วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

[987]richreads.com –หลายเรื่องรอท่านเข้าไปเรียนรู้

สวัสดีครับ
เว็บที่จะแนะนำวันนี้คือ http://www.richreads.com/ โดยสโลแกนของเว็บคือ “Learn English with Rich Reads
พร้อมประโยคบรรยายเว็บว่า “Rich Reads is a huge directory of articles and news stories where you can learn English while discovering more about English language and culture. “ - Rich Reads เป็น directory ขนาดมหึมาซึ่งมีบทความและข่าวให้คุณได้อ่านเพื่อศึกษาภาษาอังกฤษพร้อม ๆ ไปกับเพิ่มความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมอังกฤษ

เขาแบ่งเรื่องที่อ่านออกเป็น 6 กลุ่ม คือ
1) All Categories
2) Business English
3) English Grammar
4) General
5) Speaking English
6) Vocabulary

ผมเข้าไปอ่านดูแล้วและพบว่า เว็บนี้ดีมาก ๆ เลยครับ เขาไปเอาข่าวและบทความต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากเว็บอื่นมาลงไว้ในเว็บนี้ บางเรื่องมีเสียงให้ฟัง มีคำอธิบายอื่น ๆ ประกอบ และมีแบบฝึกหัดหรือแบบทดสอบให้ทำด้วย ขอชวนอย่างรุนแรงให้ท่านลองเข้าไปชม แล้วก็จะได้สิ่งที่เว็บเขาบอกไว้ คือ “...ได้อ่านเพื่อศึกษาภาษาอังกฤษพร้อม ๆ ไปกับเพิ่มความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมอังกฤษ”

* * * * *
เอาละครับ หมดเรื่องที่ผมจะแนะนำเกี่ยวกับเว็บ richreads.com แล้ว ต่อไปนี้ขออนุญาตให้ผมได้คุยเรื่องทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับการศึกษาภาษาอังกฤษสักนิดนะครับ

ผมได้อ่านมาหลายที่เกี่ยวกับสถิติการอ่านหนังสือของคนไทย ซึ่งได้ภาพกว้าง ๆ ว่า ในปีหนึ่ง ๆ เฉลี่ยแล้วคนไทยอ่านหนังสือคนละไม่เกิน 10 บรรทัด ซึ่งหลายคนก็บอกว่าเป็นสถิติที่ต่ำกว่าหลายประเทศรอบบ้านเราหรือหลายประเทศในโลกนี้ หลายหน่วยงานพยายามทำให้คนไทยขยันอ่านหนังสือมากกว่านี้ ผมไม่รู้ว่าทำได้สำเร็จแค่ไหน

เมื่อย้อนกลับมาดูการพัฒนาภาษาอังกฤษซึ่งก็เป็นวัตถุประสงค์ของบล็อกนี้ด้วย มีคำถามว่า ถ้าอ่านหนังสือน้อยมันจะเป็นยังไง?

มีเรื่องที่ผมอยากจะเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบก็คือ ในการทำบล็อกนี้ คำถามส่วนใหญ่ที่ผมได้รับ มักจะป้วนเปี้ยนอยู่กับเรื่องการพูดมากที่สุด รองลงมาคือการฟัง เรื่องอ่านมีคนถามมาน้อย และเรื่องเขียนมีคนถามมาน้อยที่สุด ถ้าเอาคำถามเหล่านี้เป็นตัวชี้บอก ผมก็ต้องสรุปว่า หลายท่านอยากจะพูดได้ – ฟังรู้เรื่อง โดยไม่อยากจะข้องแวะหรือเสียเวลากับการอ่านหรือการเขียน!

แต่เราจะตัดการอ่านออกไปได้หรือครับ…?

ผมขอเปรียบทักษะทั้ง 4 ของภาษาอังกฤษ คือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน เหมือนกับอิริยาบถทั้ง 4 ของคนเรา คือ การยืน การเดิน การนั่ง และการนอน ในวันหนึ่ง ๆ เราต้องมีครบทุกอิริยาบถ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย และแม้เราจะใช้เวลากับแต่ละอิริยาบถไม่เท่ากันแต่มันก็ควรจะสมดุลกัน ไม่เช่นนั้นร่างกายจะไม่แข็งแรงหรือถึงขั้นโรคภัยถามหา เช่นคนที่ทำงานนั่งโต๊ะนานเกินไปในแต่ละวันติดต่อกันหลายปี โดยแถบไม่ได้เดิน หรือเดินเร็ว ๆ หรือวิ่งมาถ่วงให้สมดุลกัน มักจะไม่แข็งแรงและเป็นโรค คนที่มีอิริยาบถไม่ครบ 4 ไม่แข็งแรงเช่นไร คนที่ฝึกภาษาอังกฤษไม่ครบ 4 ทักษะ ก็มักจะไม่แข็งแรงเรื่องภาษาอังกฤษฉันนั้น

ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น...?

ขอยกตัวอย่างท่านที่ต้องการพูดได้ – ฟังรู้เรื่อง แล้วกันครับ สมมุติว่าท่านเอาแต่ฝึกฟังและฝึกพูด แต่ไม่สนใจการอ่าน สิ่งที่ท่านจะได้รับก็คือ หูของท่านจะมีความชำนาญมากขึ้นในการจับสำเนียงที่คนอื่นพูด และเข้าใจสำนวนที่ได้ยินบ่อย ๆ และปากของท่านจะมีความชำนาญมากขึ้นในการเปล่งเสียงเป็นถ้อยคำที่ทำให้คนฟังรู้เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการใช้ศัพท์สำนวนที่ท่านได้ยินบ่อย ๆ

คำถามก็คือ ถ้าท่านต้องฟังหรือพูด เรื่องที่มีเนื้อหายาก ๆ มีศัพท์และสำนวนยาก ๆ มีโครงสร้างประโยคยาก ๆ ฯลฯ ท่านจะฟังรู้เรื่องหรือไม่? และ ท่านจะสามารถพูดให้คนอื่นฟังรู้เรื่องได้หรือไม่? คำตอบก็คือ อาจจะทำได้แต่จะยากหรือกระท่อนกระแท่นมาก หรือทำไม่ได้ ตรงนี้แหละครับที่ต้องอาศัยการอ่าน

การฝึกอ่าน ช่วยท่านในเรื่องการพูดและการฟังได้อย่างไร...?

เมื่อเราอ่าน เราจะมีเวลามากพอที่จะย่อยเรื่องที่อ่าน ทำให้มีความรู้ในเนื้อเรื่อง, ทำให้เข้าใจศัพท์ เข้าใจสำนวน เข้าใจโครงสร้างของประโยคที่เราจะต้องไปได้ยิน หรือโครงสร้างของประโยคที่เราจะต้องเปล่งออกไป, การย่อยหรือตีความเนื้อเรื่อง ศัพท์ สำนวน โครงสร้างภาษา ฯลฯ เหล่านี้อาจจะต้องใช้เวลามากพอสมควร และต้องทำล่วงหน้า ถ้าเราลุยออกไปฟังหรือพูดโดยไม่เตรียมตัว มีโอกาสสูงทีเดียวที่เราจะฟังหรือพูดไม่รู้เรื่อง พูดสั้น ๆ ให้จำง่ายก็คือ การอ่านช่วยเราให้มีความพร้อมเรื่อง ‘ศัพท์-สำนวน-โครงสร้างภาษา’ และเมื่อเราฟังหรือพูด เราก็มีหน้าที่เพียงแค่ฟัง ‘สำเนียง’ให้รู้เรื่อง และพูดด้วย ‘สำเนียง’ที่คนอื่นฟังรู้เรื่อง ถ้าขืนต้องแบกภาระทั้งเรื่องสำเนียงและสำนวนขณะพูดหรือฟัง มันจะหนัก และไปได้ช้ามาก และท่านอาจจะต้องบ่นกับตัวเองอยู่เนือง ๆ ว่า ‘ฝึกฟังมาตั้งนานแล้วทำไมฟังไม่รู้เรื่องสักที’ หรือ ‘ฝึกพูดตั้งนานแล้วก็ยังพูดไม่ได้ดังใจ’

สรุปง่าย ๆ ก็คือ ถ้าอยากพูดได้-ฟังรู้เรื่อง ต้องเตรียมตัวด้วยการอ่าน ยิ่งถ้าได้อ่านออกเสียงบ้างบางครั้งบางคราว ก็เท่ากับเป็นการฝึกปากให้เชื่อง พูดออกเสียงได้อย่างที่ใจสั่ง ไม่พยศเมื่อถึงเวลาที่ต้องพูดจริง ๆ

ขอย้อนกลับไปเรื่องสถิติการอ่านหนังสือของคนไทย ผมเข้าใจว่าการที่คนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือนี้ คงจะมีหลายสาเหตุ แต่เอาเป็นว่า เราไม่ต้องไปสนใจมันก็ได้ครับ ถ้าตัวท่านเองอยากจะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อพูดจาสื่อสารกับชาวต่างประเทศ แต่ท่านมีนิสัยไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอะไรก็ตามในโลกนี้ ท่านต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้อ่านมากขึ้นแล้วหละครับ เพราะเมื่อท่านอ่านมากขึ้น จะช่วยให้ท่านฟังได้ดีขึ้น พูดได้ดีขึ้น และเขียนได้ดีขึ้น ถ้าไม่อ่านหรืออ่านน้อยเกินไป ก็เหมือนทหารออกรบโดยไม่มีอาวุธ เมื่อไปเผชิญกับภาระหน้าที่หรือศัตรูข้างหน้าคือการพูดสื่อสาร ก็มีแต่จะแพ้ เท่านั้นเองครับ

[ศึกษาเพิ่มเติม: รวมเว็บเพื่อพัฒนา การอ่าน readingในบล็อกนี้]

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

1 ความคิดเห็น:

English test กล่าวว่า...

Thank you very much, this's very helpful