สวัสดีครับ
มีบางท่านถามผมว่า ทำอย่างไรจึงจะเขียน essay ได้ดี?
ตามความเห็นของผม การจะเขียน essay หรือ เรียงความหรือความเรียง ได้ดีต้องอาศัยหลายปัจจัย แต่สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในใจก็คือ การจะเป็นนักเขียนที่ดีต้องเป็นนักอ่านที่ดี อ่านเยอะๆ อ่านแล้วรู้จักวิเคราะห์และสังเกตสิ่งที่อ่าน ทั้งในด้านเนื้อหาและสไตล์ การเขียนไม่ว่าภาษาอะไรก็คงเป็นเช่นนี้ทั้งนั้น
ผมเคยอ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ รับผิดชอบจัดทำ และก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ลักษณะการเขียนแผนชาติฯ นี้ น่าศึกษาและจดจำไปใช้เขียนเอกสารที่เป็นงานเป็นการ เพราะอ่านแล้วดูดีมีสกุลรุนชาติ ทั้งในด้านเนื้อหาที่กระชับ สอดคล้องกัน ใช้ศัพท์ สำนวน และรูปแบบประโยค ที่อ่านแล้วเข้าใจชัดเจนและน่าเบื่ออย่างน่าชื่นชม เป็นหนังสือที่เขียนด้วยสำนวนไร้อารมณ์และน่านิยมคนเขียนเป็นอย่างยิ่ง
งานที่ผมทำอยู่ต้องเขียนเอกสารภาษาอังกฤษที่เป็นความเรียงทางวิชาการอยู่บ้าง (ไม่มากนัก) และผมก็เห็นว่า สำนวนการเขียนทางวิชาการของแผนชาติฯ ฉบับภาษาอังกฤษนี้น่าศึกษามาก ทั้งด้านการใช้ศัพท์ สำนวน รูปแบบประโยค การแสดงเหตุผลและคำอธิบาย และเชื่อมโยงร้อยเรียงเนื้อหาทีละย่อหน้า ทีละบท ฯลฯ การศึกษาเช่นนี้ต้องใช้เวลาและความอดทนสูงมาก แต่ถ้าใครเขียนได้ ไม่ต้องเป็นภาษาอังกฤษหรอกครับ แค่เป็นภาษาไทยนี่แหละ เขาก็อาจจะเป็นคนเด่นในที่ทำงาน เพราะสามารถทำเรื่องที่คนอื่นทำไม่ค่อยได้ ยิ่งถ้าสามารถเขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ยิ่งจะเป็นคนเด่นมาก
ในเว็บของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ มีแผนชาติตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงปัจจุบันให้เราศึกษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผมขอชักชวนว่า ถ้าท่านใดต้องการศึกษาการเขียนความเรียงทางวิชาการที่ดี ทั้งเนื้อหาและสำนวน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ขอให้ศึกษาจากแผนชาติฯ นี่แหละครับ ท่านจะได้อย่างที่ต้องการแน่ ๆ ถ้าไม่เบื่อและหยุดอ่านซะก่อน
ผมขอยกตัวอย่าง Introduction ของ Chapter 3 ของแผนชาติฯ ฉบับที่ 10 ท่านลองเข้าไปอ่านอย่างน้อย 2 เที่ยวนะครับ คลิก
ขอให้ท่านสังเกตสิ่งต่อไปนี้
-การเรียงร้อยเนื้อหาจากผลไปสู่เหตุหรือเหตุไปสู่ผล ประกอบด้วยคำอธิบายขยายความทีละประเด็น ๆ
-การใช้คำนาม (noun) หรือคำกริยา (verb) หรือคำขยาย (adjective หรือ adverb) ท่านจะสังเกตว่าคำเหล่านี้ที่เขาเลือกมาใช้ เป็นคำที่อมความหมาย เป็นคำใหญ่มีพลังและดูหรูหรา บางทีเราอาจจะต้องจดลงสมุดโน้ตเอาไปใช้บ้าง เพราะคิดเองอาจจะคิดคำพวกนี้ไม่ค่อยออก
-สิ่งที่ผมอยากให้ท่านสังเกตเป็นพิเศษก็คือ การผูกประโยคภาษาอังกฤษ ในฐานะที่ผมต้องรับผิดชอบการแปลต้นฉบับภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษอยู่บ้าง ทำให้พบบ่อยว่า บางครั้งคนไทยเราใช้ “ที่”, “ซึ่ง”, “อัน”บ่อยมากในการเชื่อมข้อความ จนทำให้แต่ละประโยคยาวมาก ถ้าต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยยึดโครงสร้างประโยคแบบภาษาไทยเป๊ะ ๆ ก็จะได้ประโยคภาษาอังกฤษที่ยาว...วววววว.... มาก ๆ และไม่น่าอ่านเลย
เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านสังเกตวิธีการเขียนที่ไม่ทำให้แต่ละประโยคยาวเกินไป แต่เนื้อหาก็ไหลลื่นสอดคล้องสนับสนุนกันได้ เช่น วิธีการหยุด การเชื่อม การเรียงร้อยถ้อยคำและเนื้อหา เป็นต้น
พูดมาถึงตรงนี้ทำให้ต้องบ่นหน่อยว่า บางครั้ง ความยากของงานแปลไม่ได้อยู่ที่การแปล แต่อยู่ที่เนื้อหาที่เขาส่งมาให้เราแปล ซึ่งหย่อนทั้งในการเรียงร้อยถ้อยคำและเหตุผล มันทำให้อึดอัดใจที่ต้องแปลไปอย่างนั้น แต่จะให้เรา “ปรับ” เนื้อหาซะเองก็อึดอัดใจอีกนั่นแหละ เพราะผู้ “แปล” ไม่ควรเป็นผู้ “แปลง” ข้อความ
รู้สึกผมจะคุยยาวเกินไปซะแล้ว ต่อจากนี้ท่านลองเข้าไปศึกษาแผนชาติฯ และลองดูนะครับว่า มันช่วยให้ไอเดียแก่เราในการเขียนความเรียงภาษาอังกฤษให้ดีขึ้นอย่างที่ผมว่าไว้ได้บ้างหรือเปล่า ขอเชิญครับ...
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 – 10 (ภาษาไทย)
คลิก
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 – 10 (ภาษาอังกฤษ)
เข้าไปแล้ว คลิกที่ลิงค์ด้านบนของหนังสือเพื่อดาวน์โหลด คลิก
แผนฯ 11 ภาษาไทย คลิก
แผนฯ 11 ภาษาอังกฤษ คลิก
พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com
วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น