วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เทคนิคการฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษ



เทคนิคการฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษ

ที่มา: https://sites.google.com/site/sirinphahemuxnlamay/home 
หน่วยที่ 1 → ฟังอย่างไรให้เข้าใจ 
หน่วยที่ 2 → พูดอย่างไรให้รู้เรื่อง 
หน่วยที่ 3 → อ่านอย่างไรให้ถูกต้อง 
หน่วยที่ 4 → เขียนอย่างไรให้ถูกโครงสร้าง
====

หน่วยที่ 1 ฟังอย่างไรให้เข้าใจ


เคล็ดลับฝึกฟังภาษาอังกฤษยังไงให้เข้าหู

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ละก็ อย่าเพิ่งท้อใจนะคะ ขอให้รู้ไว้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของการเรียนภาษา ไม่ว่าจะภาษาใดๆ บนโลกใบนี้ เพราะเมื่อภาษาแปลงร่างจากการเขียนเป็นการพูด จะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียงของผู้พูดแต่ละคนที่มีเป็นร้อยเป็นพันแบบ การรวบคำให้กระชับ ประโยคแสลง และอีกสารพัดปัจจัยที่ทำให้การฟังยุ่งยาก แต่เรื่องแบบนี้สามารถฝึกฝนกันได้ด้วยเคล็ดลับดีๆ ต่อไปนี้ค่า
ก่อนอื่นขอให้จำไว้เลยว่าต้อง 'ฝึกฟังจากเรื่องง่ายไปหายาก' ช่วงแรกของการฝึกถ้าเราไปฟังข่าวยากๆ ยาวๆ ที่มีศัพท์แปลกๆ ไม่คุ้นหูอยู่เพียบ แล้วเกิดฟังไม่เข้าใจขึ้นมา อาจทำให้เกิดอารมณ์สิ้นหวังได้ค่ะ ดังนั้นเราจึงควรเริ่มจากฟังอะไรสั้นๆ ง่ายๆ ที่เขาพูดช้าๆ ให้เข้าใจเสียก่อน เน้นฟังสำเนียงที่ถูกต้อง ฝึกแบบค่อยเป็นค่อยไปนะคะ

ขั้นตอนในการฝึกฝน

1. ฟังรอบแรกรวดเดียวจบ โดยไม่ดูบทความที่แนบมากับคลิปเสียง สูดหายใจลึกๆ หามุมที่นั่งสบายๆ ผ่อนคลาย ไม่ต้องกังวลว่าจะฟังไม่รู้เรื่อง
2. ฟังซ้ำอีกครั้งเพื่อเก็บรายละเอียดเพิ่มเติม
3. ฟังและหยุดคลิปทุกๆ 5 วินาที ขณะที่หยุดนั้นให้เขียนคำหรือวลีอะไรก็ได้ที่คุณได้ยินออกมาให้ได้มากที่สุด เมื่อฟังจบทั้งคลิปแล้ว ลองอ่านโน้ตย่อๆ ของเราดูว่า เราพอจะจับคอนเซ็ปต์ได้หรือไม่ว่าในคลิปกำลังพูดถึงเรื่องอะไร การฝึกในเบื้องต้นเราไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกคำพูดค่ะ แค่พอเข้าใจคร่าวๆ ก็ถือว่าโอเคแล้ว
4. ทำซ้ำแบบเดิมกับข้อ 3. แต่พยายามเติมคำศัพท์ลงไปให้มากขึ้น และแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ จากการเขียนครั้งแรก
5. เขียนเรียบเรียงข้อมูลให้เป็นประโยค ลองใช้ความรู้ด้านไวยากรณ์ปะติดปะต่อคำและวลีต่างๆ เข้าด้วยกัน
6. เก็บโน้ตย่อชิ้นแรกออกไป เริ่มฟังคลิปอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ให้หยุดคลิปทุกๆ 10 วินาที แล้วเขียนสิ่งที่ได้ยินออกมาเหมือนเดิม จากนั้นลองนำมาเปรียบกับโน้ตย่อชิ้นเก่าดูค่ะ
→ คลิกดูคลิป 
กด Control ค้างไว้, และเลื่อนลูกล้อบนเมาส์ไป-มาเพื่อเพิ่ม-ลดขนาดของจอคลิป


