วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552

[1268] ประสบการณ์ของผมในการพูดภาษาอังกฤษ

สวัสดีครับ
เพื่อนหลายคนที่ผมเคยคุยด้วยมีความเห็นตรงกันว่า การจะพูดภาษาอังกฤษได้ ต้องรู้ศัพท์เพียงพอที่จะพูด ถ้ารู้ศัพท์น้อยเกินไปก็ไม่มีเครื่องมือที่จะสื่อข้อความที่ต้องการพูด ศัพท์จึงสำคัญมาก และคนไทยจำนวนมากก็รู้ศัพท์น้อย ซึ่งตามมาด้วยการพูดภาษาอังกฤษได้น้อยหรือพูดแทบจะไม่ออกเอาซะเลย

ข้อสรุปข้างบนนี้ แม้ผมจะไม่เห็นด้วย 100 % เพราะว่าผมเคยเห็นเยอะแยะไปที่เป็นตรงกันข้าม คือ คนที่รู้ศัพท์น้อย-พูดภาษาอังกฤษได้มาก และคนที่รู้ศัพท์มาก-พูดภาษาอังกฤษได้น้อย ทั้งนี้เพราะการจะสื่อความให้คนอื่นรู้เรื่องไม่ได้ขึ้นอยู่กับการรู้ศัพท์เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย เช่น ความสามารถในการเรียงร้อยถ้อยคำและลำดับประเด็นการพูด ไม่ต้องพูดถึงภาษาอังกฤษหรอกครับ แค่ภาษาไทยนี่คนไทยหลายคนก็มีปัญหาในการพูด บางทีฟังอยู่ครึ่งวันยังไม่รู้เลยว่าพี่แกต้องการจะบอกอะไร

แต่ถ้าพูดโดยหลักเกณฑ์ทั่วไป การรู้ศัพท์มากเข้าไว้ก็ย่อมดีกว่ารู้น้อย เหมือนเวลาปรุงอาหารที่มีเครื่องปรุงครบก็ย่อมมีโอกาสปรุงอาหารได้อร่อยกว่าเวลาที่ขาดเครื่องปรุง แต่ถ้าเป็นคนครัวที่ไม่มีฝีมือ ต่อให้มีเครื่องปรุงครบถ้วน ถึงจะปรุงยังไงก็ไม่อร่อยอยู่นั่นเอง คนที่พูดภาษาอังกฤษและรู้ศัพท์เยอะ ถ้ารู้จักเรียงร้อยถ้อยคำและความคิด ก็ย่อมพูดได้ดีเป็นธรรมดา

ปัญหาถัดมาที่อาจจะมีคนถามก็คือ ต้องรู้ศัพท์กี่คำจึงจะพอใช้ คำถามนี้ถามง่ายแต่ตอบยากครับ เพราะมันขึ้นอยู่กับความสามารถของทั้งผู้พูดและผู้ฟัง และเรื่องที่พูด อย่างไรก็ตามก็มีคนเคยรวมรวมไว้เหมือนกันว่า ศัพท์พื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในการสนทนามีอะไรบ้าง ในบล็อกนี้ผมก็เคยนำมาเสนอท่านผู้อ่านแล้ว ที่ลิงค์นี้ครับ
- Basics - 850 Words For Conversational Fluency

แต่ปัญหาที่ผมได้ยินคนบ่น มักจะมี 2 ข้อข้างล่างนี้ คือ1.เมื่อถึงเวลาพูด มักจะนึกศัพท์ได้ไม่ทัน ทั้ง ๆ ที่เป็นศัพท์ง่าย ๆ ครั้นพอได้ยินคนอื่นพูดก็ร้องอ๋อทันที แต่ถ้าให้นึกพูดเองก็นึกไม่ออก
2.หลายครั้งก็นึกคำศัพท์ออก เช่น รู้ว่า สนามบิน คือ airport แต่จะพูดว่า "ผมจะไปรอคุณอยู่ที่สนามบินตรงหน้าเคาน์เตอร์เช็กอินของสายการบินไทยเวลา 4 ทุ่ม" ชักจะนึกไม่ออกว่าควรจะพูดยังไงดี

