สวัสดีครับ
ผมเคยได้ยินคำพูดกึ่งสำนวนกำลังภายในว่า ‘อ่านหนังสือถึงหมื่นเล่มก็ไม่เท่าเดินทางเพียงพันลี้’ ดูเหมือนผู้พูดจะให้ความสำคัญแก่ประสบการณ์จริงของตัวเองมากกว่าประสบการณ์จริงที่อ่านเรื่องซึ่งคนอื่นเล่า เรื่องนี้ฟังเผิน ๆ ก็น่าจะเห็นด้วย แต่เมื่อคิดให้ลึกแล้วก็มีเรื่องที่ต้องพูดขยายความ ก็คือว่า ในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ถ้าเราจะมีชีวิตที่ดีเราต้องมีความรู้ที่ถูกต้องและเพียงพอ ความรู้เช่นนี้ได้มา 2 ทาง คือ จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง และจากประสบการณ์อ้อมที่เป็นประสบการณ์ตรงของคนอื่น บางโอกาสความรู้ก็มาจากแหล่งแรก และบางโอกาสก็มาจากแหล่งหลัง แต่ไม่ว่าจะมาจากแหล่งไหนความรู้ก็มีประโยชน์ทั้งสิ้น ฉะนั้นเราจึงควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้รับความรู้จากทุกทางตามที่เหตุการณ์อำนวย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องพูดเสียใหม่ว่า ‘ได้อ่านหนังสือ 1 เล่ม, ได้เดินทาง 1 ลี้ ล้วนดีทั้งนั้น’
แต่ความจริงที่มองเห็นและเป็นอยู่ก็คือ คนไทยอ่านหนังสือน้อยเกินไป (ถ้าพูดว่าน้อยมากอาจจะฟังน่าเกลียด) ในหลายประเทศที่ผมเคยผ่านไป ที่เห็นง่าย ๆ ก็บนรถสาธารณะพบว่าจำนวนคนที่อ่านหนังสือแทนที่จะนั่งรถไปเฉย ๆ มีมากกว่าคนไทย และข่าวบ้านเราที่ได้ยินแต่ละครั้งก็เหมือน ๆ กันคือ
คนไทยอ่านหนังสือปีละประมาณ 10 บรรทัดเท่านั้นเอง
หลายปีที่แล้วสมัยที่ผมยังทำงานในหมู่บ้านต่างจังหวัดก็ได้เห็นว่า ข้าราชการหลายหน่วยงานที่ลงไปคลุกคลีกับประชาชนในพื้นที่เมื่อจะเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์ก็ต้องใช้วิธีพูดต่อหน้า หรือ face-to-face ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุด การทำเอกสารแจกให้อ่านนั้นได้ผลน้อยเกินไป บางที่ชาวบ้านก็เอาเอกสารนั้นไปทำอย่างอื่น นี่ไม่ใช่เป็นความผิดของชาวบ้าน ก็เขาไม่ค่อยชอบอ่านนี่น่ะ และนิสัยไม่ค่อยชอบอ่านนี้ก็เป็นไปโดยทั่ว ผมรู้สึกเอาเองว่าแม้แต่นักศึกษามหาวิทยาลัยถ้าไม่ใช่หนังสือที่ต้องอ่านสอบก็อ่านน้อยเช่นกัน
พูดขี่ม้าเลียบค่ายมามากพอสมควรแล้ว ขอวกเข้าเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียนภาษาอังกฤษในบล็อกนี้ล่ะครับ ผมกำลังจะบอกว่าคนไทยเราแม้ภาษาไทยเองยังอ่านน้อย และภาษาอังกฤษล่ะก็คงจะอ่านน้อยกว่าไปจนถึงน้อยที่สุด ถ้าเช่นนี้ก็คงจะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษได้ยากเพราะเราไม่ชอบอ่าน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้ผมจะหาเรื่องมากมายมาบริการไว้ในบล็อกนี้ (รวมไว้ที่ลิงค์นี้ อ่าน ) ผมก็ไม่เคยรู้สึกตำหนิผู้ใดเลยที่ไม่อยากอ่านภาษาอังกฤษ ปัญหาเรื่องศัพท์และการตีความให้รู้เรื่องยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับหลายคน เป็นปัญหาใหญ่ที่ยากและทำให้คนระย่อท้อถอย เป็นเหมือนกันหมด ผมเองก็เป็น
หลายปีมาแล้วผมเคยได้ยินคนพูดว่า การอ่านนิยายภาษาอังกฤษช่วยพัฒนาทักษะได้ดีมาก ได้ทั้งศัพท์ สำนวน ในการบอกเล่าและสนทนา สามารถจดจำเอาไปดัดแปลงพูดและเขียนต่อได้ ผมได้ยินก็เห็นด้วยและคัดค้านในเวลาเดียวกัน เห็นด้วยก็เพราะมันจริง, คัดค้านก็เพราะมันทำไม่ได้จริง, มันยากเกินกว่าที่จะทำได้
แต่แล้วอุบัติเหตุก็เกิดขึ้น ผมบังเอิญได้ไปหยิบอ่านนิยายต้นฉบับภาษาอังกฤษของ Sidney Sheldon และก็ติดใจ หลังจากนั้นก็ตะลุยหาซื้อมาอ่านและอ่านจบทุกเล่ม ถามว่าอ่านรู้เรื่อง 100 % หรือเปล่า? ขอตอบว่าตอนแรกก็ไม่หรอกครับ แต่ผมก็ไม่รีบร้อนและไม่ใจร้อน พยายามอ่านไปด้วยใจรักและไม่บีบตัวเองให้อ่านรู้เรื่องรวดเดียวอย่างความเร็ว เมื่ออ่านจบเล่มแรกก็มีกำลังใจให้อ่านเล่มที่สอง
ผมมาถึงข้อสรุปว่า แต่ละท่านจะต้องลงทุนหาเรื่องที่รักจะอ่านให้พบซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนิยาย อาจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่รักจะอ่าน อ่านแล้วไม่รู้สึกต้องทนอ่าน ถ้าท่านถามว่าถ้าหาเรื่องเช่นนี้ไม่พบจะทำอย่างไร คำตอบก็คือ ขอให้ท่านย้อนกลับไปอ่านประโยคที่เป็นข้อสรุปของผมอีกครั้งหนึ่ง
และมาวันหนึ่งผมก็รู้จักอินเตอร์เน็ต มันทำให้ผมรู้สึกว่าบางครั้งผมถูกทับด้วยกองหนังสือ เรื่องนั้นก็น่าอ่าน เรื่องนี้ก็น่าอ่าน เรื่องโน้นก็น่าอ่าน ตายแล้วสิบชาติก็อ่านไม่หมด ทำให้รู้สึกต่อไปว่าคงไม่ใช่ผมเพียงคนเดียวเท่านั้นที่รู้สึกอย่างนี้ คนที่ชอบอ่านหนังสือก็คงรู้สึกคล้าย ๆ กัน แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ?
มีผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เป็นทั้งนักธุรกิจและนักวิชาการเล่าให้ฟังว่า ท่านกำหนดให้ตัวเองต้องอ่านหนังสือภาษาอังกฤษให้จบเดือนละอย่างน้อย 1 เล่ม และต้องทำให้ได้ วิธีการนี้น่าสนใจนะครับ เพราะถ้าหากไม่มีเป้าหมายที่ต้องบรรลุให้ถึง ความพยายามที่จะฟิตภาษาอังกฤษก็คงไปอย่างเฉื่อย ๆ และได้ผลช้า ที่ช้ามิใช่เพราะเครื่องจักรกำลังไม่ดี แต่เพราะเราใช้เครื่องจักรไม่เต็มกำลัง
ถ้าหากจะใช้วิธีนี้ก็ต้องดูว่า:
1. เราต้องหาให้พบเรื่องที่จะอ่าน พิจารณาและตัดสินใจอย่างรอบคอบแล้วว่า เล่มนี้ – เรื่องนี้ – หรือลิงค์นี้แหละ ที่เราจะอ่านให้ตลอดรอดฝั่งภายในเดือนนี้
2. กำหนดปริมาณให้พอเหมาะว่า เมื่อคำนวณจากเวลาว่างที่เรามี, หรือเวลาว่างที่เราไม่มีแต่ทำให้มันมีขึ้นมาด้วยการไปลดกิจกรรมอย่างอื่นที่สำคัญน้อยกว่า, และก็คำนวณจากความขยันที่เรามี, หรือความขยันที่เราไม่ค่อยมีแต่ต้องทำให้มันมีขึ้นมาให้ได้ ดูให้ทั่วเช่นนี้และมองข้ามไปจนถึงสิ้นเดือน และตั้งเป้าไว้เลยว่าจะอ่านให้จบทั้งเล่มหรือต้องจบกี่หน้า เป็นเป้าที่ไม่มากและไม่น้อยเกินไป
3. ข้อสุดท้ายนี้สำคัญที่สุด คือไปให้ถึงเป้าที่ตั้งไว้ ถ้ารู้ว่าวันไหนจะไม่มีเวลาว่างอ่าน จะต้องอ่านกักตุนไว้ล่วงหน้าหรืออ่านชดเชยใช้หนี้ตามหลัง ทำยังไงก็ได้ที่ทำให้เมื่อถึงวันสิ้นเดือนเราอ่านได้ถึงหน้าที่เรา mark ไว้, ทำให้ bookmark มีความหมายจริง ๆ
ด้วยวิธีนี้ผมเชื่อว่า ทักษะภาษาอังกฤษของเราจะสูงขึ้น ผมว่ามันไม่ต่างจากการเดินขึ้นบันไดเพื่อขึ้นสู่ชั้นที่สูงขึ้น การเดินต้านแรงดึงดูดของโลกก็ต้องเหนื่อยหน่อยเป็นธรรมดา แต่เราก็จะสูงขึ้นแน่ ๆ
วิธีที่เล่ามานี้คือวิธีที่ผมใช้กับตัวเองมาเนิ่นนานจนถึงทุกวันนี้ ผมเชื่อว่าสำหรับทุกท่านที่ต้องการฝึกภาษาอังกฤษ ก็น่าจะใช้ได้ผลเช่นกัน
ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ผมเห็นว่าทันใจดีมากสำหรับท่านที่ต้องการรู้เนื้อเรื่องเร็ว ๆ แต่เรื่องที่ต้องอ่านมันมีมากเหลือเกิน คือมีหลายเว็บที่เขาจัดให้มีการสรุปหรือวิจารณ์เนื้อเรื่องหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือดัง ๆ ระดับโลก เมื่อเข้าไปในเว็บเหล่านี้แล้ว ท่านมีวิธี search อย่างน้อย 2 วิธี คือ
1. พิมพ์ชื่อหนังสือ (หรือชื่อผู้แต่ง) ลงในช่อง Search
2. ไล่ดูชื่อหนังสือที่เขาแสดงไว้ใน menu หรือหมวดหมู่ต่าง ๆ ของเว็บนั้น
Summary ดังกล่าวนี้ แต่ละเว็บมียาว-สั้น ละเอียดมาก-น้อยไม่เท่ากัน บางเว็บมีนักวิชาการประจำเป็นผู้สรุป บางเว็บก็เปิดโอกาให้ผู้อ่าน post ข้อสรุปหรือความคิดเห็นลงไปได้ การอ่าน summary แม้จะสูญเสียรายละเอียด เนื้อเรื่อง และรสชาติไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เรารู้เนื้อหาของหลายเรื่องได้อย่างรวดเร็ว ถ้าอ่านจบแล้วอยากจะรู้รายละเอียดและรับรสของต้นฉบับก็สามารถไปซื้อหาอ่านได้ และจะอ่านได้รู้เรื่องง่ายขึ้นเพราะรู้โครงเรื่องมาก่อนแล้ว
-http://www.wikisummaries.org/Main_Page (เว็บนี้น่าจะดีที่สุดครับ)
(อ่านเรื่องที่ย่อแล้ว คลิก)
-http://en.wikipedia.org/wiki/Main_Page
-http://www3.interscience.wiley.com/cgi-bin/home
-http://www.writinghelp-central.com/book-summary.html (สำหรับนักธุรกิจ, นักศึกษา, อื่นๆ)
-http://www.freebooknotes.com/
-http://www.shvoong.com/
-http://thebestnotes.com/
-http://www.books-summary.com/books-reviews/
-http://www.bookrags.com/
-http://www.pinkmonkey.com/index2.asp
ข้างล่างนี้ผมได้หา list หนังสือประเภทที่โฆษณาว่าเป็น best-seller หรือ must read และแม้ว่าเราก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อว่าเป็นหนังสือที่ดีอย่างที่เขาโฆษณา เพราะผู้รวบรวมอาจจะมีอคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่เป็นไรครับ ดูไปคร่าว ๆ ก็ได้
-List_of_best-selling_books
-wiki/1001_Books_You_Must_Read_Before_You_Die
-list/1001-books-you-must-read-you-die
-list/1001-books-you-must-read-you-die-6
-books/bestseller/
-1001 books you must read before you die
ระหว่างที่อยู่หน้าอินเตอร์เน็ตเพื่อเขียนเรื่องวันนี้ เจอเรื่องย่อของหนังสือ 3 เรื่องนี้ จะทิ้งก็เสียดายจึงขอนำมาฝากครับ
Harry Potter
Rashomon
World Is Flat
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านภาษาอังกฤษครับ
พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com
วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
3 ความคิดเห็น:
อ่านเดืือนละ 1 เล่ม เป็นไอเดียที่ดีครับ
ขอบคุณครับ
น่าสนจายดีนะคะ
คงต้องเริ่มจากตัวเราก่อนะละคะ
ขอบคุงสำหรับบทความดีๆๆๆนะะคะ
ไม่รุว่าคุณพิพัฒน์ยังอยู่หรือเปล่า
อย่างงายก็แวะเวียนมาที่บ้านกันบ้านนะคะ
ทำไมคุณช่างเป็นคนดีอย่างนี้?
ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เบ่งความรู้
อยากให้ประเทศเรามีคนอย่างคุณเยอะๆจังเลยค่ะ
แถมคุณยังพิมพ์ไทยแบบไทยแท้ๆ อ่านแล้วรู้สึกดีมากๆ
เป็นกำลังใจให้คุณนะคะ *ยิ้ม*
แสดงความคิดเห็น