วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2552

[1180]รายงานการไปร่วมงาน WorldSkills ที่แคนาดา

สวัสดีครับ
ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 9 กันยายน 2552 ผมเดินทางร่วมกับคณะของกระทรวงแรงงาน ไปแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (WorldSkills) ที่เมือง Calgary ประเทศแคนาดา ท่านสามารถคลิกอ่านรายละเอียดเป็นภาษาไทยได้ที่ ลิงค์นี้

เอาอย่างนี้แล้วกันครับ ผมขอเล่าเรื่องที่สื่อมวลชนเขาไม่ได้ลงพิมพ์ ในฐานะคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น และครั้งนี้ก็เดินทางไปด้วยโดยทำหน้าที่ล่ามและผู้ประสานงานกับประเทศเจ้าภาพ และถ้ามีส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษ ก็จะหยิบขึ้นมาเล่าเพราะบล็อกนี้เป็นบล็อกเรียนภาษาอังกฤษ และจริงๆแล้วก็อยากจะพูดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษนี่แหละครับมากที่สุด

ท่านอาจจะสงสัยว่าเยาวชนไทยที่ไปแข่งขันนี้มาจากที่ไหนกันบ้าง ขอตอบว่า พวกเขาคือผู้ชนะการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว(การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ มีจัดขึ้นทุก 2 ปี ผู้เข้าแข่งขันต้องอายุไม่เกิน 20 ปี) หลังจากนั้น เราก็ส่งพวกเขาไปแข่งขันในระดับอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปีเช่นกัน โดยครั้งที่ผ่านมาจัดที่ประเทศมาเลเซีย หลังจากนี้ ก็เอามาเก็บตัวต่อ แล้วคัดจากจาก 2 เหลือ 1 คน ส่งขาแข่งขันในระดับโลก ซึ่งในครั้งนี้ประเทศแคนาดาเป็นเจ้าภาพ

ช่วงที่เก็บตัวฝึกซ้อม นอกจากฝีมือที่ต้องฝึกกันอย่างเข้มข้นแล้ว เราก็สอนภาษาอังกฤษพื้นฐานด้วย ท่านอาจจะสงสัยว่าไปแข่งนี่ต้องพูดภาษาอังกฤษด้วยหรือ ขอตอบว่า พูดสิครับ แม้ว่าแต่ละสาขาจะใช้ภาษาอังกฤษไม่เท่ากันก็ตาม แต่ที่ต้องพูดแน่ๆ ก็คือ พูดกับผู้แข่งขันชาติอื่นๆ (WorldSkills ที่แคนาดาครั้งนี้ มีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 500 คน จาก 50 ประเทศ มีการแข่งขันทั้งหมด 41 สาขา) พูดกับกรรมการ เช่น บอกข้อขัดข้องต่างๆระหว่างที่แข่งขันอยู่ในบูธ หรือเมื่อเสร็จสิ้นงานแข่งขันแล้ว เดินไปซื้อของที่ระลึกตามห้างเพื่อฝากคนทางบ้าน ก็ต้องพูดกับคนขายของ เห็นสาวฝรั่งหน้าตาทรวดทรงดี อยากจะจีบเขา(เยาวชนไทยจำนวน 15 คนที่ไปแข่งขันครั้งนี้ เป็นชายล้วน) ขืนพูดไทยคงไม่ได้เรื่องแน่

ผมเองเดินทางไปกับคณะแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติมาประมาณ 10 ปีแล้ว เห็นปัญหานี้มาโดยตลอด คือ เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ และยิ่งเป็นเด็กทางด้านช่างทั้งหลายด้วยแล้ว มักจะเข้าลักษณะพูดน้อยต่อยหนัก ไม่ต้องเปรียบเทียบกับเด็กฝรั่งหรอกครับ แค่เด็กเอเชียด้วยกัน เช่น มาเลฯ สิงคโปร์ อินโดฯ บรูไน เราก็พูดสู้เขาไม่ได้ และแม้ว่าเราไปแข่งฝีมือช่าง กรรมการเขาไม่ได้ให้คะแนนเพิ่มแก่เด็กที่พูดภาษาอังกฤษเก่ง เพราะเราไม่ได้ไปเข้าแข่งขันประกวดการพูด แต่ท่านผู้อ่านคงจะจินตนาการออกนะครับว่า พอเด็กไทยไปอยู่ในกลุ่มคนที่พูดภาษาอังกฤษกัน ส่วนเราฟังเขาไม่ออกและพูดไม่ได้ ความมั่นใจมันก็ลดลงหน่อยนึงเป็นธรรมดา

ที่ผมเห็นเป็นประจำก็คือ เด็กไทยเป็นกลุ่ม 3 – 4 คน อาจจะรุมจีบเด็กสาวฝรั่ง เรียกว่าพวกมากลากให้กล้า ถ้าจีบเดี่ยว ไอ้หนูเราคงไม่เอา พอจีบแบบแท็คทีม พูดกันคนละคำครึ่งคำก็พอถูไถไปได้ นี่ก็ถือว่าไม่เสียทีที่เกิดเป็นชายชาตรีชาติไทย ในความรู้สึกส่วนตัว ผมเข้าใจหนุ่มน้อยพวกนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งไกลบ้านและห่างแฟน เห็นสาวต่างแดนจะอยู่ทื่อๆก็คงจะผิดวิสัยไปหน่อย

เรื่องที่น่ายินดีก็คือ หลายคนพอกลับมาเมืองไทยแล้วก็มีความคิดที่จะฟิตภาษาอังกฤษของตัวเองให้ดีขึ้น เพราะไปเจอของจริงและได้รู้ว่าภาษาอังกฤษสำคัญ.......สำคัญกว่าที่เคยคิดไว้ สำคัญต่อชีวิตการทำงาน สำคัญต่อการเปิดโลกแห่งความรู้ และสำคัญต่อการมีเพื่อนต่างแดน ภาษาอังกฤษช่วยเปิดโลกได้กว้างไกลไม่สิ้นสุด

สำหรับน้องๆที่เดินทางไปแข่งขันครั้งนี้ หลายคนเพิ่งจะเคยเดินทางไปประเทศเขตหนาวเป็นครั้งแรก ต้องปรับตัวหลายอย่าง ทั้งเรื่องอากาศ อาหาร เวลาตื่น เวลานอน และมีภาระที่ต้องทำงานให้ดีที่สุดในบูธแข่งขัน จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจไม่น้อย แต่เมื่อดูผลการแข่งขัน คือ ไป 15 คน ได้รางวัลติดมือกลับมา 9 คน คือ 2 เหรียญทอง 2 เหรียญบรอนซ์ และ 5 ประกาศนียบัตรฝีมือยอดเยี่ยม ก็ต้องถือว่าพวกเขาทำได้ดีทีเดียวครับ

มีบางท่านบอกว่าให้ผมเล่าเรื่องที่ได้ไปเที่ยวให้ฟังบ้าง ขอเรียนตามตรงครับ แทบไม่ได้ย่างกรายไปไหนเลยครับ เพราะเดินทางไปมาอยู่แค่โรงแรมที่พัก ห้องประชุม และบูธแข่งขัน เท่านั้นเอง

ผมขอเรียนอย่างนี้ดีกว่าครับ ถ้าท่านต้องการท่องเที่ยวไปในโลกโดยตัวอยู่ในบ้าน มีเว็บไซต์ที่ท่านรู้จักดีอยู่อย่างน้อย 4 เว็บไซต์ ซึ่งช่วยให้เราได้ท่องเที่ยวทั่วโลก คือ มีวีดิโอให้ชม มีภาพให้ดู และมีคำบรรยายให้อ่าน โดยท่านเพียงพิมพ์ ชื่อประเทศ , เมืองหลวง เมืองท่องเที่ยว หรือ สถานที่ท่องเที่ยว (พิมพ์: top tourist destinations ชื่อประเทศ ลง search ใน Google) คือ เว็บไซต์ข้างล่างนี้ครับ
http://www.youtube.com/
http://images.google.co.th/
http://maps.google.co.th/
http://en.wikipedia.org/wiki/Main_Page
ขอรับรองว่าเว็บข้างบนนี้จะพาท่านเที่ยวไปได้ทั่วโลก ผมคงไม่ต้องเน้นหรอกครับว่าภาษาอังกฤษสำคัญแค่ไหนในเรื่องเช่นนี้

ขออนุญาตย้อนเรื่องราวท้าวความหลังตามประสาคนแก่สักนิดนะครับ สมัยเป็นนักเรียนมัธยม ผมได้อ่านวรรณคดีที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในต่างแดน 2 เรื่อง คือ
1. นิราศลอนดอน เป็นคำกลอน ประพันธ์โดย หม่อมราโชทัย ถ้าจำไม่ผิด คงจะเป็นคนสมัยรัชกาลที่ 4
2. นวนิยายชีวิตของนักหนังสือพิมพ์ไทยในต่างแดนที่ค่อนข้างเศร้า คือ เรื่องละครแห่งชีวิต ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ระพีพัฒน์

และก็มีนิตยสารบางฉบับที่ผู้เขียนเล่าเรื่องราวท่องเที่ยวประเทศต่างๆ เขาเขียนเล่าว่าไปเที่ยวประเทศนั้นประเทศนี้ ตรงนั้นตรงนี้ บางทีถึงขนาดเล่าว่าผ่านตึกนี้แล้วเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา เจอไอ้นั่นไอ้นี่ อาจจะมีภาพขาวดำประกอบเรื่องบ้าง ท่านผู้อ่านที่เป็นคนรุ่นเดียวกับผมอาจจะรู้สึกเหมือนกับผมบ้างว่า สารคดีท่องเที่ยวเช่นนี้ คนอ่านต้องใช้จินตนาการในปริมาณที่สูงมาก เพื่อนึกภาพให้ออกว่าสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆมันมีสภาพยังไง น่าตื่นตาตื่นใจขนาดไหน

แต่พ.ศ.นี้ ด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่ไม่ต้องง้อจินตนาการมากเหมือนคนรุ่นเก่า ก็เที่ยวได้สนุก สะดวก สบาย เห็นโลกได้ แม้ไม่ต้องออกจากบ้านแม้แต่ก้าวเดียว

ไหนๆก็ไหนแล้ว ผมขออนุญาตเล่าประสบการณ์ที่เคยเที่ยวต่างประเทศมาบ้าง คงจะประมาณ 25 ประเทศ ประเทศละนิดๆหน่อยๆ บ้างก็เที่ยวกับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย บ้างก็เที่ยวกับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ บ้างก็สะพายเป้เที่ยวด้วยตัวเอง ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้นิดหน่อยครับ

ถ้าเป็นการท่องเที่ยวกับกรุ๊ปทัวร์คนไทย บริษัททัวร์คนไทยมักจะมีกิจกรรมเด่นอยู่ 3 อย่างให้ลูกทัวร์ทำ คือ ฉี่ – ช็อบ – แชะ (เข้าห้องน้ำ – ซื้อของ – ถ่ายรูป) และหลายครั้ง เวลาสำหรับการช็อปปิ้งจะมากกว่าการไปเยี่ยมชมสถานที่...มากกว่ามากอย่างน่าประหลาดใจ จนผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมคนไทย(โดยเฉพาะผู้หญิง) ชอบซื้อของกันนัก มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมไปเที่ยวปารีส กับคณะทัวร์ไทย บริษัททัวร์พาพวกเราไปจอดหน้าห้างแห่งหนึ่ง และแนะนำให้พวกเราไปซื้อเครื่องสำอางที่ร้านๆหนึ่ง เมื่อเข้าไปในร้านมีสตรีไทยคนหนึ่ง ชักกระดาษแผ่นยาวๆ ยาวมากกก....ลักษณะคล้ายโพยจดหวยใต้ดิน แต่ทว่าระบุรายการเครื่องสำอางที่เธอจะซื้อให้ตัวเอง ซื้อฝากคนทางบ้าน และคนทางบ้านฝากให้ซื้อ จนเครื่องสำอางหลายรายการเกลี้ยงร้านเพราะน้ำมือเธอ และเมื่อเดินไปในละแวกนั้นอีกหลายๆร้าน ก็พบว่าหลายร้านจับเส้นคนไทยถูก โดยเอาสาวไทยหรือสาวชาติอื่นที่พูดไทยได้มาเป็นคนขาย และมีรายการลดแลกแจกแถม ซึ่งสามารถดึงดูดใจนักช็อบชาวไทยได้มาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิงอีกนั่นแหละครับ

ท่านที่อ่านมาจนถึงบัดนี้ อาจจะถามผมว่า ผมคงไม่ชอบช็อบปิ้งซีนะ—ถูกต้องครับ!

สำหรับทัวร์ไทยหลายเจ้า เวลาที่จัดสำหรับไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ผมรู้สึกว่ามันน้อยเกินไป (เพราะให้ไปกับการช็อบปิ้งซะเยอะ) ผมจึงชอบเที่ยวกับบริษัททัวร์ฝรั่งมากกว่า เพราะเขาไม่ค่อยจะเน้นการช็อบปิ้งเท่าทัวร์ไทย จึงมีเวลามากกว่าสำหรับการศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศนั้น และถ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่งดงามตามธรรมชาติ เราก็จะมีเวลาซึมซับกับความงดงามของธรรมชาติ มีเวลาให้ความรู้สึกได้ซึมซับ หรือ sink in มากกว่า ไม่ใช่มีเวลานิดเดียว เที่ยวแบบกระหืดกระหอบทัวร์ ฉี่ – ช็อบ – แชะ กับทุกสถานที่

สำหรับทัวร์ฝรั่ง เมื่อไปถึงสถานที่ทางประวัติศาสตร์ เขามักจะมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่น (local guide)ผมเคยไปเที่ยวปราสาทนอยชวานสไตน์ ที่ประเทศเยอรมนี ถึง 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1-2 ปี และพบว่า ถ้อยคำที่ไกด์ชาวเยอรมันบรรยายในทั้ง 3 ครั้ง เหมือนกันเด๊ะเลย(ไกด์คนละคน) เหมือนกันแม้แต่มุขตลกที่แทรกระหว่างการบรรยาย ผมว่านี่เป็นเรื่องที่ดีนะครับ เพราะถ้าไม่มีสคริปต์ที่เป็นคำบรรยายแบบมาตรฐานไว้ พอบรรยายไปมากๆเข้า ไกด์ก็อาจจะพูดน้อยลงๆเพราะเบื่อที่จะพูดซ้ำๆ

การไปเที่ยวต่างแดนและพูดภาษาอังกฤษได้นี่นะครับ ทำให้เราได้อะไรมากกว่าการเที่ยวโดยดูด้วยตาเฉย ๆ เพราะเรามีโอกาสพูดคุยกับลูกทัวร์ร่วมคณะซึ่งอาจจะได้แง่มุมดี ๆ กลับบ้านไม่น้อย

อีกอย่างหนึ่ง เป็นแง่มุมด้านภาษาที่เราได้จากการท่องเที่ยว ผมขอยกตัวอย่างสัก 2 เรื่องก็แล้วกันครับ

เรื่องที่ 1 ผมเคยเดินห้างในหลายประเทศ และเข้าไปในร้านขายพวกเครื่องแก้วหรือ เซรามิก ผมมักจะเห็นป้ายภาษาอังกฤษ 4 วรรคนี้ติดโชว์ไว้
Nice to touch,
Nice to hold.
Once broken,
Considered sold.
แต่ที่แคนาดาที่ผมเพิ่งกลับมานี้ ผมเจออีกเวอร์ชั่นหนึ่ง เขาเขียนว่า
We break, we cry.
You break, you buy.

น่าสนใจดีนะครับ สื่อความได้ดี และอ่านครั้งเดียวจำได้เลย

2-3 ปีที่แล้ว ผมไปเที่ยวแคว้นสิกขิมของอินเดีย นอกจากความงดงามของภูมิประเทศแล้ว สิ่งที่เตะใจมากคือ ถ้อยคำเตือนผู้ขับขี่ให้ระมัดระวังอันตรายจากการขับรถในสภาพขึ้นและลงภูเขา เขาเขียนเป็นภาษาอังกฤษเป็นคำคล้องจองอย่างน่าประทับใจมาก เสียดายที่กระดาษที่จดไว้หายไปแล้ว ถ้าผมได้เจอในเน็ตเมื่อไหร่ ก็จะเอามาเล่าครับ

วันนี้คุยมากแล้ว ขอจบแค่นี้ครับ

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

3 ความคิดเห็น:

The diary of bird กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ อาจารย์พิพัฒน์
ที่นำเรื่องเล่าประสบการณ์มาแบ่งปันเป็นวิทยาทาน

ขอให้อาจารย์มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงครับ
ผมเข้ามาบล็อคนี้ทุกวันที่เข้า Internet แต่อาจไม่ค่อยได้คอมเม้นเท่าไหร่

คืนนี้ฝันดีนะครับอาจารย์

Sarut กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ อาจารย์
ดีใจครับ ที่มีเว็บไซต์ให้ความรู็แก่คนที่อ่อนภาษาแบบนี้
หวังว่าอาจารย์จะเขียนต่อไปเรื่อยๆนะครับ
ยังไงจะเข้ามาติดตามผลงานตลอดไปครับ

SophieArtDoll กล่าวว่า...

เขียนได้สนุกดีพี่...ไม่น่าเชื่อ