สวัสดีครับ
ผมเชื่อว่าทุกคนที่เรียนภาษาอังกฤษมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ศัพท์เป็นสิ่งสำคัญ ถ้ารู้ศัพท์อย่างเดียวก็ง่ายไปอีกหลายอย่าง เพราะไม่ว่าเราจะฟัง พูด อ่าน หรือเขียน เราต้องเอาศัพท์ไปใช้ทั้งนั้น
คำถามก็คือ ทำยังไงจึงจะจำศัพท์ได้เยอะ ๆ จำได้เร็ว และจำได้นาน ผมคิดว่าคำถามนี้มีหลายคำตอบที่แต่ละคนอาจจะใช้ได้ผลต่างกัน วันนี้ผมขอเล่าวิธีที่ผมใช้ได้ผล เผื่อบางทีท่านอาจจะเอาไปใช้ได้บ้าง
เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนใกล้ชิดสนิทสนม ผมค่อนข้างจะ (...ขอโม้นิดนะครับ...) จำศัพท์ได้มากกว่าเพื่อนบางคน ถ้าถามว่าผมจำได้ดีด้วยวิธีใด เมื่อพิจารณาทบทวนความประพฤติของตนแต่หนหลังก็ต้องบอกว่า ผมก็ลองใช้มาทุกวิธีนั่นแหละครับ แต่วิธีที่ใช้บ่อยมากที่สุด คือใช้แบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องคิด ก็คือวิธีท่องศัพท์และทบทวนศัพท์ที่ท่อง
ผมมีนิสัยอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก คือผมจะมีสมุดจดศัพท์ส่วนตัว จะตีเส้นแบ่งครึ่งหน้า ด้านซ้ายจดคำศัพท์ ด้านขวาจดคำแปล จดศัพท์และท่องมากบ้างน้อยบ้างตามเวลาและความขยันอำนวย พอถึงเวลาทวนก็จะทำ 2 แบบ คือ
1)เปิดคำศัพท์-ปิดคำแปล-และนึกคำแปลที่เคยท่องไว้
หรือ 2)เปิดคำแปล-ปิดคำศัพท์-และนึกถึงคำศัพท์ที่เคยท่องไว้
ทำอย่างนี้มานานตั้งแต่อยู่ชั้นประถมจนจบมหาวิทยาลัย เมื่อมานึกดูและให้ความเป็นธรรมกับทุกวิธีที่เคยใช้จำศัพท์ ก็ต้องบอกว่าทุกวิธีมีความขลังทั้งนั้นแหละครับ เช่น
-พยายามเดาและจำศัพท์ไปพร้อม ๆ กับที่อ่าน เช่น อ่าน Student Weekly, อ่าน หนังสือ Story ภาษาอังกฤษนอกเวลา, อ่าน Bangkok Post หรือ The Nation และในยุคหลังนี้ก็คือ อ่านข่าว ความรู้ บทความภาษาอังกฤษจากเน็ต
-ฟังภาษาอังกฤษบ่อย ๆ ฟังไปทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยรู้เรื่องนี่แหละครับ ฟังด้วย motto ประจำใจว่า ถึง “ไม่ค่อยรู้เรื่อง” ก็ “ได้เรื่อง” แน่ ๆ
-เขียนและพูด: นี่อาจจะเป็นการจับคู่ที่ดูแปลก ๆ เพราะโดยทั่วไปการฝึกพูดควรจะคู่กับการฟัง แต่เรื่องของเรื่องก็คือว่า ทั้ง ๆ ที่ผมอยากจะมีคนต่างชาติเพื่อฝึกพูดด้วยใจแทบขาด แต่เขาเหล่านั้นก็มักไม่ค่อยโผล่ศีรษะมาให้เห็น ผมก็เลยใช้วิธีเขียนไดอะรี่ประจำวันบันทึกเหตุการณ์ที่เจอตั้งแต่เช้ายันเย็น ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น และถ้าขยันก็อาจจะเอาข่าวเด่นที่อ่านพบในหนังสือพิมพ์ที่รู้สึกติดใจมาสรุปสั้น ๆ เขียนลงในหน้าไดอะรี่ด้วย
การเขียนไดอะรี่ทำให้ต้องนึกถึงคำศัพท์ และเอาศัพท์ที่นึกหรือค้นได้มาผูกเป็นวลีหรือประโยค และถ้าไม่เมื่อยปากมากเกินไปก็จะเปล่งประโยคที่เขียนเองออกมาด้วย
ผมมาได้ข้อสรุปที่น่าพอใจว่า อีกหลายปีทีเดียวต่อจากนี้ซึ่งผมมีโอกาสมากขึ้นในการพูดกับคนเป็น ๆ ในงานที่รับผิดชอบ การเขียน – พูด – เปล่งประโยค จากไดอะรี่ที่ฝึกมา ช่วยให้ผมไม่รู้สึกทุรกันดารมากนักเมื่อต้องสนทนาภาษาอังกฤษ มันเป็นพื้นที่ดีที่เราปูมาโดยไม่รู้ตัว
และทั้งหมดนี้ คือ อ่าน ฟัง เขียน เปล่งเสียง ล้วนช่วยให้ผมจำศัพท์ได้ ทีละน้อย ๆ ทีละคำ ทีละครึ่งคำ อย่างไรก็ตาม การจำศัพท์ได้ไปพร้อมกับการใช้ศัพท์แบบนี้ ถ้าไม่เติมน้ำยาหัวเชื้อ คือการโด๊พด้วยการท่องและทบทวนศัพท์ จำนวนศัพท์ที่จะเอาไปใช้ในการ ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ก็คงจำได้ไม่พอใช้ เพราะฉะนั้น การท่องและทบทวนศัพท์จึงเป็นสิ่งสมควรและจำเป็น
อย่างไรก็ตาม การจำศัพท์โดยการท่องอัด data เข้าไปในสมอง อาจจะเป็นวิธีที่ดิบเกินไป ถ้าทำไม่ดีอาจไม่ได้ผลและเสียเวลาเปล่า จึงต้องทำให้ดี ทำอย่างไรล่ะ?
ผมคิดว่า การจะอธิบายวิธีการจำศัพท์ด้วยการท่อง-ทบทวน ขอให้ผมเล่าเรื่องการตอกตะปูประกอบการอธิบายดีกว่า น่าจะช่วยทำให้เห็นภาพได้ชัด
เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ....
สมัยเป็นเด็กตอนอยู่ชั้นประถม พ่อแม่ผมจ้างช่างมาสร้างบ้านใหม่ต่อเติมจากบ้านหลังเก่าซึ่งเป็นบ้านไม้ และตามประสาเด็กผู้ชายผมก็อดไม่ได้ที่จะเอาเศษไม้มาเลื่อย ไส และตอกตะปูเล่น จำได้ว่าเคยต่อโต๊ะได้ตัวหนึ่ง รูปร่างดูไม่ได้เลยแต่ก็ภูมิใจที่ทำได้เอง
ตอนที่กำลังง่วนอยู่กับของเล่นชิ้นใหม่นี้ สิ่งหนึ่งที่ท้าทายผมมากก็คือการตอกตะปูตีไม้เข้าด้วยกัน จำได้ว่าถ้าเป็นไม้ยาง ไม้สัก ไม้ฉำฉา หรือไม้เนื้ออ่อนอย่างอื่น จะตอกตะปูได้ง่าย คือตอกได้สุดตัวตะปูโดยตะปูไม่งอเสียก่อน แต่ถ้าเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เต็ง ไม้ตะเคียน ผมตอกทีไรก็งอทีนั้น ตอกไม่เคยสำเร็จเลย
ผมนั่งดูช่างเขาตอกบ้าง ดูเขาก็ตอกได้ง่าย ๆ และไม่งอ แต่พอผมตอกเองทีไรก็งอทุกที ผมถามพี่เค้าว่าตอกยังไงตะปูไม่งอ เขาก็ทำให้ดูโดยอธิบายว่า การตอกตะปูลงไม้เนื้อแข็งให้ไม่งอ นอกจากใช้ฆ้อนคุณภาพดี (เช่น หน้าฆ้อนเรียบไม่ยู่) และตะปูคุณภาพดี (เช่น ไม่เอาตะปูที่ทำด้วยเหล็กคุณภาพแย่มาใช้) คนตอกตะปูจะต้องตอกให้ดีด้วย โดยทำอย่างนี้
-อย่าคิดว่าจะตอกทีเดียวให้มิดตะปูเลย อาจจะต้องตอกหลาย ๆ ครั้งถ้าไม้มันแข็ง
-ถ้าไม้เนื้ออ่อน การตอกตะปูจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าเป็นไม้เนื้อแข็ง ต้องกะแรงตอกให้พอเหมาะ การตอกเบาเกินไปตะปูก็จะไม่กินเข้าไปในไม้และงอเสียก่อน แต่ถ้าตอกแรงเกินไปตะปูอาจงอทันที เลยตอกไม่สำเร็จทั้งคู่
-ตั้งหน้าฆ้อนและหัวตะปูให้ตรงกัน ถ้าตั้งหน้าฆ้อนเฉ ก็ง่ายที่ตะปูจะงอ
เพราะฉะนั้น จะต้องตั้งใจให้ดี และอดทน และถึงแม้จะรู้วิธีตอกแต่ไม่ฝึกตอกตามวิธีที่รู้ ก็คงตอกไม่เป็นและทำให้ตะปูทะลุไม้ไม่ได้
หลังจากทำบ้านเสร็จและง่วนอยู่กับช่างมาหลายวัน ผมก็ตอกตะปูให้ทะลุไม้เนื้อแข็งได้... บ้าง แต่ไม่ชำนาญ
เมื่อมานั่งคิดดู การท่องศัพท์ให้จำได้ กับตอกให้ตะปูทะลุไม้ 2 อย่างนี้ไม่ต่างกันเลย
เพราะว่า...
-ยิ่งไม้เนื้อแข็งมากยิ่งตอกตะปูยาก... ยิ่งศัพท์ยากยิ่งจำยาก
-ไม้เนื้อแข็งมากก็ต้องตอกกันหลายครั้ง ไม่ใช่ตอกทีเดียวตะปูจะฝังมิดเนื้อไม้... ศัพท์ยากก็ต้องท่อง-ทวน กันหลายครั้ง ไม่ใช่ท่องครั้งเดียวจะจำได้ฝังใจ
-ต้องตั้งหน้าฆ้อนให้ตรง ตอกตรง ๆ ตะปูจึงจะลงไปในเนื้อไม้ได้... ต้องตั้งใจให้นิ่ง-ให้ตรง คำศัพท์จึงจะลงไปให้สมองได้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ตะปูจะงอเสียก่อน และคำศัพท์จะลืมเสียก่อน ทั้ง ๆ ที่ยังจำได้ไม่ค่อยดี
ในบล็อกนี้ ที่ลิงค์นี้
ศัพท์
ผมพยายามหาอะไรต่ออะไรหลาย ๆ อย่างมาช่วยให้ท่านจำศัพท์ได้เร็ว... และจำได้นาน แต่ที่ผมอยากแนะนำเป็นพิเศษก็คือ การท่องและทบทวนศัพท์กับคำศัพท์พื้นฐานตาม word list ที่ใช้บ่อย ข้างล่างนี้ครับ
The Longman Defining Vocabulary
Webster's Learner's Dictionary
The Oxford 3000 wordlist
VOA Special English Word Book
และวันนี้ผมขอเพิ่มเติมอีก 1 เว็บเป็นของ Longman ที่ 3 ลิงค์นี้ครับ เมื่อเข้าไปแล้ว
• Vocabulary Simplified by McWhorter
• Building an Active Vocabulary by Licklider
• Developing Vocabulary for College Thinking by Nist/Simpson
Step 1: เลือกบทที่ต้องการฝึก
Step 2: คลิกเลือก
Term = ดูคำศัพท์ ปิดคำแปล
Definition = เปิดคำแปล ปิดคำศัพท์
Step 3: คลิก GO
และคลิก Flip Card Over เพื่อดูข้อความที่ปิด, คลิก Next,
เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ ถ้าท่านใดต้องการใช้ประโยชน์จากภาษาอังกฤษแต่รู้สึกติดขัดว่ามันยากที่ศัพท์ ผมอยากจะบอกว่า...
การท่องศัพท์ กับตอกตะปู ไม่ต่างกันหรอกครับ
เมื่อเราฝึกตอกตะปู แม้ว่ากี่ตัว ๆ มันจะงอแล้วงอเล่าก็ช่างมันเถอะครับ
ถ้าเราฝึกตอกไปเรื่อย ๆ ตะปูที่งอก็จะน้อยลง
ตะปูที่ตรงและลงไปให้เนื้อไม้ก็จะมีมากขึ้น
เมื่อเราท่องและทบทวนศัพท์อยู่เรื่อย ๆ
ศัพท์ที่ท่องและลืมก็จะมีน้อยลง
ศัพท์ที่คงฝังแน่นในใจเหมือนตะปูฝังแน่นในเนื้อไม้ก็จะมีมากขึ้น
เชื่อผมเถอะครับ นี่ผมไม่พูดลอย ๆ นะครับ แต่พูดจากประสบการณ์ของคนที่เคย “ตอกตะปู” มาแล้ว
พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com
วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
5 ความคิดเห็น:
ขอบคุณคร้าบ ลุงพิพัฒน์
ผมติดตามบล็อก ลุงอยู่เรื่อยๆ นะครับ
และบางทีก็เอาไปโพสท์แจกในพันทิปด้วย
เป็นกำลังใจให้ครับ ^-^
ขอบคุณบทความนี้มากค่ะ จะนำไปสอนนักเรียน เพราะการรู้ศัพท์เป็นสิ่งสำคัญในการเรียนภาษาอังกฤษ ขอให้ชาวคณะผู้จัดทำมีสุขภาพแข็งแรงนะคะ ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ
tassie
ได้ความรู้มากเลยค่ะ...แล้วจะลองนำไปใช้นะค่ะ
ขอบคุณค่ะ..^^"
หนูขอบคุณคุณลุงมากกมากกๆๆ นะค่ะ และหนูก็ติดตามบล๊อคของคุณลุงบ่อยมาก คุณลุงมีทริคดีดีมานำเสนอและน่าสนใจเยอะแยะ นอกจากนี้คุณลุงก็ยังใจดีอีกด้วย และ อีกไม่กี่เดือนหนูก็สอบ แกท แพทแล้ว เลยอยากที่จะมานั่งอ่าน เคล็ดลับดีดี เพื่อเป็นแนวทางในการสอบที่จะมาถึงในครั้งนี้ และหนูก็ได้เคล็ดลับดีดีในการนำไปใช้คือ ยิ่งศัพท์ยาก ต้องหมั่นทบทวน ท่องจำ หลายๆครั้ง และต้องตั้งใจ แล้วเราก็จะจำศัพท์ได้เอง >3!!
หนู JLDM
ลองอ่านเพิ่มเติมที่นี่นะ
เพื่อกำลังใจในการเรียนภ.อังกฤษ
รวมคำแนะนำ
แสดงความคิดเห็น