วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

[1543] การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ “ติดเพดาน”

สวัสดีครับ
วันนี้เพื่อนร่วมงานรุ่นน้องของผมถามผมว่า “ในบล็อกที่พี่ทำอยู่ มีใครถามคำถามทำนองนี้ไหม คือ เราฝึกภาษาอังกฤษมาได้สักระยะหนึ่ง ตอนระยะแรก ๆ มันก็ดูเหมือนว่ามีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่พอมาถึงระยะหนึ่ง เรารู้สึกว่า การพัฒนามันหยุด เหมือน ‘ติดเพดาน’ และจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี ?”

ผมฟังเขาพูดและคิดตามก็เห็นว่ามีเค้าความจริงมากทีเดียว อย่างเช่นงานที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ ต้องติดต่อทางอีเมลกับหน่วยราชการในประเทศกลุ่มอาเซียนเกือบทุกวัน หรือบางครั้งบางคราวก็มีแขกจากหน่วยงานเหล่านั้นมาเยี่ยมกรมที่ผมทำงาน มีการพูดคุยกันในที่ประชุมบ้าง พาไปนอกสถานที่บ้าง หรือบางครั้งก็คุยกันทางโทรศัพท์ เห็นได้ชัดว่า งานที่พวกเราทำ เราจะอ่านเรื่องเดิม ๆ ฟังเรื่องเดิม ๆ พูดคุยเรื่องเดิม ๆ และเขียนเรื่องเดิม ๆ และดูจะเหมือนกับที่เขาตั้งข้อสังเกต คือระดับของทักษะภาษาอังกฤษที่มีอยู่มัน “ติดเพดาน” มันไม่ลดต่ำลง แต่มันก็ไม่สูงกว่าเดิม หรือถ้าหากสูงขึ้นก็น้อยมาก

ย้อนไปตอบคำถามข้างต้น ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี? ผมขอพูดตามประสาคนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการสอน และมีประสบการณ์เพียงนิดหน่อยจากการทำงานที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ คือผมมีความเห็นว่า ภาษาอังกฤษนั้นมีอยู่ 4 ทักษะ คือ ฟัง – พูด – อ่าน – เขียน ถ้าสิ่งที่เราฝึกฝนคุ้นเคยเป็นสิ่งเดิม คือ

-เนื้อหาเดิม ๆ เช่น อ่านเอกสารเรื่องเดิม ๆ พูดสนทนาเรื่องเดิม ๆ ฟังเรื่องเดิม ๆ เขียนเรื่องเดิม ๆ
-ความยากระดับเดิม ๆ คือ เราชักจะคุ้นเคยและทำงานได้สบาย ๆ ไม่ต้องขวนขวายอะไรมากมายนัก ก็สามารถอ่าน-เขียนและพูดคุยได้รู้เรื่อง

ถ้ายังเดิม ๆ เช่นนี้ คือ เนื้อหาเดิม ๆ และความยากระดับเดิม ๆ และเราก็พอใจกับมัน เพราะว่าแม้ทักษะของเราจะไม่ perfect แต่มันก็เพียงพอที่จะใช้ทำงาน เพียงพอที่จะใช้หาความรู้ เพียงพอที่จะใช้ติดต่อสื่อสารกับคนที่ต้องติดต่อด้วย ฯลฯ ถ้าเราพอใจเช่นนี้ก็ okay ครับ

แต่ถ้าเรารู้สึกว่า เราน่าจะปรับปรุงทักษะการฟัง – พูด – อ่าน – เขียน ของเราให้ดีขึ้นในทุกทักษะหรือบางทักษะ เราก็ต้องปรับการฝึกฝนภาษาอังกฤษของเราให้เจอกับ แบบฝึกหัด, สิ่งท้าทาย, challenge, การบ้าน, งาน, test ฯลฯ ใหม่ ๆ ... ใหม่ยังไง? ก็คือ...

