วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552

[1206]วิธีฝึกซ้อมพูดอังกฤษสำหรับพนักงานแนะนำสินค้า

สวัสดีครับ
ผมได้รับอีเมลฉบับหนึ่งจากท่านผู้อ่าน เขียนมาว่า
...เพิ่งได้งาน เป็นงานเกี่ยวกับบริการลูกค้า แนะนำผลิตภัณฑ์พวกเครื่องครัวและพูดคุยกับลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ พอสื่อสารได้แต่ไม่ถึงกับคล่อง ปัญหา คือ ฟังออก แต่ตอบไม่ได้ และนี่ก็เป็นงานแรกในชีวิตของนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ เลยกังวล เครียดหน่อยๆ กลัวทำได้ไม่ดี กลัวฟังลูกค้าไม่รู้เรื่อง กลัวไปหมด...

ผมขอให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างนี้ครับ
ตามธรรมดาทุกท่านที่ชอบภาษาอังกฤษก็คงจะทำอะไรที่ใช้ภาษาอังกฤษทุกวันอยู่แล้วไม่มากก็น้อย เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังข่าว ที่เป็นภาษาอังกฤษ เป็นการฟื้นฟูและพัฒนา, train & test ตัวเองด้านภาษาอังกฤษอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นกิจวัตรที่ควรทำเป็นประจำวัน

แต่เมื่อต้องใช้ภาษาอังกฤษในงานอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาเจาะจง การฟิตซ้อมก็จำเป็นต้องเจาะจงตามไปด้วย เพิ่มเติมจากภาษาอังกฤษทั่วไปที่เราใช้อยู่เป็นประจำ คำถามก็คือ แล้วการฝึกเจาะจงจะฝึกอย่างไรล่ะ?

ผมคิดว่าน่าจะทำอย่างนี้ครับ...
1.เรื่องศัพท์: ให้ท่านพยายามรวบรวมมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ว่า ศัพท์ในงานที่ท่านต้องรู้หรือต้องใช้งานมีอะไรบ้าง โดยแยกเป็นอย่างน้อย 3 หมวดคือ noun, verb, และ adjective ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นพนักงานแนะนำสินค้าพวกเครื่องครัว
-noun: คือ ชื่อสินค้าเครื่องครัวที่ท่านจะแนะนำลูกค้า พร้อมทั้งศัพท์ที่เป็นส่วนประกอบย่อยของสินค้าเครื่องครัวแต่ละชิ้น ฯลฯ
-verb: เช่น กริยาที่แสดงการใช้งานของสินค้าเครื่องครัว ฯลฯ
-adjective: เช่น ศัพท์ที่อธิบายประโยชน์ หรือข้อดีของสินค้าเครื่องครัว ฯลฯ
-คำศัพท์ประเภทอื่นๆ: นำมาไว้ในส่วนนี้

ให้ท่านบันทึกศัพท์ที่รวบรวมได้ลงสมุด ในแต่ละหน้าให้ขีดเส้นบรรทัดแบ่งเป็นด้านซ้ายและขวา ด้านซ้ายเขียนคำศัพท์พร้อมคำอ่าน ด้านขวาเขียนคำแปล เมื่อถึงเวลาทบทวนศัพท์ให้ทำทั้ง 2 ด้าน คือ ครั้งแรก ทบทวนศัพท์ทีละคำจากบนลงล่าง โดยใช้กระดาษแข็งปิดด้านขวาไว้ เมื่อดูศัพท์อังกฤษให้พยายามฝึกเปล่งเสียงอย่างถูกต้องออกมาดัง ๆ อย่างมั่นใจ และนึกถึงคำแปล อย่าเพิ่งรีบเลื่อนกระดาษแข็งลงมาเพื่อดูเฉลย ให้ออกแรงนึกสักเล็กน้อยก่อน

เมื่อทบทวนทุกคำในด้านซ้ายของหน้านั้นแล้ว ให้ทำลักษณะเดิมแต่เปลี่ยนเป็นปิดศัพท์อังกฤษด้านซ้ายและเปิดคำแปลด้านขวา เมื่อเห็นคำแปลแล้วก็ให้พยายามนึกถึงศัพท์อังกฤษ นึกให้เหนื่อยสักเล็กน้อยแล้วจึงค่อยดูเฉลย เห็นเฉลยแล้วอย่าลืมฝึกเปล่งเสียงอย่างถูกต้องออกมาดัง ๆ อย่างมั่นใจทุกครั้ง

...ฝึกอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกหน้า...

