วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

[2079] เดินขึ้นบันไดถ้าไม่มีลิฟต์ !!

สวัสดีครับ
ผมเข้าใจว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ฝึกภาษาอังกฤษต้องการพูดภาษาอังกฤษเก่งขึ้น  แต่ปัญหาที่ได้ยินก็มีแต่เรื่องนี้ คือคนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ ซึ่งน่าแปลกทีเดียวว่าทำไมเราจึงพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ทั้ง ๆ ที่เราอยากพูดได้


สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้เป็นข้อสังเกต คำบ่น และคำแนะนำ เกี่ยวกับการฟิตภาษาอังกฤษของคนไทย ซึ่งผมขอเปรียบเทียบเหมือนกับการเดินขึ้นชั้นสูงของตึกซึ่งไม่มีลิฟต์
ผมขอพูดตามลำดับหัวข้อดังต่อไปนี้
เดินขึ้นบันไดถ้าไม่มีลิฟต์
เดินด้วยขา
เดินขึ้นทีละขั้น
เดินถึงที่หมายทีละชั้น และ test ตัวเอง
เดินแล้วต้องเหนื่อย
เดินทั้ง ๆ ที่ขี้เกียจเดิน
เดินเป็นกิจวัตร
เดินกับเพื่อน แต่ถ้าหาเพื่อนเดินด้วยไม่ได้ ก็เดินคนเดียว
เดินเพื่อปัจจุบันและอนาคตที่ดีกว่าของตัวเอง ลูกหลาน และประเทศไทย

เดินขึ้นบันไดถ้าไม่มีลิฟต์:
หลายคนพูดหรือนึกว่า เพราะเขาไม่มีโอกาสดังต่อไปนี้จึงทำให้พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ คือ ได้ไปใช้ชีวิตหรือศึกษาอยู่เมืองนอก, ได้เรียนหลักสูตรอินเตอร์ในเมืองไทย, ได้ทำงานที่พูดภาษาอังกฤษ, ได้ฝรั่งเป็นคู่หรือแฟนหรือเพื่อน, ได้เรียนคอร์สสนทนาภาษาอังกฤษกับอาจารย์ฝรั่ง ฯลฯ พอไม่มีโอกาสเช่นนี้ก็เลยไม่ได้พูด ก็เลยพูดไม่(ค่อย)ได้

ท่านผู้อ่านครับ ท่านคงเห็นได้ไม่ยากว่า โอกาสที่ยกตัวอย่างมานี้มีเฉพาะคนโชคดีด้านภาษาเพียงไม่กี่คน  หรือคนที่หัวดี, มีเงินพร้อมที่จะซื้อโอกาสที่ว่านี้  ซึ่งช่วยให้เขาพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว ส่วนคนอื่นที่ไม่โชคดีอย่างนี้ก็ต้องยอมรับสภาพและหาทางฝึกภาษาอังกฤษด้วยวิธีอื่น และผมอยากจะบอกว่า คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ที่ฝึกพูดภาษาอังกฤษได้ทุกวันนี้ก็ไม่ใช่กลุ่มคนโชคดีที่กล่าวมานี้  ยกตัวอย่างประเทศใกล้บ้านเรา เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน หรือไกลอกไปหน่อยก็เช่นอินโดนีเซีย คนในประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้โชคดีกว่าคนไทยในเรื่องโอกาสการฝึกพูดภาษาอังกฤษ  แต่หลายท่านคงจะได้ยินคนพูดกันหนาหูขึ้นแล้วว่า คนในประเทศเหล่านั้น เขาพูดภาษาอังกฤษได้เก่งขึ้น  เมื่อมองย้อนกลับมาดูประเทศไทย ก็เห็นได้ชัดว่าเรายังไปไม่ถึงไหน  แล้วเราจะเดินต่อไปยังไงดีในเรื่องนี้

ถ้ายอมรับแล้วว่าเราไม่ได้โชคดีอย่างที่ว่านี้  เราก็ต้องหาทางฝึกภาษาอังกฤษด้วยวิธีอื่น ซึ่งแม้ว่ามันจะไม่ได้รวดเร็วดังใจ  มันก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย  เปรียบเหมือนการเดินขึ้นชั้นสูงของตึก ถ้ามันไม่มีลิฟต์เราก็ต้องเดินขึ้นบันได

