สวัสดีครับ
ผมเคยไปเที่ยวนครวัดที่กัมพูชา ไปกับบริษัททัวร์ซึ่งเดินทางทางรถจากปอยเปตขึ้นตะวันออกฉียงเหนือไปจนถึงนครวัด มีไกด์ชาวเขมรที่พูดภาษาไทยได้คล่องมากคอยอธิบายสิ่งต่าง ๆ และเมื่อไปถึงนครวัดเขาก็ทำหน้าที่ของเขาเป็นอย่างดี
แต่กระนั้นก็ตามขณะที่ฟังไกด์เขมรอธิบายผมอดไม่ได้ที่จะรู้สึก 2 อย่าง
อย่างที่ 1 -สิ่งที่ไกด์อธิบายมิได้มีอะไรพิเศษ เราสามารถหาอ่านได้จากหนังสือท่องเที่ยวทั่วไปที่แนะนำนครวัด
อย่างที่ 2 -สิ่งที่ไกด์อธิบายบางครั้งก็ขาดสิ่งที่เราควรจะได้รู้แต่ไกด์เขาไม่รู้หรอกว่าเราสนใจหรืออยากรู้เขาจึงไม่ได้บอก และบางเรื่องเขาก็อธิบายผิด แม้จะไม่ได้ผิดฉกาจฉกรรจ์แต่ก็ผิด
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การศึกษาเรื่องอะไรก็ตาม หากเรามีแหล่งข้อมูล ตำรา หรือคำแนะนำที่ได้มาตรฐานให้อ้างอิงได้ จะช่วยป้องกันการรับข้อมูลผิด ๆ และยึดว่าเป็นของถูก หรือช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกมากเกินไป
ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดทำไม? มันเกี่ยวข้องอะไรกับบล็อกนี้ซึ่งเป็นเรื่องของการเรียนภาษาอังกฤษ?
เรื่องของเรื่องก็คือว่า ขณะที่ผมพยายามหาตำราเรียนภาษาอังกฤษดี ๆ มาเสนอให้ท่านผู้อ่านใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำราที่ฝึกการอ่านหรือ Reading ผมได้เจอตำราดี ๆ มากมาย เขาจะคัดเลือกเรื่องดี ๆ มาให้อ่าน มีหลายระดับง่าย-ยากให้ผู้เรียนเลือก, และยังมีแบบฝึกหัด, เฉลย, คำอธิบาย, คำแนะนำต่าง ๆ มากมาย เช่น เทคนิคการจับประเด็นสำคัญ, หลักแกรมมาร์ที่ควรรู้เพื่อความเข้าใจในเรื่องที่อ่าน, การเดาศัพท์, การเดาความหมายของวลี, การเพิ่มความเร็วในการอ่าน เป็นต้น
ขอเรียนตามตรงครับว่า ผมไม่ค่อยสนใจแบบฝึกหัดหรือคำอธิบายต่าง ๆ นานาเหล่านี้สักเท่าไรนัก เพราะผมรู้สึกว่าถ้าอ่านเนื้อเรื่องรู้เรื่องแล้วก็ถือว่าใช้ได้ ไม่ต้องไปทำแบบฝึกหัดหรืออ่านคำอธิบายต่าง ๆ ให้เสียเวลาหรอก ถ้าพูดเทียบกับเรื่องการเที่ยวนครวัดข้างต้นก็ต้องบอกว่า ผมใช้ความเข้าใจส่วนตัวขณะที่อ่านเป็น “ไกด์” โดยไม่สนใจคำแนะนำที่ตำราพิมพ์ไว้ให้ศึกษา
วิธีเรียน Reading เช่นนี้ถูกหรือผิด คำตอบก็คือ อาจจะถูกหรือผิดก็ได้
ในกรณีที่ถูก - - ก็คือผมมีความชำนาญมากเพียงพอในการอ่านภาษาอังกฤษ จนไม่จำเป็นต้องสนใจคำแนะนำหรือแบบฝึกหัดต่าง ๆที่ให้ไว้
ส่วนในกรณีที่ผิดก็คือ - - ผมยังมีความชำนาญในการอ่านไม่มากพอ การลุยอ่านไปเลยโดยไม่สนใจแบบฝึกหัดหรือคำแนะนำต่าง ๆ อาจจะทำให้ผมต้องใช้เวลามากเกินไปในการพัฒนา reading skill เพราะต้องลองผิดลองถูกในการสร้างความเข้าใจ แต่ถ้ายอมอ่านคำแนะนำหรือทำแบบฝึกหัด ก็จะช่วยให้การลองผิดมีจำนวนน้อยลง และการลองถูกมีมากขึ้น และเมื่อฝึกอ่านมากขึ้น ๆ ไปเรื่อย ๆ เราก็จะรู้ตัวเองว่า เรารู้แนวทางที่ถูกต้องแล้ว ต่อไปนี้ก็เป็นการลุยฝึกอ่านอย่างถูกต้องโดยไม่ต้องลองผิด
แต่ถ้าผมยังอ่านไม่เก่ง แต่ใช้การทำความเข้าใจส่วนตัวเป็น “ไกด์” ของการอ่าน โดยไม่สนใจไกด์มาตรฐานคือคำแนะนำและแบบฝึกหัดที่พิมพ์ไว้ ก็เหมือนการไปเที่ยวนครวัดโดยอาศัยเพียงไกด์ท้องถิ่น โดยไม่ใฝ่หาแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ที่สามารถเป็นไกด์ซึ่งมีมาตรฐานสูงกว่า
จากการไปเที่ยวมาแล้วหลายประเทศ ผมได้ข้อสรุปเกี่ยวกับไกด์ท้องถิ่นว่า
-เขาบอกเฉพาะสิ่งที่เขาอยากบอก ซึ่งบางอย่างก็ตรงกับสิ่งที่เราอยากรู้ แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่เราอยากรู้แต่เขาไม่บอก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า เขาไม่รู้ว่าเราอยากรู้, เขาลืม, เขาปกปิดเรื่องที่ไม่อยากให้คนต่างชาติรู้, เขาไม่มีเวลาจะบอก, หรือแม้กระทั่งว่าบางทีเขาก็ไม่รู้เรื่องพื้นๆ ที่เราสงสัยใคร่รู้
-เขาบอกผิดอย่างไม่ตั้งใจ หรือบอกไม่ตรงด้วยสาเหตุอะไรสักอย่าง
การไปเที่ยวและเชื่อไกด์ท้องถิ่นทั้งหมดจึงไม่ปลอดภัยด้วยประการฉะนี้
การอ่านแบบเรียนเพื่อฝึก Reading Skill ก็เช่นกัน ถ้าเรายังไม่เก่งพอ แต่เราก็ใช้การเดาหรือตีความโดยส่วนตัวของเราเองเป็น “ไกด์ท้องถิ่น” โดยไม่ยอมอ่านคำแนะนำหรือทำแบบฝึกหัดที่ผู้รู้จัดไว้ให้ เราอาจจะเดาหรือฝึกอย่างผิดวิธี หรือแม้ไม่ผิดรุนแรงแต่ก็อาจจะเป็นวิธีฝึกที่ให้ผลช้าเกินไป
การอ่านตำราเพื่อฝึก Reading Skill โดยทำแบบฝึกหัด, ดูเฉลย, อ่านคำอธิบาย, คำแนะนำต่าง ๆ ที่ตำราจัดไว้ให้ จึงมีประโยชน์ด้วยประการฉะนี้
และวันนี้ผมมีตำราเพื่อฝึก Reading Skill ชุด Reading Power มาให้ท่านผู้อ่าน 1 ชุด ขอให้ท่านเลือกเล่มที่ง่าย-ยากเหมาะกับท่าน และฝึกอ่านพร้อมกับศึกษาและทำตามคำแนะนำตามที่ตำราให้ไว้แล้วกันครับ ไม่มากก็น้อย
คลิกดาวน์โหลด
Basic Readiing Power
Reading Power
More Reading Power
Advanced Reading Power
แถม: 501 Reading Comprehension Questions
พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com
วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
2 ความคิดเห็น:
ขอบพระคุณมากค่ะ
ขอบคุณมากๆๆๆค่ะ..คิดว่ามีประโยชน์มากสำหรับทุกคนที่จะพัฒนาทักษะในการอ่าน ขอบคุณอีกครั้งค่ะ
แสดงความคิดเห็น