สวัสดีครับ
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของงานสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ วันนี้ผมขอพูดถึงหนังสือธรรมะสักนิดนะครับ
ทุกปีผมจะเห็นหนังสือประเภทแนะนำแนวทางการดำเนินชีวิตวางจำหน่ายในชื่อเรื่องต่าง ๆ นานา ซึ่งโดยสรุปก็คือแนะนำการทำให้ชีวิตมีความสุขประสบความสำเร็จ
สิ่งหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจก็คือ หนังสือประเภทนี้ที่คนทั่วไปเรียบเรียงกับที่เป็นคำสอนของพระ อย่างไหนคนซื้อมากกว่ากัน มีบางคนที่ผมรู้จักไม่ชอบอ่านหนังสือที่เป็นคำสอนของพระ แต่ชอบธรรมะแนวจิตวิทยาสมัยใหม่มากกว่า
ถ้าให้ผมเดาสาเหตุที่เขาไม่ชอบคำสอนของพระก็อาจจะเป็นเพราะว่า เขาเห็นว่าพระกับเขาอยู่คนละโลก พระอยู่ในวัดตัดกิเลสแล้ว แต่เขาอยู่ในโลกที่ยังต้องมีกิเลส เขาจึงไม่ต้องการคำสอนที่ให้ละกิเลสแต่ต้องการคำแนะนำในการดำเนินชีวิตอย่างประสบความสำเร็จและมีความสุข ทั้ง ๆ ที่ยังมีกิเลสอยู่เยอะเช่นเดิมนี่แหละ ความรู้สึกของเขาอาจจะไม่ชัดเจนโต้ง ๆ อย่างที่ผมพูดนี้ แต่น่าจะเป็นไปทำนองนี้
ยิ่งถ้าพระเอาแต่ใช้ technical term ภาษาบาลีที่ยังฉุนกลิ่นจีวร หรือยกตัวอย่างประกอบคำสอนเป็นตัวละครจากนิทานชาดกหรือบุคคลที่เป็นชาวอินเดียซึ่งปรากฎนามในพระไตรปิฎก ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าพระพูดอะไรก็ไม่รู้ ฟังไม่รู้เรื่อง!
ความรู้สึกของท่านเหล่านี้เป็นความรู้สึกที่ฟังขึ้นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ผมขอแสดงความเห็นตรงนี้นิดนึงครับ
ก็คือว่า พระหลายท่านที่สำนักพิมพ์นำคำสอนไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือออกวางขาย หรือมีคำสอนให้อ่านฟรีในเน็ต หลายท่านเคยผ่านชีวิตฆราวาสมาแล้ว จะพูดว่าท่านไม่เข้าใจชาวโลกก็คงไม่ได้ และบางท่านแม้จะบวชต่อเนื่องมาตั้งแต่วัยเยาว์หรือเมื่ออายุครบบวช แต่เห็นได้ชัดว่าท่านมีสติปัญญามองทะลุความเป็นไปของชาวบ้าน
ผมเคยเจอคำอุปมาอุปมัยเรื่อง “หนอน” กับ “นก” ก็คือว่า หนอนที่อยู่ตามต้นไม้จะรู้จักรายละเอียดของต้นไม้ต้นหนึ่งเป็นอย่างดี รู้จักกิ่งทุกกิ่ง ก้านทุกก้าน แต่นกที่บินสูงจะรู้จักต้นไม้ทั้งดง ทั้งสวน หรือทั้งป่า ฉะนั้น ในขณะที่หนอนไม่รู้จักต้นไม้ทั้งป่า นกก็ไม่รู้จักรายละเอียดของต้นไม้แต่ละต้น นกไม่เข้าใจความรู้สึกของต้นไม้ แต่หนอนก็ไม่เข้าใจความรู้สึกของป่าไม้
เมื่อเราอ่านหนังสือธรรมะ เราคาดหมายอะไรจากคนเขียนหนังสือ? ผมคิดว่าเราต้องการอย่างน้อย 2 อย่าง คือ เราต้องการให้ผู้เขียนเข้าใจความทุกข์ของเราตามประสาชาวโลก และเราก็ต้องการให้ผู้เขียนชี้ทางให้เราออกจากความทุกข์อย่างคนที่ “เหนือโลก” พูดง่าย ๆ ก็คือ เราต้องการให้ผู้เขียนรู้ทั้งอย่าง “นก” และอย่าง “หนอน” คือ “เข้าใจ” ความทุกข์ของเรา และช่วยชี้แนวทางให้เรา “ยกใจ” ขึ้นเหนือความทุกข์ได้
Keyword ที่ติดใจผมมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือคำว่า “ความสุข” เคยได้ยินแว่ว ๆ มานานแล้วว่า ในคำประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา(Declaration of Independence) เมื่อตั้งประเทศ บอกไว้ว่าคนอเมริกันมีสิทธิในการไขว่คว้าหาความสุข (the pursuit of Happiness) แต่ผมสงสัยว่าพอเอาเข้าจริง ๆ แล้ว การเขียนเช่นนี้มันจะมีประโยชน์อะไรหรือเปล่า
ในเมืองไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มี “ชาววัด” จำนวนมากพอสมควรที่เทศน์ให้ “ชาวบ้าน” ฟังเรื่อง “ความสุข” ผมเองอ่านมามากพอสมควรและเห็นว่าท่านเหล่านี้เป็น “นก” ที่รู้จักชีวิตของ “หนอน” ท่านเห็นต้นไม้ทั้งป่าและเห็นต้นไม้แต่ละต้น ท่านเข้าใจความทุกข์และรู้จักวิธียกใจขึ้นเหนือความทุกข์ และท่านก็สอนเรา...
ถ้าท่านใดยังไม่เคยอ่านหนังสือหรือคำสอนของท่านเหล่านี้ ผมขอชวนครับ
-ความสุข (อาจารย์พุทธทาสภิกขุ) คลิก
-กลอน “ความสุข” (อาจารย์พุทธทาสภิกขุ) คลิก 1 หรือ คลิก 2
-สันโดษ... เคล็ดลับของความสุข (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก) คลิก
-อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก) คลิกอ่าน
-เสียงอ่านหนังสือ "อานาปานสติ วิถีแห่งความสุข" (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก) คลิกฟัง
-คู่มือความสุข (ธรรมรักษา) คลิก
-ความสุข ความทุกข์ ราคาเสมอกัน (ว.วชิรเมธี) คลิก
-ความสุขที่ถูกมองข้าม (พระไพศาล วิสาโล) คลิก
-เติมความสุขในยุคเศรษฐกิจติดลบ (พระไพศาล วิสาโล) คลิก
-ปรุงแต่งใจให้เป็นสุข...พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) คลิก
-ความสุข ๕ ชั้น...พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) คลิก
-ศีล...นำความสุขมาให้ (พระอาจารย์สุรพจน์ สทฺธาธิโก) คลิก
-ธรรมะแห่งความสุข (พระอาจารย์จี้กง) คลิก / คลิกดาวน์โหลด
-เดินไปสู่ความสุข (ธรรมกาย) คลิก
-ความสุขที่แท้จริง (อาจารย์วศิน อินทสระ) คลิก
ศึกษาเพิ่มเติม:
1. ฟังธรรม หลวงพ่อชา คลิก
2.เธอจงระวังความคิดของเธอ หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง
คลิก 1 หรือ คลิก 2
3.อ่านตำราว่าด้วยความสุข (ภาษาอังกฤษ)
พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com
วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น