สวัสดีครับ
ผมชอบอ่านหนังสือธรรมะมาตั้งแต่วัยรุ่น และผมก็เข้าใจด้วยว่าทำไมบางคนไม่ชอบอ่านหนังสือธรรมะมาตั้งแต่วัยรุ่น และแม้ไปจนถึงวัยชราและมรณะก็คงไม่ชอบอ่านหนังสือธรรมะอยู่นั่นเอง มีสาเหตุที่ฟังขึ้นที่ทำให้เขาไม่ชอบอ่านหนังสือธรรมะ
ผมขอยกตัวอย่างตัวเองก่อนแล้วกันครับ ในช่วงที่อยู่มหาวิทยาลัยซึ่งถือว่าเป็นช่วงแสวงหาของชีวิต และมาจนถึงปัจจุบัน ผมอ่านหนังสือธรรมะของพระหลายรูปและฆราวาสหลายคนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จนท้ายที่สุดที่อ่านประจำก็มีอยู่รูปเดียวคือธรรมะของหลวงพ่อชา ส่วนธรรมะของท่านอื่น ๆ ก็อ่านเหมือนกันแต่ไม่ประจำ
มันชวนให้น่าถามตัวเองว่าธรรมะของท่านอื่นไม่ดีหรือไงถึงไม่ชอบอ่าน คำตอบก็คือ ‘ไม่ใช่’ ธรรมะของท่านนั้น ‘ดี’ แต่ไม่ ‘โดนใจ’ จึงไม่ ‘ดลใจ - ประทับใจ’ เหมือนผมเป็นโรคจึงต้องได้ยาที่ผลิตขึ้นมาสำหรับแก้โรคที่ผมเป็น และยาประเภทเดียวกันนี้อาจจะมีหลายขนาน ขนานที่กินแล้วได้ผลก็ต้องเป็นยาที่ผมกินแล้ว ‘ถูกกับโรค’ จึงจะสามารถรักษาให้โรคหายไปได้ และขนานที่ผมกินและได้ผลมาโดยตลอดก็คือยารักษาโรคที่ผู้ปรุงยา คือ หลวงพ่อชา
นึกถีงตอนที่พระพุทธเจ้าส่งพระอรหันตสาวกรุ่นแรก 60 รูปออกไปประกาศธรรม พระพุทธเจ้าบอกว่า ให้พวกเธอทั้งหลายออกไปประกาศธรรมที่งดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย (บางท่านตีความว่า งามทั้งคำสอนเรื่องศีล – เรื่องสมาธิ –และเรื่องปัญญา) สมบูรณ์ทั้งอรรถะและพยัญชนะ ผมตีความเอาว่า คือให้แสดงธรรมที่สมบูรณ์ทั้งเนื้อหาและภาษา
มาถึงเรื่อง ‘ภาษา’ ทำไมภาษาจึงต้องสำคัญ ก็เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ภาษา ภาษาที่พูดแล้วได้ผลจะต้องเป็นภาษาที่ทำให้คนเราทั้ง ‘เข้าใจ’ และ ‘พอใจ’ ฉะนั้นแม้เป็นธรรมะเนื้อหาเดียวกัน บางคนฟังแล้วจากอาจารย์ท่านนี้อาจจะเข้าใจแต่ก็ไม่พอใจ แต่พอฟังจากอาจารย์อีกท่านหนึ่งอาจจะทั้งเข้าใจและพอใจ และยอมรับธรรมะนั้นเข้าไปในใจ พระพุทธเจ้าจึงบอกให้พระสาวกแสดงธรรมะที่สมบูรณ์ทั้งอรรถะและพยัญชนะ คือทั้งเนื้อหาและภาษา ทั้งนี้เพราะความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ในโลก
ที่ร้านหนังสือในเมืองไทย ผมเห็นหนังสือที่แปลมาจากภาษาอังกฤษหลายเล่ม โดยเฉพาะประเภทสร้างแรงบันดาลใจ หรือ inspiration หรือ how-to แนะนำเรื่องการใช้ชีวิตหรือการทำงานให้ประสบความสำเร็จ นักเขียนหลายคนที่เขียนหนังสือทำนองนี้จนชื่อของเขากลายเป็น brand name ในแวดวงนี้ เขียนหนังสือออกมาทีไรกลายเป็น best seller ทุกที
วันก่อนผมเจอเรื่อง ‘333 Masters Of Success Wisdom Quotes’ หรือ ‘คำคมเพื่อความสำเร็จ 333 ประการ’ คลิกดาวน์โหลด ผมดูแล้วเนื้อหาไม่ต่างจากอิทธิบาท 4 แต่เขียนโดยใช้ภาษาและจากมุมมองที่แปลกแตกต่างออกไป เนื้อหาและภาษาทำนองนี้จึงอาจจะ ‘โดนใจ’ หลาย ๆ คนได้มากกว่าหนังสือที่เขียนเรื่อง ‘อิทธิบาท 4’ แบบโบราณ ๆ
ย้อนไปถึงที่ผมพูดไว้ข้างบนว่า มีสาเหตุที่ฟังขึ้นที่ทำให้บางคนไม่ชอบอ่านหนังสือธรรมะ ก็น่าจะเป็นเพราะว่า เขาไม่พบธรรมะที่มีเนื้อหาและภาษาโดนใจเขา นี่ผมหลายถึงคนที่ค่อนข้างเปิดใจให้หนังสือธรรมะนะครับ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่ปิดใจไม่ยอมรับหนังสือธรรมะไม่ว่าประเภทไหนทั้งสิ้น ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ลำบากครับ
ในฐานะที่เป็นตัวผมเองและเป็นคนเขียนบล็อกนี้ ผมมีเหตุผล 2 ประการที่จะเอาหนังสือหรือ mp3 ธรรมะภาษาอังกฤษมาแนะนำในบล็อกนี้ คือ
เหตุผลประการที่ 1- ผมรู้สึกว่าแต่ละคนมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ไม่นานนัก เราไม่น่าจะต้องเสียเวลาของชีวิตมากเกินไปในการลองผิดลองถูก เพราะแนวทางของพระศาสดาที่ทรงค้นพบและแสดงสั่งสอนและมีพระสงฆ์สืบทอดต่อมาถึงทุกวันนี้ เราสามารถน้อมนำเข้ามาใช้กับชีวิตได้อย่างวิเศษ
เหตุผลประการที่ 2 – เพราะภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือของยุคสมัยที่ทุกคนควรมีไว้และใช้ให้เป็น และการผนวกธรรมะและภาษาอังกฤษเข้าไว้ด้วยกันจึงเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
ไฟล์ หนังสือ และ mp3 ธรรมะข้างล่างนี้ มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่ผมเห็นว่า ‘สมบูรณ์ทั้งอรรถะและพยัญชนะ’ ผมขอเชิญชวนให้ท่านเปิดใจลองอ่านและฟังดู ผมเชื่อว่าท่านต้องได้รับประโยชน์ไม่ครึ่งหนึ่งก็เต็ม คือ ถ้าไม่ได้ธรรมะก็ต้องได้ภาษาอังกฤษ ถ้าไม่ได้ภาษาอังกฤษก็ต้องได้ธรรมะ แต่ผมหวังสูงว่าท่านจะได้ทั้งธรรมะและภาษาอังกฤษ
ขอเชิญครับ….
[1] อ่านหนังสือธรรมะ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
http://www.thawsischool.com/dhamma-book.html
[2] ฟังพระธรรมเทศนาภาษาไทย โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) และ พระอาจารย์ชยสาโร (และอ่านประวัติและคำสอนพระภิกษุสุปฏิบัติอีกหลายรูป)
http://www.thawsischool.com/dhamma-ajarh.html#dl
[3] ฟังพระธรรมเทศนาภาษาไทย โดย พระอาจารย์ชยสาโร และพระอาจารย์พรม
http://www.thawsischool.com/dhamma-english.html
[4] ฟัง-อ่าน ธรรมะภาษาอังกฤษ
http://www.thawsischool.com/dhamma_English/teaching.html
http://www.thawsischool.com/dhamma_English/index.html
ศึกษาเพิ่มเติม:
http://www.dhammatalks.org.uk/
http://www.what-buddha-taught.net/
http://www.budsas.org/ebud/ebidx.htm
http://www.urbandharma.org/sitemap.html
http://www.accesstoinsight.org/
http://www.buddhanet.net/
พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com
วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณอีกเช่นเคยสำหรับสิ่งดีๆ
ตัวหนูเองก็ชอบอ่านหนังสือธรรมะค่ะ
เพราะตอนจะสอบเอ็นท์ มันเครียดมาก ไม่รู้จะพึ่งอะไร
กํมีแต่ธรรมะจริงๆที่ช่วยได้...
แสดงความคิดเห็น