เมื่อได้ศัพท์ใหม่ก็เอามาเขียนเติมต่อไปเรื่อย ๆ ในสมุดบันทึกคำศัพท์เล่มนี้ ท่านอาจจะแบ่งเป็น 3 ตอน แยกคำ noun, verb, adjective ออกจากกัน หรือท่านจะรวมไว้ด้วยกันก็ตามใจครับ แต่ถ้าการแยกจะช่วยให้ท่านจำศัพท์ได้ง่ายขึ้นก็น่าจะแยกดีกว่าครับ

2.เรื่องวลีหรือประโยค: ศัพท์ที่รวบรวมไว้ในข้อ 1.จะต้องเอามาผูกเป็นวลีหรือประโยคเพื่อใช้ในการสนทนาพูดคุยกับลูกค้า พอถึงตอนนี้ผมอยากจะพูดว่า นี่เป็นเรื่องจำเป็นมาก ๆ คือ เราต้องเตรียมประโยคที่เราต้องใช้พูดจริง ๆ ไว้ให้มากพอและครบถ้วน ขืนไปคิดด้นกลอนสดเอาหน้างานคงไม่สะดวกแน่ เพราะอาจจะคิดไม่ออก คิดได้ช้า หรือพูดได้ไม่ทันการ ท่านจึงต้องทำ “การบ้าน” ไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจจะแยกเป็น 2 ขั้นตอน คือ

ตอนที่ 1: ให้ท่านคิดหรือร่วมกับเพื่อนฝูงช่วยกันคิด ว่างานที่ท่านต้องทำนี้ แยกเป็นสถานการณ์ย่อยอะไรบ้าง เช่น อาจจะแยกเป็น 5 สถานการณ์เพราะมีสินค้า 5 ตัวให้แนะนำ, หรือแยกเป็น 3 สถานการณ์ คือ พูดที่สำนักงานขาย พูดที่บ้านคนซื้อ หรือพูดที่งานโชว์ อะไรทำนองนี้ ตรงนี้ท่านต้องคิดแยกแยะให้ทะลุว่า มีสถานการณ์ที่แตกต่างกันอะไรบ้าง ในการพูดภาษาอังกฤษในงาน

ตอนที่ 2: เอาสถานการณ์ย่อยที่คิดไว้ในตอนที่ 1 มาคิดให้ทะลุว่า มีวลีหรือประโยคอะไรบ้างที่ต้องพูดกับลูกค้าในแต่ละสถานการณ์ พยายามคิดให้ครอบคลุมให้มากที่สุด ตอนนี้คิดเป็นภาษาไทยก่อน

ตอนที่ 3: ตอนนี้แหละครับที่สำคัญที่สุดและอาจจะยากที่สุด ซึ่งอาจจะต้องทำกับเพื่อนหลายคน คือ แปลวลีหรือประโยคภาษาไทยที่ประมวลไว้ในตอนที่ 2 เป็นภาษาอังกฤษ การแปลอาจจะทำอย่างนี้
-แปลด้วยตัวเอง หรือร่วมกับเพื่อนช่วยกันคิดแปล ช่วยกันตรวจ
-หาหนังสือที่มีวางขายในท้องตลาด ที่อาจจะมีวลีหรือประโยคที่เราต้องการเขียนไว้ หรือถ้าไม่มีเขียนไว้ตรง ๆ ก็อาจจะมีที่ให้เราเอามาดัดแปลงให้เข้ากับสถานการณ์ของเรา
-หรือถ้าสถานการณ์ของเราเป็นเรื่องที่เจาะจงมาก ๆ และไม่มีหนังสือที่ไหนเขียนไว้ จะคิดเองหรือให้เพื่อนช่วยคิดก็ยังคิดไม่ออก หรือคิดได้แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นประโยคที่ดีหรือเปล่า ท่านอาจจะต้องเอาวลีหรือประโยคในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ร่างไว้นี้ไปให้ผู้รู้ช่วยดู ท่านต้องคิดเอาเองแหละครับว่า ผู้รู้ที่ท่านจะไปขอความช่วยเหลือนี้ควรจะเป็นใคร
-สุดท้าย ถ้าทำยังไง ๆ ก็ยังไม่สามารถแปลวลีหรือประโยคในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เราต้องใช้เป็นภาษาอังกฤษได้ ก็ต้องยอมเสียเงินจ้างคนที่เราเชื่อถือได้แปลให้ เรื่องนี้มันก็เป็นของที่ต้องลงทุนอยู่เหมือนกันนะครับ เพราะมันเป็นอุปกรณ์ในการทำมาหากิน เหมือนพวกช่างไม้เขาต้องซื้อเลื่อย กบ สิ่ว ฆ้อน ฯลฯ เป็นเครื่องมือประจำตัว เราเองก็ต้องมีวลีหรือประโยคพวกนี้เป็นเครื่องมือประจำตัวในการทำมาหากินเช่นกัน เพราะอย่างที่ผมเรียนไว้แล้ว ขืนไปนึกเอาหน้างานคงไม่ทันแน่

ตอนที่ 4: เอาละครับ เอาเป็นว่าตอนนี้ท่านมี list วลีและประโยคที่ท่านต้องใช้พูดในแต่ละสถานการณ์ ในทุ ก ๆ สถานการณ์ ทั้งที่ใช้พูดบ่อยมากๆ, ใช้พูดบ่อยปานกลาง, และที่นาน ๆ จะใช้พูดสักครั้ง อยู่ในมือท่านแล้ว

ผมขอแนะนำให้ท่านจดวลีและประโยคที่จำเป็นเหล่านี้ไว้ในสมุดบันทึก ในลักษณะเดียวกับที่ท่านจดคำศัพท์ คือแยกเป็น 2 ด้าน, ด้านซ้ายจดวลีหรือประโยคภาษาอังกฤษ และด้านขวาจดคำแปลที่เป็นภาษาไทย และเมื่อถึงเวลาทบทวน ก็ให้ทำทั้ง 2 ด้านเช่นเดียวกับการทบทวนคำศัพท์ คือ จากอังกฤษเป็นไทย และจากไทยเป็นอังกฤษ ข้อที่สำคัญก็คือ ทุกครั้งที่เห็นประโยคภาษาอังกฤษจะต้องเปล่งเสียงออกมาดัง ๆ อย่างมั่นใจทุกครั้ง โดยให้จินตนาการว่า เรากำลังพูดประโยคนี้กับลูกค้าในสถานการณ์จริง ๆ

ถึงตรงนี้ถ้าท่านใดไม่แน่ใจว่าวลีหรือประโยคที่จะพูดนั้นควรจะออกเสียงยังไง ผมมีตัวช่วยครับ คือ ให้ท่านพิมพ์ วลีหรือประโยคที่ต้องการลงไปที่เว็บนี้ www.tinyurl.com/yh8xkmc (จะใช้วิธี copy & paste ก็ได้) แล้วคลิก Say it ที่มุมบนขวา
-ถ้าต้องการเสียงผู้หญิง ก็คลิกเลือก English (female) ที่ช่องหลังคำว่า Language:
-ถ้าต้องการปรับให้เสียงพูดเร็วหรือช้า ก็คลิกเลือกตัวเลข ที่ช่องหลังคำว่า Speed:
-ใช้วิธี คลิก Say it แล้วพูดตาม - คลิก Say it แล้วพูดตาม - คลิก Say it แล้วพูดตาม - ไม่กี่ครั้งก็คล่องครับ และเมื่อถึงเวลาพูดหน้างาน ก็จะพูดได้อย่างมั่นใจจริง ๆ

ตอนที่ 5: ผมอยากจะแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ ท่านลงทุนซื้อกระจกเงาบานใหญ่มาสัก 1 บานตั้งไว้ที่บ้านท่าน และซ้อมพูดกับกระจกเสมือนหนึ่งว่าท่านกำลังพูดกับลูกค้า เช่น ท่านอาจจะตั้งข้อกำหนดว่า จะฝึกพูดวันละ 5 – 10 นาที ในหัวข้อนี้ ๆ และถ้าเป็นไปได้ก็อัดเสียงขณะที่ท่านพูดเอาไว้ด้วย ขณะที่ท่านกำลังพูดท่านสามารถประเมินตัวเองได้ว่า บุคลิกของท่านที่ปรากฎในกระจกเงาเป็นที่พอใจของตัวท่านเองหรือไม่ ด้วยวิธีนี้ ท่านจะสามารถปรับปรุงบุคลิกของตัวเองขณะที่พูดได้ทีละน้อย เพราะการที่ลูกค้าจะซื้อสินค้าของท่านหรือไม่นั้น บุคลิกก็เป็นสิ่งสำคัญนอกเหนือจากการพูดได้อย่างโน้มน้าวใจและน่าฟัง ส่วนเสียงที่ท่านอัดไว้นี้ ท่านสามารถเปิดฟังภายหลังหรือให้เพื่อนสนิทช่วยวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์

กระจกเงา และอุปกรณ์อัดเสียง จึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการช่วยพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษด้วยบุคลิกการพูดที่ดี

หวังว่าทุกท่านจะได้รับความสำเร็จนะครับ ผมขอเป็นกำลังใจช่วยครับ

แถมเพื่อการศึกษาเพิ่มเติม:
[1] ประโยคภาษาอังกฤษสำหรับพนักงานขายร้านสะดวกซื้อ (เช่น ห้าง Seven Eleven) ใช้พูดกับลูกค้า คลิก

[2] การคำนึงถึงวัฒนธรรมเมื่อติดต่อกับคนต่างชาติ
คลิก แนะนำ Volunteer Survival Guide

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เข้ามารับคำแนะนำด้วยคน
ขอบพระคุณมากนะคะอาจารย์

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ตั้งใจจะมาเป็นลูกศิษย์อีกคนคะ ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆนี้นะคะ