ...เพราะใครๆก็อยากเรียนลัดกันทั้งนั้น ...
เอาแค่ non-finite verbs เนี่ยก็พอแล้ว verbs มีตั้งกี่ตัว ใครๆก็อยากได้สุตรลับว่า อันไหนต้องตามด้วย infinitive อันไหนต้องตามด้วย verb +ing คำตอบก็คือว่า "ไม่มีสูตรลับ" ต้องจำลูกเดียวเขียวลูกพ่อ
เอาแค่เรื่อง collocations กับ non-finite verbs สองเรื่องก็พอที่จะพิสูจน์ได้แล้วว่า ความรู้กฎ 25 ข้อ เป็นวรยุทธ์ที่ต่ำต้อย ผู้รู้กฎ 25 ข้อยังไม่สามารถยืนหยัดและทะยานอยู่ในบู๊ลิ้มได้ดุจดั่งอินทรีที่องอาจ....
เรื่องความยากลำบากในการเรียนภาษาอังกฤษ ที่ทำให้จำเป็นต้องเรียนตามลำดับขั้นตอน ไม่ใช่กระโดนข้ามขั้น ไม่ใช่แบบให้ยอดฝีมือเอาฝ่ามือนาบหลังแล้ววรยุทธ์เพิ่มขึ้นทันทีแบบในนิยายจีน

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อันแรกที่จะกล่าวถึงคือ
Oxford Advanced Learner's Dictionary
http://www.oup.com/elt/catalogue/teachersites/oald7/?cc=th

คนริเริ่มคือ Hornby เขาไปสอนภาษาอังกฤษในญี่ปุ่น และสอนเท่าไหร่คนญี่ปุ่นก็ยังใช้ภาษาอังกฤษผิดๆ เขาจึงรู้ว่า แท้จริงแล้วคำศัพท์ภาษาอังกฤษแต่ละคำ มันมีพฤติกรรมเฉพาะตัวที่ non-native speaker ต้องเรียนรู้
ไปอ่านประวัติของมันได้ที่นี่

http://en.wikipedia.org/wiki/Oxford_Advanced_Learner's_Dictionary
จุดเด่นของ Oxford Advanced Learner's Dictionary ก็คือมันจะมี "สูตร เขียนย่อๆสั้นๆที่บ่งบอก verb forms

เช่น [VN]= verb + noun
[V (that)] = verb + that
[V -ing] = verb +verb-ing
[VN that] = verb +noun + that

ดูคำแปลและตัวอย่างประโยคข้างล่างของคำศัพท์ suggest ให้สังเกตดูดีๆว่า แค่คำศัทพ์ง่ายๆเช่นนี้ non-native speaker ถ้าจำแค่ว่า มันแปลว่าอะไร ถ้าเป็นภาษาจีนหรือภาษาไทย จะเอาไปสร้างประโยคได้ทันที (โดยไม่ต้องเรียนรู้พฤติกรรมของคำศัพท์) แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ หากไม่เรียนรู้พฤติกรรมของคำศัทพ์จะสร้างประโยคที่ผิดธรรมชาติ และนี่คือสิ่งที่ Hornby ค้นพบ จากการสอนภาษาอังกฤษให้ชาวญี่ปุ่น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดูตัวอย่างข้างล่างที่เป็นคำแปลของคำว่า suggest ที่คัดมาให้จาก Oxford Advanced Learner's Dictionary

suggest {speaker} verb
1 ~ sth (to sb) to put forward an idea or a plan for other people to think about
SYN PROPOSE:
[VN] May I suggest a white wine with this dish, Sir? • A solution immediately suggested itself to me (= I immediately thought of a solution). • [V (that)] I suggest (that) we go out to eat. • [V -ing] I suggested going in my car. • [VN that] It has been suggested that bright children take their exams early. • (BrE also) It has been suggested that bright children should take their exams early.
2 ~ sb/sth (for sth) | ~ sb/sth (as sth) to tell sb about a suitable person, thing, method, etc. for a particular job or purpose
SYN RECOMMEND:
[VN] Who would you suggest for the job? • She suggested Paris as a good place for the conference. • Can you suggest a good dictionary?
HELP NOTE You cannot ‘suggest somebody something’: Can you suggest me a good dictionary? [V wh-] Can you suggest how I might contact him?
3 ~ sth (to sb) to put an idea into sb’s mind; to make sb think that sth is true:
[V (that)] All the evidence suggests (that) he stole the money. • [VN] The symptoms suggest a minor heart attack. • What do these results suggest to you? • The stage lighting was used to suggest a beach scene.
4 to state sth indirectly
SYN IMPLY:
[V (that)] Are you suggesting (that) I’m lazy? • I’m not suggesting (that) she was responsible for the accident. • [VN] I would never suggest such a thing.

