สวัสดีครับ
ผมสังเกตว่ารายการโทรทัศน์, คอลัมน์ในหนังสือพิมพ์, และเว็บพูดคุย ถาม-ตอบภาษาอังกฤษ เช่นที่ผมแนะนำไว้ที่ 2 ลิงค์นี้
[802] ค้นหาเรื่องที่ต้องการจากคอลัมน์ ถาม-ตอบ
[189] 3 รายการ TV สอนอังกฤษ ที่ชมได้จากเว็บ
มีคนชอบมากกว่าตำราหรือ CD หรือ Video ที่สอนภาษาอังกฤษอย่างเป็นงานเป็นการหรือเป็นชุดการสอนที่สมบูรณ์ ผมก็เลยถามตัวเองว่า ทำไม? เพราะตำรา ชุดการสอน หรือสื่อการสอนเหล่านี้ กว่าที่ผู้รู้จะทำออกมาได้ต้องเปลืองแรง เวลา มันสมอง และทุนไม่ใช่น้อย และพอผลงานสำเร็จ หลาย ๆ ชิ้นก็ดีจริง ๆ คือมีคำอธิบายหรือคำตอบแทบจะทุกเรื่องในหัวข้อนั้น ๆ แต่กลับได้รับความนิยมน้อยกว่ารายการโทรทัศน์หรือคอลัมน์ที่ผมเอ่ยถึงข้างต้น
เมื่อถามเองก็ลองตอบเอง แต่ไม่รู้ว่าจะตอบถูกหรือเปล่า ผมเดาเอาว่า มันน่าจะคล้าย ๆ กับที่เราได้รับเชิญไปงานเลี้ยง สำหรับผม ผมไม่ชอบเลยที่จะนั่งกินที่โต๊ะแบบ จัดไว้อย่างเป็นงานเป็นการ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะฝรั่ง (sit-down)หรือโต๊ะจีน มีอาหารเซ็ตไว้ตามเมนูเรียบร้อยยกมาเสิร์ฟ และผมก็มีหน้าที่หลักเพียง 2 อย่างคือ eat + talk กับคนที่นั่งร่วมโต๊ะ ห้ามพูดดังเกินไป และห้ามพูดข้ามโต๊ะเกินรัศมีสี่เมตร ไม่ชอบเลยครับนั่งกินแบบนี้ ยิ่งถ้าถูกซ้ำเติมด้วยอาหารไม่ถูกใจยิ่งไปกันใหญ่ (เออ! แล้วทำไมเขาใช้คำว่า ‘ไม่ถูกปาก’, ถ้าไม่ถูกปากมันจะเข้าไปในปากได้ยังไง ใครนะคิดตั้งศัพท์คำนี้) สำหรับผมการได้เดินไปตักเอามากินที่เรียกว่า buffet อร่อยและสนุกกว่าครับ ถ้าเอาการกินที่งานเลี้ยงไปเปรียบกับการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทย ผมว่าคนไทยชอบเรียนภาษาอังกฤษแบบบุฟเฟ่ต์มากกว่า คือจะเลือกกินหรือไม่เลือกกินอะไร มากน้อยแค่ไหนก็ได้ตามใจชอบ และถ้าสามารถเลือกที่นั่งกินได้ด้วยยิ่งอร่อยเพิ่มขึ้นไปอีก
เราเลือกที่จะเรียนภาษาอังกฤษแบบบุฟเฟ่ต์กับคุณ Andrew Biggs หรือคุณ Chris เพราะเรารู้สึกว่า อาหารที่แกจัดให้เรากินมันน่าทาน กินสนุก นั่งลุกสบาย และหา gang รวมกินได้ไม่ยาก มองในอีกแง่หนึ่ง ผมว่ามันก็เป็นลักษณะนิสัยของไทย ๆ เรานะครับ คนไทยเราเป็นคนรักสนุก ก็เลยชอบที่จะเอาความสนุกแทรกเข้าไปในสิ่งที่อาจจะไม่ค่อยสนุก เช่น การเรียนเรื่องหนัก ๆ
แต่ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นถ่วงน้ำหนักไว้นิดนึงนะครับ ก็คือว่า แม้การเรียนภาษาอังกฤษให้สนุกเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ไม่ควรปฏิเสธเรื่องที่ไม่สนุกถ้ามันจำเป็นจะต้องเรียน ยกตัวอย่าง เราจะไม่มีทางอ่านและแปลภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้องมั่นใจเต็มที่ ถ้าเราไม่รู้รอบในโครงสร้างพื้นฐานจำพวก tense, voice, phrase, part of speech เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าของพื้นฐานจำเป็นพวกนี้ คุณ Biggs หรือคุณ Chris แกไม่ได้เอามาพูดหรือเอามาเล่น มันก็จำเป็นครับที่เราต้องไปหาเรียนเพิ่มเติม ของยากมักไม่สนุกและไม่ค่อยมีใครเอามาพูดยาว ๆ ให้คนเยอะ ๆ ฟังไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุใดก็ตาม แต่เราอย่าลืมนะครับ ถ้าอาหารบุฟเฟ่ต์ทางภาษาที่มีคนจัดให้เราเปิดกินทางทีวีมีสารอาหารไม่ครบ 5 หมู่ และเราหลงเพลินกินไปนาน ๆ อาจเป็นโรคขาดสารอาหารทางภาษาก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องระวัง ถ้าเราจำเป็นต้องเปิดตำราก็เปิดเถอะครับ เฉพาะเรื่องแกรมมาร์ผมเคยแนะนำไว้ที่ลิงค์นี้ [58] แนะนำหนังสือแกรมมาร์
แต่ถ้าท่านพลอินทรีย์เริ่มแข็งแกร่ง จะอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษที่เขามีให้ดาวน์โหลดฟรี ๆ ก็เชิญคลิกได้ครับ
เล่มที่ 1
เล่มที่ 2
รวมแกรมมาร์
หัวข้อที่ผมคุยกับท่านเมื่อวาน คือ [953] เรียนภาษาอังกฤษวันละประโยค เขาเอาภาษาอังกฤษมาให้เราศึกษาวันละประโยค วันนี้ ผมขอแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้ครับ
1. เว็บนี้เริ่มคอลัมน์นี้ ตั้งแต่วันที่ 6 June 2006 จนถึงปัจจุบัน แต่คงจะมีเว้นบ้างบางช่วง ช่วงแรกหากจะฟังเสียงอ่านของประโยคต้องจ่ายเงิน แต่ในระยะต่อมาให้คลิกฟังฟรีได้ และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอเนื้อหามาตามลำดับ
2. เขาเขียนแนะนำศัพท์หรือรูปประโยคที่ควรใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ บางทีก็ทำติดต่อกันหลายวันเป็น series ในเว็บเขาเรียงจากใหม่(ปัจจุบัน)ย้อนไปหาเก่า(อดีต) เพราะฉะนั้น ถ้าท่านศึกษาขณะต่อเน็ต ผมมีความเห็นว่า น่าจะคลิกเข้าไปหาหน้าเก่า ๆ ก่อน และอ่านจากเก่ามาหาใหม่จึงจะได้ความรู้ตามลำดับที่ถูกต้อง
ณ วันนี้ (31 มกราคม 2552)บทความแรกสุดของเขา ปรากฏในลิงค์ เขียนไว้ว่า Page=134 ดังข้างล่างนี้
ระดับ beginner
http://www.linguagum.com/listen-and-repeat-beginner/?currentPage=134
ระดับ Intermediate
http://www.linguagum.com/listen-and-repeat-intermediate/?currentPage=134
ระดับ Advanced
http://www.linguagum.com/listen-and-repeat-advanced/?currentPage=134
แต่ถ้าวันนี้ท่านเข้ามาอ่านที่บทความนี้ ผมเข้าใจว่า เลขหน้าของบทความแรกจะถูกผลักให้มากขึ้น เป็น Page=135, 136. 137….. ไปเรื่อย ๆ ถ้าท่านผู้อ่านเจอแบบนี้ ก็ย้อนไปอีกหน่อยเพื่อหาเลขหน้าของบทความแรกเอาเองแล้วกันนะครับ
ผมได้ดาวน์โหลดทั้งไฟล์ text และ mp3 ของเดือนมกราคม 2009 มาให้ท่านดาวน์โหลดไว้ศึกษา ข้างล่างนี้
ระดับ beginner.html
ระดับ intermediate.html
ระดับ advanced.html
และได้ดาวน์โหลดไฟล์ text ล้วน ๆ (ไม่มีไฟล์ mp3) อีกหลายบทความให้ท่านดาวน์โหลดข้างล่างนี้
0ne Sentence at a Time.html
จุดที่น่าสนใจมาก ๆ ของคอลัมน์นี้ก็คือ ฝรั่งซึ่งเป็นเจ้าของภาษา เขาจับเอาประโยคที่เขาเองใช้พูดบ่อย ๆ มาอธิบายให้เราฟังทีละประโยค ทำให้เราได้ศึกษาเชิงลึก แต่เป็นเชิงลึกของประโยคที่ใช้พูดบ่อย ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ ดีกว่าครับ
เช่น ประโยค: That’s quite impossible!
(บทความของวันที่ 4 มกราคม 2009 ระดับ Intermediate)
ท่านจะแปล That’s quite impossible! ว่ายังไง? ผมแปลว่า “มันค่อนข้างจะเป็นไปไม่ได้” - - ผิดครับ ต้องแปลว่า “มันเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง” ทำไมถึงแปลอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่ quite เรามักจะแปลว่า ‘ค่อนข้างจะ’ เชิญอ่านคำอธิบายที่ตัวเอนข้างล่างนี้ครับ
Notice today that there is only one sentence with quite.
Words like impossible / superb / fabulous / magnificent etc. are absolutes.
“Impossible” means 100% not possible.
So, we can’t use quite to mean “a bit / partially.”
Nothing can be a bit impossible, can it?
So, with these adjectives, quite is used for emphasis.
”Quite impossible” means “completely impossible.”
และอย่างที่เรียนท่านผู้อ่านแล้ว ประโยคที่ยกมามักจะเป็นประโยคที่ใช้พูด (ไม่ได้ขุดมาจากตำราทางวิชาการ) เราจึงได้ศึกษาประโยคจริง ๆ ที่เขาใช้พูด พร้อมคำอธิบายจากทัศนะของเจ้าของภาษา ผมเชื่อว่า ถ้าท่านขลุกอยู่กับเว็บนี้สักพักหนึ่ง อ่านไป – ฟังไป – ฝึกออกเสียงตามไป เรื่อย ๆ ทีละประโยค ๆ ไม่นานเท่าไหร่ก็เก่งครับ เก่งทั้งอ่าน เก่งทั้งฟัง – เก่งทั้งพูด เก่งโดยไม่ต้องกัดฟัน !
ผมไม่อวยพรล่ะครับ เพราะท่านต้องได้อยู่แล้ว เดินไปตามทางนี้แหละครับ ไม่นานก็ถึง
พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com
วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
2 ความคิดเห็น:
Hello, I'm new member for this blog
Thank you very much!
I think this very good for everyone for interesting in english language.
ไม่มีคำใดเกินกว่าคำว่า ขอบพระคุณมากสำหรับความรู้ที่ได้ให้มา
แสดงความคิดเห็น