วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552

[1201] เรียนภาษาอังกฤษจาก software (1)

สวัสดีครับ
คงเป็นการดีไม่น้อยถ้าเราได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตจริงทุกวัน เช่น ได้ทำงานหรือได้พบปะพูดคุยกับคนช่างชาติ ได้เขียนจดหมายหรืออีเมลโต้ตอบ ได้ทำอะไรที่อยากทำเป็นภาษาอังกฤษ และถึงตอนนอนหลับถ้าฝัน ก็ยังฝันเป็นภาษาอังกฤษ

แต่แม้ว่าเรื่องในย่อหน้าข้างบนเป็นไปได้ยากสำหรับหลายท่าน ก็มิได้หมายความว่าเราไม่มีทางเก่งภาษาอังกฤษเพราะไม่มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษ จริง ๆ แล้วทุกคนมีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษทุกวัน เว้นแต่จะไม่ยอมใช้โอกาสนั้น

การใช้ภาษาอังกฤษมี 2 แบบ คือ แบบที่ใช้ partner และแบบที่ไม่ต้องใช้ partner
-แบบที่ 1
คือแบบที่ใช้ partner ซึ่งเป็นแบบที่คนทั่วไปนึกถึงมากที่สุดเวลาเอ่ยถึงการฝึกภาษาอังกฤษ ก็คือการพูดและมีคนฟังเราพูด และการเขียนซึ่งมีคนอ่านสิ่งที่เราเขียน
-แบบที่ 2 คือแบบที่ไม่ต้องใช้ partner คือการฝึกอ่านและฟัง ซึ่งทำคนเดียวในห้องนอนก็ได้

สิ่งที่ผมพูดอยู่เสมอในบล็อกนี้ก็คือ ถ้าเราฝึกแบบที่ไม่ต้องใช้ partner คืออ่านและฟังภาษาอังกฤษอยู่เสมอ เราจะสะสมทักษะพื้นฐานที่ใช้ตาและหู และเมื่อถึงเวลาที่เรามีโอกาสฝึกภาษาอังกฤษกับ partner ทักษะพื้นฐานทางตาและหูที่ตุนไว้นี้ จะช่วยเราได้มากเมื่อเราต้องใช้ปาก(พูด)และใช้มือ(เขียน) แต่ถ้าไม่ยอมฝึกใช้ตา(อ่าน)และใช้หู(ฟัง)ไว้ให้คล่อง เมื่อถึงเวลาพูดและเขียนก็จะติดขัด เรื่องที่ผมพูดนี้เห็นชัดได้ไม่ยาก

ในบล็อกนี้มีสิ่งให้ท่านดาวน์โหลดมากมาย เพื่อเอาไปฝึกภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องใช้ partner ได้แก่ หนังสือ, ภาพ, ไฟล์เสียง mp3, และ ไฟล์ภาพเคลื่อนไหววีดิโอ

ท่านอาจจะถามว่า ถ้าเราไม่มีฝรั่งหรือชาวต่างชาติตัวเป็น ๆ ให้เราพูดคุยหรือเขียนอีเมลถึงไว้บ้าง เวลาที่จำเป็นต้องพูดหรือเขียนถึงใครจริง ๆ ก็คงเหมือนทหารม้าออกศึก มีหวังตกม้าตายเท่านั้นเอง!

ท่านพูดเช่นนี้ก็ถูกต้องและน่าเห็นใจไม่น้อย แต่ผมอยากจะบอกว่า การฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเองแม้ไม่มี partner ก็ไม่ถึงกับสิ้นหวังเสียทีเดียว เพราะเรามีสิ่งที่เรียกว่า software ช่วยทำหน้าที่คล้าย ๆ partner ให้เราฝึกภาษาอังกฤษด้วย

สิ่งที่ software (ถ้าเป็นของฟรีก็เรียกว่า freeware) สามารถทำหน้าที่ได้เหนือกว่า หนังสือ, ภาพ, ไฟล์เสียง mp3, หรือไฟล์วีดิโอ ก็คือ
-software สามารถรวมหลาย ๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกัน เช่น มีข้อความให้อ่าน มีภาพให้ดู มีเสียงให้ฟัง และมีวีดิโอให้ชม มันเร้าใจมากกว่าการอ่านหนังสือซึ่งไม่ค่อยน่าตื่นเต้น
-software เป็นคล้าย ๆ กับหุ่นยนต์ที่มีชีวิต เพราะสามารถตอบสนองเราได้ทันที เช่น เฉลยทันทีเมื่อทำ test เสร็จทีละข้อ, เราสามารถคลิกเรื่องที่จะฝึกตามความยากง่ายหรือตามที่เราสนใจ มีการกระตุ้นให้เราอยากเอาชนะปัญหาหรือข้อสอบ, มีปุ่มให้เราคลิกบันทึกเสียง-คลิกฟังเสียงของตัวเอง-คลิกอ่านการประเมินของโปรแกรม เป็นต้น

software ที่เรารู้จักกันดีคือ software เกมต่าง ๆ ที่เด็กบางคนเล่นติดจนถอนตัวไม่ขึ้น software ที่ใช้ฝึกภาษาอังกฤษ เช่น scrabble, Hangman, crossword puzzle แม้จะไม่สามารถดึงดูดใจเท่ากับ software เกมคอมพิวเตอร์ แต่อย่างน้อยก็ช่วยทำให้การเรียนภาษาอังกฤษไม่น่าเบื่อ สรุปง่าย ๆ ก็คือ software เป็นคล้าย ๆ partner ให้เราเรียนภาษาอังกฤษด้วย ให้เราพูดคุยด้วย ให้เราเขียนถึงด้วย โดยมีการสนองตอบทันที ทำให้เรียนอย่างได้ผลดีและไม่เบื่อ

Software ที่ใช้ฝึกภาษาอังกฤษ ที่คนทั่วไปรู้จักดีที่สุด น่าจะเป็น software dictionary ที่ในบล็อกนี้ก็ได้แนะนำโปรแกรม dictionary และโปรแกรมอื่น ๆ ไว้มากพอสมควร คลิกที่นี่ครับ และที่นี่

แต่ software ที่ใช้ฝึกภาษา ไม่ใช่มีเพียงแค่เกมภาษาหรือ dictionary เท่านั้น แต่มีให้เราฝึกทุกด้านของภาษา ไม่ว่าจะเป็น reading, listening, writing, speaking, vocabulary, grammar, conversation และอื่น ๆ อีกมากมาย

เท่าที่เคยพบ software เรียนภาษาอังกฤษที่คนไทยทำ ทั้งคุณภาพของเนื้อหาและลูกเล่นมักด้อยกว่าที่ฝรั่งทำ แต่ที่ผมไม่ค่อยได้นำเอามาแนะนำในบล็อกนี้ก็เพราะข้อขัดข้อง 2-3อย่าง เช่น
-ไฟล์ software หายากกว่าไฟล์ประเภทอื่น เช่น ไฟล์หนังสือ, ภาพ, ไฟล์เสียง mp3 วีดิโอ
-ไฟล์ software มักมีขนาดใหญ่หลายสิบ megabyte หรือเกินร้อย/หลายร้อย megabyte และบ่อยครั้งที่ต้องดาวน์โหลดกันเป็นสิบ ๆ ไฟล์จึงจะได้ไฟล์มาครบถ้วนสำหรับสำหรับติดตั้งและใช้งาน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ใช้ high-speed Internet อาจท้อใจว่าดาวน์โหลดเท่าไหร่ ๆ ก็ไม่เสร็จซะที
-ไฟล์ software บางโปรแกรมใช้งานค่อนข้างยุ่งยาก เช่น หลังจากที่ดาวน์โหลดไฟล์มาจนครบแล้ว ต้องเบิร์นลงแผ่น CD หรือ DVD ซะก่อน (โดยต้องมีโปรแกรมเบิร์น เช่น Nero ลงไว้ก่อนในเครื่องคอมฯ) แล้วจึงค่อยติดตั้งโปรแกรมจากแผ่น
-การใช้งาน software เรียนภาษา ถ้าไม่คุ้นเคยอาจจะรู้สึกว่ายาก เพราะฉะนั้น ท่านต้องรักที่จะเรียนรู้วิธีใช้งานด้วยตัวเอง ต้องอ่าน Help แนะนำวิธีใช้ที่มีให้มา, ต้องขยันคลิกลองผิดลองถูกจนเข้าใจ บางคนเอาแต่รอให้มีเพื่อนมาแนะนำวิธีใช้ เพื่อนที่รอก็ไม่มาหาสักที software ดีจึงไม่มีประโยชน์แม้จะวางแหมะอยู่ที่ข้าง ๆ คอมฯ นั่นแหละ

ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า โดยทั่วไป ผู้ชายมักถนัดและชอบเรื่องคอมฯมากกว่าผู้หญิง ส่วนผู้หญิงมักชอบเรื่องภาษามากกว่าผู้ชาย แต่คนที่จะใช้งาน software เพื่อเรียนภาษาอังกฤษ จะต้องชอบทั้งคอมฯและภาษา ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จึงมีผู้หญิงหรือผู้ชายไม่มากนักที่ได้รับประโยชน์จาก software สอนภาษา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งนัก น่าเสียดายจริง ๆ ผมมีเพื่อนรุ่นพี่คนนึง เขาเปิดบล็อกนี้เพื่อเรียนภาษา พอเห็นหน้าก็ต่อว่าที่ผมไม่เขียนบอกเลยว่า จะใช้งานเว็บที่แนะนำได้ยังไง ผมก็บอกว่า พี่อ่านที่บรรทัดถัดไปซีครับผมเขียนบอกไว้ตรงนั้นแล้ว นี่ขนาดง่าย ๆ ที่เขียนอธิบายไว้โต้ง ๆ ตรงหน้าพี่ท่านยังไม่ยอมอ่าน แล้ว software ที่แม้จะมีประโยชน์มากกว่า พี่แกจะยอมลงทุนคลิกศึกษาด้วยตัวเองรึนี่?

ท่านผู้อ่านครับ เหตุที่ผมพูดเรื่องนี้ซะยืดยาวในวันนี้ ก็เพราะผมกะว่า ในอนาคต ผมจะหา software มากขึ้นมาให้ท่านดาวน์โหลดไปศึกษาภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องต่อเน็ต แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายการใช้ software ทุกโปรแกรมอย่างละเอียด ผมอยากให้ท่านที่รักที่จะเก่งภาษาอังกฤษยอมเสียเวลาในเรื่องนี้ คือ ยอมเสียเวลาดาวน์โหลด (อาจจะต้องติดตั้ง high-speed Internet), และยอมเสียเวลาศึกษาการใช้งาน software ด้วยตัวเอง ถ้าทำเป็นสัก 1 โปรแกรมแล้ว เจอโปรแกรมใหม่ก็ไม่ใช่ของยากอีกต่อไป

* * * *

Software เรียนภาษาอังกฤษที่ผมขอแนะนำวันนี้ ชื่อ Oxford Grammar Checker ซึ่งจะช่วยให้ท่าน
-check you level of English
-check your pronunciation
-check over 1000 grammar hints

คลิกดาวน์โหลด

ขอบคุณคุณพัชรามาก ๆ ครับที่ Re-upload ให้


ผมจะหา Software เรียนภาษาอังกฤษมาแนะนำท่านเรื่อย ๆ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนภาษาอังกฤษอย่างแน่ ๆ โดยเฉพาะช่วยให้เราเรียนภาษาอังกฤษอย่างได้ผลและสนุกมากขึ้น

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

4 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ ที่มีบทความดีๆมาฝากเรื่อยๆ แต่เราสามารถลงโปรแกรมนี้โดยไม่ต้อง Burn แผ่นได้ครับ ใช้โปรแกรมพวก DeamonTools ก้อได้ครับ

Unknown กล่าวว่า...

รีอัพโหลดให้ที่นี่ค่ะ

http://www.upload-thai.com/download.php?id=ba0c8bb2a21131a22bfba34c81fbc60e

pipat - blogger กล่าวว่า...

ขอบคุณมาก ๆ ครับคุณพัชรา ผมแก้ลิงค์แล้วครับ - พิพัฒน์