สวัสดีครับ
ต่อคำถามที่ว่า มีขั้นตอนในการฝึกฟังภาษาอังกฤษ จากง่ายไปยาก อย่างไร
คำตอบของผม มีดังนี้ครับ
1.ฟังเรื่องง่าย ๆ เช่น ข่าวเนื้อหาง่าย ๆ หรือ story เนื้อเรื่องง่าย ๆ, เรื่องที่ใช้ศัพท์ง่าย ๆ, ผูกประโยคง่าย ๆ
2. ฟังเรื่องที่พูดช้า ๆ เพราะถ้าเป็น normal speed อาจจะยากเกินไปสำหรับคนที่ฝึกฟังใหม่ ๆ
3.ฟังเรื่องที่เราชอบ เพราะเราจะไม่เบื่อ เราจะทนได้แม้จะยากสักนิด เพราะเป็นเรื่องที่เราชอบ
4.ฟังเรื่องที่มี transcript ให้เราศึกษาก่อนฟัง หรืออ่านตามขณะที่ฟัง เพราะถ้าเราเข้าใจเนื้อเรื่อง เราจะมีปัญหาเฉพาะเรื่อง “สำเนียง” ส่วน “สำนวน” เราอ่านให้เข้าใจไว้ก่อนแล้ว
5.ฟังซ้ำหลาย ๆ เที่ยว ข้อนี้ถ้าทำควบไปกับข้อ 4. จะได้ผลมาก และจะดีมาก ถ้าเรา 1)อ่าน transcript ให้เข้าใจโดยตลอดซะก่อน และ 2)ฟังโดยไม่ต้องดู transcript (อนุญาตให้เหลือบดูบ้าง)
6.ฟังโดยใช้หูฟัง เพราะจะช่วยให้เราฟังได้ชัดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับ accent, บางคำ-บางประโยค เราฟังด้วยหูเปล่าไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่เมื่อฟังด้วยหูฟังจะรู้เรื่องมากขึ้น (แต่อย่าเปิดดังเกินไป มันจะเป็นอันตรายต่อแก้วหู)
ทั้ง 6 ข้อนี้ ผมเคยพูดมาแล้ว และท่านสามารถฝึกฟังได้จากเว็บที่ผมเคยแนะนำไว้ที่ลิงค์นี้
[1704]ฝึกฟังข่าว story บทความ ง่าย - ช้า – สั้น
วันนี้ผมมีมาเพิ่มเติมอีก 1 ข้อ คือ ให้เราฝึกฟังเรื่องที่เรามีพื้นฐานหรือเข้าใจอยู่แล้ว จะทำให้เราเข้าใจได้ง่าย เพราะเนื้อหาที่เราฟังไม่เข้าใจ มันจะถูกเติมด้วยความเข้าใจที่เรามีอยู่เป็นทุนเดิม ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดก็คือ โดยทั่วไปเราสามารถฟังข่าวภาษาอังกฤษที่เป็นข่าวในประเทศ ได้เข้าใจมากกว่าข่าวต่างประเทศ หรือถ้าท่านสนใจข่าวกีฬามากกว่าข่าวเศรษฐกิจ ข่าวกีฬาก็ย่อมฟังง่ายกว่า
ที่เว็บหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เขามีวีดิโอข่าวในประเทศ Morning Focus page ที่ท่านสามารถฝึกฟังภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี เพราะว่า
1)เป็นข่าวในประเทศ และ
2)บางคลิปเป็นวีดิโอภาพเคลื่อนไหว ช่วยเพิ่มความเข้าใจในการฟัง เพราะมีภาพให้เราเห็นด้วย
ธรรมดาหนังสือพิมพ์ Bangkok Post จะมีข่าวย้อนหลังให้เราอ่านไม่เกิน 2 เดือน แต่วีดิโอในรายการ Morning Focus page มีให้เราชมย้อนหลังไปจนถึง 14 กรกฎาคม 2553 นับว่า Bangkok Post ใจดีมาก
มีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะแนะนำเป็นพิเศษ เพราะผมเห็นว่า เว็บที่แนะนำเรื่อง listening มักจะไม่แนะนำกัน คือ การฟังด้วยสมาธิ คือจิตที่ปราศจากนิวรณ์ขณะฝึกฟัง ถ้าใครมีนิวรณ์มากเท่าไร ประสิทธิภาพในการฟังก็จะมีน้อยเท่านั้น
นิวรณ์ขณะฝึกฟังภาษาอังกฤษมี 5 อย่าง ดังนี้
1.กามฉันทะ คือ “ฟังไป – อยากไป” เช่น อยากรู้เรื่องเยอะ ๆ เร็ว ๆ พอมันไม่รู้เรื่องสมอยาก ก็เกิดคลื่นในใจ ทำให้ฟังไม่รู้เรื่อง ทั้ง ๆ ที่อยากรู้เรื่อง
2.พยาบาท คือ “ฟังไป – แค้นไป” คือ แค้นใจที่ฟังไม่รู้เรื่อง เมื่อใจเอาแต่ต่อว่าใจที่ฟังไม่รู้เรื่อง ใจก็เลยไม่ได้ทำหน้าที่ของใจ คือตั้งใจฟังให้รู้เรื่อง
3. ถีนมิทธะ คือ “ฟังไป – ง่วงไป” ผมคิดว่า เหตุที่ง่วง น่าจะมาจาก ความเบื่อจากอดีตกาลนานไกลที่สะสมมานาน คำแนะนำง่าย ๆ ของผมก็คือ
--ขอให้ท่านบอกใจตัวเองว่า “ขอเวลาให้กูฟังภาษาอังกฤษสักครึ่งชั่วโมงก่อน ฟังเสร็จแล้วกูจะกลับไปเบื่อให้มึง”
--แต่ถ้าความง่วงมาจากร่างกายที่งัวเงีย ไม่เกี่ยวกับใจ ก็ไปอาบน้ำล้างหน้าให้สดชื่น
4. อุทธัจจะกุกกุจจะ คือ “ฟังไป – ฟุ้งไป” คิดเรื่องนั้น เรื่องนี้ เรื่องโน้น แทนที่ใจจะจ้องจับเสียงที่ไหลเข้ารูหู ก็ฟุ้งไปเที่ยวจนเป็นการฟังที่เสียเที่ยว
5. วิจิกิจฉา คือ “ฟังไป – ถามไป” และไม่ได้ฟัง เช่น เอาแต่ถามตัวเองว่า นี่เราต้องฟังไปอีกนานเท่าไหร่นะถึงจะรู้เรื่อง? มีวิธีอื่นอีกไหมนะที่จะทำให้รู้เรื่องเร็วกว่านี้ – มากกว่านี้? ฯลฯ ผมขอแนะว่า ถ้าท่านจะสงสัยก็ให้ไปสงสัยเวลาอื่น ขณะที่ฟังก็ให้เอาใจตั้งไว้ที่หูเพื่อฟังให้ดีที่สุด สงสัยอะไรก็ค่อยไปถามตอนเลิกฟังแล้วกันครับ
การฝึกภาษาอังกฤษเป็นภาระอันศักดิ์สิทธิ์ ต้องฝึกด้วยใจที่ศักดิ์สิทธิ์ คือใจที่มีสมาธิ – ใจที่ไม่มีนิวรณ์ ผลแห่งการฝึกจึงจะขลัง คือฝึกแล้วได้ผล
เชิญเข้าไปที่หน้า Morning Focus page ของ Bangkok Post ได้เลยครับ
http://www.bangkokpost.com/multimedia/morning-focus
http://www.bangkokpost.com/multimedia/tag/morning+focus
พิพัฒน์
www.facebook.com/e4thai
www.facebook.com/EnglishforThai
e4thai@live.com
วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
4 ความคิดเห็น:
เรื่องนิวรณ์ ระหว่างฝึกเท่าที่ผมสังเกตได้ เป็นอย่างนั้นจริงๆ เลยครับ
ผมเป็นนักปฏิบัติธรรมฝึกหัด แต่เห็นว่าคำสอนต่างๆ ของพระพุทธเจ้านำมาใช้เพื่อการทำงาน การฝึกฝน เรียนรู้หรือ ทำการใดๆ ได้เป็นอย่างดี
ลืม ขอบคุณ... :)
ขอบคุณสำหรับแหล่งข้อมูลดีๆ ครับ
วันนี้ไม่มาเรียนภาษาอังกฤษค่ะ แต่เข้ามาหาแรงใจในการดำเนินชีวิต ขอบคุณค่ะ
แล้วก็พบว่าแรงนั้นอยู่ในใจตัวเอง!
พิพัฒน์
แสดงความคิดเห็น