วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

[1449] ประสบการณ์การฝึกฟังภาษาอังกฤษ

สวัสดีครับ
วันนี้ผมขอเล่าประสบการณ์การฝึกฟังภาษาอังกฤษของตัวเองสักหน่อยนะครับ

ผมจบปริญญาตรีเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วด้วย listening skill ที่แย่มาก ๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่า สมัยที่ผมเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับประถม มัธยม จนจบมหาวิทยาลัย ทักษะหลักที่ผมได้มีอย่างเดียว คือ การอ่าน หรือ reading skill ส่วนทักษะอื่น ๆ คือ การฟัง-พูด-เขียน ผมมีน้อยมาก น้อยจริง ๆ และเมื่อทำงานมาได้ประมาณ 10 ปี จู่ ๆ ผมก็เปลี่ยนงานใหม่ โดยงานใหม่ที่ผมรับผิดชอบจำเป็นต้องใช้ listening – speaking และ writing skill ด้วย ผมจึงจำเป็นต้องฝึก 3 skill นี้ให้มีมากพอที่จะใช้งานได้ ปัญหาก็คือ ผมจะฝึกยังไงดี? ตอนนั้นอายุของผมปาเข้าไปตั้ง 35 ปีแล้ว

วิธีหลักที่ผมฝึก listening skill ก็คือฟังช่องข่าวภาษาอังกฤษ BBC และ CNN จากเคเบิ้ลทีวีช่อง UTV ที่ผมรับที่บ้าน (ตอนหลังช่อง UTVมารวมกับ ช่อง IBC เป็นช่อง UBC ทุกวันนี้) และตอนนั้นก็ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ในเมืองไทย สิ่งที่จะใช้ฝึกฟังจึงไม่มีหลากหลายเช่นทุกวันนี้

แต่เรื่องของเรื่องก็คือว่า แม้ผมจะรู้ศัพท์เยอะพอสมควรเพราะได้ฝึกมาจาก reading skill ที่ค่อย ๆ สะสมมาหลายปี แต่เมื่อฝึกฟังอยู่นานก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือรู้เรื่องน้อยนิดเดียวจนรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่ฝึกฟังภาษาอังกฤษ และหลายต่อหลายครั้งที่ผมถามคนที่เขาเก่งภาษาอังกฤษว่าทำยังไงจึงจะฟังรู้เรื่องเร็ว ๆ? คำตอบที่ได้รับมักเหมือนกันทุกครั้ง คือ “ฝึกฟังไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็รู้เรื่องเองแหละ” ผมก็อดทนฝึกฟังไปเรื่อย ๆ ตามที่เขาแนะนำ ฟังตั้งนานสองนานแล้วก็ยังไม่รู้เรื่อง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า มันก็คงรู้เรื่องได้แค่เรี่ย ๆ ดินอย่างนี้แหละ คงหวังมากกว่านี้ไม่ได้หรอก

ทุกวันนี้น้อง ๆ รุ่นหลังโชคดีกว่าผมที่มีอินเตอร์เน็ตช่วยให้ฝึก listening skill ได้ผลง่ายกว่าและเร็วกว่า แต่ถึงยังไงผมก็เชื่อว่าความรู้สึกท้อแท้และเบื่อหน่ายในการฝึกฟังภาษาอังกฤษที่ผมเคยรู้สึก หลายท่านในวันนี้ก็อาจจะรู้สึกเหมือนที่ผมเคยรู้สึกในวันโน้น และอะไรล่ะคือคำแนะนำของผมในวันนี้

คำแนะนำของผมก็คือ “ฝึกฟังไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็รู้เรื่องเองแหละ” - - เป็นคำแนะนำเดียวกันกับที่ผมเคยได้รับ และเป็นคำแนะนำเดียวที่ได้ผล ศักดิ์สิทธิ์ และขลัง !!

เรื่องของเรื่องก็คือว่า ผมใจร้อนมากเกินไป จึงทำให้รู้สึกว่าการอดทนฟังสักครึ่งชั่วโมงยาวนานถึงครึ่งวัน และขณะที่ฟัง ผมก็ไม่ได้ฟังเฉย ๆ แต่ฟังไปบ่นไปในใจ จริง ๆ แล้ว ถ้าผมทำใจให้สงบ และฟังเฉย ๆ โดยไม่บ่นแทรกเข้ามาทุกครั้งที่อดทนฟัง ผมก็จะได้รับตามที่เขาบอกไว้ คือ “เดี๋ยวก็รู้เรื่องเองแหละ”

ถ้าอนุญาตให้ผมพูดตรง ๆ ก็ต้องขอพูดว่า หลายคนที่ฝึกภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ผลก็เพราะไม่อดทน แต่การที่คนยุคนี้ไม่อดทนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเราเกิดมาและมีชีวิตอยู่ในยุคที่สินค้าและบริการทุกอย่างที่ผลิตออกมาให้เราซื้อเน้นเรื่องเร็ว ทันใจ ไม่ต้องรอ เราก็เลยไม่อยากรอ ไม่อยากทน ถ้าต้องทนก็จะเป็นทุกข์ทันที จึงไม่อยากทน ไม่อยากเป็นทุกข์ และไม่อยากทำ ทักษะที่อยากได้จึงไม่เกิด

แต่ท่านอย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะครับ วันนี้ผมมิได้ตั้งใจจะมาตั้งหน้าตั้งตาต่อว่าท่านผู้อ่านที่ไม่ทนฝึก listening skill และแม้ผมจะยืนบันคำแนะนำเดิมคือ “ฝึกฟังไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็รู้เรื่องเองแหละ” ผมก็ขอเล่าเพิ่มเติมประสบการณ์ที่ผมใช้ฝึกควบคู่ไปกับคำแนะนำประโยคนี้ ที่ว่า “ฝึกฟังไปเรื่อย ๆ ....” นี้ คือฝึกอย่างไร?

ผมมีประสบการณ์ที่อยากแบ่งปันใน 6 เรื่องต่อไปนี้ว่า ในการฝึกฟังภาษาอังกฤษนั้น .....
1.ฟังอะไร?
2.ฟังบ่อยเพียงใด – นานเพียงใด?
3.ฟังที่ไหน?
4.ฟังด้วยอุปกรณ์เสริมอะไรบ้าง?


และที่สำคัญที่สุดคือ 2 ข้อสุดท้ายนี้
5.ฟังอย่างไร?
6.ฟังเสร็จแล้วทำอะไรต่อไป?

* * * * * * * * * *
ณ ตอนนี้ผมขอว่าไปทีละข้อเลยนะครับ โดยแต่ละข้อขอพูดสั้น ๆ
1.ฟังอะไร?
-อย่าฟังเรื่องยากเกินไป
-อย่าฟังภาษาอังกฤษที่พูดเร็วเกินไป จนฟังแทบไม่รู้เรื่องเอาเลย
-อย่าเริ่มฝึกด้วยการฟังเรื่องที่เราไม่ชอบ

2.ฟังบ่อยเพียงใด – นานเพียงใด?
-พยายามหาเวลาให้ได้ทุกวันที่จะฟัง
-ฟังอย่างน้อย 20 นาทีติดต่อกัน

3.ฟังที่ไหน?
-ฟังในสถานที่ที่ไม่ทำให้หูและตาเสียสมาธิจากการฟัง ถ้าสมาธิถูกแบ่งไปมิได้อยู่ที่หูครบ 100 % เพื่อรับฟังเสียงภาษาอังกฤษ ก็หวังได้ยากว่าการฟังจะได้ผล 100 %

4.ฟังด้วยอุปกรณ์เสริมอะไรบ้าง?
-การใช้หูฟังเป็นบางครั้งบางคราว, การมีดิกอังกฤษ-อังกฤษ และดิกอังกฤษ-ไทย อยู่ใกล้มือ และเปิดเท่าที่จำเป็น, และการมี script บทที่ฟัง คงจะมีประโยชน์อยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย

5.ฟังอย่างไร? นี่คือเรื่องที่สำคัญที่สุด
สมาธิคือหัวใจของการฟัง เพราะฉะนั้นให้ฟังด้วยใจที่เป็นสมาธิเต็มร้อย คือ ไม่มีสิ่งที่พระท่านเรียกว่า ‘นิวรณ์’ เช่น
-ไม่ฟังไปกินไป
-ไม่ทำอย่างอื่นที่เพลิน ๆ ขณะฟัง
-ไม่ฟังไปอยากไป เช่น อยากรู้เรื่องเร็ว ๆ อยากรู้เรื่องเดี๋ยวนี้ อยากรู้เรื่องทุกคำทุกประโยค ความอยากทำให้เสียสมาธิ ยิ่งอยากมากยิ่งเสียสมาธิมาก และไม่ได้อย่างที่อยาก
-ไม่อึดอัดรำคาญใจเมื่อฟังไม่รู้เรื่อง ทำใจเย็น ๆ โดยไม่ต้องรำคาญ ความรำคาญใจทำให้เสียสมาธิ ยิ่งรำคาญมากยิ่งเสียสมาธิมาก เมื่อเสียสมาธิจะทำให้หูหย่อนประสิทธิภาพในการฟัง
-อย่าง่วง เลือกเวลาฝึกฟังที่ไม่ง่วง ถ้านั่งฟังแล้วง่วงก็ให้ยืนฟัง การล้างหน้าอาจช่วยให้หายง่วงบ้าง
-ไม่ต้องคิดมากตอนฟัง ไม่คิดเรื่องอื่น ไม่คิดถึงอดีต ไม่คิดไปในอนาคต
-ถ้ามีภาษาไทยโผล่เข้ามาในความคิดขณะที่ฟัง พยายามหยุดคิดเป็นภาษาไทย แต่อาจจะพูด(ในใจ)ตามเสียงภาษาอังกฤษที่กำลังฟัง แม้อาจจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่องก็ตาม
-ไม่ต้องสงสัยว่าเมื่อไรจะฟังรู้เรื่องซะที ความสงสัยเช่นนี้ทำให้เสียสมาธิ

6.ฟังเสร็จแล้วทำอะไรต่อไป?
-ฝึกฟังเสร็จแล้ว-ฝึกอ่าน: ถ้ามี script ลองอ่านดูซิว่า สิ่งที่เราฟังมันถูกต้องตาม script หรือไม่
-ฝึกฟังเสร็จแล้ว-ฝึกพูด: อาจจะฟังไปพูดตามไป หรือเมื่อฟังเสร็จแล้วให้พูดเล่าเรื่องที่ฟัง โดย copy ข้อความที่ได้ฟัง หรือพูดสรุปเป็นภาษาอังกฤษด้วยสำนวนภาษาของตัวเองก็ได้
-ฝึกฟังเสร็จแล้ว-ฝึกเขียน: โดยเขียน copy ข้อความที่ได้ฟัง หรือเขียนสรุปเป็นภาษาอังกฤษด้วยสำนวนภาษาของตัวเองก็ได้

ผมหวังว่าประสบการณ์ส่วนตัวเล็กน้อย ๆ นี้คงจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่กำลังฝึก listening skill บ้าง และสุดท้ายที่ขอฝากอีกครั้งก็คือ “ฝึกฟังไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็รู้เรื่องเองแหละ” ครับ

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

13 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากคะสำหรับบทความนี้
ทำให้ตนเองรู้สึกว่า ไม่ได้แย่จนเกินไปในการที่ต้องพยายามเรียนภาษาอังกฤษในยุคที่เด็กรุ่นใหม่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่า ดิฉันเองก็เพิ่งจะมีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษในวัยที่ใกล้กันกับคุณพิพัฒน์หรืออาจมากกว่า และก็มีทักษะเดียวกันคือ มีแค่ reading ไม่มีทักษะอื่นเลย แถม pronounciation ที่ฝึกมาตั้งแต่เรียนภาษาอังกฤษวัยเด็ก ก็ผิด ทำให้เด็กรุ่นลูกหลานขำเรา หลังจากได้อ่านบทความนี้คุณพิพัฒน์ ต้องบอกว่าขอบคุณมากๆคะ ที่ให้กำลังใจ
ขอให้คุณพิพัฒน์มีสุขภาพแข็งแรง สุขกายสบายใจนะคะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชอบอ่านประสบการณ์การฝึกภาษาอังกฤษมากค่ะ ทำให้รู้สึกว่ามีกำลังใจ มีแนวทาง และจะพยายามทำตาม มันเป็นอย่างที่บอกเลยค่ะ ท้อแท้ หมดกำลังใจ คิดอยู่อย่างเดียวว่าไม่เห็นรู้เรื่องสักที ยากไม่บันยะบันยัง แล้วก็เหลวทุกที ต้องทำตามคำแนะนำดีๆ นี้ให้ได้ค่ะ ขอบคุณนะคะสำหรับความรู้ต่างๆ ที่มีให้ใน blog นี้ ขอให้พระคุ้มครองคุณพิพัฒน์นะคะ

amethyst กล่าวว่า...

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับสิ่งที่ดีๆ ที่มีให้ใน Blog นี้
ทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ขอให้อาจารย์พิพัฒน์มีสุขภาพ พลานามัยที่ดีขอให้คุณพระค้มครอง

รี่ กล่าวว่า...

เว็บนี้ กลายเป็นหน้า HOMEPAGE แรกของบ้านเลย มีประโยชน์มากๆ ขอบคุณแทนทุกๆคนนะคะที่แบ่งปันความรู้สู่คนอื่นๆต่อไป อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

(^__^)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากสำหรับข้อแนะนำที่ดี ผมจะเปิดอ่านก่อนทุกครั้งที่เข้ามาใช้งานอินเทอร์เน็ต และพยายามดาวน์โหลดหนังสือดีๆ เก็บไว้ ซึ่งได้มากแล้วและจะไม่มีวันเลิกลา ตอนนี้ผมก็กำลังทำอยู่ตามคำแนะนำ ผมจะฟังบทสนทนาภาษาอังกฤษขณะขับรถไปทำงานทุกเช้า ก็รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง บางครั้งก็รู้บางคำ แต่ก็ยังไม่เข้าใจความหมายของเรื่องที่ฟัง แต่มีบางครั้งรู้สึกแปลกใจมากเมื่อสิ่งที่ฟัง ผมมีความเข้าใจเกือบทุกคำ แต่ไม่อาจพูดออกมาได้ จะเป็นอย่างนี้ก่อนหรือใช่หรือไม่
ผมอยากทราบว่าระยะเวลาที่ฝึกฟังต้องใช้เวลานานหรือไม่ พอบอกระยะเวลาแน่นอนได้ไหมครับ คือผมก็มีความรู้บ้างในระต้นๆ ถ้าเทียบระดับก็น่าจะอยู่ต่ำกว่าระดับกลาง
ขอบคุณอีกครั้งสำหรับสิ่งดีที่ให้ประโยชน์มากกกกกสำหรับคนที่รักภาษาอังกฤษ

pipat - blogger กล่าวว่า...

ทุกครั้งที่ฟัง ก็จะฟังได้ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ใจเย็น ๆ เถอะครับ ถ้าคุณฟังไปเรื่อย ๆ ทุกวัน จะมีวันหนึ่งที่คุณอาจจะรู้สึกว่า คุณฟังได้รู้เรื่องมากขึ้นปุบปับเหมือนขึ้นลิฟต์ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ มันอาจจะยาก-เหนื่อย-ช้า เหมือนขึ้นบันไดทีละก้าว
พิพัฒน์

Ddy กล่าวว่า...

มีประโยชน์มากๆเลยครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชอบบทความนี้จังเลยครับ ให้ Direction ที่ดีในการฟังมาก ๆ เลย จะได้รู้ว่าไปถูกทาง ถามอีกนิดนึงนะครับว่า ถ้าฟังคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษจากวิทยุ จะช่วยเราได้ไหมครับ เพราะเคยได้ยินหลายคนบอกว่า คนไทยเหล่านี้ใส่สำเนียงมากไป จนเราฟังไม่รู้เรื่อง จริงหรือเปล่าครับ ??

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากๆเลยครับที่มาแชร์ประสบการณ์ และข้อแนะนำดีๆให้ เวปนี้ดีจริงๆ มีประโยชน์มากๆ ขอบขอบคุณ คุณพิพัฒน์ แทนคนไทย หรือใครก็ตามที่มีความสนใจในภาษาอังกฤษ สุดทายนี้ขอบให้ความดีที่คุณพิพัฒน์ได้กระทำนี้ สงผลให้คุณพิพัฒน์มีแต่ความสุขความเจริญตลอดไป

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดิฉันก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งอยากขอบคุณ คุณณพิพัฒน์มากๆค่ะ ดิฉันได้อ่านแล้วทำให้รู้สึกมีกำลังใจเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น ดิฉันมีทักษะด้านภาษาอังกฤษน้อยมากทักษะหลักที่มีมาคือ การอ่าน ส่วนทักษะอื่น ๆ คือ การฟัง-พูด-เขียน มีน้อยมาก เหมือนคุณเล่าประสบการณ์ของคุณให้ฟัง ตอนนี้อายุ 27 ปี แล้วถึงจะเป็นเด็กรุ่นใหม่แต่ดิฉันก็ถือว่าตัวเองแย่มากๆ จบประถม มัธยมต้น จากโรงเรียนขยายโอกาศที่บ้านเกิดในต่างจังหวัด แล้วก็มาต่อสายอาชีพสายช่างปวช.-ปวส.นั่นก็ไม่ได้ทำให้ดิฉันมีทักษะในด้านการฟังมาเลยสักนิดเดียว แล้วสิ่งที่ทำให้เครียดเหมือนตกนรกจนถึงขั้นนอนไม่หลับ ดิฉันเปลี่ยนงานใหม่ โดยงานใหม่ที่ดิฉันรับผิดชอบก็จำเป็นต้องใช้ listening – speaking และ writing skill ด้วยเหมือนกัน ที่สำคัญต้องคุยงานกับเจ้านายญี่ปุ่นโดยตรงด้วยค่ะ ดิฉันจะอดทนให้มากที่สุด จะพยายามให้มากที่สุด จะทำทุกๆอย่างด้วยความอดทนให้มากที่สุด เหมือนที่ณแนะนำ ดิฉันจะตั้งใจทำๆๆไม่ว่าจะนาน จะยากเย็นเท่าไหร่แค่ไหนดิฉันก็จะพยายามค่ะ
ขอให้สิ่งดีๆผลแห่งความดีที่คุณเอื้อเฟื้อแบ่งปันมาให้ส่งผลให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองนะคะ ขอบคุณมากๆค่ะ

pipat - blogger กล่าวว่า...

ถ้าการ "ทำได้" เป็นประตู ปากประตูก็คือการ "ได้ทำ" เป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนจำนวนมากซึ่งต้องการเข้าประตู แต่พอมาถึงปากประตูกลับไม่ยอมเข้าไป เหมือนต้องการ "ทำได้" แต่กลับไม่ยอม "ได้ทำ" ไถลไปหาทางเข้าอื่นซึ่งจนแล้วจนรอดก็หาไม่พบ ลงท้ายก็บ่นว่าตัวเอง "ทำไม่ได้"

ผมรู้สึกปลาบปลื้มจริงๆ ที่คุณบอกว่า...
"ดิฉันจะอดทนให้มากที่สุด จะพยายามให้มากที่สุด จะทำทุกๆอย่างด้วยความอดทนให้มากที่สุด... ดิฉันจะตั้งใจทำๆๆไม่ว่าจะนาน จะยากเย็นเท่าไหร่แค่ไหนดิฉันก็จะพยายามค่ะ

ผมบอกได้อย่างมั่นใจเลยว่า ลองถ้าคุณ "ได้ทำ" อย่างนี้ ไม่นานหรอกครับคุณก็จะ "ทำได้"