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ส่วน Cambridge Advanced Learner's Dictionary
http://www.dictionary.cambridge.org/

นั้นมีความโดดเด่นในเรื่องการสรุปตัว IPA (international phonetic alphabet) ตัวออกเสียงภาษาอังกฤษ ได้เป็นระเบียบสวยงามดี และมีคำศัพท์บางคำที่หาไม่เจอใน Oxford Advanced Learner's Dictionary แต่นอกนั้นก็ไม่มีความโดดเด่นมากนัก
ทีแรกเราใช้ Oxford Advanced Learner's Dictionary ในการแปลไทยเป็นอังกฤษ เพราะ (เรายอมรับจริงๆ) ว่าเวลาเราจะเขียนประโยคภาษาอังกฤษบางทีงง จำไม่ได้ว่าคำศัพท์ตัวไหน จะนำไปสร้างประโยคภาษาอังกฤษได้อย่างไร

แต่ต่อมาเราชอบว่า

Longman Dictionary of Contemporary English
http://pewebdic2.cw.idm.fr/

ได้ปรับปรุงรูปแบบไปมากมาย จุดเด่นที่เหนือกว่า Oxford Advanced Learner's Dictionary ก็คือว่าเวลาให้ตัวอย่างประโยคหลัก เขาไม่ย่อแบบ
Oxford Advanced Learner's Dictionary แต่เขาให้เต็มๆมาเลย

เช่น Oxford Advanced Learner's Dictionary
บอกว่า ~ sth (to sb) ซึ่งต้องมานั่งตีความว่าเป็น suggest something (to somebody)

แต่ Longman Dictionary of Contemporary English ให้ไว้ขัดเจนเต็มๆเลยคือ

suggest somebody/something for something

และในช่วงหลังๆ Longman Dictionary of Contemporary English
ปรับปรุงจนมีตัวอย่างประโยคมากมายเหนือชั้นกว่า

แต่ข้อด้อยของ Longman Dictionary of Contemporary English ก็คือว่า
มันไม่มี "สูตร verb forms ย่อๆ" แบบ Oxford Advanced Learner's Dictionary ที่ถ้าใครที่จะเรียนแบบ เจาะลึก ถ้าจำได้หมด จะเก่งมากๆ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ส่วน Collins Cobuilds Advanced Learner's English Dictionary
http://eedic.naver.com/

นั้น มีเสน่ห์ในตัวของมัน นั่นก็คือ วิธีอธิบายคำศัพท์ เขาจะอธิบายเหมือนกับเวลาเราไม่เข้าใจคำศัพท์ตัวไหน แล้วเราไปถาม native speaker แล้ว native speaker จะพยายามพูด ด้วยภาษาพูดง่ายๆ ให้เราเข้าใจ

มันทำให้เรานึกถึงตอนที่เราไปอยู่บ้านบาดหลวงฝรั่งคนหนึ่ง เวลาเราอ่านหนังสือหรือดูทีวี แล้วเจอคำศัพท์ที่เราไม่เข้าใจเราก็ไปถามบาดหลวง แล้วท่านก็อธิบายคำศัพท์ให้เราด้วยประโยคคำพูดง่ายๆ แต่จากนั้นทั่นบาดหลวง (ที่ในอดีตเคยเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียน) ทำเราเวียนหัวเพราะทั่นเล่นอธิบาย etymology (นิรุกติศาสตร์) ของคำศัทพ์ว่ามีต้นกำเนิดมาจากภาษาไหน เราสงสัยว่าทั่นไปจำมาจากไหนกันเยอะแยะไปหมด หลังจากนั้นเรามองๆไปบนชั้นหนังสือของทั่น อ๋อทั่นเล่น OED (Oxford English Dictionary ฉบับเต็มเลย) โหสมัยก่อนมันคงแพงน่าดูเลย สมัยนี้เป็นแผ่น CD (หรือ DVD ไม่แน่ใจ?) มีขายแล้ว ถ้าพิมพ์ออกมา มันจะมีขนาดเท่ากับสมุดโทรศัพท์ประมาณ 23 เล่ม...!!!!

สรุปแล้วตัวเราเอง ไม่ค่อยได้ใช้ Collins Cobuilds Advanced Learner's English Dictionary เนื่องจากว่า "ตัวอย่างประโยคมีน้อยไป" และเราอ่านคำอธิบายศัพท์ ด้วยวิธีการที่ยากๆมากกว่านั้น ได้แล้วจาก dictionaries เล่มอื่นๆ แต่บางทีเราหาศัพท์หรือการใช้งานศัพท์ จากเล่มอื่นไม่เจอ เรานานๆทีก็พึ่ง Collins Cobuilds Advanced Learner's English Dictionary ด้วยเหมือนกัน

แต่ที่เราแนะนำให้คนอื่นใช้นั้น ก็เพราะว่า

คนที่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษใหม่ๆ ที่เพิ่งเริ่มจะหัดพูดได้ และยังไม่เข้าใจประโยคภาษาอังกฤษยากๆ จะอ่านคำอธิบายคำศัพท์ใน Collins Cobuilds Advanced Learner's English Dictionary เข้าใจได้ง่ายที่สุด

และการจำประโยคที่เป็นคำอธิบายเป็นภาษาพูดง่ายๆจาก Collins Cobuilds Advanced Learner's English Dictionary ไปเยอะ จะเป็นพื้นฐานการเรียน grammar โดยวิธีธรรมชาติได้อย่างน่าประหลาด
จะปิดท้ายคำอธิบายโดยการเล่าให้ฟังว่า Oxford Advanced Learner's Dictionary เป็นอัศวินม้าขาว ที่มาช่วย Oxford University Press (คือสำนักพิมพ์) ให้รอดพ้นจากการ "ล้มละลาย" ได้อย่างน่ามหัสจรรย์เพราะยอดขายที่พุ่งกระฉุดของมัน ในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา...!!!

ในการเรียนภาษาอังกฤษนั้น ถ้าจะเรียนเจาะลึก ควรใช้ dictionaries ให้มากเล่มกว่า 4 เล่มนี้ คือเล่มที่จุคำศัพท์มากกว่า และให้ etymology ด้วย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เช่น OED

หรือ

encarta
http://encarta.msn.com/encnet/features/dictionary/dictionaryhome.aspx

หรือพวก online dictionaries หลายๆค่าย ก็ดี เช่น

http://dictionary.reference.com/

หรือ

http://www.onelook.com/

หรือ dictionary ขนาดยักษ์ คือ

http://www.websters-online-dictionary.org/

เมื่อไม่กี่วันนี้มีใครก็ไม่รู้ดันอุตริบอกว่า talking dictionary มีคำศัพท์มากกว่าและละเอียดกว่า online dictionaries เราเลยแปะคำแปลคำว่า matter ที่หามาได้จาก http://www.websters-online-dictionary.org/

ให้เธอดู ผลปรากฎว่า เราต้องซอยคำแปลออกเป็นหลายๆความคิดเห็น (มันเยอะเหลือเกิน) และแปะๆ ไปนะ เราต้องหยุดกลางคัน (ทีแรกกะจะเอาให้หมด) นั่นก็เพราะว่าถ้าเราแปะหมดนะ เราคงต้องใช้เวลานานกว่าหนึ่งชั่วโมง กะอีแค่แปะคำแปล คำว่า matter คำเดียวเท่านั้น


~จบแล้วครับ~

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แหม! ตอบเร็วจริงๆ นะครับ
พอมานั่งดูไอ้เจ้า ปล.ที่ผมโพสไว้มันจะรกเกินไปรึเปล่า 5555+ ถ้าคิดว่ารกก็เอาออกได้เลยนะครับ ส่วน version ของ Cambridge Learner's dictionary ที่ว่าเนี่ยไม่รู้เหมือนกันว่า version ไหนแต่ก็จะเอาลงให้รึว่าคุณพิพัฒน์ มี version ที่เก่ากว่าอยู่แล้ว ??? เดี๋ยวจะเอารูปมาให้ดูนะครับ

Dan.

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เข้าไปที่นี่เลยนะครับสำหรับ Cambridge Learner's dictionary เวอร์ชั่นอาจจะเก่าไปนิดหน่อย (2003) แต่ก็ไม่ได้ด้อยคุณภาพแต่อย่างใด ไฟล์มีทั้งหมด 27 ไฟล์ ขนาดประมาณ 20 MB ตามที่คุณพิพัฒน์ บอกเอาไว้

ขอให้มีความสุขทุกคนนะครับ

แดน


http://www.4shared.com/dir/28429418/7d2c16d8/sharing.html

pipat - blogger กล่าวว่า...

คุณแดนครับ
ขอบคุณมาก ๆ เลยครับ ผมจะเขียนแนะนำในบล็อกเร็ว ๆ นี้
พิพัฒน์