วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2551

[891]ตำราสอนพูดภาษาอังกฤษ และตัวช่วย A+ตัวช่วย B

สวัสดีครับ
ผมเอาหนังสือภาษาไทยหลาย ๆ เล่มในท้องตลาดที่สอนการพูดภาษาอังกฤษมาพลิก ๆ ดู แล้วก็ได้เห็นอะไรบางอย่างที่หนังสือพวกนี้มีคล้าย ๆ กัน วันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กันหน่อยดีไหมครับ
1. ในหนังสือเหล่านี้มักจะแบ่งออกเป็นหลาย ๆ บท แต่ละบทคือ 1 สถานการณ์ เช่น ถามทาง ไปซื้อของ พูดโทรศัพท์ ไปหาหมอ ไปที่ทำการไปรษณีย์ ฯลฯ ถ้าท่านหยิบเล่มใดเล่มหนึ่งขึ้นมาดู ถ้าจะซื้อ ลองพินิจพิเคราะห์ดูนะครับว่า มันเหมาะสำหรับคนไทยที่ไปอยู่ต่างประเทศ หรือเหมาะกับเราที่อยู่เหมืองไทยนี่แหละแต่ต้องพูดภาษาอังกฤษกับคนต่างชาติ และบทหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ให้ไว้มันเหมาะกับเราหรือเปล่า หรือมีสักกี่บทที่เราสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ

2. ลักษะที่แทบจะเหมือนกันเด๊ะแทบทุกเล่มก็คือ การสอนพูดประโยคภาษาอังกฤษประโยคใดก็ตาม จะมี 3 บรรทัด คือ
บรรทัดที่ 1 เป็นประโยคภาษาอังกฤษ เช่น “I love you.”
บรรทัดที่ 2 เป็นคำอ่าน เช่น “ไอ ลัฟ ยู”
บรรทัดที่ 3
เป็นคำแปล เช่น “ฉันรักคุณ” (ผมคิดว่า แปลว่า “ฉันรักคุณ” นี่น่าจะเหมาะที่สุด เพราะจะสื่อว่าชายรักหญิงหรือหญิงรักชายก็ได้ทั้งนั้น ถ้าแปลว่า “ผมรักคุณ” ก็แสดงว่า ชายบอกรักหญิง เท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว หญิงก็มีสิทธิบอกรักชายได้ ... เอาแค่นี้ก่อนนะครับ ชักจะออกนอกเรื่องมากไปหน่อยแล้ว)

แล้วก็ทำอย่างนี้กับทุกประโยค บางเล่มมีพิเศษ เช่นมีบัญชีคำศัพท์ให้ศึกษาซึ่งสามารถเอาไปแทนคำในประโยคตัวอย่าง เช่น เอาไปแทนกริยา “love” มีคำว่า
Like – ไลค์ - ชอบ
Go with – โก วิธ - ไปกับ
Hate – เฮท - เกลียด
เป็นต้น

ข้อจำกัดของหนังสือทำนองนี้ก็คือ แม้จะให้คำอ่านแบบคาราโอเกะ (“ไอ ลัฟ ยู”
) มาแล้ว คนเรียนก็ยังไม่แน่ใจ 100 % อยู่นั่นเองว่าเราออกเสียงถูกหรือเปล่า เพราะมันยังมีเสียงสูง – เสียงต่ำ, เสียงสั่น – เสียงไม่สั่น, เสียงแยก – เสียงควบ เสียงอะไรต่ออะไรอีกก็ไม่รู้มากมายก่ายกอง ถ้าไม่ได้ฟังด้วยหูของตัวเองซ้ำ ๆ – ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ยากที่จะแน่ใจว่าออกเสียงถูกต้อง

ผมเจอหนังสือทำนองนี้หลายสิบปีมาแล้ว คนงานไทยที่ไปขายแรงงานต่างประเทศแถวตะวันออกกลาง หรือคนไทยที่ทำงานกับคนต่างชาติในเมืองไทยก็เถอะ น่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าใหญ่ที่ซื้อหนังสือพวกนี้ ผมเดาเอาเองว่า เขาต้องใช้ความพยายามมากทีเดียว เพราะอะไร? เพราะหนังสือมันออกเสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเขาพูดออกไปตามคำอ่านแบบคาราโอเกะที่เขียนไว้ในหนังสือ คนชาติอื่นที่ฟังก็คงจะรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง และถึงตรงนี้แหละครับที่เป็นขั้นตอนการฝึกปรือจากของจริง คือ หลังจากที่ผ่านการตีความด้วยภาษามือหรือภาษาหน้าตาอยู่พักหนึ่ง ก็เริ่มรู้แล้วว่าพี่ไทยจะพูดอะไร ก็เริ่มจะมีการสอนว่า ถ้าจะให้รู้เรื่องต้องออกเสียงอย่างนี้ ๆ เมื่อจินตนาการเช่นนี้แล้วก็เห็นได้ชัดว่า คนไทยยุคนั้น(ที่อาจจะคล้ายกับยุคนี้ คือจบจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่ค่อยมีกะตังค์จ่ายให้ครูหรือโรงเรียนสอนภาษา ต้องใช้ความพยายามมากทีเดียวเพื่อให้ตัวเองพูดภาษาอังกฤษให้ได้ อันดับแรกสุดต้องสลัดความเขินอายออกไปให้หมดสิ้น และก็ต้องใช้ความพยายามที่ “มาก” และ “นาน” กว่าคนสมัยนี้ เพราะอะไร? ก็เพราะว่า อย่างน้อยที่สุดคนเดี๋ยวนี้ก็ยังมีตัวช่วย A และตัวช่วย B ข้างล่างนี้

