วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552

[1082] ดาวน์โหลด Lonely Planet และแนะนำวิธีฝึกอ่าน

สวัสดีครับ
เมื่อพูดถึงหนังสือ Lonely Planet นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทสะพายเป้ หรือ backpacker คงจะคุ้นหู เพราะว่ามันเป็นหนังสือท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในเล่มจะมีทุกอย่างที่นักท่องเที่ยวต้องการรู้ พูดง่าย ๆ ว่ามี Lonely Planet เล่มเดียวสามารถเที่ยวได้ทั่วประเทศ โดยปกติ 1 เล่มคือ 1 ประเทศ แต่ถ้าเป็นประทศใหญ่ ๆ หรือที่มีสถานที่เที่ยวเยอะ ประเทศเดียวอาจจะเขียนใน Lonely Planet หลายเล่ม
วันนี้ผมมี Lonely Planet ท่องเที่ยวเมืองไทยมาฝาก 2 เล่ม คือ
เล่มที่ 1: Thailand 12th Edition August 2007
เล่มที่ 2: Thailand's Islands & Beaches 6th Edition August 2008
แม้ว่าจะเก่าไปนิดคือเป็นของปี 2007 และ 2008 แต่ก็น่าจะพออ่านได้

ในเล่มแรกมีบทหนึ่งที่เป็น language glossary (อังกฤษ – ไทย – คาราโอเกะ) ซึ่งเขารวบรวมศัพท์ วลี หรือประโยคที่นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะรู้ไว้ ผมอยากชวนให้ท่านที่กำลังศึกษาภาษาอังกฤษเข้าไปดู และให้มองที่ภาษาไทยและดูซิว่าท่านสามารถนึกเป็นภาษาอังกฤษได้ทันทีหรือไม่ เสร็จแล้วค่อยเหลือบสายตาไปดูที่เป็นภาษาอังกฤษ

เสร็จเรื่องการแนะนำหนังสือแล้ว ผมขออนุญาตแนะนำเรื่องการฝึกอ่านบ้าง
ก่อนหน้านี้ผมเคยแนะนำเรื่องการฝึกอ่านภาษาอังกฤษกับเนื้อหาที่เราคุ้นเคยหรือรู้อยู่แล้ว ประโยชน์ที่เห็นเด่นชัดก็คือ เราได้ฝึกการเดาศัพท์, สำนวน และฝึกตีความ ทั้งหมดนี้ทำได้ง่าย เพราะเนื้อหาที่เราคุ้นเคยนี้จะเป็น “ตัวช่วย” ที่ดีมาก เพราะช่วยอำนวยความสะดวกในการ “เดาศัพท์” และ “ตีความ”

ขออนุญาตให้ผมพูดเรื่องนี้อีกสักครั้งเถอะครับ อย่าหาว่าพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ เลย ก็คือว่า เราอย่าไปคิดว่าเราจะต้องรู้ศัพท์-วลี-สำนวนได้ครบถ้วนเราจึงจะอ่านรู้เรื่อง ความเห็นของผมก็คือ มันเป็นไปไม่ได้ และไม่จำเป็น! ทำไมถึงพูดอย่างนี้? ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่า มันเป็นไปได้ยากที่เราจะรู้ศัพท์ทุกคำ และถึงแม้เรารู้ศัพท์ทุกคำ เราก็อาจจะยังคงอ่านไม่รู้เรื่องบ้างอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นเพื่ออุดช่องโหว่เพื่อให้ความเข้าใจของเราไม่รั่ว เราจึงจำเป็นต้องฝึก 2 เรื่องนี้ คือ
(1) ฝึก “เดา” ศัพท์ – สำนวน
(2) ฝึก “ตีความ” ความหมายของเรื่องที่อ่าน

ผมเขียนแนะนำเรื่องนี้ไว้บ้างแล้ว ที่ 2 ลิงค์นี้
[179]สอนเทคนิคการเดาความหมายของศัพท์
[862]รู้ศัพท์ทุกตัวแต่ก็ยังอ่านไม่รู้เรื่อง ทำไงดี?

แต่ถ้าตอนนี้ท่านยังไม่มีเวลาเข้าไปอ่านคำแนะนำ ก็อ่านลุยเรื่องที่ท่านต้องการอ่านไปเลยก็ได้ครับ โดยพยายามฝึก “เดาศัพท์” และ “ตีความ” ไปเรื่อย ๆ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมรู้สึกว่านักเรียนไทย “ไม่ได้รับการสอนให้รู้จักวิธี” และ “ไม่ค่อยกล้า” เดาศัพท์และตีความเรื่องที่อ่าน ฉะนั้น เมื่อฝึกอ่านจึงทำผิดอย่างน้อย 2 อย่าง คือ
[1] เมื่อไม่รู้ศัพท์ แต่ก็ไม่กล้าเดาศัพท์ จึงเอาของ sure ไว้ก่อนคือเปิดดิกให้มันรู้แน่ ๆ ไปเลย เพราะจะเดาก็กลัวผิด
[2] เมื่อรู้ศัพท์แล้ว ครั้นอ่านก็อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจ เราจึงฝึก reading skill โดยมองหาหนังสือประเภทแปลไทยเทียบอังกฤษให้เห็น หนังสือประเภทนี้มีทั้งโทษและคุณ มันเป็นโทษถ้าหลังจากที่เราอ่านภาษาอังกฤษจบเราก็อ่านคำแปลภาษาไทยทันที แล้วเราก็รู้สึกว่าเรา “เข้าใจ” และก็ “พอใจ” แต่ความสามารถในการอ่าน หรือ reading skill ของเราจะโตขึ้นช้ามาก เพราะความเข้าใจของเราไม่ได้เกิดจากการ “ตีความและเข้าใจ” ด้วยตัวเอง แต่เกิดจากความเข้าใจที่อ่านการตีความของคนอื่นและแปลให้เราอ่าน

เพราะฉะนั้น เมื่อเราฝึก reading skill
-อย่าหลวมตัวไปฝึกโดยวิธีผิด ๆ คือ
(1) เปิดดิกทุกคำ และ
(2)อ่านการตีความและคำแปลของคนอื่น

-แต่ให้เราอดทนฝึกวิธีที่ยากหน่อยแต่ช่วยให้เกิดการพัฒนา reading skill คือ
(1) กล้าเดาและฝึกเดาศัพท์/สำนวนบ่อย ๆ โดยดูจากข้อความแวดล้อม ถ้าจำเป็นต้องเปิดดิกก็เปิดเท่าที่จำเป็นจริง ๆ และ
(2) ตีความด้วยตัวเองให้รู้เรื่องให้ได้ จะอ่านที่เขาแปลไว้แล้วก็ต่อเมื่อได้ลองแปลเองแล้ว

ทั้งการเดาและการตีความนี้ ในระยะแรก ๆ อาจจะเชื่องช้าและงุ่มง่าม แต่ถ้าอดทนฝึกทำไปเรื่อย ๆ “เชื่องช้าและงุ่มง่าม” จะกลายเป็น “รวดเร็วและคล่องแคล่ว” มากขึ้น ๆ

ที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ขอรับรองว่าพูดจริงทุกคำ ถ้าพูดโกหกขอให้เวรกรรมลงโทษโดยทำให้อ่านภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง ยอมสาบานถึงขั้นนี้ท่านคงต้องเชื่อผมแหละครับ

ฝึก “เดาศัพท์” และ “ตีความ” คือหัวใจของการฝึกอ่านครับ

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะ จะพยายาม