ผมไม่ขอก้าวล่วงไปวิจารณ์รัฐบาลว่า ทำไมไม่ทำ “ลิฟต์” ทางด้านภาษา ให้คนไทยสามารถพูดภาษาอังกฤษได้เร็ว  เพื่อจะได้รับมือกับโลกยุคใหม่  ทำไมเรายังต้อง “เดินขึ้นบันได” อย่างช้า ๆ เพื่อให้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้  ผมขอตัดบทมาพูดปัญหาใกล้ตัวแล้วกันครับว่า  เอาเป็นว่า เมื่อไม่มีลิฟต์ให้ขึ้น เราก็ต้องเดินขึ้นบันได เรื่องนี้ไม่มีทางอื่นให้เลือกครับ

ผมเห็นว่า การฝึกพูดภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง เป็นคำตอบเดียวสำหรับคนไทยที่ต้องการพูดภาษาอังกฤษ เรื่องนี้แม้จะต้องฝืนหลายอย่างแต่ก็จำเป็นต้องฝืน เช่น คนไทยจำนวนไม่น้อยถูกพูดให้ท้ายในการไม่ต้องสนใจภาษาอังกฤษ ด้วยประโยคนี้ “ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ของเรา”  หรือ (ตามความเห็นของผม) เด็กไทยไม่ได้ถูกสอนให้มีทักษะอันเข้มแข็งในการศึกษาอะไรด้วยตัวเอง พอจบออกมาจากโรงเรียนและจะต้องฝึกพูดภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง เราก็เลยไปไม่เป็น 

แต่ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยียุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอินเทอร์เน็ต ทำให้การเดินขึ้นบันไดในการฝึกภาษาอังกฤษของคนยุคนี้ง่ายกว่าเดิม  


ผมได้รวมเว็บ บทเรียน ไฟล์ คำแนะนำ และเนื้อหาทั้งหมด เกี่ยวกับการฝึกพูดภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง ที่มีอยู่ในบล็อกนี้ ไว้ที่ลิงค์นี้ -สนทนา-


และที่ขอแนะนำเป็นพิเศษ คือลิงค์ข้างล่างนี้
ผมเชื่อว่าเนื้อหาข้างต้น จะเป็นประโยชน์มากพอสมควรสำหรับท่านที่ต้องการฝึกพูดภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง

เดินด้วยขา:
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชวนให้แปลกใจไม่น้อย เช่น บางคนพูดว่า ฟัง soundtrack ในหนังฝรั่งมาตั้งนานแล้วแต่ก็ยังพูดไม่ได้   หรือหลายท่านประทับใจมากที่ได้ฟังอาจารย์ฝรั่งหรือลูกครึ่งที่พูดภาษาไทยได้จัดรายการภาษาอังกฤษ บอกว่าอาจารย์สอนสนุกมาก แต่ฟังหรือชมเป็นสิบ ๆ ครั้ง ก็ยังพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีกว่าเดิม แล้วก็สงสัยว่าทำไมเป็นอย่างนี้ สาเหตุตอบได้ง่ายมากครับ เพราะท่านเอาแต่ฝึกฟังด้วยหู แต่ไม่ได้ฝึกพูดด้วยปาก เมื่อท่านฟังด้วยหู ท่านอาจจะเข้าใจ(และประทับใจ) แต่เมื่อไม่ได้ฝึกพูดด้วยปาก ก็ยากที่ท่านจะพูดได้ เพราะคนเราพูดด้วยปาก ไม่ได้พูดด้วยหู เมื่ออยากพูดได้ก็ต้องให้ปากได้ฝึกพูด

ผมเห็นหลายคนไปเข้าคอร์สสนทนาภาษาอังกฤษ แต่ไม่ได้เอาปากไปด้วย เอาไปแค่ก้นสำหรับนั่ง, มือสำหรับเขียน, ตาสำหรับดูอาจารย์ที่ยืนอยู่หน้าห้อง และหูสำหรับฟังอาจารย์พูด แต่เอาปากไว้ที่บ้าน การขาดอวัยวะสำคัญเช่นนี้ทำให้เรียนฝึกพูดไม่ได้ผล

เมื่อท่านจะเดินขึ้นบันได ท่านก็ต้องใช้ขาเดิน เมื่อไม่ยอมขยับขาก็ต้องนั่งอยู่กับที่ เมื่อไม่ยอมขยับปากก็อย่าหวังว่าจะพูดได้ เหตุผลนี้ง่ายมากแต่น่าแปลกที่หลายคนมองไม่เห็น

เดินขึ้นทีละขั้น:
หลายคนใจร้อน พอออกเดินก้าวแรกก็อยากถึงที่หมายันที เขาจึงก้าวทีละ 2 ขั้น หรือรีบเดินอย่างรวดเร็วเกินไป ผลก็คือขาเจ็บและเหนื่อยหอบ ทำให้ต้องพักนาน  การพักนานทำให้ไม่อยากลุกขึ้นเดินอีกเมื่อขาหายเจ็บ

ถ้าเปรียบการฝึกพูดภาษาอังกฤษเหมือนกับการเดินบันไดขึ้นชั้นบน การเดินทีละขั้นก็คือการฝึกพูด ทีละคำ ทีละวลี ทีละประโยค ทีละเรื่อง ถ้าท่านไม่สามารถพูดได้ทีละเรื่องก็ฝึกพูดทีละประโยค ถ้าทีละประโยคก็ยังพูดได้ลำบาก ก็ฝึกพูดทีละคำ นี่เป็นวิธีการฝึกพูดที่เป็นธรรมชาติที่สุด ไม่มีทารกคนไหนที่พอฝึกพูดปุ๊บก็พูดได้ปั๊บเลยว่า “หนูอยากกินนม” แกก็ต้องพูดคำว่า “นม” ให้เป็นเสียก่อน พอพูดคำว่านมจนชำนาญ แกก็จะสามารถหาคำมาเติมหน้าและต่อท้ายคำว่า “นม” ได้เอง  การฝึกพูดภาษาอังกฤษก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราต้องการพูดให้ได้ทีละเรื่องก็อย่าดูถูกการฝึกพูด ทีละคำ และทีละประโยค เพราะมันจะเป็นฐานที่แน่นหนาให้เราสามารถพูดได้ทีละเรื่อง และพูดเรื่องอะไรก็ได้ 


การเดินขึ้นตึกที่ไม่มีลิฟต์ ต้องเดินด้วยขาทีละขั้น,  การฝึกพูดภาษาอังกฤษ ต้องฝึกพูดด้วยปาก ทีละคำ ทีละประโยค

เดินถึงที่หมายทีละชั้น และ test ตัวเอง:

การฝึกพูดภาษาอังกฤษ เมื่อฝึกเรื่อย ๆ ไปได้สักระยะหนึ่ง ถ้าเปรียบเหมือนนักมวย ท่านน่าจะหาโอกาส “ขึ้นชกบนเวที” บ้างเป็นระยะ ๆ อาจจะถี่บ้าง ห่างบ้าง ตามโอกาส
ทั้งนี้หมายความว่า ท่านได้ซ้อมมาอย่างสม่ำเสมอก่อนขึ้นเวที  ถ้าเป็นการเดินขึ้นชั้นสูงของตึกเมื่อเดินถึงแต่ละชั้นก็น่าจะหาโอกาส test ระดับความก้าวหน้าในการฝึกพูดภาษาของตัวเอง เพื่อจะได้มีกำลังใจ และรู้ข้อบกพร่องเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป ในการนี้ผมขอแนะนำว่า  ถ้าท่านรู้จักฝรั่งใกล้บ้านหรือในที่ทำงาน หรือเป็นฝรั่งที่เพื่อนรู้จักก็ได้ ถ้าเขาสะดวกก็อาจจะจ้างให้เขามาคุยกับท่าน เดือนนละครั้ง ๆ ละไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยบอกวัตถุประสงค์ของการคุยคือ เพื่อประเมินทักษะในการพูดภาษาอังกฤษของท่าน เมื่อคุยจบก็ขอให้เขาช่วย comment ข้อดีและข้อที่ควรปรับปรุงของท่าน และถ้าท่านพอใจเขาและเขาสะดวกก็ค่อยนัดแนะวันพูดคุยครั้งต่อไป ในการนี้ท่านก็คงต้องจ่ายเงินอยู่บ้าง แต่ก็นับว่าเป็นการเรียนอย่างผู้ใหญ่ เพราะฝรั่งที่ท่านจ้างนี้จะเป็น tester (ผู้ทดสอบ) มากกว่าเป็น trainer (ผู้ฝึกสอน) เพราะการสอนตัวเองนั้น ท่านรับเอาไปทำเองแล้ว