ตัวช่วย A:
ก็พวกเทปคาสเซ็ท CD หรือ mp3 ที่มีให้เราฟังควบคู่ไปกับการอ่านประโยคในหนังสือ ตัวช่วยเหล่านี้ราคาไม่แพงนัก หรือถ้าเอาจากบล็อกนี้ก็ได้ฟรีเลย ตัวช่วยพวกนี้ทำให้การพูดเป็นของง่ายขึ้น เพราะการพูดจะต้อง start ด้วยการฟัง ท่านผู้อ่านที่ท้อใจในการพูดภาษาอังกฤษ ผมขอเรียนว่าอย่าท้อเลยครับ สมัยก่อนที่เขามีแค่หนังสือเขายังฝึกตัวเองจนพูดได้ เราโชคดีกว่าเขาเพราะมีตัวช่วย A เราก็ต้องทำได้ดีกว่าคนไทยสมัยโน้นซีครับ ขออย่างเดียวเท่านั้นแหละครับ ขอให้เราใช้ความพยายามที่ “มาก” และ “นาน” เพียงพอ เราก็จะประสบความสำเร็จแน่นอน

ตัวช่วย B:
ผ่านตัวช่วยที่เป็นเสียงมาแล้ว ก็มาถึงยุคที่มีตัวช่วยที่เป็นภาพเคลื่อนไหว คือวีดิโอ ซึ่งในยุคหลังนี้มีการ์ตูนแอนิเมชั่นด้วย ภาพเหล่านี้ช่วยให้เราเห็นปากคนพูด ช่วยเราไม่มากก็น้อยให้รู้ว่า ถ้าจะเปล่งเสียงให้ถูกต้อง จะต้องฉีกปาก, แยกเขี้ยว, ยิงฟัน, ดันลิ้น, ปลิ้นตายังไง (นี่ผมพูดเว่อร์เกินไปหรือเปล่าครับ) หลายสถาบันสอนเรื่องนี้และก็สาธิตให้ดู และก็มีวีดิโอขาย รายการโทรทัศน์สอนพูดภาษาอังกฤษหลายรายการก็เปล่งเสียงให้ฟัง และสาธิตหน้าตาให้ดู ในบล็อกนี้มีบางเว็บสาธิตแบบนี้ เช่น

ชุดที่ 1 มี 131 ตอน: แสดงการออกเสียงคำศัพท์ต่าง ๆ พร้อมกับเรียนรู้คำศัพท์ไปในตัวhttp://www.youtube.com/profile_videos?user=sozoexchange(คลิกชมต่อหน้าต่อไป 2 3 4 5 6 7 )
แถมอีก 40 ตอน หน้า 1 และ หน้า 2

ชุดที่ 2 มี 31 ตอน:http://www.youtube.com/view_play_list?p=81BCA0A2CB139CB7(
คลิกชมต่อหน้าต่อไป 2 3 4)

อ่านคำแนะนำเพิ่มเติม คลิกที่นี่

ในบล็อกนี้ผมพยายามหาสิ่งที่จะช่วยให้ท่านฝึกฝนตัวเองให้พูดให้ได้ และได้รวบรวมไว้ที่ 3 ลิงค์นี้ครับ

[1] การพูด การสนทนา การออกเสียง
[2] การฟัง listening
[3] เพลิดเพลินกับการฝึกภาษาผ่านการดูวีดิโอ

การพูดภาษาอังกฤษให้ได้ เป็นความจำเป็นของยุคสมัย ถ้าเราทำไม่ได้ก็จะกลายเป็นคนตกยุค แต่ยังไง้ยังไงผมก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านทำได้ ขออย่างเดียวเท่านั้นแหละครับ ขอให้ใช้ความพยายามที่ “มาก” และ “นาน” เพียงพอ และทำไปอย่าง “ใจเย็น” ก็จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนครับ

พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Hi,
Thanks and thanks so much for all the waiter my love.
we' re friends.