หน่วยที่ 2 พูดอย่างไรให้รู้เรื่อง

1. อย่ากลัวความผิดพลาดและกังวลกับหลักไวยากรณ์มากเกินไป
       
        ปัญหาใหญ่สำหรับคนที่กำลังหัดพูดภาษาอังกฤษ ที่ฝรั่งมักจะเรียกว่าเป็นอาการ “mental blocks” คือมีบางสิ่งในจิตใจที่ขัดขวางทำให้ไม่สามารถเข้าใจหรือทำอะไรบางอย่างได้ กลัวว่าจะพูดผิด อายถ้าพูดประโยคภาษาอังกฤษได้ไม่สมบูรณ์แบบและไม่ถูกต้องเป๊ะๆ ตามหลักไวยากรณ์ ที่ท่องกันเป็นนกแก้วนกขุนทอง ความกังวลเหล่านั้นจะทำให้คุณรู้สึกอึดอัดและพูดไม่ได้สักที จำเอาไว้ว่า “การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าความสมบูรณ์แบบ”
       
        ลองนึกภาพ คนๆ หนึ่งพูดว่า “Yesterday I go to party in beach.” ซึ่งประโยคนี้ผิดหลักไวยากรณ์แน่ๆ ที่ถูกต้องคือ “Yesterday I went to a party on the beach.” แต่ทั้งสองประโยคกลับสื่อสารได้ความเดียวกันว่า “เมื่อวานฉันไปปาร์ตี้ที่ชายหาดมา” ความผิดพลาดไม่ใช่สิ่งร้ายแรง ก็แค่ลองใหม่แก้ไขไปเรื่อยๆ หายใจเข้าลึกๆ อย่าอายถ้ามันจะผิดพลาดหรือไม่ถูกหลักไวยากรณ์นัก เพราะการสื่อสารให้เข้าใจกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดจำไว้
       
       2. เริ่มต้นจากการฟัง
       
        อยากพูดภาษาอังกฤษให้คล่องเราต้องเริ่มฟังกันก่อน ไม่ว่าจะเป็นบทสนทนาภาษาอังกฤษ หรือจะดูหนัง ฟังเพลง เลือกแบบที่เราชอบได้เลย สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษเลยควรเริ่มจากการฟังบทสนทนาง่ายๆ ก่อน จะช่วยให้เราคุ้นเคยกับสำเนียงของเจ้าของภาษา และยังได้เรียนรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้ในการพูดทั่วๆ ไปด้วย ต่างจากการดูหนัง หรือฟังเพลงภาษาอังกฤษ เพราะอาจจะมีการใช้คำยากๆ ซึ่งสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานมาดีพอ แทนที่จะได้ฝึกการฟังกลับต้องมาคอยเปิด Dictionary ตีความหมายแทน
       
        เคล็ดลับในการฟังให้ได้ผลก็คือ “ฟังอย่างเข้าใจ และฟังอย่างต่อเนื่อง” เข้าใจคือเลือกฟังอะไรที่ง่ายไม่ยากเกินไป อย่างเช่น ข่าวภาษาอังกฤษที่ทั้งยากและเร็ว ฟังกี่ปีกี่ชาติก็ไม่มีวันเข้าใจ ฟังมากแค่ไหนก็ไม่ช่วยอะไร ดังนั้นเลือกง่ายๆ เข้าไว้แล้วค่อยพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ จะดีกว่า และฟังอย่างต่อเนื่อง วันละ 1-2 ชั่วโมง สามารถแบ่งเป็นเช้า 20 นาที เที่ยง 20 นาที และเย็นอีก 20 นาที ก็ได้ ตามสะดวกแต่เน้นว่าต้องฟังทุกวัน ห้ามวันเว้นวันโดยเด็ดขาด แล้วคุณจะเห็นผลที่ตามมาในมีกี่สัปดาห์ คอนเฟิร์ม!!!
       
