วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[1999]ฝึกแปล – ฝึกพูด จากคลังประโยค Th-En sealang.net

สวัสดีครับ
เมื่อมีคนถามผมว่า ผมฝึกอย่างไรให้พูด (หรือเขียน)ภาษาอังกฤษได้อย่างที่ใจอยากพูด (หรืออยากเขียน) ผมก็มักตอบไปตรง ๆ ตามที่ฝึกมาจริง ๆ ว่า อ่านบ่อย ๆ และฟังบ่อย ๆ และเมื่อถึงเวลาที่ต้องพูดหรือเขียน มันก็ออกมาเองแหละ (จากปากหรือจากมือ) 

ดูหมือนคำตอบเช่นนี้จะทื่อ ๆ ยังไงก็ไม่รู้  แต่ก็เป็นคำตอบที่ดีที่สุดที่ผมสามารถให้ได้  คำตอบอื่น ๆ อีกที่สามารถให้ได้ก็ไม่ดีเท่าคำตอบทื่อ ๆ แบบนี้

ผมขอแกล้งทำตัวเป็นนักวิชาการสักเล็กน้อย  อธิบายว่า ผมได้ทักษะในการอ่านภาษาอังกฤษมาได้อย่างไร หรือฝึกอ่านอย่างไร อย่างนี้ครับ

[1]-ตอนที่หัดอ่าน ตั้งแต่ชั้นประถม ขึ้นมาถึงชั้นมัธยม และมหาวิทยาลัย ทีแรก ๆ ตอนอ่านแต่ละประโยค มันไม่ได้เข้าใจปร๊าดไปเลย ต้องแกะทีละหน่อย ๆ เช่น ไม่เข้าใจศัพท์ ต้องเดา, เดาไม่ออกก็ต้องเปิดดิก, เปิดดิกแล้วก็ต้องเลือกเอามา  1 ความหมายจากหลายความหมายที่ดิกให้ไว้, ได้ความหมายแล้วก็ต้องเอามาดูเพื่อแปลทั้งประโยค, แปลแล้วบางท็ยังไม่เข้าใจต้งเดาหรือตีความอีก ฯลฯ  กว่าจะเข้าใจแต่ละประโยคได้ดูมันงุ่มง่ามไปหมด นี่หมายถึงประโยคที่ผมต้องการอ่านให้เข้าใจ 100 % นะครับ

[2]-ส่วนประโยคที่ผมต้องการอ่านเพียงจับใจความคร่าว ๆ หรือใจความหลัก  ผมก็ไม่ต้องทำอย่างข้างบน ถ้ามันพอรู้เรื่องก็เอาหละ

หลังจากผ่านวันเวลาของการอ่านไปหลาย ๆ ปี  ผมได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า เราควรจะฝึกอ่านด้วยวิธีทั้ง [1] และ [2] คืออ่านแบบละเอียด และอ่านแบบหยาบ เพราะอะไรจึงพูดแบบนี้ คำตอบก็คือ
ถ้าอ่านทุกครั้งจะต้องอ่านอย่างละเอียดลูกเดียว  เราจะไปได้ช้ามาก และเบื่อ แถมยังไม่ได้ฝึกวิธีอ่านแบบกวาดตา ข้าม กระโดด อะไรทำนองนั้น เพราะจ้องจับจะอ่านให้ได้เนื้อหาทุกโมเลกุล อย่างนี้ก็คงไม่ไหว เพราะถ้าเราดูโครงของเรื่องที่อ่านเสียก่อน ก็อาจจะเห็นว่าใจความสำคัญมันอาจจะอยู่ที่ตอนต้น-ตอนกลาง-ตอนท้ายของเรื่อง จึงอาจไม่จำเป็นที่ต้องละเลียดอ่านไปทีละตัว ๆ  แต่อย่างไรก็ตาม บางครั้งหรือหลายครั้งเราก็ต้องอ่านแบบละเอียด เพราะเราจะได้ฝึกการตีความ และที่สำคัญคือฝึกวิเคราะห์แกรมมาร์หรือโครงสร้างของประโยค ว่าอะไรเป็นประธาน-กริยา-กรรม หรือ กลุ่มประธาน-กลุ่มกริยา-กลุ่มกรรม อะไรเป็นคำขยาย หรือคำที่ถูกขยาย ทักษะในการวิเคราะห์เช่นนี้เป็นทักษะที่จำเป็น ขอย้ำครับ เป็นทักษะที่จำเป็น ในการอ่านเรื่องให้แตก

สำหรับเรื่องนี้ ผมขอแนะนำให้อ่าน 2 ลิงค์ข้างล่างนี้ครับ
คลิกป้ายลูกศรที่ด้านขวาของหน้า เพื่อดูบทที่ 10-15

 ในช่วงหลายปีที่เป็นนักศึกษาและฝึกอ่านภาษาอังกฤษ ผมได้พบภาษาอังกฤษควบภาษาไทยที่พิมพ์ออกมาสำหรับคนเรียนภาษาอังกฤษ  ซึ่งมักจะเป็นข่าว คำคม นิทาน หรือเรื่องสั้น และส่วนใหญ่ต้นฉบับมักเป็นภาษาอังกฤษ  และมีคำแปลเป็นภาษาไทย  ข้อสรุปของผมเกี่ยวกับข้อความ 2 ภาษาเช่นนี้ก็คือ มันมีประโยชน์ถ้าใช้ถูก และมีโทษถ้าใช้ผิด

การใช้ให้ถูกต้องก็คือ เมื่อเราอ่านต้นฉบับแล้ว เช่น ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนที่เราจะอ่านคำแปลเป็นภาษาไทยที่เขาพิมพ์ไว้ให้ดู  ขอให้เราใช้สมองอย่างน้อย 50 % แปลด้วยตัวเองซะก่อน  เช่นพอให้รู้ว่า 1)ตรงนี้เราแปลได้ 2)ตรงนี้เราไม่แน่ใจ 3)ตรงนี้เราแปลไม่ออก  แล้วจึงค่อยอ่านคำแปลที่เฉลยไว้   แต่ถ้าเรารีบจ้วงลงไปอ่านก่อนที่เราจะออกแรงสมอง สมองก็จะอ่อนแอลงทุกวัน ยิ่งอ่านมากยิ่งอ่อนแรง เพราะได้แต่อ่านแต่ไม่ได้ออกแรงแปล   หรือออกแรงน้อยเกินไป   เราอาจจะเข้าใจแต่ไม่ได้พัฒนาสมอง  และอีกอย่างหนึ่ง อาจจะมีหลายสำนวนแปลที่ถูกต้องซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

และวันนี้ผมมีเว็บเว็บประโยคตัวอย่างที่มีคำแปลให้ด้วย  เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นภาษาพูด ซึ่งผมเห็นว่าดีเพราะเราจะได้จดจำหรือเลียนแบบเอาไปพูดได้

ไปที่ลิงค์นี้ครับ: http://www.sealang.net/thai/bitext.htm
ในคอลัมน์ซ้ายมือใต้คำว่า Bitext Corpus Search มีช่อง 2 ช่อง, ให้ท่านพิมพ์ศัพท์ลงไปในช่องใดช่องหนึ่ง คือ
-
ที่ช่องบนThai: ให้ท่านพิมพ์ศัพท์ภาษาไทยลงไป หรือ
-
ที่ช่องล่าง West: ให้ท่านพิมพ์ศัพท์ภาษาอังกฤษลงไป
Enter
จะมีประโยคภาษาไทยเทียบภาษาอังกฤษมากมายให้ท่านศึกษา
หมายเหตุ:
1)ที่ช่องบนThai: บางช่วงก็เกเรใช้การไม่ได้ ถ้าเจออย่างนี้ก็ให้ใช้ ช่องล่าง West: ช่องเดียวก่อน
 2) ถ้าใช้ browser IE และเว็บไม่แสดงผล, ให้เปลี่ยนไปใช้  browser firefox หรือ Google Chrome

ผมหวังว่า เว็บ sealang.net ที่แนะนำวันนี้ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ท่าน ฝึกอ่าน-ฝึกแปล-ฝึกเขียน ได้ดีพอสมควร

พิพัฒน์
e4thai@live.com

ไม่มีความคิดเห็น: