วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

[1890] ฝึกใช้ดิก อังกฤษ – อังกฤษ จาก ดิกอังกฤษ-ไทย ที่นี่

สวัสดีครับ
ถ้ามีคนขอให้ผมแนะนำหนังสือสักเล่มหนึ่งที่ควรอ่านเพื่อฟิตภาษาอังฤษ ผมขอตอบโดยไม่ลังเลเลยว่า คือหนังสือดิกชันนารีอังกฤษ-อังกฤษ ที่เรียกว่า learner’s dictionary ท่านเลือกมาสัก 1 เล่มตามที่ท่านชอบ และหนังสือพวกนี้ก็มีให้ใช้ฟรีทางเน็ต ข้างล่างนี้ครับ

 ถ้าท่านถามว่า ดิกอังกฤษ – อังกฤษ ดีกว่าดิกอังกฤษ – ไทย ยังไงบ้าง ตอบได้ง่ายมากครับ
-ดิกอังกฤษ – อังกฤษ ให้คำนิยามที่ชัดเจน ละเอียด ถูกต้อง มากกว่า
-ดิกอังกฤษ – อังกฤษ มีคำศัพท์ให้ค้นมากกว่า และมีการปรับปรุงแก้ไขบ่อยกว่า ทั้งศัพท์ทั่วไป และศัพท์เทคนิค หรือศัพท์เฉพาะสาขาอาชีพ มากกว่าดิกอังกฤษ – ไทย หลายสิบหลายร้อยเท่า อย่างที่เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย
-ดิกอังกฤษ – อังกฤษ ให้ประโยคตัวอย่าง ที่แสดงการใช้คำศัพท์นั้น ทำให้เรานำเอาไปใช้ได้ถูกต้องเมื่อต้องพูดหรือเขียน
แค่ 3 ข้อนี้ก็เพียงพอแล้วที่เราจะพยายามใช้ดิกอังกฤษ – อังกฤษ ให้คล่องแคล่ว

แต่การใช้ดิกอังกฤษ – อังกฤษให้คล่องแคล่วต้องอาศัยความอดทนและเวลาในการฝึกมากและนานพอสมควร แต่ผมขอบอกว่า ผลที่ได้รับคุ้มค่ามาก ๆ ครับ  ถ้าจำไม่ผิดผมเริ่มหัดใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษตอนอยู่ชั้น ม.ศ.4 และตอนที่เข้าเรียน ปี 1 ธรรมศาตร์ก็ยังใช้ไม่คล่อง 100 %  อาการที่ติดขัดก็คือ อ่านคำนิยามศัพท์เข้าใจไม่ตลอด พอไม่รู้เรื่องหรือรู้เรื่องอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็เลยท้อ 

ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ คำว่า dog แล้วกันครับ ดิกอังกฤษ – อังกฤษ WordWeb ให้ความหมายว่า
A member of the genus Canis (probably descended from the common wolf) that has been domesticated by man since prehistoric times; occurs in many breeds
ถ้าเริ่มฝึกใช้ดิกอังกฤษ – อังกฤษ  คำอธิบายศัพท์แบบนี้อ่านแล้วชวนงงแน่ ๆ เรารู้ว่า dog แปลว่า หมา แต่พออ่านคำจำกัดความของ dog กลับไม่รู้ว่า dog แปลว่าอะไร พอเจอแบบนี้บ่อย ๆ เข้าก็ชักหมดแรง กลับไปใช้ดิกอังกฤษ – ไทย อย่างเดิมง่ายกว่า !!

แต่ ณ วันนี้ น้อง ๆ ที่ต้องการฝึกใช้ดิกอังกฤษ – อังกฤษ ให้คล่อง ไม่ต้องลำบากมากเหมือนผมสมัยโน้นหรอกครับ เพราะเหตุผลง่าย ๆ อย่างน้อย 2 ข้อ คือ
1.ดิกอังกฤษ – อังกฤษ ทุกวันนี้ เขาเรียบเรียงคำนิยามให้ง่ายสุดง่าย และดูเหมือนทุกค่าย ทุกยี่ห้อ ต่างก็แข่งขันเขียนให้ง่าย คำอธิบาย dog อย่างข้างบน จึงแทบไม่มีแล้ว
2.ด้วยเทคโนโลยีของโลกอินเทอร์เน็ต ช่วยทำให้การฝึกใช้ ดิกอังกฤษ – อังกฤษ ผ่านเน็ต เป็นของง่าย ก็คือว่าทุกคำที่เขาใช้อธิบายคำศัพท์เป็นลิงค์ ท่านเพียง คลิก หรือ ดับเบิ้ลคลิก ที่คำนั้น ก็จะมีความหมายปรากฏขึ้นในหน้าต่างใหม่  ที่ผมเจอก็คือเว็บดิกอังกฤษ-อังกฤษ 3 เว็บนี้
-Macmillan
คราวนี้ ถ้าท่านไม่เข้าใจคำที่เขาอธิบาย dog ตามที่ไฮไลต์สี
A member of the genus Canis (probably descended from the common wolf) that has been domesticated by man since prehistoric times; occurs in many breeds
ท่านก็เพียงท่าน คลิก หรือ ดับเบิ้ลคลิก ที่คำนั้น ก็จะมีความหมายปรากฏขึ้นในหน้าต่างใหม่ทันที ไม่ต้องเปิดดิกดูให้เมื่อยมือเมื่อยใจ 

หรือท่านจะหัดใช้ดิกในทำนองนี้ไปเรื่อย ๆ ก็ได้ โดยเปิดดูหรือคลิกคำง่าย ๆ ที่เรารู้ความหมายอยู่แล้ว ดูซิว่าเขาอธิบายว่าอย่างไร เราพอจะเข้าใจตามที่เขาอธิบายไหม โดยเรารู้ความหมายของศัพท์คำนั้นอยู่แล้ว ด้วยการฝึกอย่างนี้ คือ ฝึกจากคำที่ง่ายไปยาก   จากคำที่เรารู้ความหมายไปหาคำที่เราไม่รู้ ก็จะช่วยให้เราใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษได้คล่องแคล่วอย่างรวดเร็ว เพราะเราแค่คลิกคำศัพท์ ไม่ต้องพลิกหน้าหนังสือจนเมื่อยมือ ไม่ต้องกวาดสายตาหาคำศัพท์จนเมื่อยตา

แต่ปัญหาก็ยังไม่แล้วซะทีเดียวครับ เพราะบางท่านก็ยังรู้สึกว่า ถึงแค่คลิกก็เหนื่อย เพราะคลิกแล้วก็ไปเจอศัพท์ซึ่งอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งแม้จะอธิบายง่ายก็ยังเข้าใจยากอยู่นั่นเอง

เอาอย่างนี้แล้วกันครับ  ผมขอทำแบบฝึกหัดง่าย ๆ ให้ท่านฝึกเล่น ๆ ในการใช้ดิกอังกฤษ – อังกฤษ คือผมไปเจอเว็บซึ่งเขารวบรวม Phrasal Verbs พร้อมทั้งความหมายและประโยคตัวอย่างที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน  ให้ท่านฝึกกับคำแหล่านี้ โดยเมื่ออ่านเจอศัพท์คำใดที่ไม่เข้าใจ ก็เพียงดับเบิ้ลคลิก ก็จะมีคำแปลเป็นภาษาไทยปรากฏในหน้าต่างใหม่ทันที 

ถือซะว่านี่เป็บบทที่ 1 ในการฝึกใช้ ดิกอังกฤษ – อังกฤษ พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นการฝึกใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษโดยมีดิกอังกฤษ-ไทยเป็นตัวช่วย เมื่อชำนาญขึ้น เราก็จะพึ่งตัวช่วยน้อยลง ๆ  จนวันหนึ่งเราก็จะสามารถใช้ดิกอังกฤษ – อังกฤษ โดยไมต้องง้อดิกอังกฤษ-ไทยอีกต่อไป

ลองเข้าไปฝึกได้เลยครับ ท่านอาจจะทำ Favorites หรือ Bookmarks ลิงค์ข้างล่างนี้ไว้เลยก็ได้ ถ้าได้ฝึกวันละ 5-10 คำ ทุกวัน ในไม่ช้าท่านก็จะเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นกับตัวท่านเอง
เชิญคลิกฝึกได้เลยครับ

แถมข้างล่างนี้อีก 1 เว็บ (ยากกว่าข้างบนนิดหน่อย)

ศึกษาเพิ่มเติม:

พิพัฒน์
e4thai@live.com

ไม่มีความคิดเห็น: