วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2552

[943]วิธีใช้ “ดิก TH. – EN” ช่วย พูด – เขียนอังกฤษ

สวัสดีครับ
วันนี้ ผมตั้งใจจะคุยกับท่านในเรื่อง “วิธีใช้ประโยชน์จากดิกชันนารี ไทย – อังกฤษ เพื่อช่วยพัฒนาการพูดและการเขียนภาษาอังกฤษ

เมื่ออ่านชื่อเรื่องแล้วฟังดูเกรงขามน่าหลีกหนียังไงพิลึก ดูเป็นวิชาการซะไม่มี ผมจึงขอจั่วหัวบอกท่านไว้ก่อนซะตอนนี้ว่า ถ้าท่านอ่านแล้วรู้สึกว่าบรรทัดไหนมันดูเป็นวิชาการจ๋า ขอได้โปรดทราบว่าผมนั่งเทียนเขียนจากประสบการณ์ของตัวเองล้วน ๆ ไม่มีทฤษฎีบทไหนทั้งนั้นมาอ้างอิง ฉะนั้น น้อง ๆ ที่เผลอมาอ่านเข้าจึงอย่าได้เอาไปอ้างอิงในรายงานส่งอาจารย์ ส่วนถ้าวรรคไหนอ่านแล้วรู้สึกว่าผมขี้โม้ไปหน่อย ก็ขอทุกท่านโปรดอภัยด้วยเพราะผมไม่ได้มีเจตนาจะโม้เลย เอาเป็นว่าผมเขียนแบบเพื่อนคุยกับเพื่อนแล้วกันครับ ท่านใดอ่านจบแล้วจะมี comment ต่อท้ายห้ามเรียกผมว่าอาจารย์เด็ดขาด

อันแรกก็ต้องบอกว่า ผมเห็นว่า Vocab และ Grammar คือเสาหลัก 2 ต้นของการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ภาษาอังกฤษ คือช่วยให้เรา (1)เข้าใจ และ (2)ใช้เป็น และระหว่างศัพท์กับแกรมมาร์ เท่าที่ผ่านมาผมใช้เวลาคลุกคลีตีโมงกับศัพท์มากกว่า ทั้ง 2 คนเป็นเพื่อนสนิท แต่ผมไม่ค่อยได้ไปเยี่ยมแกรมมาร์ นาน ๆ จะโทรศัพท์ไปหาสักครั้ง แต่ Vocab ผมไปเยี่ยมบ่อย

ที่บล็อกนี้มีท่านผู้อ่านถามผมเรื่อง ‘การพูดภาษาอังกฤษ’ มากกว่าเรื่องอื่น ผมมักจะนึกถึงเรื่อง ‘ศัพท์’ ทุกครั้งที่ถูกถามเรื่องการพูด และแม้ผมมักจะตอบว่าแม้จะรู้ศัพท์ไม่เยอะก็สื่อสารได้ และอย่าท้อแท้แม้ไม่รู้ศัพท์เยอะ แต่เรื่องที่เป็นความจริงตลอดกาลก็คือ ศัพท์- ถ้าเข้าใจและใช้เป็น มีมากก็ย่อมดีกว่ามีน้อย เหมือนเงินในธนาคารที่ได้มาโดยความขยันและสุจริต มีเป็นล้านก็ย่อมดีกว่ามีเป็นร้อย

แต่ทำยังไงจึงจะมีศัพท์ตุนไว้ในสมองเยอะ ๆ? คำถามนี้มีคำตอบได้สารพัดอย่าง แต่ก่อนที่จะคุยกันเรื่องนี้ ผมขออนุญาตคุยถึงเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึก.... จะเรียกว่าหงุดหงิดก็ไม่เชิง เออ ! ตอนนี้ผมยังนึกไม่ออกถึง adjective ที่ใช้เรียกความรู้สึกนี้ เดี๋ยวคงจะนึกออกเอง....

ก็คือว่า ผมได้ยินอาจารย์หลายท่านพูดว่า ถ้าจะพูดภาษาอังกฤษให้ได้ดีจะต้องคิดเป็นภาษาอังกฤษไปเลย เพราะถ้าต้องคิดเป็นภาษาไทยก่อนมันจะไม่ทันกิน ความคิดสะดุดเพราะต้องถ่ายไปถ่ายมาหลายทอด ผมเห็นว่าท่านพูดถูกและไม่ขอเถียง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงสมัยที่ผมพูดภาษาอังกฤษกับคนต่างชาติครั้งแรก ๆ น่าจะประมาณสัก 15 ปีที่แล้ว ตอนนั้นทำไม่ได้จริง ๆ ครับที่จะคิดและพูดเป็นภาษาอังกฤษออกไปเลยโดยไม่ต้องผ่านภาษาไทย แต่ทุกวันนี้ถ้าไม่ใช่เรื่อง serious หรือซับซ้อนจริง ๆ ผมสามารถคิดและพูดเป็นภาษาอังกฤษออกไปได้เลย ณ นาทีนี้ผมมานั่งระลึกชาติว่า มันเกิดอะไรขึ้นในช่วง 15 ปีนี้ที่ช่วยให้ผมไม่ต้องคิดเป็นภาษาไทยก่อนพูดเป็นภาษาอังกฤษ

นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ขณะนี้ ผมจะค่อย ๆ คิดไป – พิมพ์ไป หวังว่าผมคงจะลำดับเหตุการณ์ได้ถูกต้อง ไม่เลอะเลือนเพราะความชรา

ตอนเรียนอยู่ชั้นประถมและมัธยม แม้ทักษะภาษาอังกฤษจะมีอยู่ 4 อย่าง คือ ฟัง – พูด – อ่าน – เขียน แต่ดูเหมือนผมเก็บมาจากโรงเรียนได้อย่างเดียว คือการอ่าน ส่วน ฟัง – พูด – เขียน เก็บมาได้น้อยมาก

ผมเริ่มใช้ดิกชันนารีครั้งแรกตอนอยู่ ม.ศ. 1 เป็นดิกอังกฤษ – ไทย เล่มเล็ก ๆ ราคา 10 บาทของ ม.ล. มานิช ชุมสาย และถ้าจำไม่ผิดคงจะเป็นตอนที่อยู่ชั้น ม.ศ. 4 ที่ผมเริ่มใช้ดิกชันนารีอังกฤษ – อังกฤษ Oxford Advanced Learner's Dictionary ฉบับ copy ราคา 70 บาท แต่งโดย A.S. Hornby การขยับขึ้นมาใช้ดิกอังกฤษ – อังกฤษ น่าจะเป็นการก้าวหน้า แต่ผมก็ไม่สามารถก้าวหน้าได้ตลอดเวลา เพราะผมต้องถอยหลังมาใช้ดิก อังกฤษ – ไทย ควบคู่กันไปกับดิกอังกฤษ – อังกฤษ ก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ใช้ดิกอังกฤษ – อังกฤษแล้วไม่รู้เรื่อง ฉะนั้นจึงต้องมีดิกอังกฤษ – ไทย เป็นพี่เลี้ยง ท่านเชื่อไหมครับ กว่าผมจะสามารถเลิกใช้ดิกอังกฤษ – ไทย ได้เกือบ 100 % ก็น่าจะถึง ปี 2 ที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย ที่ผมใช้คำว่า ‘เกือบ’ ก็เพราะว่า ถึงยังไงดิกอังกฤษ – ไทย ก็ยังจำเป็นอยู่บ้าง อย่างน้อยใน 2 กรณี คือ

1. เมื่อเราต้องแปลความออกเป็นภาษาไทยให้คนอื่นอ่านหรือฟัง เช่น ถ้าท่านไปดูความหมายของคำว่า awkward ในดิก Oxford จะมี 5 ความหมาย โดยความหมายที่ 1 เขาแปลว่า “making you feel embarrassed” ถ้าไม่ต้องเปิดดิก และให้ท่านแปลเป็นภาษาไทยที่สื่อได้ตรงใจความ ท่านจะแปลว่าอะไร? หาคำไทยมาเทียบยากนะครับ แต่ถ้าไปเปิดดูดิกอังกฤษ – ไทย ของอาจารย์ สอ เสถบุตร จะให้คำแปลไว้ว่า “เก้อ, เคอะเขิน, เจื่อนๆ, เปิ่น, พะอืดพะอม, อึกอัก, อึดอัด” เป็นยังไงครับ แปลได้ใจไหมครับ อย่างนี้แม้จะอ่านคำนิยามเป็นภาษาอังกฤษแล้ว แต่ถ้าจะให้นึกเทียบคำไทยด้วยตัวเอง ผมคนนึงละครับนึกไม่ไหวแน่ ๆ

2. คำที่เป็นคำเฉพาะ คำทับศัพท์ ศัพท์บัญญัติ คำพวกนี้บางทีก็ต้องพึ่งดิกอังกฤษ – ไทย เพราะแม้ว่าเราอาจจะเข้าใจความหมาย แต่ก็อาจจะนึกคำไทยไม่ออก เช่น คำว่า ASEAN, globalization, piranha ถ้อยคำที่ใช้ในภาษาไทยของคำเหล่านี้คืออะไร? สะกดยังไง? ท่านแน่ใจเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ไหมครับโดยไม่ต้องเปิดดิกอังกฤษ – ไทย ที่อ้างอิงได้

แต่ถ้าไม่นับข้อยกเว้น 2 – 3 ข้อนี้ การใช้ดิกอังกฤษ – อังกฤษ ถือเป็นความก้าวหน้า ถ้าจะเปรียบเทียบกับการพูด ก็เหมือนคิดและพูดเป็นภาษาอังกฤษไปทันทีโดยไม่ต้องพูดเป็นภาษาไทยในสมองซะก่อน แต่การใช้ดิก อังกฤษ – ไทย ก็เหมือนการที่จะพูดอออกไปจากปากต้องคิดเป็นภาษาไทยในสมองซะก่อน มันก้าวหน้ากว่ากันเยอะเลย

เรื่องที่ผมต้องการจะพูดก็คือ สำหรับเด็กไทยอย่างผม ที่ไม่มีโอกาสไปเรียนเมืองนอก หรืออยู่เมืองไทยแต่ก็ไม่ได้เข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนานาชาติ หรือไม่มีเงินจ้างฝรั่งมาสอนตัวต่อตัว หรือมีโอกาสน้อยมากที่จะได้สัมผัสกับฝรั่งตัวเป็น ๆ อย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน ๆ อย่างนี้ ดิกอังกฤษ – ไทย ก็เป็นสิ่งจำเป็นครับ

ก็คือว่าในระยะแรก ๆ หรือปีแรก ๆ ของการศึกษาภาษาอังกฤษ เมื่อใช้ดิกอังกฤษ – ไทยไปช่วงหนึ่ง พอรู้ศัพท์พื้นฐาน (คลิกดู 1 , 2) มากพอสมควรแล้ว ก็ค่อย ๆ เอา ดิกอังกฤษ – อังกฤษ มาแทรก ก็จะค่อย ๆ เก่งขึ้นไปเอง ถ้าผมเปรียบกับการวิ่งบางท่านที่ออกกำลังกายด้วยวิธีนี้คงจะเข้าใจดี เริ่มต้นก็อาจจะไปเข้าร่วมวิ่งกับเขาแบบ fun run ไม่เกิน 3 กม.ก่อน, แล้วค่อย ๆ ขยับเป็น 5 กม., 10 กม. หรือ mini-marathon, มากขึ้นไปเป็น 21 กม. หรือ half-marathon, และเมื่อวันหนึ่งถ้าฟิตร่างกายด้วยการวิ่งมาอย่างสม่ำเสมอจนพร้อม และ “ใจสู้” ก็ตัดสินใจลงวิ่ง 42 กม. หรือ marathon แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ การจะก้าวจากระดับหนึ่งขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่ง การฟิตภาษาอังกฤษไม่ต่างจากการวิ่งเลย คือ ต้องมีครบ 2 อย่าง ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ คือ “กายต้องซ้อม” และ “ ใจต้องสู้

เอาละครับ ผมชวนท่านคุยเกี่ยวกับดิกชันนารีอังกฤษ – ไทย และ อังกฤษ – อังกฤษ มายาวพอสมควรแล้ว ผมขอวกเข้าเรื่องที่ผมตั้งใจจะคุยด้วยเป็นพิเศษในวันนี้ คือเรื่อง ดิกชันนารี ไทย – อังกฤษ

พอพูดถึงดิกชันนารี ผมก็มักจะได้ยินคนพูดถึงแต่ดิกชันนารี อังกฤษ – ไทย หรือ ดิกชันนารี อังกฤษ – อังกฤษ น้อยคนนักที่จะพูดถึงดิกชันนารี ไทย - อังกฤษ ผมไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่ถ้าให้ผมระบุดิกชันนารี ไทย - อังกฤษ ที่ตีพิมพ์ขายอยู่ในขณะนี้ ผมขอเสนอ 3 เล่มนี้ครับ

ชุดที่ 1 (1 ชุด มี 2 เล่ม) ดิกชันนารี ไทย-อังกฤษ โดย สอ เสถบุตร. เล่มที่1 ก-บ และ เล่มที่2 ป – ฮ สำนักพิมพ์ ไทยวัฒนาพาณิช

เล่มที่ 2 พจนานุกรม ไทย อังกฤษ (ฉบับปรับปรุงใหม่) โดย ดำเนิน การเด่น และ เสฐียรพงษ์ วรรณปก สำนักพิมพ์ อัมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พลับลิชชิ่งจำกัด.

เล่มที่ 3 พจนานุกรม ไทย – อังกฤษ โดย วงศ์ วรรธนพิเชฐ

ผมไม่ขอพูดว่าเล่มอื่น ๆ คุณภาพด้อยกว่า เอาเป็นว่า 3 เล่มนี้ผมดูแล้ว ซื้อแล้วไม่เสียดายเงินครับ

มาถึงเรื่องที่ผมตั้งเป็นชื่อหัวข้อวันนี้ “วิธีใช้ดิก ไทย – อังกฤษ ช่วยท่านพูด – เขียน ภาษาอังกฤษ

แน่นอนครับ เราไม่สามารถเปิดดิกชันนารี ไทย – อังกฤษ แล้วดึงคำในนั้นออกมาใช้ได้ทันที เพราะว่านอกจากเรื่องคำศัพท์แล้ว ยังมีเรื่องการแต่งประโยคให้ถูกแกรมมาร์ และให้ถูกกาลเทศะอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ดิกชันนารี ไทย – อังกฤษ ที่ผมแนะนำข้างต้นก็พยายามที่จะช่วยผู้ใช้ให้มากที่สุด เช่น นอกจากเทียบคำศัพท์เดี่ยวเป็นคำ ๆ จากไทยเป็นอังกฤษแล้ว ยังเทียบศัพท์ประสมซึ่งมีการแจกลูกคำมากมาย เทียบวลี หรือแม้กระทั่งเทียบประโยคให้ดู เช่น ภาษาไทยว่าอย่างนี้ ภาษาอังกฤษจะว่าอย่างไร โดยอาจจะมิได้แปลคำต่อคำ มีประโยชน์มากครับ

ย้อนไปถึงเรื่องการใช้ดิกชันนารี 2 ภาษาที่ช่วยผู้ฝึกหัดฟิตภาษาอังกฤษ ที่ผมร่ายยาวไว้ข้างต้น เราสามารถรู้ศัพท์จากดิก อังกฤษ – ไทย ได้ฉันใด เราก็สามารถรู้ศัพท์จากดิก ไทย – อังกฤษ ได้ฉันนั้น และเอาเข้าจริง ๆ ผมว่าถ้ามุ่งเฉพาะเรื่องการฝึกพูดและฝึกเขียน สำหรับบางคนในบางคราว ดิก ไทย – อังกฤษ อาจจะมีประโยชน์มากกว่าซะอีก เพราะเมื่อเราลงมือจะพูดหรือเขียน สมองมันก็ start เป็นภาษาไทยก่อน แต่ถ้าเป็นเรื่องการอ่านและการฟัง ดิก อังกฤษ – ไทย อาจจะดีกว่า เพราะมัน start ด้วยการอ่านหรือการฟังเป็นภาษาอังกฤษ แล้วค่อยหาทางแปลเป็นภาษาไทย ถ้าพูดแบบกำปั้นทุบดินไม่ให้มีช่องผิดเลยก็ต้องพูดว่า ไหน ๆ ก็ใช้ดิกแล้ว ก็น่าจะใช้ทั้งดิก อังกฤษ-ไทย และดิก ไทย-อังกฤษ

การป้วนเปี้ยน ลูบ ๆ คลำ ๆ พลิกไปพลิกมา เปิดไปหน้านั้นกลับมาหน้านี้ แม้จะจำศัพท์ไม่ได้รวดเร็วทันใจ แต่ถ้าทำบ่อย ๆ มันก็ต้องได้อะไรบ้างแหละน่า

ดิกชันนารีนั้น มีให้เราทำ 4 อย่าง คือ
1. ถาม
(เปิดดูคำศัพท์)
2. ท่อง (ดูแล้วเห็นว่าคำไหนจำเป็น ก็จดและจำให้ได้) และ
3. ทวน (พลิกดูคำที่เคยท่อง หรือแม้ไม่เคยท่อง แต่อาจจะเคยผ่านตาหรือผ่านหู มาก่อน ก็ลอง “นึกทบทวน” หรือ “นึกเดา” ก็จะช่วยปลุกศัพท์ที่ตายไปแล้วจากสมองให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้)
4. ทัวร์ (คลิก/พลิก ดูศัพท์คำนั้นคำนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำใหม่ ๆ ที่เราสนใจ)

ผมเองซื้อไว้ทั้งหมดเลยครับ แต่ปัญหาก็อย่างว่าแหละครับ อยู่ตรงที่ขี้เกียจเปิดครับ หนังสือมีเป็นร้อย ๆ หน้า ทั้งหนาและหนัก พกติดตัวไปด้วยยาก และแม้จะตั้งไว้ที่โต๊ะหนังสือก็ยังขี้เกียจเปิดอยู่นั่นเอง และแม้บางวันอารมณ์ดีขยันจะเปิด ในครึ่งชั่วโมงก็เปิดได้ไม่กี่คำ ทำไปทำมาของดีก็เลยไม่ค่อยมีประโยชน์ นอนจมอยู่ในนั้น ไม่ลุกขึ้นมาช่วยเรา เรื่องนี้ผมคิดอยู่นานทีเดียวว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาได้ คืออาจจะมีหลายท่านที่ขยันกว่าผม แต่ตอนนี้ขอให้ผมเหมาไว้ก่อนแล้วกันครับว่า หลายท่านขี้เกียจหรือขยันพอ ๆ กับผม แต่ก็ยังเอาประโยชน์จากดิกชันนารี ไทย – อังกฤษ ไม่ได้เท่าที่ควร จะทำยังไงดี ?

สิ่งที่ผมกำลังนำมาเสนอท่านต่อจากบรรทัดนี้เพื่อแก้ปัญหาข้างบน ผมไม่แน่ใจว่าจะใช้ได้ผลหรือเปล่า ถ้าแจ้งผลการใช้ให้ผมทราบบ้างจะขอบคุณมากครับ

ผมขอแนะนำสินค้าเลยนะครับ....

1. ผมไปเจอดิกเล่มนี้ Thai - English Quick Reference
ซึ่งแสดงคำแปลศัพท์จาก ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ดังนี้


2. ผมได้นำคำศัพท์ทุกคำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะตัวหนึ่ง ๆ มาไว้ในหน้าเดียวกัน เพราะฉะนั้น พยัญชนะไทย 42 ตัว มี 5 ตัวที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นพยัญชนะต้น คือ ฏ – ฑ – ฒ – ษ – ฬ ก็จะเหลือพยัญชนะที่ทำหน้าที่เป็นพยัญชนะต้น จำนวน 37 ตัว ซึ่งหมายความว่า ถ้าท่านคลิกทีจะตัว ๆ เพียงแค่ 37 ครั้ง ก็จะได้เห็นศัพท์ไทยทั้งเล่ม (ที่มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษในเว็บนี้)

3. ให้ท่านค่อย ๆ กวาดตาไปดูคำศัพท์ในแต่ละหน้า ถ้าต้องการรู้คำแปลของศัพท์ หรือวลีใด ก็คลิกที่ลิงค์ตรงนั้น

[Tip: ถ้าต้องการให้เว็บแสดงผลในหน้าต่างใหม่ ก็ให้คลิกที่ลิงค์คำศัพท์ พร้อมกับ กด shift, เมื่อจะเลิกดูก็สามารถคลิกเครื่องหมาย X (close) ได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาคลิก Back ]

4. เข้ามาที่หน้านี้บ่อย ๆ และใช้หน้านี้เป็นที่ถามศัพท์ – ท่องศัพท์ – และ ทบทวนศัพท์ ผมเชื่อมั่นว่าท่านจะรู้และจำศัพท์ได้มากขึ้นโดยใช้เวลาน้อยกว่าเดิม ผลที่ตามมาก็คือ ท่านจะพูดเก่งขึ้น และเขียนเก่งขึ้น

5. เหลือประการสุดท้ายที่อยากจะบอก ถ้าการแสดงผลคำแปลช้า ซึ่งเพราะว่าอินเตอร์เน็ตของท่านช้า ท่านอาจจะต้องตัดสินใจว่าคุ้มค่าหรือไม่ที่จะติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งยังช่วยให้ท่านต่อ online ดาวน์โหลดไฟล์ mp 3, ไฟล์วีดิโอ และดาวน์โหลดไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ได้รวดเร็วขึ้นด้วย ลองพิจารณาดูแล้วกันนะครับ

- ขอความสำเร็จจงมีแด่ทุกท่านเทอญ –

* * * * *
@ชุดที่ 1 แสดงคำศัพท์โดยเรียงติดต่อในบรรทัดเดียวกันไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้าย
- ก - - ข - - ค - - ฆ - - ง – จ - - ฉ - - ช - - ซ - - ฌ - - ญ - - ฎ ฐ ณ - - ด - - ต - - ถ - - ท - - ธ - - น - - บ - - ป - - ผ - - ฝ - - พ - - ฟ - - ภ - - ม - - ย - - ร - - ฤ ล - - ว - - ศ - - ส - - ห - - อ - - ฮ -

@ ชุดที่ 2 แสดงคำศัพท์ 1 คำ ต่อ 1 บรรทัด
-ก- -ข- -ค- -ฆ- -ง- -จ- -ฉ- -ช- -ซ- -ฌ- -ญ- -ฎ ฐ ณ- -ด- -ต- -ถ- -ท- -ธ- -น- -บ- -ป- -ผ- -ฝ- -พ- -ฟ- -ภ- -ม- -ย- -ร- -ฤ ล- -ว- -ศ- -ส- -ห- -อ- -ฮ-
* * * * *
พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากๆครับ
จะหาโอกาสมาใช้บ่อยๆครับ

Unknown กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับ
เป็นคลังความรู้อันมหาศาล
มีประโยชน์มากจริงๆครับ