วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

[1358]ฉันไม่พูดซะอย่าง ใครจะมาทำอะไรฉันได้... เฮ้อ !!

สวัสดีครับ
ที่บล็อกนี้ ผมไม่เคยเชียร์ให้ท่านผู้อ่านไปเรียนที่โรงเรียนสอนภาษาแห่งใดเลย แต่มักจะมีข้อแนะนำว่า ถ้าจะเสียเงินไปเรียนทั้งที ก็ควรจะทำให้คุ้มค่าหน่อย โดยเตรียมตัวให้พร้อมและตั้งใจเรียนให้คุ้มค่ากับงินที่จ่ายและเวลาที่เสียไปกับการเรียนในห้อง และเวลาที่เสียไปกับการเดินทางซึ่งอาจจะมากกว่าเวลาที่นั่งอยู่ในห้องเรียนซะอีก

วันนี้ผมมีโอกาสได้ไปนั่งสังเกตการสอนในคอร์สสนทนาในโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในกรุงเทพ และได้สัมภาษณ์ชาวอังกฤษคนหนึ่งซึ่งเป็นครูสอนวิชานั้น ผมบอกเขาว่าจะขอนำความเห็นของเขาไปลงให้ผู้อ่านบล็อกอ่าน โดยถามเขาง่าย ๆ ว่า
อะไรคือสิ่งที่ผู้เข้าเรียนคอร์สสนทนาภาษาอังกฤษตามโรงเรียนสอนภาษา ควรทำและไม่ควรทำ (Do’s and Don’ts) และข้างล่างนี้คือความเห็นของเขา

สิ่งที่ควรทำ (Do’s)
1.ในการเลือกโรงเรียน ให้เลือกโรงเรียนที่เปิดสอนมานานเพราะจะมีประสบการณ์ในการสอนมากกว่าโรงเรียนที่เพิ่งเปิดสอน (ข้อนี้ฟังดูก็มีเหตุผล แต่ต้องพิจารณาร่วมกับข้ออื่น ๆ ด้วย)
2.เมื่อเราเสียเงินแล้ว เราย่อมมีสิทธิสอบถามเพื่อเลือกครูที่มีคุณสมบัติตามที่เราต้องการ เช่น ครูสอนดีไหม สนุกไหม สอนมานานแค่ไหน เข้าชั้น late และเลิกก่อนเวลาหรือเปล่า มีลักษณะที่รักการสอนหรือเปล่า ฯลฯ เรื่องพวกนี้เรามีสิทธิถาม เพราะเราเสียเงินแล้ว
3.ถ้าเป็นคอร์ส conversation ควรเจาะจงเลือกครูที่เป็น native speaker จริง ๆ เท่านั้น เช่นต้องเป็นคนอังกฤษ คนอเมริกัน ถ้าเลือกได้ไม่ควรเลือกเรียนกับครูจากฟิลิปปินส์ซึ่งทางโรงเรียนเขาคงจะจ้างมาสอนด้วยราคาที่ถูกกว่า
4.ให้เตรียมตัวทำการบ้านมาก่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้เตรียมแต่งประโยค และซ้อมพูดออกเสียงประโยคนั้นมาจากบ้านล่วงหน้า ซึ่งเป็นประโยคคำถามที่ต้องการถามครู การเตรียมเช่นนี้ จะช่วยให้มีความมั่นในเมื่อถึงเวลาที่จะพูดในห้อง เพราะถ้ามานึกเอาหน้างานล้วน ๆ หลายครั้งก็นึกไม่ค่อยออก ก็เลยไม่ได้พูดหรือพูดได้น้อยเกินไป ยิ่งถ้านักเรียนเยอะ-เวลาน้อย มานั่งในห้องเรียนครั้งหนึ่ง ๆ อาจจะพูดได้จริง ๆ จัง ๆ แค่ 2 ประโยค ไม่คุ้มเลย !!

สิ่งที่ไม่ควรทำ (Don’ts)
1.อย่าเงียบ อย่าอาย อย่ากลัวพูดผิด ให้ตอบทุกครั้งที่ครูโยนคำถามมา ไม่ว่าจะถามเราโดยตรง หรือถามให้ทั้งห้องตอบ, ถ้าไม่ได้พูด เราก็จะพูดไม่ได้ หรือไม่ได้เรียนรู้จากการพูดผิดของเราเอง และไม่ได้ฝึกที่จะพูดใหม่เพื่อแก้ไขให้ถูก

ช่วงที่ผมนั่งสังเกตการสอนอยู่ในห้อง เห็นได้ชัดว่าคนไทยที่เรียนอยู่ในห้องมีสไตล์การพูดที่เฉื่อยชามาก คือคล้าย ๆ กับพูดพึมพำ พูดกระซิบกับตัวเองและกลัวคนอื่นได้ยิน โชคดีอย่างหนึ่งที่ครูชาวอังกฤษคนนี้เก่ง สามารถกระตุ้นให้นักเรียนกล้าพูดได้มาก แต่ผมเห็นว่าถ้าเราต้องการที่จะปรับปรุง speaking skill ของเราเอง เราควรสามารถที่จะกระตุ้นตัวเองให้กล้าพูด ไม่ใช่เอาแต่ตระเวนหาครูที่สามารถกระตุ้นให้เราหายกลัวและกล้าพูด

2. อย่าเก็บไว้ถ้าสงสัยแต่ให้ถามทันที เพราะเรามาเรียนพื่อคิดและพูด ไม่ใช่คิดและเงียบ
หนึ่งคำถามที่เราเปล่งออกไป เราได้ฝึกอย่างน้อย 3 อย่าง คือ ฝึกคิด-ฝึกพูด-และฝึกฟัง เพราะเมื่อถามครูก็จะตอบให้เราฟัง

3.อย่าเปิดดิกขณะเรียนสนทนาในห้อง ถ้าไม่รู้หรือสงสัยให้ถามครู ต้องจำขึ้นใจไว้เลยว่าในชั้นเรียน conversation ครูคือดิกที่เป็นคน จึงอย่าเปิดดิกที่เป็นเล่ม หรือ talking dict, ดิกคอมพิวเตอร์

เรื่องนี้ถ้าครูฝรั่งที่ผมสัมภาษณ์ไม่พูดขึ้นมาผมก็คงลืมไปแล้ว เพราะเคยเห็นอยู่หลายครั้งเหมือนกันที่ในคอร์สสนทนาอย่างนี้ บางคนจะเปิดดิกทุกครั้งที่ติดศัพท์ เมื่อจบการเรียนแต่ละครั้งเขาอาจจะได้ศัพท์ใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 10 คำ แต่อาจจะเอาไปใช้พูดไม่ได้เลยสักคำ

เรื่องที่ผมคุยกับครูฝรั่งคนนี้และเอามาคุยกับท่านผู้อ่านวันนี้ อันที่จริงก็เป็นเรื่องพื้น ๆ อย่างยิ่งและอาจจะแทบไม่มีอะไรใหม่ แต่มีจุดหนึ่งที่ผมต้องการชี้ให้ดูเป็นพิเศษ ก็คือว่า หลายคนบ่นว่า ครูที่สอนภาษาอังกฤษเราในชั้นประถม-มัธยมไม่มีความสามารถ สอนให้เราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ตัวอย่างในชั้นเรียนที่ผมนำเอามาเล่าในวันนี้ก็ไม่ใช่เป็นเหตุการณ์เหลือเชื่อ เพราะมีให้เห็นโดยทั่วไป (ผมขอยืนยัน) นี่หมายความว่ายังไง? ก็หมายความว่า ขนาดบางคนเสียเงินเพื่อซื้อโอกาสในการได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษ ก็ยังไม่ค่อยจะยอมฝึกพูด (อย่างเต็มที่) และที่เราเรียนพูดภาษาอังกฤษมาจากโรงเรียนนั้น เรายังยืนกราน 100 % เช่นเดิมอีกหรือเปล่าที่จะบอกว่า ครูผิด ! ครูผิด ! เราไม่ผิด เพราะครูสอนภาษาอังกฤษไม่ดีทำให้เราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้

ถ้าเรายืนกรานที่จะเงียบก็คงไม่มีใครสามารถทำให้เราพูดได้ แต่ถ้าเราเปิดใจ (และปาก)เพื่อฝึกพูดก็ไม่มีใครอีกเช่นกันที่สามารถห้ามเราได้ จริง ๆ แล้วการที่คนไทยแม้แต่ยุคใหม่นี้พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ สาเหตุมันก็อาจจะไม่ได้ซับซ้อนอะไรนักหนา แต่ละคนก็น่าจะรู้สาเหตุ แต่อาจจะไม่ค่อยอยากยอมรับเต็มปากเต็มคำนัก

เราอาจจะเปลี่ยนหลักสูตร เปลี่ยนเทคโนโลยี เปลี่ยนสื่อและอุปกรณ์การสอน และเปลี่ยนอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่างด้วยหวังว่า เราคงจะพูดภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น แต่เมื่อไม่เปลี่ยนนิสัยการฝึกพูด การเปลี่ยนทั้งหลายแหล่ที่ว่ามานี้ก็แทบจะไร้ความหมาย

ฉันไม่พูดซะอย่าง ใครจะมาทำอะไรฉันได้... เฮ้อ !!

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

4 ความคิดเห็น:

Hahahakkk กล่าวว่า...

หนูก็ไม่กล้าพูดค่ะคอร์สแรกๆ

แต่พอหน้าเริ่มด้าน

มันก็พูดออกมาเอง

เถียงครูด้วยซ้ำสนุกดี

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ด้วยคนนะคะ ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปเรียนเพิ่มเติม แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้ผลอะไรหรือไม่ (กลัวจะเสียตังค์ฟรี) พอมาเจอบล็อคนี้ เหมือนฟ้ามาโปรดเลยค่ะ คงไม่ต้องไปเสียตังค์แล้ว ขอตั้งหน้าตั้งตาเรียนด้วยตัวเองคงจะดีกว่า ขอบคุณนะคะที่สร้างบล็อคนี้มาค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เหมือนฟ้ามาโปรดเหมือนกันค่ะ
ขอบคุณ คุณ พิพัฒน์ มากๆ ที่ สร้าง blog นี้มา
ไม่คิดว่าจะมีคนที่เสียสละเช่นนี้
ขอบคุณจริงๆค่ะ
ดิฉันพยายามฝึกภาษาด้วยตนเอองมาตลอด
ทั้งดูหนัง ฟังเพลง แชทกับชาวต่างชาติ
และมีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติ ก้ยังไม่ค่อยมั่นใจ
เวลาจะพูดจะนึกศัพท์ไม่ออก แต่จะพยายามอธิบาย มั่วๆซั่วๆ ด้วยศัพท์ที่ง่ายๆ แต่ฝรั่งเค้าก็ดีน่ะค่ะ เข้าใจว่าเราไม่เก่ง ก็อดทนและพยายามทำความเข้าใจที่เราพูด
ดิฉันอยากได้คำแนะนำจากคุณ พิพัฒน์ เกี่ยวกัยการเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเอง คือไม่รุ้ว่า จะเริ่มจากตรงไหน อะไร ยังไง
เพราะรู้สึกว่าภาษาอังกฤษของดิฉันสะเปะสะปะมาก
อยากเริ่มเรียนเหมือนเด็กอนุบาลเลย จะดีไหมค่ะ
ขอความกรุณา แนะนำ คนไม่เก่งทีน่ะค่ะ
ขอฝากตัวเป็นศิษย์ด้วยค่ะ
e-mail plantfood.me@gmail.com

pipat - blogger กล่าวว่า...

คุณ pui ครับ
ที่ 2 ลิงค์ข้างล่างนี้ มีหลายบทความ
เลือกอ่านตามที่คุณชอบแล้วกันครับ


http://freeenglishstudy.blogspot.com/2007/05/blog-post_3914.html

http://freeenglishstudy.blogspot.com/2007/05/blog-post_15.html

พิพัฒน์