       3. ฟังแล้วตอบ
       
        การฟังเพื่อให้เราเข้าใจภาษาอังกฤษได้มีประสิทธิภาพและสามารถโต้ตอบได้ ไม่ใช่ฟังซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง เพื่อให้จำเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการ “ฟังและตอบคำถาม” ในขั้นตอนแรกของการฝึกพูดภาษาอังกฤษให้ดี นั่นคือ การฟังจากบทสนทนาภาษาอังกฤษง่ายๆ เมื่อเราฟังแล้ว ลอง “Pause” ในช่วงของคำตอบ แล้วฝึกตอบอย่างรวดเร็ว จากคำถามที่เราฟัง ฝึกให้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องคิด ภาษาอังกฤษของคุณก็จะกลายเป็นระบบอัตโนมัติไปโดยปริยาย หรือลองฝึกด้วยการหาติวเตอร์ชาวต่างชาติมาช่วยเล่าเรื่องราวสักหนึ่งเรื่อง เริ่มจากง่ายๆ ก่อน เมื่อเล่าจบให้เขาลองถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่เล่าให้ฟัง จะทำให้คุณคิดคำตอบได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง
       
       4. เรียนรู้เป็นภาพ ไม่ใช่ตัวอักษร
       
        ก่อนที่จะพูดภาษาอังกฤษได้ต้องมีการซ้อม การเตรียมความพร้อม ต้องถามตัวเองก่อนว่ามีคลังคำศัพท์มากพอหรือยัง? เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถสื่อสารหรือพูดภาษาอังกฤษได้นั้นเพราะเราไม่รู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษเลยไม่รู้ว่าจะตอบฝรั่งชาวต่างชาติได้อย่างไร ท่องจำกันตั้งแต่เล็กจนโตก็จำได้บ้างไม่ได้บ้าง ถึงเวลาจริงก็นึกไม่ออกไม่รู้จะหยิบคำไหนมาใช้ ดังนั้น ต่อไปนี้เราต้องมาเรียนรู้และจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษในรูปแบบใหม่ “เลิกท่องศัพท์ ถ้าอยากพูดภาษาอังกฤษได้” เอ๊ะ...ยังไง!!!
       
        ต้องเลิกท่องคำศัพท์เป็นคำๆ ท่อง 1,000 คำ ก็จำไม่ได้เชื่อเถอะ ลองหันมาใช้วิธีการเรียนรู้คำศัพท์เป็นภาพ และเรื่องราวแทนการจดคำศัพท์เป็นลิสต์ยาวๆ พร้อมคำแปล แล้วนั่งท่องนอนท่อง วิธีนั้นลืมไปได้เลย ลองเปลี่ยนมาเป็นการเรียนรู้คำศัพท์แบบเป็นวลี ไม่จำเป็นคำๆ เวลาที่เจอคำศัพท์ใหม่ๆ ให้จดลงในสมุดโน้ต พร้อมกับวลีสั้นๆ จะทำให้การพูดและหลักไวยากรณ์ของคุณดีขึ้นอย่างรวดเร็ว 

       5. หยุดท่องหลักไวยากรณ์

        เด็กไทยส่วนเริ่มเรียนภาษาอังกฤษมาพร้อมๆ กับการเริ่มท่องกฎไวยากรณ์ “S. + V.to be + V.เติม ing” เป็น Present Continuous Tense ท่องๆ ไปเรื่อยๆ พร้อมกับคำศัพท์รูปกริยาที่เปลี่ยน ช่อง 1, 2, 3 ถ้าเริ่มต้นด้วยวิธีท่องหลักไวยากรณ์แล้ว 60 เปอร์เซนต์ จะคุยกับฝรั่งไม่ได้เลย อีก 30 เปอร์เซนต์ จะแค่พอพูดได้แบบตะกุกตะกัก ซึ่งมีเพียง 10 เปอร์เซนต์เท่านั้น ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว สำเนียงเป๊ะ เด็กอเมริกันแท้ๆ ไม่เคยต้องเรียน Grammar จนกระทั่งถึงมัธยม บางคนเพิ่งมาเริ่มเรียน Present Tense ตอนอายุ 15-16 ปีแล้ว ด้วยซ้ำ

