วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2552

[1018] การฉีดยาป้องกันโรคขี้ลืมศัพท์

สวัสดีครับ
ทุกทักษะของภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นการฟัง – การพูด – การอ่าน – การเขียน ถ้าฝึกฝนอย่างต่อเนื่องก็จะช่วยเพิ่มคำศัพท์ทั้งนั้น นี่คือการ train ตัวเอง

แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรจะตามด้วยการ test, ทำไมการ test คำศัพท์จึงช่วยเพิ่มคำศัพท์, ก็เพราะว่าเมื่อเรา test ตัวเองอยู่เรื่อย ๆ คำศัพท์ที่เราใส่เข้าไปในสมองโดยการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน นั้น อาจจะมีหลายคำที่เราไม่ได้เจอบ่อยๆ ศัพท์เหล่านั้นก็อาจจะลืมไป - หลับไป พอมาเจออีกครั้งอาจจะจะหลงว่าเพิ่งเจอ ทั้ง ๆ ที่ก็เคยเจอมาแล้ว แต่มันลืมไปแล้ว แต่ถ้าเราได้ศัพท์ใหม่และจดลงสมุดคำศัพท์ส่วนตัว ถ้าเราหยิบขึ้นมาทบทวนโดยการ test ตัวเองสัก 2 – 3 เที่ยว อาจจะจำได้ไม่ลืมเลย

วิธีการทบทวนหรือ test นี้ อาจจะใช้วิธีง่าย ๆ คือตีเส้นบรรทัดแบ่งหน้าสมุดเป็นซ้าย – ขวา ด้านซ้ายเป็นคำศัพท์ (word) ด้านขวาเป็นความหมาย (meaning) ในด้านขวาที่เป็นความหมายนี้ อาจจะเขียนเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็เชิญตามถนัด เมื่อถึงเวลาทบทวน ก็ใช้กระดาษแข็งแผ่นเล็ก ๆ ผิดด้านใดด้านหนึ่ง คือ
วิธีที่ 1: เปิดด้านซ้ายให้เห็นคำศัพท์ ปิดด้านความหมายไว้ แล้วพยายามนึกทบทวนในใจว่ามันหมายความว่าอย่างไร แล้วก็เลื่อนกระดาษแข็งเปิดเช็คดูความหมายทีละคำ อย่างนี้เรียกว่า หาความหมายจากคำศัพท์ หรือ meaning by word,
วิธีที่ 2: แล้วก็สลับด้านบ้าง โดยเปิดด้านขวาให้เห็นความหมายและปิดด้านซ้ายที่เป็นคำศัพท์ แล้วพยายามนึกทบทวนในใจว่าความหมายเช่นนี้คำศัพท์มันคืออะไร แล้วก็เลื่อนกระดาษแข็งเปิดเช็คดูทีละคำ อย่างนี้เรียกว่า หาคำศัพท์จากความหมาย หรือ word by meaning, ขอแนะว่า ในด้านขวาที่ท่านเขียนความหมายลงไปนี้ ถ้าท่านเติมประโยคตัวอย่างลงไป ขอให้แหว่งตรงที่เป็นคำศัพท์ไว้ (เช่น ในช่องซ้ายมีคำว่า fruit, ในช่องขวาเขียนว่า ผลไม้ Ex: Oranges, apples, pears and bananas are all types of - - - - -.

ถ้าท่านสงสัยว่า จะไปหาประโยคตัวอย่างจากที่ไหน คลิกที่นี่ครับ - - learner's dictionary ของ Webster- - MSN Encarta -- Oxford - - Longman - - Cambridge-Cobuild - - Newburry House

หลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับวิธีทบทวนศัพท์วิธีแรกเท่านั้น คือเห็นศัพท์แล้วนึกถึงความหมาย (meaning by word) ซึ่งจะทำให้เราจำศัพท์ได้เยอะ เวลาอ่านหรือฟังก็มักจะไม่ติดขัดเรื่องศัพท์ แต่ผมอยากจะขอแนะว่า ท่านน่าจะทบทวนศัพท์โดยวิธีที่ 2 บ้าง คือดูความหมายแล้วนึกถึงศัพท์ (word by meaning) วิธีนี้จะช่วยท่านได้มากเมื่อเวลาที่ท่านต้องพูดหรือเขียน เพราะอะไร? ก็เพราะขณะที่ท่านกำลังจะเอ่ยปากพูดนี้ มันจะเป็น step อย่างนี้โดยท่านอาจจะไม่รู้ตัว คือ
Step ที่ 1: ความหมายที่จะต้องสื่อสารมันผุดขึ้นมาในสมอง
Step ที่ 2: ท่านพยายามนึกถึงคำศัพท์ที่จะสื่อสารตามที่ท่านต้องการ แล้วท่านก็พูดออกไป (ถ้าท่านนึกออก)

