วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

[862]รู้ศัพท์ทุกตัวแต่ก็ยังอ่านไม่รู้เรื่อง ทำไงดี?

สวัสดีครับ
คงมีบางท่านที่เมื่ออ่านภาษาอังกฤษ ไม่ว่าเป็นอ่านข่าว นิยาย การ์ตูน บทความ ตำรา ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่รู้ศัพท์ทุกคำหรือแทบทุกคำ แต่ก็ยังอ่านไม่รู้เรื่อง หรือรู้เรื่องน้อยเกินไป แล้วจะทำยังไงดี?

ความคิดเห็นหรือคำแนะนำข้างล่างนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวล้วน ๆ ผมไม่แน่ใจว่าถูกหลักวิชาการหรือเปล่า หากผิดพลาดท่านผู้รู้โปรดเมตตาแนะนำด้วยนะครับ

การที่เราจะเปลี่ยนจากอ่านไม่รู้เรื่องให้เป็นอ่านรู้เรื่อง ก็ต้องสาวไปหาสาเหตุ เมื่อแก้ที่สาเหตุได้ ผลดีที่หวังก็จะตามมาเอง ผมขอว่าเป็นข้อ ๆ ไปเลยนะครับ

1. เรื่องที่อ่านยากเกินไปสำหรับเรา เราก็เลยอ่านไม่รู้เรื่อง เรื่องอย่างนี้ไม่ต้องดูอื่นไกลหรอกครับ ดูภาษาไทยเรานี่แหละ ท่านเคยหยิบตำราแคลคูลัส กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลักเศรษศาสตร์มหภาคชั้นสูง หรือตำราอื่น ๆ ที่มีชื่อขึงขังทำนองนี้มาอ่านไหมครับ ทั้ง ๆ ที่เขียนเป็นภาษาไทยนี่แหละครับ แต่ถ้าท่านไม่มีพื้นความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือไม่ได้ทำงานในแวดวงนี้ อ่านไปเถอะครับ ยิ่งอ่านยิ่งไม่รู้เรื่อง นี่เป็นภาษาไทยยังมึนขนาดนี้ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็จะยิ่งมึนเนอร์ และมึนเนสต์ตามลำดับ (คือเป็นขั้นกว่า และขั้นที่สุดของความมึน) การอ่านเนื้อเรื่องที่ยากเกินไปนี้ ทำให้เกิดอะไรตามมา? มีหลายข้อครับ เช่น
- - - เมื่อเปิดดิก และดิกโชว์ไว้หลายความหมาย ก็ไม่รู้ว่าความหมายไหนมันตรงกับเรื่องที่อ่าน ยิ่งถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องนอกวงที่เราคุ้นเคย ถ้าเราเอาความหมายที่เราเคยรู้ไปแปลมันก็เข้าทำนองแปลไปคนละเรื่องเดียวกันเลยครับ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า cabinet ผมเองชอบอ่านข่าวการบ้านการเมือง พอเจอปุ๊บก็แปลปั๊บเลยว่า “คณะรัฐมนตรี” ส่วนรุ่นน้องของผมที่ทำงานในห้องเดียวกัน พวกนี้เป็นช่างทั้งนั้น ก็แปลทันทีเหมือนกันว่า “ตู้เก็บของ” ศัพท์ที่มีหลายความหมาย และความหมายของเนื้อเรื่องที่เรากำลังอ่านเป็นความหมายที่เราไม่รู้ และถ้าขืนดันทุรังแปลไปตามความหมายที่ตัวเองรู้ แล้วมันจะเป็นยังไงล่ะครับ ก็มั่วน่าชมซีครับ ผมว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โปรแกรมแปลภาษา อังกฤษเป็นไทย หรือไทยเป็นอังกฤษ แปลออกมาแล้วจึงอ่านไม่รู้เรื่องหรือปนตลกขบขันหรือขมขื่น นี่คือความยากข้อแรก คือไม่รู้จะหยิบความหมายไหนจากดิกมาแปลเนื้อหาที่เรากำลังอ่าน

-- - การอ่านเรื่องที่ยากเกินไป พอติดขัดขึ้นมาทำให้เราเดาเนื้อเรื่องได้ยาก แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยก็เดาได้ง่ายหน่อย ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็ได้ครับ เช่น หนังสือพิมพ์ The Nation ลงข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างคนใส่เสื้อเหลืองกับคนใส่เสื้อแดง กับสำนักข่าว CNN ลงข่าวการปะทะคารมทางการเมืองระหว่างโอบามากับแมคเคน ผมแน่ใจเลยว่าคนไทยเราเมื่ออ่านเนื้อข่าวและติดขัด จะสามารถเดาเนื้อเรื่องที่อ่านใน The Nation ได้ง่ายกว่าที่อ่านใน CNN เพราะเราคุ้นเคยหรือมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องนี้มากกว่า

- - - ข้อต่อไปเป็นเรื่องของการตีความ แม้เราจะรู้ว่าศัพท์ตัวนี้ ในกรณีเช่นนี้ ๆ แปลว่าอะไร แต่พอเอาไปรวมกับคำอื่น ๆ ในประโยคนั้น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นคำที่ยากพอ ๆ กันหรือยากมากกว่า ก็เลยตีความไม่แตก ก็เลยมึนตึ๊บ ข้อนี้คือความยากของการตีความชั้นแรก คือตีความตามตัวอักษร แต่ก็ยังมีที่ยากกว่านี้ขึ้นไปอีก คือ ตีความตามเจตนารมย์ของตัวอักษรหรือเจตนารมย์ของผู้เขียน ไม่ต้องภาษาอังกฤษหรอกครับ ภาษาไทยนี่แหละก็มีข่าวทำนองนี้ให้อ่านเป็นระยะ ๆ

สรุปอีกทีก็คือ ถ้าอ่านเนื้อเรื่องที่ยากเกินไป ก็จะมีปัญหาอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ (1) เปิดดิกแล้วก็ยังเลือกความหมายไม่ถูก (2) เดาไม่ถูก และ (3) ตีความไม่ถูก

ทางแก้ง่าย ๆ ก็คือ อย่าไปอ่านเรื่องที่ยากเกินไป ให้อ่านเรื่องที่พอฟัดพอเหวี่ยง หรือถ้ามันยากเกินไปสักนิดก็หมายความว่าเรามีความสุขที่จะฟัดกับเรื่องที่อ่าน ท้าทายตัวเองให้อ่านรู้เรื่องให้ได้ อย่างนี้ก็ตามสะดวกครับ

แต่ถ้าเนื้อเรื่องนี้เรา “จำเป็น” ต้องอ่าน เพราะเป็นวิชาบังคับหรือเป็นงานบังคับที่ต้องทำ ก็ต้องไปสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นเป็นพื้นฐานไว้ก่อน เรียนรู้ศัพท์เทคนิคที่จะต้องอ่านพบ หรือให้ใครมาช่วยอธิบาย concept หลัก ๆ ของเรื่องที่จะอ่านซะก่อน ถ้าทำการบ้านอย่างนี้ไว้ก่อน ก็จะอ่านได้ง่ายขึ้น เข้าสนามรบไม่เตรียมอาวุธ ไม่เตรียมเครื่องป้องกันตัว ไม่เรียนรู้วิธีหลบหลีกการโจมตีของข้าศึก อย่างนี้โอกาสชนะมีน้อยครับ
ศึกษาเรื่องการเดาศัพท์ คลิก

2. ไม่เข้าใจแกรมมาร์เลยอ่านไม่เข้าใจ
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การอ่านภาษาอังกฤษมันยากนักคงเพราะว่า โครงสร้างประโยคมันมีวลี (phrase) และ อนุประโยค (clause) เยอะเหลือเกิน ขยายกันไปขยายกันมาอย่างซับซ้อนจนเรารู้สึกสับสนไม่รู้ว่าอะไรขยายอะไร อะไรคือประธาน อะไรคือกริยาหลัก ยิ่งถ้าเป็นประโยคยาว ๆ และเชิงซ้อนมากเท่าใด ก็ยิ่งยุ่งและยากมากเท่านั้น ผมพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้บ้างแล้งที่ลิงค์นี้ คลิก ท่านลองอ่านรายละเอียดดูแล้วกันครับ

3. อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้อ่านไม่รู้เรื่องก็เป็นเรื่องศัพท์อีกเหมือนกัน แต่เป็นศัพท์ที่เรียกว่า phrasal verb
phrasal verb ประกอบด้วย verb ที่รวมกับ preposition หรือ adverb หรือทั้งสองอย่าง รวมกันแล้วมีความหมายที่ต่างไปจากศัพท์แต่ละคำที่มารวมกัน

เรื่องของเรื่องก็คือ ถ้าเรายังขืนแปลไปตามตัวมันก็เลยไม่รู้เรื่อง

ผมไม่รู้ว่าดิกอังกฤษ – ไทยคุณภาพดี ที่รวบรวม phrasal verb ไว้โดยเฉพาะมีหรือไม่ แต่ถ้าเป็นเว็บฝรั่งละก็มีแน่ ๆ ครับ ผมรวบรวมไว้แล้วที่ลิงค์นี้ครับ คลิก

หรือถ้าท่านต้องการดาวน์โหลดตำราเป็นเล่ม ๆ เกี่ยวกับ phrasal verb ก็ไปที่นี่ครับ คลิก

4. ใจร้อนเกินไป หรือสมาธิน้อยเกินไป ก็เลยอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง ทั้ง ๆ ที่ควรจะรู้เรื่อง ถ้าถามว่าต้องมีสมาธิขนาดไหนล่ะ เอาอย่างนี้แล้วกันครับ สมมุติว่าท่านตั้งใจเจียดเวลาให้แก่การฝึกอ่านภาษาอังกฤษวันละ 30 นาที ให้ท่านนั่งสงบ ๆ และอ่านด้วยความรู้สึกว่า กำลังอ่านเพื่อทำข้อสอบไล่, 30 นาทีนี้คือ 30 นาทีที่กำลังนั่งในห้องสอบ พยายามอ่านด้วยใจที่เป็นสมาธิมากที่สุดโดยไม่ต้องร้อนรน พลังแห่งสมาธิเช่นนี้ถ้าฝึกเสมอ ๆ จะช่วยให้ท่านอ่านได้รู้เรื่องมากกว่าและเร็วกว่าอ่านด้วยใจที่มีสมาธิฝ่อ ๆ

5. ผมขอจบด้วยข้อสุดท้ายว่า จะฝึกอ่านภาษาอังกฤษให้เก่งต้องอาศัยเวลาครับ เพราะความพยายาม + เวลา = ความสำเร็จ ก็เหมือนภาษิตฝรั่งที่เขาว่าไว้นั่นแหละครับ
Where there's a will there's a way. ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ต่อให้ท่านทำมาอย่างถูกวิธีตั้งแต่ข้อ 1 – 4 แต่ถ้าขาดข้อ 5 คือความพยายามอย่างต่อเนื่อง ก็สำเร็จยากครับ

พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะ

อยากบอกว่า "ขอบคุณนะคะ"สำหรับทุกๆคำแนะนำ
ทุกๆตัวอักษรที่ออกมาจากความตั้งใจ เหมือนพ่อที่พยายามพร่ำสอนลูกให้เป็นเด็กดี โดยที่ไม่เคยบ่นเลยว่า "พ่อเหนื่อย" ขอบคุณจริงค่ะ เพราะไม่ทราบจะใช้คำไหนที่สามารถแทนคำนี้ได้จึงได้แต่ขอบคุณซ้ำอยู่อย่างนี้ละค่ะ เอ...แต่ถ้าเปลี่ยนจากคำว่าขอบคุณเป็นน้ำหวานๆสักแก้ว จะดูเป็นรูปธรรมกว่านี้ใหมคะ

เราเพื่อนกัน

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากเลยนะค่ะ
มีปัญหานี้อยู่มากๆ ค่ะ
ได้อ่านที่คุณพิพัฒน์แนะนำแล้ว รู้สึกมีกำลังใจขึ้น
แล้วจะปฏิบัติตามที่แนะนำนะค่ะ