ขอแสดงความยินดีด้วยครับ

พิพัฒน์ - Blogger

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Darm ครับ

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสำหรับเจ้าของ Blog นี้ครับ ที่ให้คำแนะนำ ความรู้ ประสบการณ์ และกำลังใจ และขอบคุณสำหรับคนที่แสดงความคิดเห็นครับ อย่างน้อยผมก็ได้รู้ว่า ผมไม่ได้โดดเดี่ยวบนโลกใบนี้ เรื่องภาษาผมรู้สึกแย่มาตั้งนานแล้วครับ สมัยเรียนอยู่ประถม จนถึงปัจจุบันนี้ อายุก็ปาเข้าไป 31 ปีแล้ว ภาษาอังกฤษก็ยังไม่พัฒนาไปถึงไหนเลย เคยตั้งใจที่จะพยายามหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่ก็ล้มเหลวตลอด จะคอยถามคนที่เขาเก่งภาษาอังกฤษตลอดว่าเขามีวีธีเรียนยังไง ก็ลองมาทำก็ล้มเหลวตลอด เพราะไม่รู้จะเริ่มยังไงดี และก็ไม่มีคนแนะนำ ทำเมื่อไหร่ก็รู้สึกท้อแท้ เมื่อไหร่จะรู้เรื่องชะที เคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์งานในตำแหน่งที่ดี ๆ ก็พลาดตลอดเพราะภาษาไม่ได้ ฟังไม่รู้เรื่อง และจะตอบว่าอย่างไรดีละ เวลาที่มีงานตำแหน่งดี ๆ เปิดรับสมัคร คุณสมบัติทุกอย่างเหมาะสม ยกเว้นภาษา ก็ไม่กล้าที่จะสมัคร เพราะกลัวภาษา เพราะเคยถูกคนสัมภาษณ์ถามว่าคุณต้องทำงานกับคนต่างชาติถ้าคุณไม่ได้ภาษาคุณจะทำงานได้อย่างไร เราไม่มีเวลาให้คุณมาเปิดดิกส์ตอบหรอกนะ ทุกวันนี้มันจึงเป็นปมด้อยที่ฝังอยู่ในใจมาตลอด และก็ถามตัวเองตลอดเวลาว่าเราจะเป็นอย่างนี้ไปจนตายเลยใช่ไหม เห็นคนอื่นที่เขาอายุน้อยกว่าเรา เขามีตำแหน่งงานที่ดี ๆ เงินเดือนที่ดี ๆ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกแย่ ทำไม่เราถึงเป็นแบบนี้ แต่พอได้มาเจอะ Blog ของคุณพิพัฒน์ มันทำให้รู้สึกมีกำลังใจที่จะฮึดสู้อีกครั้ง เพราะคุณพิพัฒน์ได้เอาประสบการณ์มาแบ่งปัน และแนะนำแนวทางที่จะเริ่มและทำอยางไร ผมก็ต้องขอขอบคุณ คุณพิพัฒน์อย่างมากที่แบ่งปันสิ่งที่ดี ๆ ให้กับผมและคนอีกหลายคน ตอนนี้ผมได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ ถึงจะเป็นตำแหน่งที่ไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับชาวต่างชาติโดยตรง แต่ก็มีบางครั้งที่เขามาถามและผมก็มืนงง เป็นใบ เขาเดินจากไปผมถึงคิดออกว่าเขาถามว่าอะไร ผมอยากที่จะคุยกับชาวต่างชาติแต่ผมก็กลัวที่จะคุยกลัวเขาถามและกลัวจะตอบไม่ได้ผมไม่อยากมีความรู้สึกกลัวอีกต่อไป ผมจะพยายามอีกครั้ง และทำตามคุณพิพัฒน์แนะนำ ผมหวังว่าวันใดวันหนึ่งผมจะมีโอกาสได้กลับมาบอกคุณพิพ้ฒน์ ว่าผมเลิกกลัวชาวต่างชาติแล้ว

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อนุโมทนาในกุศลที่คุณพิพัฒน์ได้ทำนะคะ
ติดตามมาตลอดและจะเพียรพยายามต่อไปคะ =)