ถ้าเราฝึกด้วยการเห็นความหมายก่อน และตามมาด้วยการนึกถึงคำศัพท์ มันจะเหมือนเป็นการซ้อมพูดในสมองอยู่เรื่อย ๆ ถึงเวลาต้องพูดจริงก็จะไม่ติดขัดมากนัก

เพราะฉะนั้นเมื่อจะทบทวนศัพท์ก็ควรจะทบทวนทั้ง 2 วิธี คือ ทวนจากคำศัพท์ไปหาความหมาย จะช่วยเมื่อเราต้องอ่านหรือฟัง และ ทวนจากความหมายไปหาคำศัพท์จะช่วยเมื่อเราต้องพูดหรือเขียน

ในระยะแรก ๆ ที่เราได้ศัพท์ใหม่ ถ้าเราทบทวนสัก 2 – 3 ครั้ง (หรือ 4 – 5 ครั้ง) ในช่วงที่ไม่ห่างกันมากนัก หลังจากนั้นเราอาจจะจำได้เลยโดยไม่ต้องมาทวนอีก ซึ่งมันเข้ากับทฤษฎีการฉีดยาป้องกันบาดทะยัก มันยังไงล่ะครับ?

ผมนึกถึงที่ตัวเองชอบซนสมัยเด็ก ชอบไปเดินในที่ ๆ ไม่ควรไปเดินและก็เดินอย่างไม่ระวังด้วย และบ่อย ๆ ที่ถูกตะปูตำ และไม่ว่าตะปูจะเป็นสนิมหรือไม่เป็น ผมและแม่ก็กลัวว่าจะเป็นบาดทะยักจึงต้องไปหาหมอฉีดยา ถ้าจำไม่ผิดหมอจะบอกว่าการฉีดยากันบาดทะยักต้องฉีด 3 เข็ม คือ ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 3 เดือน และฉีดเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่สอง 6 เดือน ถ้าฉีดครบ 3 เข็มอย่างนี้จะป้องกันบาดทะยักได้ 10 ปี, ในช่วง 10 ปีนี้ต่อให้โดนตะปูตำเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่ต้องกลัวเป็นบาดทะยัก (ตัวเลขพวกนี้อย่าเพิ่งเชื่อนะครับ แต่ก็เลา ๆ ทำนองนี้แหละครับ)

ทฤษฎีการฉีดยาป้องกันโรคขี้ลืมศัพท์ของผมก็ไม่ต่างจากทฤษฎีการฉีดยากระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยัก ก็คือว่า เมื่อเราได้รับคำศัพท์เข้าไปในสมอง และเราทิ้งระยะห่างไม่นานนัก ในระยะแรก ๆ คอยกระตุ้นความจำโดยการทบทวนหรือ test ตัวเองอยู่เรื่อย ๆ จนศัพท์คำนั้นเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันโรคขี้ลืมตัวมันเอง ต่อจากนี้ก็จะยากล่ะครับที่จะลืม แต่ระยะแรกนี้สำคัญอยู่ที่เราต้องกระตุ้นมันบ่อย ๆ

แต่แน่นอนละครับ การฟัง-พูด-อ่าน-เขียน เพื่อเปิดทางให้ศัพท์ไหลเข้ามาเก็บในสมองเราเรื่อย ๆ เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำ แต่สิ่งที่สองที่ไม่ควรละเลยก็คือการกระตุ้นให้ศัพท์นั้นแข็งแรงไม่ตายง่าย ๆ

ที่เขียนเล่ามานี้คือประสบการณ์ส่วนตัวครับ อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับบางท่าน

และข้างล่างนี้ คือ แบบฝึกหัดกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคขี้ลืมศัพท์ ซึ่งมีทั้งแบบ meaning by word และ word by meaning ดังที่กล่าวข้างบน
[1] http://search.4shared.com/q/1/VocabTest_ThaiallCom
[2] TOEIC
[3] TOEFL
[4] tests 1 (meanings by word)
[5] tests 2 (3420 words by meaning)

ขออวยพรให้ทุกท่านจำคำศัพท์ได้เยอะ ๆ และสามารถนึกคำศัพท์ได้ทันอกทันใจเมื่อเวลาที่ต้องพูด ท่านทำได้แน่ ๆ ครับ ผมเชื่อ!

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เหมือนที่อาจารยบอกเลยคะ ส่วนใหญ่ก็จะทำแต่วิธีแรก
ตอนนี้เดี๋ยวจะหันมาลองทำตามวิธีที่สองบ้างค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมอยากเรียนภาษาอังกฤษมากครับ แต่ผมไม่รู้เรื่องเลย
ผมถึงจะทำยังงัยครับ จึงจะได้เรียนเก่งครับ โปรดแนะนำด้วยนะครับ

neung กล่าวว่า...

ขอบคุณมากนะค่ะอาจาร์ยได้ความรู้มากเลยค่ะ