-เนื้อหาใหม่ ๆ คือ ฟังเรื่องใหม่ ๆ, อ่านเรื่องใหม่ ๆ, ชมวีดิโอเรื่องใหม่ ๆ สำเนียงใหม่ ๆ, เขียนไดอะรี่เนื้อหาใหม่ ๆ ในสไตล์ที่ต่างไปจากเดิม ฯลฯ
-ความยากใหม่ ๆ คือยากขึ้นกว่าเดิม แต่อย่ายากกว่าเดิมมากนัก อาจจะเพิ่มขึ้นจากเดิมสัก 1 – 2 step ให้เรื่องใหม่ ๆ หรือเรื่องที่ยากขึ้นนี้ทำให้เรางงบ้าง แต่อย่าถึงกับงงตึ้บ ฝึกกับมันจนหายงง เมื่อหายงงแล้วจึงค่อยขยับระดับการฝึกให้สูงขึ้นอีก 1-2 step ฝึกอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ

สิ่งที่ผมอยากจะให้คำแนะนำเป็นพิเศษก็คือ การฝึกที่มีการทดสอบ คือมี test, quiz, exercise หรือ lesson ให้เราทำ และมีเฉลยให้เราตรวจ

-ถ้าเป็นการฝึกอ่านและฝึกฟัง การทดสอบ จะช่วยวัดว่าเรา “เข้าใจ-ถูกต้อง” หรือไม่? ถ้าเราไม่ทดสอบ เราอาจจะไม่รู้ว่า การอ่านและการฟังของเรามี “จุดอ่อน” ที่ทำให้เราเข้าใจผิดตรงไหนบ้าง การทดสอบจะช่วยให้เรารู้ว่าเราอ่อนตรงไหน จะได้ฝึกซ้ำ ๆ ตรงนั้นเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ถ้าไม่ทดสอบก็ไม่รู้จุดอ่อน จึงไม่ได้ให้ความสนใจแก่จุดอ่อนเป็นพิเศษ จุดที่เคยอ่อนอย่างไรก็ยังคงอ่อนอย่างนั้น ดีไม่ดีอาจจะอ่อนยิ่งกว่าเดิม เพราะถ้าฝึกตามปกติ เราอาจจะติดนิสัยว่า เรื่องที่อ่านหรือฟังไม่ค่อยรู้เรื่องก็ไม่อยากจะสนใจ ไปสนใจเรื่องที่รู้เรื่องดีกว่า หลายคนมีจุดอ่อนอย่างนี้
-ถ้าเป็นการฝึกพูดและฝึกเขียน การทดสอบ จะช่วยวัดว่าเรา “ทำได้-ถูกต้อง” หรือไม่?

ผมขอแยกเรื่องการเขียนและการพูดออกจากกันนะครับ ขอว่าเรื่องการเขียนก่อน

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เรียนภาษาอังกฤษจากโรงเรียนและที่ฝึกเอง ทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า การ “เรียนภาษา” ต้องอาศัยการ “เลียนแบบ” มากทีเดียว นี่ไม่ใช่เรื่องของการเรียนภาษาต่างชาติเท่านั้น แต่ทารกไทยเรียนภาษาไทย ก็ต้องอาศัยการ “เลียนแบบ” เช่นกัน

เรื่องการอ่านและการเขียนนี้เป็นของคู่กัน เราเรียนการเขียนภาษาอังกฤษจากการอ่านภาษาอังกฤษที่ฝรั่งเขียน และเราต้องเรียนทั้ง 2 วิธีควบคู่กันไป คือ

วิธีที่ 1 ด้วยวิธีธรรมชาติ: คือ อ่านเยอะ ๆ และควรเริ่มด้วยการอ่านเรื่องง่าย ๆ ก่อน ง่ายทั้งคำศัพท์ และง่ายทั้งโครงสร้างประโยค เรื่องง่าย ๆ จะทำให้เราเข้าใจและดูดซึม (เลียนแบบ)ได้ง่าย ถ้าอ่านเรื่องที่ยากเกินไป เราอาจจะพยายามจนเข้าใจได้ แต่คงยากที่จะสามารถเลียนแบบให้สามารถเขียนได้เหมือนเขา เพราะฉะนั้นควรจะอ่านเรื่องง่าย ๆ บ้าง เมื่อเราอ่านอย่างสม่ำเสมอ เราจะค่อย ๆ เลียนแบบสไตล์การเรียนที่เป็นธรรมชาติของภาษาอังกฤษไปโดยไม่รู้ตัว ถ้าใครถามว่าทำไมเขียนแบบนั้น เราอาจจะตอบว่าก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่าเมื่อต้องการสื่อสารเนื้อหาอย่างนี้ต้องเขียนอย่างนี้ ขอย้ำว่า การที่เราจะสามารถทำอย่างนี้ได้เราจะต้องอ่านเยอะ ๆ จนทำให้เราเขียนได้ถูกตามกฎเกณฑ์(เป็นส่วนใหญ่) โดยไม่จำเป็นต้องรู้กฎเกณฑ์

ข้อสรุปส่วนตัวของผมก็คือ สาเหตุที่คนไทยมี writing skill ไม่ค่อยดีนัก เพราะเราอ่านน้อยเกินไป น้อยจนเกินกว่าที่จะสามารถดูดซึมทักษะการเขียนจากการอ่านที่น้อยนิดนี้ แต่ถ้าเราอ่านมากเราก็จะเขียนได้เอง และไม่กลัวด้วยว่าเราจะเขียนผิด เพราะเราเขียนจากสไตล์การเขียนที่เราดูดซึมมาจากการอ่าน จนเป็นความมั่นใจเมื่อเราจะต้องเขียน

วิธีที่ 2 ด้วยการเรียนรู้กฎเกณฑ์ หรือ grammar: ผมอยากจะบอกว่า การเรียน grammar ไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรอกครับ แต่ถ้าเรียน grammar ซึ่งเป็นวิธีที่ 2 อย่างเดียว โดยไม่ได้ฝึกวิธีที่ 1 คือการอ่านให้มากพอ เราก็จะเพียงเข้าใจกฏเกณฑ์การเขียน แต่ไม่สามารถเขียนได้ดังใจ

ในบล็อกนี้ ผมได้รวบรวมเว็บมากมายให้ท่าน ฝึกอ่าน และมีแบบฝึกหัด-แบบทดสอบมากมายให้ท่าน ฝึกเขียน(และดูเฉลย) ท่านเชื่อผมเถอะครับว่าถ้า ท่านใช้วิธีที่ 1 และ 2 ข้างต้น และฝึกเขียนเรื่องใหม่ ๆ, ตรวจสอบเรื่องเก่า ๆ ที่ท่านเขียนอยู่บ่อย ๆ, ดูเฉลยและแก้ไข ท่านจะค่อย ๆ เขียนได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะไม่มีครูส่วนตัวคอยแนะนำเรื่อง writing อย่างใกล้ชิดก็ตาม ทักษะการเขียนของท่านจะ “ทะลุเพดาน” ครับ

คราวนี้มาว่าเรื่องการพูดบ้าง
ในขณะที่การเขียนคู่กับการอ่าน การพูดก็คู่กับการฟัง การอ่านช่วยในการเขียน การฟังก็ช่วยในการพูด และการฝึกก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือให้ฝึกฟังมาก ๆ ฟังเรื่องง่าย ๆ ก่อน ฟังแล้วพูดตามจนปากเราสามารถเลียนแบบการพูดได้เป็นธรรมชาติ และไม่กลัวด้วยว่าจะพูดผิด

หลายคนในเมืองไทยไม่เชื่อในการพูดตามสำเนียงฝรั่งจากสื่อการเรียน เช่น CD, mp3 เขาเชื่อเมื่อได้ยินเสียงผ่านฝรั่งตัวเป็น ๆ เท่านั้น

ถ้าเรามีครูเป็นฝรั่งจริง ๆ มันก็ดีอยู่หรอกครับ แต่ถ้าไม่มีเราก็ต้องพยายามใช้สื่อที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด และผมอยากจะบอกว่า คนในโลกนี้ที่พูดภาษาอังกฤษได้ มีไม่กี่คนหรอกครับที่โชคดีมีโอกาสได้เรียนกับฝรั่ง และเมื่อเราเป็นคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีโอกาสดีอย่างนั้น เราก็ไม่ควรยอมจำนน ผมได้พูดถึงการฝึกพูด การฝึกฟังและฝึกอ่านเพื่อช่วยการฝึกพูด ขอให้ท่านฝึกเถอะครับ และทักษะการพูดของท่านจะค่อย ๆ ดีขึ้น แม้จะไม่มีครูส่วนตัวคอยสอนเรื่อง speaking อย่างใกล้ชิดก็ตาม

เทคนิคการฝึกพูด
[199] วิธีฝึกพูดภาษาอังกฤษโดยไม่มีครูสอน

ฝึกฟังและอ่าน
[1056] ด/ล 'audio & picture book' หลายร้อยเล่ม [ชุดที่ 1]
[1071]ด/ล 'audio book' หลายร้อยเล่ม [ชุดที่ 2]
[1364] ด/ล 'audio book' หลายร้อยเล่ม [ชุดที่ 3]
[1374]ด/ล 'audio book' หลายร้อยเล่ม [ชุดที่ 4]
[1194]รวมเรื่อง 'สนุกและง่าย'ที่แนะนำไว้ในบล็อกนี้
[432] เว็บ ‘อ่านข่าว-ฟังข่าว’ ง่าย ๆ
[360] เว็บเรียนภาษาอังกฤษง่าย ๆ มีบ้างไหม?

การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษที่ “ติดเพดาน” ให้ “ทะลุเพดาน” นี้ มันอาจจะไม่ง่ายนัก แต่ก็มิใช่ทำไม่ได้

ถ้าผมถามท่านว่า ท่านสามารถไหมที่จะเดินเท้าจากกรุงเทพถึงเชียงใหม่ หรือจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพ แว่บแรกท่านอาจจะตอบตามอัตโนมัติว่า ทำไม่ได้ เดินไม่ไหวหรอก แต่ท่านเชื่อผมเถอะครับ ท่านทำได้ เพราะท่านไม่ต้องเดินให้ถึงภายในวันเดียว ถ้าท่านเดินไปเรื่อย ๆ ย่อมถึงแน่นอน ขยันก็เดินมาก ไม่ค่อยขยันก็อาจจะเดินน้อยหน่อย แต่อย่าหยุดเดิน และตลอดเส้นทางที่ท่านเดินไปอย่างช้า ๆ นั้น ก็มีสิ่งมากมายให้ท่านมองเห็น มีเรื่องมากมายให้ท่านประสบ

ชีวิตคือเรื่องราวของทุกวัน ไม่ใช่เรื่องราวของวันเดียว
การศึกษาภาษาอังกฤษก็เป็นเรื่องราวที่ควรทำทุกวัน ไม่ใช่ทำวันเดียว
ความสำเร็จจากการใช้ชีวิต – จากการศึกษา ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวัน มิใช่เกิดขึ้นภายในวันใดวันหนึ่งเพียงวันเดียว

เหมือนบนเส้นทางที่เราเดินเท้าผ่านไปทุกวัน...
สิ่งที่ประสบพบเห็นก็มีอยู่บนตลอดเส้นทางทุกวัน มิใช่อยู่ที่ปลายทางในวันเดียวที่เราเดินทางถึง
และเราก็เดินทางถึงแน่ ๆ ครับ ถ้าเราเดินทางทุกวัน

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ ผมก็รู้สึกเช่นนั้นมานานแล้ว รู้สึกว่ามันไม่มีความก้าวหน้าไปกว่านี้อีกแล้ว มันเหมือนหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่มีการพัฒนาใดๆ เลยซึ่งเป็นเช่นนั้นจริงๆ

ศุล

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

o God, I thought I was alone.
Thanks!

pfan กล่าวว่า...

แต่ผมมีความเห็นแตกต่างนะ ผมกลับรู้สึกว่า เราไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเลย ไม่ว่าทักษะการอ่าน พูด หรือ เขียน รู้สึกเหมือนเป็ดจะบินก็พอได้ จะขันก็ได้ แต่ไม่ใช่มืออาชีพ สงสัยจะต้องพัฒนาตัวเองอิกเยอะเลย อิอิ