ปัญหาทั้งข้อ 1 และข้อ 2 นี่นะครับสำหรับคนไทยที่พูดคล่องแล้วเขาจะไม่มีปัญหาเลย เพราะเมื่อเขาจะพูด ภาษาที่ปรากฏในสมองก็คือภาษาอังกฤษ และพูดออกไปเป็นภาษาอังกฤษได้เลย พูดง่าย ๆ ก็คือ ทั้งหมดไม่ต้องมีภาษาไทยเข้ามาเกี่ยวข้องเลย แต่ถ้าคนที่ไม่คล่องขนาดนี้ล่ะครับจะทำยังไง? มีบางครั้งผมเคยได้ยินเขาสอนกันว่า อย่าคิดเป็นภาษาไทย ให้พยายามคิดเป็นภาษาอังกฤษ และพูดเป็นภาษาอังกฤษ ถ้ายังคงคิดเป็นภาษาไทยก็จะพูดได้ไม่ทันกิน! โธ่ ! ก็อยากจะคิดเป็นภาษาอังกฤษอยู่เหมือนกันแหละครับ แต่มันคิดไม่ออก แล้วนี่จะมาห้ามไม่ให้คิดเป็นภาษาไทยอีก มันจะทารุณเกินไปมั้งครับ

ผมขอเอาประสบการณ์ของตัวเองมาแลกเปลี่ยนแล้วกันนะครับ ผิดถูกอย่างไรผู้รู้โปรดชี้แนะด้วย

ผมเคยเขียนไว้ที่ไหนสักแห่งในบล็อกนี้ว่า สมัยก่อนนี้ตอนที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย ผมไม่มีโอกาสได้พูดภาษาอังกฤษ และช่วงหลังเรียนจบอีก 10 ปีซึ่งไปทำงานในต่างจังหวัดก็ไม่เคยพูดภาษาอังกฤษอีกเช่นกัน เพราะไม่รู้จะพูดกับใคร แต่ผมจะขอให้แผงหนังสือพิมพ์เจ้าประจำรับ Bangkok Post หรือ The Nation ให้ผมวันละฉบับทุกวัน และผมก็ได้ฝึกอ่านมาโดยตลอด ถ้าไม่ได้อ่านก็จะเสียดายเพราะเสียเงินซื้อแล้ว (ก็มันแพงกว่าหนังสือพิมพ์ภาษาไทยนี่ครับ และนี่อาจจะเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของการเสียเงิน)

ประเด็นหลักที่ผมต้องการเรียนท่านผู้อ่าน มีอยู่ 2 ประเด็นตรงนี้ครับ
ประเด็นที่ 1:
ในระยะแรก ๆ ที่ยังอ่านอย่างกะเตาะกะแตะ มันก็อดไม่ได้หรอกครับที่จะอ่านไปแปลไปในสมอง แต่เมื่อได้อ่านติดต่อกันหลายปี ปริมาณการแปลเป็นภาษาไทยขณะที่อ่านก็จะน้อยลง ๆ จนในระยะหลัง ๆ ผมก็จะอ่านเป็นภาษาอังกฤษและเข้าใจไปเลย เข้าใจก็คือเข้าใจ ไม่ต้องแปลเป็นภาษาไทยก็เข้าใจได้ การที่อ่านและเข้าใจไปเลยเป็นภาษาอังกฤษนี้ ทำให้อ่านได้เร็ว แต่นี่หมายความว่า ผมจะทำอย่างนี้ได้ก็ต่อเมื่อมันไม่ยากกว่าระดับหนังสือพิมพ์ ถ้าผมต้องไปอ่านตำราที่ยาก ๆ มันก็จะชะงักและไปไม่ได้เร็ว และ... ต้องคิดเป็นภาษาไทย สรุปง่าย ๆ ตอนนี้ก็คือ ถ้ามันไม่ยากเกินไป เราก็จะสามารถอ่านและเข้าใจไปเลยโดยไม่ต้องแปลเป็นภาษาไทย แต่กว่าจะผ่านจากขั้นอ่านไปแปลไป มาสู่ขั้นอ่านและเข้าใจโดยไม่ต้องแปล ก็ต้องอาศัยความอดทนต่อเนื่องมาหลายปีทีเดียวครับ ไม่ใช่เดี๋ยวเดียวก็ทำได้

ประเด็นที่ 2: ครั้นผมได้ย้ายเข้ามาในกรุงเทพ และต้องทำงานที่ต้องพูดภาษาอังกฤษ มันไม่ต่างกันเลยครับกับประสบการณ์การอ่านที่ผมเล่าให้ท่านฟังข้างบนนี้ คือ ในระยะแรก ๆ ผมไม่สามารถพูดออกไปได้ทันทีอย่างอัตโนมัติเป็นภาษาอังกฤษ หลายครั้งที่ต้องทบทวนหลายเที่ยวเป็นภาษาไทยก่อนว่าประโยคอย่างนี้ ๆ ควรจะแต่งเป็นภาษาอังกฤษว่ายังไง ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะพูดเป็นภาษาอังกฤษได้โดยไม่ต้องคิดเป็นภาษาไทยก่อน

และเรื่องที่ผมขอเน้นก็คือ ประสบการณ์การฝึกฝนการอ่าน ที่ทำให้ผมอ่านภาษาอังกฤษและเข้าใจไปเลยโดยไม่ต้องคิดผ่านภาษาไทย มันเป็นพื้นฐานอย่างดีที่ช่วยให้ผมพูดภาษาอังกฤษได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องคิดผ่านภาษาไทยก็พูดออกไปได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะที่ฝึกพูดผมจึงมีปัญหาแค่ 2 อย่าง คือ 1.ปรับปากให้เปล่งเสียง และ 2.ปรับหูให้ฟังสำเนียง ส่วนการปรับสมองให้เข้าใจเรื่องราวนั้นไม่ค่อยเป็นปัญหานัก เพราะได้ฝึกมาพอสมควรแล้วจากการอ่านภาษาอังกฤษมาหลายปี

นี่แหละครับ เมื่อผมคุยกับท่านผู้อ่านในบล็อกนี้ ผมจึงมักจะย้ำว่า การอ่านเป็นพื้นฐานที่มีประโยชน์มากสำหรับท่านที่ต้องการฝึกพูดภาษาอังกฤษ

แต่... จริง ๆ แล้วท่านก็ไม่จำเป็นต้องฝึกเหมือนผม หลายท่านอาจจะถนัดที่จะฝึกฟังมากกว่า และเมื่อฝึกฟังมาก ๆ ท่านก็จะได้รับทักษะในลักษณะเดียวกันคือ ฟังภาษาอังกฤษและเข้าใจไปเลย โดยไม่ต้องแปลเป็นภาษาไทยขณะที่ฟัง สรุปสั้น ๆ อีกครั้งก็คือ การฝึกฟังมาก ๆ และอ่านมาก ๆ และเข้าใจไปเลย จะช่วยให้เราสามารถพูดออกไปเลยเป็นภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องคิดเป็นภาษาไทยก่อน

หลายท่านที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้อาจจะรู้สึกว่า เส้นทางมันช่างยาวไกลเสียจริง ๆ และอาจจะรู้สึกท้อแท้ ขอเรียนว่า ขอให้แค่ท้อแท้เถอะครับ แต่อย่าท้อถอย ความสำเร็จนั้นจะเป็นรางวัลที่บำเรอให้แก่คนใจเด็ดเท่านั้น หลายคนในโลกนี้ต้องการความสำเร็จโดยไม่ต้องพยายาม และเมื่อไม่ได้ดังใจก็บ่นว่าโลกใจร้าย มันจะเป็นไปได้อย่างไรครับ ถ้าฟ้าดินทำให้คนที่ขยันและเกียจคร้านประสบความสำเร็จเท่าเทียมกัน ในโลกนี้ก็คงไม่มีใครอยากจะขยันหรอกครับ คงจะมีแต่คนเกียจคร้านเต็มไปทั้งโลก และโลกก็คงจะล่มสลายในเวลาอันรวดเร็ว

พอมาถึงบรรทัดนี้ ผมก็นึกถึงเพลง You are my sunshine ที่ผมเพิ่งฟังจบก่อนที่มานั่งคุยกับท่านผู้อ่าน ผมชอบตรง chorus ที่เขาบอกว่า
So let the sun shine in
Face it with a grin
Smilers never loose
And Frowners never win
So let the sun shine in
Face it with a grin
Open up your heart
and let the sun shine in
ผมว่าพวกเราที่ฝึกพูดภาษาอังกฤษ คงต้องเป็น We are our own sunshine คือเป็นแสงตะวีนให้แก่ตัวเอง ลองฟังดูซีครับ เพราะมาก คลิก

ขอย้อนกลับไปยังเรื่องที่คุยตั้งแต่ตอนต้น ผมว่าในระยะแรก ๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ ที่เราจะขจัดการคิดเป็นภาษาไทยออกไปโดยสิ้นเชิง มันก็ต้องฝึกควบกันไปนั่นแหละครับ และเมื่อเราชำนาญมากขึ้น เราก็จะสามารถมากขึ้นในการฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องผ่านภาษาไทย

มีเทคนิคอยู่อย่างหนึ่งที่ผมใช้ฝึกตัวเองเกี่ยวกับศัพท์และได้ผลดี คือ1.ผมเห็นว่า ศัพท์ที่เราต้องใช้สนทนาขั้นพื้นฐานนี่นะครับ มันก็มีไม่มากนักหรอก ถ้าเราพยายามเรียนรู้และจดจำศัพท์พวกนี้ให้ได้ไว้ก่อน ก็น่าจะช่วยย่นเวลาในการฝึกพูดภาษาอังกฤษ คือเราฝึกจำศัพท์ที่จำเป็นมากซะก่อน ส่วนศัพท์ที่จำเป็นน้อยเราค่อยไปฝึกเอาทีหลัง คำว่าจำเป็นในที่นี้คือจำเป็นในการพูดนะครับ

2.และการทบทวนศัพท์นี้ มันก็น่าจะทบทวนให้เหมือนกับที่เรากำลังจะพูด คือคนไม่คล่องอย่างเรา พอจะพูดเราก็จะนึกถึงศัพท์ภาษาไทยก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าเรามี list คำศัพท์ที่เป็น ไทย – อังกฤษ, เราก็ฝึกท่องและทบทวนโดยการเปิดภาษาไทยและปิดภาษาอังกฤษ เมื่อเห็นศัพท์ไทยก็ให้นึกภึงศัพท์ภาษาอังกฤษ ลักษณะเดียวกับที่เราต้องนึกเวลาจะเอ่ยปากจริง ๆ และถ้าได้ฝึกเปล่งเสียงออกมาด้วยก็ยิ่งวิเศษ เมื่อฝึกอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะเคยชินที่จะคิดและพูดเป็นภาษาอังกฤษ

และขอเรียนว่า ท่านไม่ต้องกังวลหรอกครับว่า จะยึดติดและต้องคิดเป็นภาษาไทยไปด้วยทุกครั้งที่พูด คือเมื่อเราเริ่มพูดได้แล้ว เราก็จะทิ้งภาษาไทยไปโดยอัตโนมัติทีละน้อย ๆ จนวันหนึ่ง เราก็จะพูดภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องคิดถึงภาษาไทย

ลิงค์ต่าง ๆ ข้างล่างนี้ ผมเชื่อว่า จะเป็นเครื่องมือที่ดีพอสมควร ซึ่งจะช่วยให้ท่านพัฒนาคำศัพท์ ไทย – อังกฤษ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการฝึกพูดภาษาอังกฤษของท่าน
http://www.sealang.net/thai/vocabulary/
ที่คอลัมน์ซ้ายมือใต้หัวข้อ Words and glosses จะมีศัพท์อยู่ 4 หมวด ให้ท่านฝึก คือ
Thai AWl
AUA Reader
BYKI
SEAlang
ขออวยพรให้ทุกท่านประสบความสำเร็จจากความพยายามที่มั่นคงครับ

พิพัฒน์
e4thai@live.com

1 ความคิดเห็น:

Naree กล่าวว่า...

I agree with you that the song is very good .