สำหรับท่านที่หาฝรั่งเช่นนี้ไม่ได้ ท่านอาจจะลองเดินเข้าไปที่โรงเรียนสอนภาษาที่ไหนก็ได้ที่เห็นว่าเข้าท่าเข้าทางหน่อย และบอกเขาว่า ต้องการพูดสนทนาส่วนตัวกับอาจารย์ฝรั่งเพียงชั่วโมงเดียว และให้เขาคิดค่าบริการมาเลย  ส่วนการจะเข้าคอร์สเพื่อเรียนต่อหรือไม่จะพิจารณาอีกทีหนึ่ง เมื่อท่านเข้าไปคุยกับอาจารย์ฝรั่งในห้องจนใกล้จบชั่วโมง (อาจจะขอให้ญาติหรือเพื่อนที่รู้ภาษาอังกฤษดีหน่อยเข้าไปนั่งสังเกตการณ์อยู่หลังห้องก็ได้)  ถ้าท่านพอใจอาจารย์ฝรั่งคนนี้ ก็อาจจะขอเบอร์มือถือของเขาเพื่อนัดแนะเวลาพูดคุยเช่นนี้ในโอกาสต่อไปที่ไม่ใช่เวลาทำงานในโรงเรียนของเขา  เพราะถ้าเป็นเวลาทำงานเขาต้องคิดแพงเป็นพิเศษเนื่องจากต้องแบ่งส่วนหนึ่งให้โรงเรียน  ส่วนสถานที่ที่จะนัดคุยกันในโอกาสถัดไปนั้น อาจจะเป็น food center ในห้างที่ไหนก็ได้ซึ่งไม่เสียเงินค่าสถานที่ การตกลงทั้งหมดนี้ ท่านอาจจะให้คนที่ไปด้วยช่วยพูดด้วยก็ได้ ถ้าในขั้นนี้ท่านยังพูดสื่อความเองไม่ถนัด



เดินแล้วต้องเหนื่อย:
คนที่ไม่เคยเดินขึ้นตึกพอเริ่มเดินแค่ชั้นเดียวก็เหนื่อยแล้ว เมื่อท่านเริ่มฝึกพูดภาษาอังกฤษหลังการพูดครั้งสุดท้ายสมัยเป็นนักเรียนนักศึกษาในชั้นเรียน มันก็เป็นธรรมดาที่ท่านจะรู้สึก “เหนื่อย”   บางคนเมื่อ “เหนื่อย” จะมีอาการ “เนือย” และหยุดทำ,  แต่ในการฝึกพูดภาษาอังกฤษ เมื่อท่านเหนื่อย ผมขอแนะนำว่า ท่านอาจจะฝึกน้อยลง แต่อย่าหยุดฝึก ท่านจำเป็นต้องยอมรับความจริงว่าความเหนื่อยต้องเกิดขึ้น แต่ท่านไม่จำเป็นต้องยอมรับคำบงการของความเหนื่อยว่า เหนื่อยแล้วต้องหยุด


เดินทั้ง ๆ ที่ขี้เกียจเดิน:
ผมมีความรู้สึกว่า ในสังคมไทยเรานี้  มีทักษะ หรือ skill อย่างหนึ่งที่เราไม่ค่อยได้สอนกัน คือเราจะจัดการอย่างไรกับความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้นมาในใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้นบ่อย และตื๊ออยู่ในใจนาน ๆ  ยกตัวอย่างเช่น ความรู้สึกเบื่อ, รู้สึกขี้เกียจ, รู้สึกกังวล เป็นต้น เมื่อเราเห็นว่าการฝึกพูดภาษาอังกฤษเป็นสิ่งดีที่ควรทำ แต่ทำแล้วรู้สึกขี้เกียจ เราก็พยายามบดขยี้ความขี้เกียจให้หายไปจากใจ แต่มันก็ไม่ยอมไปซะที   เราก็เหมือนจะรับปากกับตัวเองว่า 1)จะละความขี้เกียจ 2)เมื่อละได้แล้วจะฝึกพูดภาษาอังกฤษทันที การรับปากเช่นนี้ไร้ประโยชน์ เพราะความขี้เกียจเป็นแขกไม่ได้รับเชิญที่ไล่ก็ไม่ยอมไป เมื่อไล่แล้วไม่ยอมไป  วิธีที่เราจะจัดการกับมันก็คือ เราก็ทำงานอะไรของเราที่ควรทำไปตามปกติ แม้ว่าตัวความขี้เกียจจะนั่งอยู่ตรงนั้นและเกะกะลูกกะตาเราอยู่บ้าง   เราก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ความขี้เกียจออกไปซะก่อนเราจึงค่อยทำงาน

ในการฝึกพูดภาษาอังกฤษก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่สามารถขยันฝึก ก็ฝึกไปทั้ง ๆ ที่ขี้เกียจนั่นแหละครับ แล้วผลดีก็จะตามมาเอง เหมือนเดินขึ้นตึก ทั้ง ๆ ที่เดินขึ้นไปอย่างขี้เกียจ แต่ถ้าเดินไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด มันก็จะถึงชั้นที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน ผลย่อมมาจากเหตุครับ


เดินเป็นกิจวัตร:
การฝึกพูดภาษาอังกฤษ เป็นกิจกรรมที่ควรทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะ 1)อ่านออกเสียงให้ได้วันละ 1 ย่อหน้า  2)ฟังข่าวช้า ๆ และฝึกพูดตามให้ได้วันละ 1 ย่อหน้า (ด้วยวิธี play-pause-repeat)  3)ฟังหรืออ่านเรื่องอะไรก็ได้สัก 1 เรื่อง และพยายาม พูดเล่าเรื่องนั้นด้วยสำนวนภาษาของตัวเอง ในการฝึกครั้งแรก ๆ ก่อนเล่าเราอาจจะเตรียมเขียน script และอ่านตาม script ก็ได้  นอกจากนี้ยังมีวิธีฝึกอีกมากมายหลายวิธีตามลิงค์ที่ผมแนะนำข้างต้น

เดินกับเพื่อน แต่ถ้าหาเพื่อนเดินด้วยไม่ได้ ก็เดินคนเดียว:
ผมเคยได้ยินมาว่า มีพ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกของตัวเองพูดภาษาอังกฤษได้ ก็เลยพาไปสมัครเข้าคอร์สเรียนสนทนาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสอนภาษาแถวอนุสาวรีย์ฯ แต่พอเรียนไปได้อาทิตย์เดียวลูกสาวก็เลิกเรียน สอบถามได้ความว่าเพราะเพื่อนไม่มาเรียนด้วยก็เลยหยุดตามเพื่อน ผมมีความเห็นว่า นี่เป็นพฤติกรรมโดยเฉลี่ยของคนไทยรุ่นใหม่บางกลุ่มในการเรียนภาษาอังกฤษซึ่งแย่กว่าหลาย ๆ ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันแม้ว่าในทางเศรษฐกิจเราอาจจะดีกว่าเขา เพราะฉะนั้น ถ้าท่านไม่ต้องการล้าหลังทางด้านภาษาเหมือนคนไทยโดยเฉลี่ย ท่านก็ต้องมีพฤติกรรมทางด้านภาษาที่ห้าวหาญกว่าคนไทยโดยเฉลี่ย ก็คือว่า ถ้าท่านหาคนเป็นเพื่อนเรียนด้วยไม่ได้ ท่านก็ต้องเรียนคนเดียว,  เรียนคนเดียวและเรียนด้วยตัวเอง ถ้าไม่มีครูสอน


เดินเพื่อปัจจุบันและอนาคตที่ดีกว่าของตัวเอง ลูกหลาน และประเทศไทย:
หัวข้อนี้ผมไม่ได้พูดให้ดูน่าตื่นเต้นเกินจริง โลกทุกวันนี้ความจำเป็นที่เราจะต้องสื่อสารกับคนทั้งโลกมีมากกว่าสมัยก่อนหลายสิบเท่า  ในอนาคต เราอาจจะต้องติดต่อ ซื้อขาย ผูกมิตร แลกเปลี่ยนความรู้ ความสนใจ ภูมิปัญญา เทคโนโลยี ทางแก้ปัญหา การพัฒนา ฯลฯ กับคนทั้งโลก ได้ง่ายดาย รวดเร็ว และถูกตังค์กว่าทุกวันนี้หลายสิบเท่า  คำว่า “คนทั้งโลก” ผมหมายถึง คนในทุกประเทศ ทุกมุมโลกนี้ ไม่ว่าประเทศเล็ก ประเทศใหญ่ ประเทศรวย ประเทศจน ประเทศที่คนทั้งโลกรู้จัก และประเทศที่แทบไม่มีใครรู้จัก เมื่อวิทยาศาสตร์เจริญขึ้น ปัญหาของโลกก็มากขึ้น แต่หนทางแก้ปัญหาก็มากขึ้นเช่นกัน ในขณะที่ไทยรับความเจริญทางวัตถุมาจากนอกประเทศ เราก็รับปัญหามาด้วย ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว หนทางที่จะอยู่รอดได้ก็คือ ต้องเรียนรู้จากเขาในวิธีการที่จะรับมือแก้ปัญหา หรือในการพัฒนาปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้นด้วย

สิ่งนี้หมายความว่า  เราคนไทยต้องพูดกับชาวโลกมากขึ้น คำว่า “คนไทย” ผมหมายถึง คนไทยทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีตำแหน่งใหญ่โต ผู้นำสังคม นักธุรกิจชั้นสูง แต่คือคนไทยทุกระดับรายได้ และการที่จะทำได้เช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือทักษะภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร คือ ภาษาอังกฤษที่ใช้เขียนและพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพูดภาษาอังกฤษได้นั้นสำคัญที่สุด ในอนาคตเราอาจจะโทรศัพท์คุยกับใครก็ได้ในประเทศใดก็ได้ในโลกนี้โดยเสียค่าโทรศัพท์นาทีละไม่เกิน 1 สตางค์ เหมือนกับที่ทุกวันนี้เราสามารถเขียน  chat คุยได้ฟรีกับคนทั้งโลก ด้วยภาษาอังกฤษ

ผมอยากจะบอกอย่างนี้ครับว่า โลกทุกวันนี้ มีหลายสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดี มันเกิดขึ้นมาก-เร็ว-บ่อย-ฉับพลันกว่าที่เราคิด เราคนไทยจึงต้องเตรียมพร้อมให้สามารถรับมือกับปัญหาและการพัฒนาของโลกนี้ และการสามารถเขียนได้ และพูดได้ ด้วยภาษาอังกฤษ เป็นการเตรียมพร้อมที่สำคัญมาก สำหรับท่านที่แม้ว่าจะทำงานในองค์กร ซึ่งมีรายได้ที่มั่นคงแล้ว แต่ผมก็เชื่อว่า ความสามารถที่เพิ่มขึ้นในการพูดภาษาอังกฤษจะเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านเองและองค์กรที่ท่านสังกัด และจะช่วยสอนอย่างเป็นรูปธรรมให้ลูกหรือหลานของท่านพยายามทำให้ตัวของเขาเองพูดภาษาอังกฤษได้  อีกทั้งการที่ท่านยอมลงทุนเป็นตัวอย่างนี้จะเป็นการสอนที่ได้ผลยิ่งกว่าการออกเงินให้เขาเรียนในคอร์ส conversation ที่โรงเรียนสอนภาษาเสียอีก

สำหรับท่านที่อยู่ในวัยเรียน, กำลังรองาน, เพิ่งได้งานทำ, หรือเพิ่งตกงาน ขอให้ท่านลองจินตนาการดูว่า ในชีวิตการทำงานของท่าน ประมาณ 25 – 35 ปี ในอนาคต ก่อนที่ท่านจะแก่และเลิกทำงานหาเงิน ไม่ว่าท่านจะเป็นพนักงาน/ลูกจ้าง ของธุรกิจเอกชนหรือราชการ หรือเป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง จะเป็นการดีเพียงใดถ้าท่านสามารถพูดภาษาอังกฤษได้   ถ้าท่านเริ่มฝึกเร็วเพียงใดก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากเพียงนั้น

ท่านผู้อ่านครับ ผมได้ยินฝรั่งลูกครึ่งคนหนึ่งซึ่งเป็นครูสอนภาษาที่มีชื่อเสียงในเมืองไทยพูดว่า คนไทยเป็นคน friendly แต่ไม่ถึงกับ outgoing คือ ถ้าใครเข้ามาคุยก็จะคุยด้วยอย่างเป็นมิตร แต่ไม่ค่อยเดินเข้าไปคุยกับใครก่อน  โดยส่วนตัว ถ้าหมายถึงการไม่เดินเข้าไปคุยกับคนต่างชาติ ผมเห็นว่า อาจจะมาจาก 2 สาเหตุ คือ 1)ไม่มี “นิสัย” ที่จะเข้าไปคุยกับคนต่างชาติ  และ 2)ไม่มี “ทักษะ” การพูดภาษาอังกฤษที่จะใช้คุยกับคนต่างชาติ  ผมเองอยากให้คนไทยมีทั้ง นิสัย และ ทักษะ ภาษาอังกฤษ ที่จะคุยกับคนต่างชาติ และในฐานะที่เคยข้องแวะติดต่อกับคนต่างชาติมาบ้าง ผมเชื่อว่า ถ้าคนไทยพูดจาสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษกับชาวโลกได้รู้เรื่องดังใจ จะมีอะไรอีกมายมากที่เราจะได้รับประโยชน์จากชาวโลก และก็มีอะไรอีกมากมายเช่นกันที่คนไทยเราสามรถให้แก่โลกนี้

โอกาสในการฝึกภาษาอังกฤษของคนไทยเรา อาจะไม่มีมากมายสะดวกสบายเหมือนขึ้นชั้นสูงของตึกโดยลิฟต์ แต่ ณ นาทีนี้ ถ้าท่านเดินขึ้นด้วยขาก็เป็นสิ่งคุ้มค่าที่น่าลงทุนครับ


พิพัฒน์
e4thai@live.com

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อาจารย์ค่ะ
ดิฉันได้อ่านคำแนะนำของอาจารย์มานานกว่า 1 ปี รู้สึกว่าอาจารย์ได้ให้คำแนะนำต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งให้กำลังใจ เพื่อไม่ให้ย่อท้อในการฝึกภาษาอังกฤษ บอกตามตรงเลยว่าศรัทธาในตัวคุณพิทักษ์มาก ๆ ๆเลย แต่ถ้าคนที่อ่านแล้วยังไม่มีความพยายามที่จะทำอะไรเพื่อตัวเองแล้ว อ้างนู่ นี่ นั่น ก็ไม่ต้องโทษอะไรอีกแล้ว นอกจาก ตัวคุณเองนั่นล่ะ
สำหรับตัวดิฉัน มีโอกาสได้พูดกับคนต่างชาติน้อย แต่ก็พยายามหาทางพูดถ้ามีโอกาส เช่น ถ้าเห็นคนต่างชาติมาเที่ยวในบ้านเรา เช่น ส่วนจตุจักร ถ้านั่งกินอาหารติดกันก็จะทักทาย และชวนคุยเลย ฝึกไปด้วยในตัว เวลาไปหาลูกค้าที่คนเป็นตางชาติ เขาพูดภาษาไทยได้ แต่ก็พยายามฝึกอธิบายงานเป็นภาษาอังกฤษกับเขา อาจจะช้าแต่ยังดีกว่าไม่ได้พูด ทุกวันนี้ก็ค่อย ๆ ดีขึ้น

pipat - blogger กล่าวว่า...

ผมยินดีครับที่คุณพยายามหาโอกาสฝึกพูดภาษาอังกฤษ

ผมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า...
ทักษะในการพูดภาษาอังกฤษ หรือทักษะอะไรก็ตามเป็นสิ่งที่ต้องสะสม

การทำอะไรซ้ำ ๆ มักทำให้เกิด 2 สิ่งคู่กัน คือความเบื่อและความชำนาญ

ใครที่ทนเบื่อไม่ค่อยได้ ก็ยากที่จะมีความชำนาญ

แต่เรื่องที่น่าคิดก็คือ เมื่อเราอายุมากขึ้น เราควรมีความชำนาญมากขึ้น ในหลายอย่าง หรือบางอย่าง

ความชำนาญบางอย่างที่เรามีมากกว่าเพื่อนรอบข้างแม้นิดหนึ่ง อาจจะไม่ได้เด่นมากมายอะไร แต่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องมือที่เอื้อให้เราช่วยคนอื่นได้

ผมคิดว่า ทักษะภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวมันเอง และมีคุณค่าต่อคนรอบข้างด้วย

พิพัฒน์