        ถ้าจะฝึกพูดภาษาอังกฤษให้ได้ต้องหยุดท่องหลักไวยากรณ์ เพราะนั่นเป็นวิธีที่ผิด เด็กๆ ชาวต่างชาติจะพูดภาษาอังกฤษจากการเรียนรู้เองโดยธรรมชาติ จากการฟัง สังเกตและเลียนเสียงพูดจนคล่องก่อนจะเริ่มเรียนหลักไวยากรณ์ เหมือนเด็กไทยที่เรียนรู้และพูดคำว่า “แม่” จากการฟังและฝึกออกเสียง แล้วค่อยมาเรียนรู้วิธีการผสมคำในภายหลังนั่นเอง จริงๆ แล้วก็ใช้หลักในการเรียนรู้ภาษาเหมือนกันทั่วโลก 

       6. เรียนรู้แบบช้าๆ แต่ลึกซึ้ง

        เคล็ดลับที่จะทำให้คุณพูดภาษาอังกฤษได้อย่างง่ายดายนั่นก็คือ การเรียนรู้ทุกคำ และทุกวลีอย่างลึก (Deeply) ไม่ใช่แค่เรียนรู้ความหมาย ไม่ใช่แค่จำเพื่อไปทำข้อสอบ แต่คุณจะต้องเรียนรู้มันอย่างลึกซึ้ง ลึกลงไปในสมอง การพูดภาษาอังกฤษให้ได้ง่ายคุณต้องทำซ้ำหลายๆ ครั้ง ในแต่ละบทเรียน ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีหนังสือบทสนทนาภาษาอังกฤษ 1 เล่ม ในบทแรกให้ฟัง 30 ครั้ง ก่อนที่จะผ่านไปบทที่ 2 โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ครั้งในแต่ละวัน ให้ทำแบบนี้ไปจนครบ 10 วัน ต่อหนึ่งบท อย่าเพิ่งท้อ ท่องไว้ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม ฟังจนฝังลึกลงไปในสมอง ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากจนเกินไปขอเพียงตั้งใจจริง

       7. อย่าแปลเป็นไทย

        สาเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้แม้ว่าอาจจะฟังออกก็ถาม นั่นก็คือ การแปลประโยคต่างๆ เป็นภาษาไทยก่อนตอบ ซึ่งการพูดได้อย่างเป็นอัตโนมัติคือ ฟัง-คิด-พูด ต้องเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด โดยไม่มีการแปลเป็นไทยในหัว เพราะฉะนั้น เราควรพยายามแปลเป็นไทยให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ระบบที่คนไทยส่วนใหญ่คิดคือ ฟังภาษาอังกฤษเข้าหูปุ๊บมาแปลเป็นไทย คิดคำตอบภาษาไทย แล้วแปลตอบออกไปเป็นภาษาอังกฤษอีกที ซึ่งกว่าจะหลุดคำตอบออกมาได้ต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง ผลคือพูดออกมาแบบตะกุกตะกัก ไม่ไหลลื่นและเป็นธรรมชาติ วิธีการเรียนภาษาที่ถูกต้องก็คือ ต้องพยายามแปลให้น้อยที่สุดหรือไม่แปลเลยได้ยิ่งดี เน้นความเข้าใจความหมายเป็นภาพของมันจริงๆ 
10 เทคนิควิธีพูดอังกฤษให้ไหลลื่น..สำเนียงเลิศ
        8. เรียนรู้ที่จะคิดให้เป็นภาษาอังกฤษ
    
        หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะทำให้คุณพูดภาษาอังกฤษได้นั่นก็คือ “การคิดให้เป็นภาษาอังกฤษ” อีกหนึ่งวิธีที่ดีที่สุดที่ในการเรียนรู้ และจะทำให้คุณพูดได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องอายถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นมา เพราะไม่มีใครรู้!!!! โดยคุณสามารถทำตามกระบวนการและขั้นตอนได้ ดังนี้ 
        
       Level 1 : คิดคำศัพท์ภาษาอังกฤษในแต่ละวันของคุณ 
    
       เมื่อคุณตื่นขึ้นมาในตอนเช้าให้คิดคำศัพท์ขึ้นมา 1 ชุด เช่น
    
        bed, toothbrush, bathroom, eat, banana, coffee, clothes, shoes 
    
       หรือถ้าคุณกำลังนั่งทำงานอยู่ก็คิดถึงคำศัพท์ขึ้นมาอีก 1 ชุด 
    
       car, job, company, desk, computer, paper, pencil, colleague, boss 
    
       Level 2 : ลองเอาคำศัพท์มาแต่งให้เป็นประโยค 
    
       เมื่อคุณกำลังนั่งกินอาหารกลางวันอยู่ คิด…
    
       • I’m eating a sandwich.
       • My friend is drinking soda.
       • This restaurant is very good.
    
       ขณะที่คุณกำลังนั่งดูทีวีอยู่ คิด…
    
       • That actress is beautiful.
       • The journalist has black hair.
       • He’s talking about politics.
    
       Level 3 : สุดท้ายจินตนาการประโยคภาษาอังกฤษทั้งหมดให้เป็นเรื่องราวขึ้นมาในหัวของคุณ โดยให้คิดเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เช่นในขณะที่คุณออกกำลังกาย หรือกำลังรอรถไฟฟ้า รถเมล์ ให้ลองนึกบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวในหัวคุณให้เป็นภาษาอังกฤษ คุณจะรู้สึกผ่อนคลาย เพราะนี่เป็นเพียงความคิด ยังไม่ได้พูดจริงๆ 
    
       9. พูดด้วยคำศัพท์ที่แตกต่าง ดูดีมีความคิดสร้างสรรค์
    
        สองอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้การพูดภาษาอังกฤษดูไม่คล่องแคล่วมั่นใจ นั่นก็คือ “ไม่รู้ศัพท์ และ การหยุดหรือลังเล” ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มักมาพร้อมกันเสมอ หลายครั้งที่คุณพูดภาษาอังกฤษแต่นึกคำศัพท์ไม่ออก นั่นก็เป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้เราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เออๆ อ่าๆ...เพราะมัวแต่คิดถึงคำศัพท์ที่เคยท่องไว้ คราวนี้เราลองมาเปลี่ยนวิธีใหม่ ถ้านึกไม่ออกก็ไม่เป็นไร ลองหาคำอื่นมาอธิบายขยายความเอาก็ได้ 
    
        ถ้าคุณจะบอกว่า “หัวหอม” ภาษาอังกฤษคือ “onion” แต่นึกคำศัพท์ไม่ออกก็ให้อธิบายไปว่า “the white vegetable that when you cut it you cry” นี่เป็นคำบรรยายที่เข้าใจได้ ว่าสิ่งที่คุณกำลังจะสื่อสารหมายถึงอะไร รวมไปถึงคำศัพท์อื่นๆ ที่จะใช้แทนกันได้ในภาษาอังกฤษ เช่น การกล่าวทักทาย ที่นอกจาก “hello” แล้วมีคำว่าอะไรบ้าง หรือการกล่าวลา วลีของการล่ำลาในภาษาอังกฤษนั้นก็มีมากมายหลายสถานการณ์ด้วยกัน 
    
       10. ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
    
        เปลี่ยนสภาพแวดล้อมของคุณให้เต็มไปด้วยภาษาอังกฤษ ถือเป็นการฝึกฝนไปในตัว แต่ถ้าจะให้ง่ายและรวดเร็วที่สุดนั่นก็คือ “พยายามหาเพื่อนที่เป็นชาวต่างชาติ” นอกจากจะได้เพื่อนแล้ว เรายังได้ฝึกภาษาด้วย ที่สำคัญเพื่อนชาวต่างชาตินี่แหละที่จะช่วยคุณแก้ไขคำผิด ทั้งคำศัพท์ รูปประโยคและหลักไวยากรณ์ต่างๆ ให้คุณได้ พยายามหาเพื่อนฝรั่งคุยแชทบ้าง คุย Skype บ้าง เพื่อเป็นการฝึกภาษาและฟังสำเนียงที่ถูกต้องนั่นเอง
    
        แนะนำให้ใช้ภาษาอังกฤษทุกวันๆ ละ 10 นาที และจะดีมากๆ ถ้าคุณใช้ภาษาอังกฤษมากกว่า 1 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ แม้ว่าคุณจะไม่ได้อยู่ในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังมีวิธีอีกมากมายที่จะทำให้ภาษาอังกฤษมีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของคุณ เช่น ฟังภาษาอังกฤษในขณะที่คุณกำลังขับรถไปทำงาน, อ่านข่าวหรือฟังข่าวออนไลน์เป็นภาษาอังกฤษแทนภาษาไทย, ฝึกการคิดเป็นภาษาอังกฤษในขณะที่คุณกำลังทำงานบ้านหรือออกกำลังกาย, อ่านบทความ ฟังพอดคาสต์ หรือดูวิดีโอภาษาอังกฤษในแบบที่คุณชอบ เป็นต้น
คลิกดูคลิป
กด Control ค้างไว้, และเลื่อนลูกล้อบนเมาส์ไป-มาเพื่อเพิ่ม-ลดขนาดของจอคลิป

หน่วยที่ 3 อ่านอย่างไรให้ถูกต้อง


กำหนดเวลาในการอ่าน

คุณมีสมาร์ทโฟนไหม? ใช้การตั้งเวลาแบบถอยหลังเพื่อกำหนดเวลาในการอ่านเรื่องเป็นครั้งแรก เริ่มจาก 30 วินาทีต่อ 100 คำ นี่เป็นวิธีการที่ยอดเยี่ยมในการที่คุณจะไม่ติดอยู่ที่คำบางคำที่คุณไม่รู้จัก เมื่อคุณรู้ว่าตัวเองมีเวลาจำกัด คุณจะมุ่งความสนใจไปที่คำหรือวลีที่สำคัญซึ่งคุณเข้าใจความหมายของมันดีเพื่อทำความเข้าใจความหมายโดยรวมของเนื้อหาเหล่านั้น



การกำหนดเวลาเป็นสิ่งสำคัญทั้งสำหรับการอ่านผ่านๆ และการอ่านเพื่อจับใจความเพื่อที่คุณจะไม่ติดอยู่กับการพยายามอ่านทุกรายละเอียดในเนื้อหานั้นๆ กำหนดเวลาให้สั้นลงสำหรับการอ่านเพื่อจับใจความ(แค่ย่อหน้าละ 2-3 วินาที) เพราะในการอ่านเพื่อจับใจความนั้นคุณจำเป็นต้องฝึกการมองหาข้อมูลสำคัญเท่านั้น



พยายามสันนิษฐานชื่อของเรื่องที่อ่าน

โดยปกติชื่อเรื่องจะบอกถึงใจความสำคัญของงานเขียน ถ้าคุณกำลังฝึกเทคนิคการอ่านผ่านๆ อยู่ ก็ขอให้โยงสิ่งที่อ่านเข้ากับชื่อเรื่อง อ่านเรื่องภายในเวลาที่กำหนด และสันนิษฐานว่าเรื่องที่อ่านน่าจะมีชื่อเรื่องว่าอย่างไร ถ้าชื่อเรื่องที่คุณสันนิษฐานตรงกับที่เป็นจริง แสดงว่าคุณเข้าใจใจความสำคัญของเนื้อหาเหล่านั้นได้ถูกต้อง



วิเคราะห์ก่อนอ่านว่าข้อมูลที่คุณจะหามีอะไรบ้าง

นี่เป็นคำแนะนำในการอ่านเพื่อจับใจความ ถ้าคุณกำลังมองหาข้อมูลบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคำตอบสำหรับบางคำถามหรือบางสิ่งบางอย่างที่คุณจำเป็นต้องค้นหาเพื่อการค้นคว้าของคุณ ก่อนอื่นก็ขอให้แน่ใจว่าคุณรู้ว่าตัวเองกำลังค้นหาอะไร จำนวน? วันที่? ชื่อ? หรือบางสิ่งบางอย่างที่มีความเฉพาะเจาะจงยิ่งกว่านั้น? เมื่อคุณรู้ว่าคำหรือสำนวนแบบไหนที่คุณกำลังมองหา คุณก็สามารถมองข้ามข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น



การเน้นคำเพื่อที่จะกลับมาดูทีหลัง

เมื่อคุณอ่านแบบผ่านๆ โดยมีการกำหนดเวลาก็มักจะมีคำที่น่าสนใจที่คุณยังไม่มีเวลาพอที่จะเดาความหมายของมันปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อย สิ่งสำคัญก็คือคุณไม่สามารถปล่อยให้คำเหล่านั้นมาทำให้คุณเสียเวลา แต่ถ้าคุณต้องการที่จะเพิ่มคำเหล่านั้นลงในคำศัพท์ของคุณก็เพียงแต่ไฮไล้ท์หรือขีดเส้นใต้มันขณะที่คุณอ่าน แล้วค่อยกลับมาดูคำดังกล่าวทีหลังเพื่อเดาความหมายหรือค้นหาความหมาย



อ่านย้อน

เริ่มจากการหาคำสำคัญจากข้างล่างของเรื่องแล้วย้อนขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงข้างบน วิธีนี้ใช้ได้ผลสำหรับการอ่านเพื่อจับใจความเท่านั้นแต่ก็เป็นวิธีที่ดีมากๆ สำหรับการอ่านให้เร็วขึ้นเพราะมันบังคับคุณไม่ให้สนใจในทุกๆ คำแต่ให้มุ่งไปเฉพาะที่คำที่ให้ข้อมูลที่คุณต้องการเท่านั้น



อ่านกลับหัว

นี่ก็เป็นคำแนะนำสำหรับการอ่านเพื่อจับใจความเช่นกัน(คุณไม่สามารถอ่านหนังสือทั้งเล่มด้วยการอ่านกลับหัว!) นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มุ่งหาเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นโดยที่ไม่ต้องเสียเวลากับเนื้อความทั้งหมด มันอาจจะดูแปลกๆ หน่อยหากเราทำแบบนี้ในที่สาธารณะ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการดีที่สุดที่จะฝึกการใช้วิธีนี้เฉพาะที่บ้านเท่านั้น!

คลิกดูคลิป
กด Control ค้างไว้, และเลื่อนลูกล้อบนเมาส์ไป-มาเพื่อเพิ่ม-ลดขนาดของจอคลิป


หน่วยที่ 4 เขียนอย่างไรให้ถูกโครงสร้าง


1. เขียนแล้วทบทวนแก้ไขหลายรอบ
อย่าเขียนครั้งเดียวส่ง ถ้าเป็นการบ้านที่อีกนานกว่าจะส่งก็ให้รีบทำแต่เนิ่นๆ ตรวจรอบแรกแล้วทิ้งไว้ซัก 3 วันมาอ่านอีกที แก้ไขแล้วก็เว้นไว้อีก 5 วันมาแก้อีกรอบ ควรเว้นจังหวะระหว่างการแก้ไขแต่ละครั้งด้วย ครั้งหลังๆ มาอ่านก็จะรู้สึกว่า “วันนั้นฉันเขียนอะไรลงไปเนี่ย”

2. ลองอ่านออกเสียงเผื่อสะดุด
การอ่านออกเสียงทำให้เราได้ใช้ประสาทสัมผัสเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประสาทสัมผัสที่เพิ่มขึ้นก็เหมือนกับตัวช่วยตรวจสอบที่เพิ่มขึ้น บางทีพูดไปพูดมาน้องก็อาจจะรู้สึกแปลกๆ ขึ้นมากับบางประโยค

3. ขยันพิมพ์ภาษาอังกฤษในสเตตัส
ลองเปลี่ยนมาอัพสเตตัสเป็นภาษาอังกฤษแทน เขียนไปตามใจชอบเลย เพื่อนในเฟซบุ๊คที่เก่งภาษาอังกฤษผ่านมาเห็นก็จะช่วยแนะนำแก้ไขให้ และการแสดงความเห็นเป็นภาษาอังกฤษบ่อยๆ ก็จะทำให้ไม่รู้สึกว่ามันน่ากลัวเวลาต้องเขียนงาน ใครจะว่ายังไงก็ช่าง แต่เราทำเพื่อพัฒนาทักษะตัวเอง

4. พิมพ์ลง Google
เมื่อมีประโยคที่ไม่แน่ใจว่าเขียนถูกมั้ย วางคำขยายถูกตำแหน่งหรือยัง ให้ลองพิมพ์ประโยคนั้นลง Google ดู ผลลัพธ์ที่ขึ้นมาจะช่วยยืนยันได้ว่ามีคนเขียนแบบนี้หรือไม่ แต่ต้องอ่านทีละผลลัพธ์ดีๆ ว่าเขาใช้ในสถานการณ์เดียวกันกับเรารึเปล่า
คลิกดูคลิป
กด Control ค้างไว้, และเลื่อนลูกล้อบนเมาส์ไป-มาเพื่อเพิ่ม-ลดขนาดของจอคลิป

ไม่มีความคิดเห็น: