วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2552

[1024] ดาวน์โหลดดิกชันนารีอุปมาอุปมัย (metaphor)

สวัสดีครับ
ตอนผมอ่าน “ข่าว” ผมไม่ค่อยเจอการเขียนเชิงอุปมาอุปมัยมากนัก แต่ถ้าอ่านบทความก็จะเจอมากกว่า เหตุผลก็คงง่าย ๆ ว่า ข่าวคือการรายงานข้อเท็จจริงเฉย ๆ ไม่เอาอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เขียนให้ง่ายที่สุดเพื่อให้คนอ่านเข้าใจได้รวดเร็วที่สุด ผมเคยอ่านพบว่า คำว่า news หรือข่าวนี้ แปลง่าย ๆ ก็คือ เมื่อเกิดอะไรในทิศใดก็ตามนักข่าวก็จะเก็บมารายงาน n = north, e = east, w = west และ s = south

แต่เมื่ออ่านบทความหรือนิยาย ก็พบว่าสไตล์การเขียนจะต่างกันไป เพราะบทความและนิยายไม่ได้ต้องการเสนอข้อเท็จจริงเฉย ๆ แต่ต้องการเขียนให้คนอ่านมีความรู้สึกนึกคิดคล้อยตาม ฉะนั้นผู้เขียนจึงต้องใช้สำนวนภาษาที่สามารถทำให้ผู้อ่านเห็นด้วย หรือมีอารมณ์ร่วม และสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนนำมาใช้ก็คืออุปมาอุปมัย หรือ metaphor

สำหรับทุกท่านรวมทั้งผมด้วยที่เป็นนักศึกษาภาษาอังกฤษ การเรียนรู้ภาษาอุปมาอุปมัย ลำดับแรกก็คงเพื่อจะได้เข้าใจเวลาอ่านหรือฟัง แต่เมื่ออินทรีย์แก่กล้ามากขึ้นก็คงจะสามารถพูดหรือเขียนโดยใช้อุปมานั้นด้วยตัวเอง ซึ่งก็จะช่วยให้การสื่อสารของเรามีรสชาติสีสัน หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผมสังเกตตัวเองว่ามักไม่ได้ตั้งใจจดจำคำอุปมาอุปมัยภาษาอังกฤษอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่มันจำได้ไปเองทีละคำสองคำตามที่ผ่านพบ จึงจำไมได้มากนัก ถ้าไปสอบก็คงจะสอบตก
วันนี้บังเอิญผมได้ไฟล์ดิกชันนารีคำอุปมาเล่มหนึ่ง เล่มที่มีขายคือเล่มนี้
Renton's Metaphors: A Dictionary of 4,000 Picturesque Idiomatic Expressions, 3rd Edition
แต่ผมไปได้เล่มเก่า คือ
Metaphorically speaking : a dictionary of 3,800 picturesque
idiomatic expressions / N.E. Renton.

ซึ่งก็น่าสนใจครับ หนังสือเล่มนี้มี 2 Part ดังนี้

PART 1
1: INTRODUCTION
2: SOURCES OF METAPHORS
3: THE METAPHOR IN DAILY USE
4: METAPHORS IN VARIOUS CATEGORIES
5: METAPHORS EXPRESSING IDEAS IN CERTAIN
SUBJECT AREAS
6: SELECTED CASE STUDIES
7: SOME GRAMMATICAL ASPECTS

PART 2 มี 3 บท ซึ่งคือส่วนที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้
8: DICTIONARY
Metaphors Arranged Alphabetically by Keyword
9: THEMATIC SECTION
Metaphors in Various Categories
10: THESAURUS
Metaphors Expressing Ideas in Certain Subject Areas

ผมเคยแนะนำไว้ในบล็อกนี้ว่า ไม่ควรพยายามจำศัพท์โดยการอ่านหรือท่องดิก เพราะเป็นวิธีที่ดิบเกินไปและไม่ได้ผล ได้หน้าก็ลืมหลัง แต่ดิกชันนารีคำอุปมาที่ผมแนะนำให้ท่านดาวน์โหลดในวันนี้เป็นข้อยกเว้นครับ

ผมอยากให้ท่านลองศึกษาโดยใช้วิธีนี้
1. ถ้าเป็นอุปมาที่ท่านเคยผ่านหู(ฟัง)ผ่านตา(อ่าน)มาบ้าง (ในดิกจะพิมพ์โดยใช้ตัวเอน) เมื่อท่านอ่านตัวเอนจบแล้ว ลองนึกทบทวนดูว่า ท่านยังจำได้ไหมว่าอุปมานี้หมายถึงอะไร แล้วจึงค่อยอ่านความหมายที่พิมพ์ถัดไปด้วย font ตัวตรงธรรมดา อย่างนี้เป็นการรื้อฟื้นความจำเก่า ๆ และตอกหมุดลงสมองให้จำได้มั่น ๆ

2. ถ้าเป็นอุปมาที่ท่านไม่เคยผ่านหูผ่านตามาเลย เมื่ออ่านคำอุปมาที่พิมพ์ด้วยตัวเอนจบแล้ว ให้ท่านลอง “เดา” ว่า อุปมานี้น่าจะแปลว่าอะไร เรื่องของเรื่องก็คือว่า บางอุปมาเราสามารถเดาได้จากถ้อยคำนั้น เช่น คำอุปมา “to be a big fish in a little pond” (เป็นปลาใหญ่ในสระเล็ก) เมื่ออ่านแล้วก็น่าจะพอเดาได้ว่าเปรียบเทียบถึงอะไร และเมื่ออ่านคำแปลก็น่าจะไม่ผิดจากที่เดาไว้นัก คือ “to be a person holding an important office but in an unimportant organization” แต่บางอุปมาก็อาจจะเดายากหน่อย เช่น “to play by the book” ซึ่งแปลว่า “to apply the rules strictly” หรือ “ บังคบใช้กฎเกณฑ์อย่างเข้มงวด” แต่เรื่องที่ผมขอเรียนเป็นพิเศษก็คือ มีสำนวนเป็นจำนวนมากที่เดาได้ไม่ยากเลย หรือถ้าไม่ใช่ก็ใกล้เคียง และลองท่านได้ออกแรงเดา – และดูเฉลยแล้วพบว่าเดาถูกต้อง ก็จะช่วยให้จำได้อย่างง่ายดาย ท่านลองคลิกไปคลิกมาเล่น ๆ ไม่นานนักท่านจะแปลกใจตัวเองว่า ท่านเดาได้เก่งขึ้นและจำได้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว การจำได้เช่นนี้มาจากการฝึกเดาบ่อย ๆ ผมอยากจะบอกว่าการรู้ศัพท์และจำศัพท์ได้โดยการเดา เป็นสิ่งที่คนไทยถูกสอนน้อยเกินไป และฝึกตัวเองน้อยเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก หรือจะเป็นเพราะว่า เรากลัวผิดมากเกินไปเลยไม่กล้าเดา

เอาละครับ เชิญดาวน์โหลดไปศึกษาได้เลยครับ
คลิกดาวน์โหลดสารบัญ
คลิกดาวน์โหลดดิกชันนารี

เมื่อดาวน์โหลดเสร็จและเปิดไฟล์ด้วยโปรแกรม PDF เวลาใช้งานให้ทำอย่างนี้ครับ
1. ถ้าต้องการดูคำอุปมาเป็นหมวด ๆ – ที่ด้านซ้ายมือของหน้า (Bookmarks) ให้คลิกเครื่องหมาย + หน้าหมายเลขแต่ละบท (คลิกไปเรื่อย ๆ ) จะเห็นหัวข้อย่อยหรือศัพท์ย่อย ต้องการอ่านตรงไหนก็คลิกที่บรรทัดย่อยนั้น

2. ถ้าต้องการค้นหาศัพท์เป็นคำ ๆ ให้ทำอย่างนี้
- พิมพ์คำค้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ เช่น DOG, MUSIC, ฯลฯ ลงไปในช่อง Search ของไฟล์ PDF
- คลิกที่เครื่องหมายสามเหลี่ยมหัวชี้ลง และติ๊กให้มีเครื่องหมายถูก [ / ] หน้าคำว่า Case-Sensitive
- Enter หรือคลิกเครื่องหมาย >

ขอฝากอุปมานี้ก่อนจบครับ
to have one's heart set on something
= to be very keen to achieve something

ซึ่งเจ้า something นี้ ในที่นี้ ก็คือการฝึกทักษะภาษาอังกฤษ นั่นแหละครับ

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: