วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

[1963]ประสบการณ์ในการจำคำศัพท์ของผม (แถมเครื่องมือด้วย)

สวัสดีครับ
บ่อยอยู่เหมือนกันที่ท่านผู้อ่านถามว่า ทำอย่างไรจึงจะจำศัพท์ได้เยอะ ๆ ถ้าตอบอย่างมวยวัดไม่มีชั้นเชิงก็ต้องบอกว่า อ่านเยอะ ๆ ก็จำได้เยอะเองแหละครับ แต่คำตอบนี้บางท่านอาจจะรู้สึกว่าไม่เข้าท่า เพราะไม่ได้ชี้แนะอะไรเป็นพิเศษเลย   แต่ผมก็ยังรู้สึกว่านี่เป็นคำตอบที่ดีที่สุดที่ผมสามารถให้ท่านได้  เป็นวิธีที่ผมใช้จำคำศัพท์ภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก

ส่วนวิธีที่ 2 ที่ผมใช้มาตั้งแต่เด็กเช่นกัน คือการทำสมุดจดคำศัพท์ใหม่ที่พบเพื่อใช้ท่องและทบทวน  วิธีนี้มันคล้าย ๆ กับการฉีดยากันบาดทะยักนั่นแหละครับ สมัยเด็ก ๆ ผมซนชอบเดินไปเล่นยังสถานที่ที่ผู้ใหญ่ห้ามและบ่อยครั้งที่มักถูกตะปูตำเท้า และแม่ก็จะให้ไปฉีดยากันบาดทะยักที่สถานีอนามัย  เจ้าหน้าที่อนามัยก็บอกผมว่า น่าจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม คือ ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว อีกประมาณ 1 เดือนให้ไปฉีดเข็มที่ 2 จากนั้นอีก 6 เดือนก็ไปฉีดเข็มที่ 3 ถ้าฉีดครบทั้ง 3 เข็มจะป้องกันบาดทะยักได้ 10 ปี เขาพูดบอกไว้ก่อนเพราะผมมักซนไม่ระวังถูกตะปูตำบ่อย

ผมมาคิดดูก็เห็นว่า การทบทวนหรือท่องศัพท์ก็เหมือนกับการฉีดยาป้องกันบาดทะยักนี่แหละครับ คือเมื่อเราเจอศัพท์ใหม่และท่องครั้งแรก หลังจากนั้นไม่นานนักก็ท่องอีกให้จำให้ได้, และต่อมาก็ท่องและทบทวนอีก ให้ครบอย่างน้อย 3 ครั้ง ก็จะจำได้นานทีเดียว  โดยหลังจากนั้นอาจจะไม่ต้องมาทบทวนอีกแม้ว่าจะจำไม่ได้นานถึง 10 ปีเหมือนฉีดยากระตุ้นกันบาดทะยักก็ตาม แต่การท่องกระตุ้นความจำกับการฉีดยาซ้ำป้องกันบาดทะยักมันก็มีประสิทธิภาพคล้าย ๆ กันอย่างนี้แหละครับ  นี่พูดจริง ๆ นะครับ  ไม่ได้พูดเล่น พูดจริงเพราะเป็นประสบการณ์จริง  ประสบการณ์ตรงจากตัวเอง

แต่ข้อเสียของผมของการจดศัพท์ใหม่เอาไว้ทวนก็คือ ผมไม่มีเวลาและผนวกกับขี้เกียจจดด้วย ก็เลยใช้การจำด้วยวิธีแรกเท่านั้น คือ เมื่อเจอศัพท์ก็พยายามนึกและเดา และถ้าเดาไม่ออกและจำเป็นต้องรู้มิฉะนั้นจะอ่านเนื้อเรื่องไม่รู้เรื่อง ก็ต้องเปิดดิก (การเปิดดิกให้ถึงหน้าคำศัพท์ที่ต้องการค้นอย่างรวดเร็ว เป็นทักษะที่ผมลงทุนฝึกสมัยที่โลกยังไม่มีเน็ตใช้)  พอเจอคำแปลแล้ว ในไม่กี่วินาทีขณะนั้น ก็พยายามตั้งสติตอกคำแปลศัพท์นั้นให้ติดแน่นอยู่กับเนื้อสมอง  เพราะผมไม่มีเวลาหรือไม่ก็ขี้เกียจจดลงสมุดอย่างที่เล่าแล้ว

นี่เป็นวิธีจำศัพท์ที่ผมใช้มาโดยตลอด คือ  
1)อ่านเยอะ  ๆ 
2)เดาความหมาย  
3)เปิดดิกและตั้งสติจำ 
4)ท่องและทบทวนบ่อย ๆ  

 ใน 4 วิธีนี้ วิธีที่ 1) – 3) ท่านน่าจะพอเอาไปใช้ได้   ส่วนวิธีที่ 4)นั้น โลกอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้มีตัวช่วยครับ  คือ เมื่อท่านเปิดเข้าไปในหน้าเว็บ จะมีรายการคำศัพท์จากหน้าดิกชันนารีทั้งเล่มให้ท่านไล่ดู เมื่อท่านต้องการดูคำแปลของคำใดก็คลิกคำนั้นได้ทันที (คลิกขวาก่อน, และคลิกซ้าย open in new window หรือ new tab จะได้ close ได้ทันทีเมื่อเลิกดู ไม่ต้องเสียเวลาคลิก Back เพื่อกลับไปยังหน้าเดิม)

การทบทวนคำศัพท์จาก list เหล่านี้  ผมขอแนะนำให้ทำอย่างนี้ครับ
1)คลิกคำที่สนใจ ที่ท่านอยากทราบหรืออยากทบทวนความหมาย
2)เลือกความหมายที่ต้องการจำ เพราะบางคำศัพท์มีหลายความหมาย จำทุกความหมายอาจจะไม่ไหว
3)จำและออกเสียงคำอ่านออกมาดัง ๆ ด้วยปากของตัวเอง  ถ้าออกเสียงไม่ได้หรือไม่มั่นใจในการออกเสียง ก็มักจำคำแปลไม่ได้ ข้อสรุปนี้ก็มาจากประสบการณ์ส่วนตัวอีกเช่นกันครับ
4)เปล่งเสียงคำแปลออกมาดัง ๆ สัก 2 – 3 ครั้ง โดยตั้งใจให้เสียงคำแปลนี้มันตรึงติดสมอง,  ณ วินาทีนี้ ถ้ามีสมาธิมากเท่าไร ก็จะจำได้เร็วและจำได้นานมากเท่านั้น แต่ถ้าจำด้วยสมาธิที่เหลาะแหละ ก็เหมือนใช้ช้อนกรอกน้ำใส่ขวดปากแคบแต่มือสั่น ถึงจะกรอกหลายครั้ง น้ำก็คงลงไปในขวดได้ไม่กี่ซีซี
5)กลับมาทบทวนอีกสัก 2-3 ครั้ง จนจำได้


เอาละครับ ข้างล่างนี้คือ list รายการคำศัพท์ อังกฤษ – ไทย และ ไทย – อังกฤษ ที่ผมรวบรวมมาจากเว็บต่าง ๆ หวังว่าคงจะมีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านบ้างนะครับ

รายการคำศัพท์ จาก พจนานุกรม อังกฤษ-ไทย  และ ไทย – อังกฤษ

[1] จาก Longdo Dictionary  
(คำศัพท์ของแต่ละตัวอักษร รวมอยู่ในหน้าเดียว สะดวกมากในการไล่ดู)
a, b, c, d, e, f, g, h, i, j, k, l, m, n, o, p, q, r, s, t, u, v, w, x, y, z

[2] จาก ดิกชันนารี สอ เสถบุตร
A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z

 [3] จาก LEXiTRON  Dictionary
A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z

[4] จาก  Babylon Quick Reference - Dictionary 
 A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z
  
[5] จาก english-thai-dictionary.com
 A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z

พิพัฒน์
www.facebook.com/e4thai 
GemTriple@gmail.com

5 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมเห็นด้วยกับอ.ครับ แต่โดยส่วนตัวผมเองชอบดูวีดิโอที่อ.แนะนำในบล็อก ที่ีมีผู้ประกาศข่าว อ่านตามอักษรที่วิ่ง
ได้ทั้งศัพท์และการออกเสียง แต่เห็นอ.เขียนแล้วผมเองต้องลองนำไปปรับใช้เสียใหม่แล้ว
ขอให้อ.สุขภาพแข็งแรงครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำดีๆ ค่ะ
อีกวิธีนึง ที่เคยได้ยินมา ก็คือ
ให้ท่องศัพท์ทีละ 2-3 คำ ที่มีความหมายคล้ายกัน
ยังไม่เคยทำ เลยไม่ทราบว่าวิธีนี้ได้ผลหรือเปล่าค่ะ

KrukaiNui กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
KrukaiNui กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำค่ะ

theerawut กล่าวว่า...

ผมเป็นนักแปล ภาษาอังกฤษ (Freelance) มา 20 ปีแล้วครับ เลยอยากจะแชร์ประสบการณ์ สมัยเด็ก ๆ ที่เริ่มฝึกจดจำศัพท์ภาษาอังกฤษครับ ตอนเรียนประถมศึกษา ผมเริ่มเรียน ABC ตอน ป.5 เพราะเป็นโรงเรียนเทศบาลวัดแถวๆ บ้านครับ แต่สนใจภาษาอังกฤษตั้งแต่เริ่ม ป.5 เลยครับ ผมเริ่มต้นโดยใช้วิธีอ่านหนังสือนิทานอีสป ที่มีภาพประกอบและเป็น 2 ภาษา หลังจากนั้นก็ซื้อพจนานุกรม oxford ขนาดกระทัดรัด แบบที่พกใส่กระเป๋าเสื้อนักเรียนได้น่ะครับ แล้วลงมืออ่านทุกคำที่มีอยู่ในนั้นทั้งเล่ม อ่านทุกบรรทัด อ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไปเรื่อยๆ จนเข้าใจความหมาย พอเริ่มมั่นใจขึ้น ก็เริ่มอ่าน pocket books หนังสืออ่านนอกเวลา สำหรับเด็ก English for beginners ประมาณนั้นแหล่ะครับ มารู้ตัวอีกที ตอนสอบเข้า ม.1 ผมก็รู้ศัพท์แบบจำแม่นมาก กว่า 3,000 พันคำเข้าไปแล้ว แต่ขอแนะนำว่า เวลาอ่าน pocket books ให้อ่านให้จบทีเดียวไปเลยครับ อยามัวแต่เปิด dictionary สลับไปมา ทำให้ขาดจินตนาการและการเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด ให้อ่านโดยใช้ context clues ไปก่อน ถ้าอยากรู้ความหมายจริงๆ ให้ย้อนกลับมาเปิดดูความหมายทีหลัง แล้วอ่านซ้ำอีกที สัก 1-2 รอบ รับรองว่าได้ผลแน่ๆ ครับ จะรู้และเข้าใจภาษาอังกฤษได้อย่างลึกซึ้งเลยครับ