วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

[1444] คิดและงงเป็นภ.อังกฤษ ดีกว่าเข้าใจเป็นภ.ไทย

สวัสดีครับ
บล็อกนี้เป็นบล็อกเรียนภาษาอังกฤษ โดยผมได้รวบรวมสื่อการเรียนภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาไทยไว้ที่นี่
-ด/ล ตำราภาษาไทย สอน ภ.อังกฤษ 60 เล่ม
- รวมเว็บไทย สอนภาษาอังกฤษ
- เว็บไทยสอนอังกฤษ นร./นศ.ไทย

แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว สื่อที่นำมาเสนอที่เป็นภาษาอังกฤษมีมากกว่าที่เป็นภาษาไทยหลายเท่า สื่อเหล่านี้ที่จัดทำโดยฝรั่งนักวิชาการภาษาอังกฤษ มักเป็นสื่อที่มีคุณภาพดีกว่าสื่อการเรียนภาษาอังกฤษที่คนไทยเขียน

อย่างไรก็ตาม บางท่านอาจจะบอกว่า ให้คนชาติเดียวกันเขียนตำราอาจจะดีกว่าก็ได้ เช่น English grammar ที่คนไทยเขียนอาจจะอธิบายให้คนไทยเข้าใจได้ง่ายกว่า เพราะคนไทยรู้นิสัยหรือแง่มุมการมองของคนไทย จึงจับจุดที่คนไทยมักจะงงและเขียนขยายหรือเน้นให้คนไทยเข้าใจได้ง่าย ๆ หรือในทำนองดียวกัน ตำรา Thai grammar ที่ฝรั่งที่มาอยู่เมืองไทยนาน ๆ เขียนขึ้นเพื่อให้ฝรั่งที่ต้องการศึกษาภาษาไทยได้ศึกษา ฝรั่งที่เรียนก็อาจจะเข้าใจได้ง่าย เพราะเขาเป็นฝรั่งด้วยกัน จึงเขียนอย่างคนรู้ใจกัน

ถ้าถามว่าคำอธิบายอย่างข้างบนนี้ถูกหรือผิด คำตอบของผมคือ ถูกแต่ไม่ถูก ! หมายความว่าอย่างไร ?
ก็หมายความว่า เมื่อเราเรียนภาษาอังกฤษจากสื่อภาษาไทย ซึ่ง
-อธิบาย English Grammar เป็นภาษาไทย – คนเรียนก็เข้าใจ
-สอน reading โดยการแปลให้ฟัง หรือแปลให้อ่าน – คนเรียนก็เข้าใจ

คนไทยหลายคนที่เรียนภาษาอังกฤษอย่างข้างบนนี้ก็เข้าใจ และพอใจ นี่คือสิ่งที่ผมบอกว่า “ถูก” แต่ที่ผมบอกว่า “ไม่ถูก” ก็เพราะว่า การเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ผลนั้นจะต้องมี 2 ส่วน คือ
1.เข้าใจ คือ อ่านเข้าใจ และฟังเข้าใจ
และ 2.ใช้เป็น คือ พูดเป็น และเขียนเป็น

ข้อจำกัดของการเรียนภาษาอังกฤษกับสื่อการเรียนที่เป็นภาษาไทยก็คือ สื่อภาษาไทยอธิบายเนื้อหาภาษาอังกฤษด้วยภาษาไทย จึงทำให้ผู้เรียนหยุดอยู่เพียงแค่ความเข้าใจ พอสงสัยอะไรขึ้นมา ก็เข้าไปหาอ่านคำอธิบายที่เป็นภาษาไทย ถ้าเรียนอย่างนี้ไปนาน ๆ จะเกิดผลเสียที่หลายคนไม่รู้สึก คือ เราไม่ได้ฝึกคิดเป็นภาษาไทย ทำให้เราพูดและเขียนเป็นภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้

พูดง่าย ๆ ณ บรรทัดนี้ก็คือ ถ้าเราต้องการ “ใช้เป็น” คือ สามารถพูดและเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เราควรจะฝึกกับสื่อที่เป็นภาษาอังกฤษ ถ้าสื่อนั้นยาก เราก็หาสื่อที่มันง่ายขึ้น หรือใช้สื่อที่ยากและง่ายสลับกันไป เมื่อเราอ่าน – ฟัง – ทำแบบฝึกหัดกับสื่อที่เป็นภาษาอังกฤษล้วน ๆ พวกนี้ แม้เราอาจจะเข้าใจไม่ได้ครบ 100 % แต่สิ่งที่เราจะได้โดยไม่รู้ตัวก็คือ เราได้คิดเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อได้คิดก็จะคิดได้... พูดได้... เขียนได้ ทีละน้อย โดยไม่รู้ตัว

การงงเป็นภาษาอังกฤษ อาจจะดีกว่าการเข้าใจเป็นภาษาไทย เพราะการงงเป็นภาษาอังกฤษ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้ฝึกคิดเป็นภาษาอังกฤษ เพราะภาษาอังกฤษที่เราฝึกอ่าน-ฝึกฟัง มันวิ่งไปวิ่งมาอยู่ในสมอง

แต่การเข้าใจเป็นภาษาไทย ยังไงยังไงมันก็เป็นภาษาไทยอยู่นั่นเอง มันเป็นความเข้าใจที่ใช้ไม่เป็น เพราะเราไม่ค่อยได้ฝึก: อ่านภาษาอังกฤษล้วน ๆ, ฟังภาษาอังกฤษล้วน ๆ, พูดภาษาอังกฤษล้วน ๆ, เขียนภาษาอังกฤษล้วน ๆ; เราชอบมี “ตัวช่วย” เป็นภาษาไทย

ในบล็อกนี้ ผมได้นำสื่อการเรียนภาษาอังกฤษมากมายมาให้ท่านดาวน์โหลด และผมอยากให้ท่านคุ้นเคยกับมัน งงกับมัน อยู่กับมัน แม้ว่าในตอนแรก ๆ อาจจะไม่ค่อยเข้าใจมันก็ตาม เรื่องของเรื่องก็คือ การคิดและงงเป็นภาษาอังกฤษ ดีกว่าเข้าใจกระจ่างเป็นภาษาไทย

ในครั้งต่อไป ผมจะแนะนำสื่อการเรียนภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ท่านฝึกคิดและงงเป็นภาษาอังกฤษ ท่านอาจจะไม่ค่อยเข้าใจในตอนแรก แต่เมื่อฝึกไปเรื่อย ๆ ท่านก็จะค่อย ๆ ใช้เป็น คือพูดเป็นและเขียนเป็นครับ

เพิ่ม: ลิงค์ครั้งต่อไป
[1445] แนะนำ 4 ขุมทรัพย์สื่อการเรียนภาษาอังกฤษ

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

3 ความคิดเห็น:

วัชรเมธน์ ชิษณุคุปต์ ศรีเนธิโรทัย กล่าวว่า...

ทุกบทความที่คุณพิพัฒเขียน มันแทงขั้วหัวใจดีแท้ ผมอ่านแทบทุกบทความผ่านทาง RSS

รู้สึกไม่ค่อยดีเหมือนกันที่ไม่ได้่ส่งกระแสตอบรับ และกำลังใจให้คุณพิพัฒบ้าง

อย่างไรก็ดี ขอให้ทราบเถอะครับว่า ผมอ่านบทความของคุณพิพัฒด้วยใจที่เป็นสุขมาก และได้รับประโยชน์จากบทความมากมาย

ทุกครั้งที่อ่านก็จะกล่าวขอบคุณคุณพิพัฒในใจเสมอมา

ผมขอเป็นแรงใจและกำลังใจให้คนนึงนะครับ

pipat - blogger กล่าวว่า...

คุณวัชรเมธน์ครับ
ยินดีครับที่ได้ยินอย่างนี้
คุณรู้ไหมครับ หลายเรื่องที่ผมแนะนำ ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะมีสักกี่คนที่ได้รับประโยชน์ มันเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมลองทำเองและได้ผล ก็เลยเอามาเล่าสู่กันฟัง โดยหวังว่าบางท่านอาจจะเอาไปใช้ได้ผลบ้าง
พิพัฒน์

maiinjun กล่าวว่า...

คือยากคัดลอกข้อความของคุณ วัชรเมธน์ มาขอบคุณด้วยอีกคนค่ะ เพราะคุณเขียนแสดงความขอบคุณได้โดนใจ ดิฉันมาก อ่านทุกวันวันละลายบทความสลับกับฝึกภาษาจากเว็ปที่คุณ พิพัฒน์ แนะนำ้ด้วยค่ะ
ขอบคุณพิพัฒน์ จากใจ