วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2551

[842] ชวนท่องดิกชันนารี Webster 3,000 คำ

สวัสดีครับ
ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนประจำ blog นี้คงสังเกตได้ว่า ผมให้ความสำคัญกับเรื่องศัพท์ หรือ vocabulary มากทีเดียว สาเหตุก็ง่าย ๆ ครับ คือว่า ถ้ารู้ศัพท์ตุนไว้ก่อน การจะฟัง-พูด-อ่าน-เขียน มันจะง่ายขึ้นเยอะ แต่ถ้าไม่รู้ศัพท์ – หรือรู้ไม่พอ – หรือรู้พอแต่นึกได้ไม่ทันเวลา – หรือนึกได้ทันเวลาแต่เอามาผูกประโยคไม่เป็น มันก็ทำให้การใช้ภาษาอังกฤษหยุดชะงัก หรือขยับไปได้อย่างเชื่องช้า

เปรียบเทียบอย่างนี้ก็ได้ครับ ศัพท์ก็เหมือนน้ำมันรถ ไม่ว่ารถที่เราใช้จะเป็นมอเตอร์ไซค์ รถเก๋ง รถกระบะ รถตู้ รถบัส รถไฟ หรือรถอะไรก็ตาม มันก็ต้องเติมน้ำมันลงถังทั้งนั้น การจะฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ภาษาอังกฤษก็เช่นกัน ต้องใช้ศัพท์เติมลงไปในประโยคทั้งนั้น แต่มีความต่างที่ฉกาจฉกรรจ์อยู่ 1 อย่าง คือ น้ำมันนั้นยิ่งใช้ยิ่งหมด และรถยิ่งใช้ก็ยิ่งเสื่อมสภาพ แต่ศัพท์และผู้ใช้ศัพท์กลับตรงกันข้าม คือยิ่งเอาศัพท์มาใช้มาก ๆและบ่อย ๆ เท่าใด ก็จะจำศัพท์ได้แม่น-ได้เร็ว-ได้มาก เท่านั้น ส่วนผู้ใช้ศัพท์กลับไม่เสื่อมสภาพเหมือนรถที่ถูกใช้ แต่กลับจะเก่งขึ้นเพราะการใช้ศัพท์นั้น

ที่ blog นี้ผมได้รวมเว็บ ความคิดเห็น และข้อแนะนำต่าง ๆ ทั้งหมดเกี่ยวกับศัพท์ไว้ที่ลิงค์นี้ ศัพท์ vocabulary

เมื่อพูดว่าศัพท์เป็นสิ่งสำคัญและควรจะจำให้ได้-ใช้ให้เป็น ก็จะได้ยินเสียงบ่นเบา ๆ จากข้างหลัง หรือตะโกนดัง ๆ มาจากข้างหน้าทันทีว่า “โอ้ย! ศัพท์ตั้งเยอะแยะเป็นร้อยเป็นพันคำ ใครจะไปจำได้”

ท่านผู้อ่านครับ ถ้าท่านเป็นคนหนึ่งที่บ่นหรือตะโกนประโยคข้างต้น ขอได้โปรดทราบว่า ผมไม่ขอเถียงถ้อยของท่านแม้แต่ครึ่งคำ แต่ถ้าท่านยังไม่รีบไปไหน ท่านนั่งคุยกับผมสักนิดแล้วกันนะครับ

เรื่องศัพท์นี่นะครับ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย หรือภาษาอื่นใดที่ยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว เช่น ภาษาขอม ภาษาบาลี คนชาติที่ใช้ภาษานั้นก็รู้ศัพท์ทีละคำทั้งนั้นแหละครับ เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ศัพท์ในวันเดียวหลายสิบคำ หรือในสัปดาห์เดียวหลายร้อยคำ มันผิดธรรมชาติครับ นึกถึงตัวเองตอนหัดพูดเมื่อเป็นเด็กก็ได้ครับ เรารู้ศัพท์ที่ละคำ และใน 1 คำนี้ เราฟัง – เราพูด - เราพบกับเหตุการณ์ที่ทำให้เราได้ฟัง – ได้พูด ศัพท์คำนี้ อาจจะฟังหรือพูดเป็นคำ ๆ, เป็นวลี, หรือเป็นประโยค หรือหลาย ๆ ประโยค และขณะที่มีประสบการณ์ร่วมกับศัพท์คำนี้ เราอาจจะอยู่ในอารมณ์สนุกสนาน รื่นเริง เศร้าโศก กังวล ร้อนใจ หรือสงบเย็นเป็นสุข และเมื่อเราโตขึ้นเข้าโรงเรียน ศัพท์คำเดียวกันที่เราเคยฟังและพูดมาแล้วนี้ ก็ไปอยู่ในหนังสือที่เราอ่าน หรือในสมุดที่เราต้องเขียน พูดง่าย ๆ ก็คือ ในศัพท์คำหนึ่ง ๆ ก่อนที่เราจะเข้าใจ(เมื่อฟังและอ่าน) และใช้เป็น(เมื่อพูดและเขียน) เราต้องผ่านประสบการณ์และคลุกคลีตีโมงกับมันมาพอสมควรทีเดียว เราคนไทยจึงไม่มีปัญหาในการใช้ศัพท์ภาษาไทยเพราะเราอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก

แต่เมื่อเราเรียนภาษาอังกฤษ ปัญหาก็เกิดขึ้นทันที เพราะเราไม่ได้อยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก มันเลยไม่ค่อย “เชื่อง” ที่ผมใช้คำว่าเชื่องนี่ผมคิดว่าถูกที่สุดเลยครับ ที่บ้านต่างจังหวัดของผม เราเลี้ยงหมาไว้ที่บ้าน เลี้ยงมาหลายรุ่นแล้วครับ บางตัวก็อายุยืน บางตัวที่ชอบออกไปผจญภัยเกินสมรรถภาพส่วนตัวก็มักจะเจ็บป่วยและล้มตายเร็วหน่อย แต่ไม่ว่าจะเป็นหมารุ่นไหนก็ตาม แม่ของผมยืนยันว่าต้องเอามาเลี้ยงตอนที่ยังแบเบาะอยู่ แม่บอกว่าถ้าเอาหมาใหญ่มาเลี้ยงมันมักไม่ค่อยเชื่องและไม่ค่อยจะรักเราที่เป็นเจ้าของมัน แม้เราจะรักมันก็ตาม

ผมมานึกถึงศัพท์ภาษาอังกฤษที่เราเริ่มเรียนเมื่อเราโตแล้ว ซึ่งเรามีภาระที่จะต้องจำให้ได้ – ใช้ให้เป็น ดูเหมือนมันไม่ค่อยจะ “เชื่อง” เอาซะเลย จำก็ไม่ค่อยจะได้ – ใช้ก็ไม่ค่อยจะเป็น เหมือนหมาที่โตแล้วและเราเอามาเลี้ยง ดูมันไม่ค่อยจะเชื่องเอาซะเลย

พอมาถึงบรรทัดนี้ ผมก็เรียกสติกลับคืนมา แล้วบอกตัวเองว่า 2 ย่อหน้าข้างบนนี้ผมพูดออกไปอย่างไร้สติ เพราะภาษาอังกฤษไม่ใช่หมา และหมาก็ไม่เหมือนภาษาอังกฤษ และข้อสรุปที่ถูกต้องก็คือ แม้ภาษาอังกฤษจะเหมือนหมาดุที่เชื่องยาก แต่เราก็ทำให้มันเชื่องได้ ถ้าเราเลี้ยงมันดี ๆ

ย้อนกลับมาพูดเจาะจงเรื่องศัพท์ที่เป็นปัญหา คือ เราจำไม่ได้ – ใช้ไม่เป็น ผมขอพูดเรื่องทั่ว ๆ ไปก่อน เสร็จแล้วค่อยพูดเรื่องเจาะจงที่ผมอยากจะพูดในวันนี้

เรื่องทั่ว ๆ ไปก็คือ ทุกวันนี้การจำศัพท์หรือการเรียนภาษาอังกฤษไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญเหมือนสมัยก่อนตอนที่ผมยังเด็ก เพราะไม่ว่าจะเป็นการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน แม้ว่าเราจะไม่มีครูฝรั่งตัวเป็น ๆ มาสอน แต่เราก็มีสื่อมากมายแทนครู ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ CD อินเตอร์เน็ต e-mail chat room และอื่น ๆ อีกสารพัดอย่าง ถ้าเราพยายามและรู้จักหยิบสื่อพวกนี้มาใช้ประโยชน์ แม้ไม่สามารถทำให้ภาษาอังกฤษเชื่องได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้มันกัดเราไม่ได้ ถ้า... ถ้า... ถ้าเราพยายามและรู้จักหยิบสื่อพวกนี้มาใช้ประโยชน์ คำถามที่ต้องถามก็คือ 1.เราได้พยายามมากพอหรือยัง? และ 2.เราได้หยิบสื่อที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์แล้วหรือยัง?

คราวนี้มาพูดถึงเรื่องศัพท์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมต้องการพูดโดยเจาะจงในวันนี้ ผมคิดว่าเพราะเราเป็นคนไทยซึ่งมาเรียนภาษาอังกฤษเมื่อโตแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อเราพูดก็ไม่จำเป็นต้องอายที่สำเนียงของเราไม่ใช่ English แต่เป็น Thinglish และเราไม่รู้ศัพท์บางตัวที่ฝรั่งพูด ก็เราไม่ใช่ฝรั่ง เราเป็นคนไทยนี่น่ะ

แต่... แต่... จะเป็นการดีที่สุดที่เราจะรู้ศัพท์พื้นฐานที่ใช้บ่อยที่สุดในการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ศัพท์พวกนี้เมื่อรู้แล้วนอกจากช่วยให้เราสื่อสารได้ทุกเรื่อง(แม้จะตกรายละเอียดไปบ้าง) และเมื่อฝึกไปเรื่อย ๆ มันจะเป็นพื้นฐานให้เราสามารถเดาศัพท์ที่ไม่รู้ และเราก็จะค่อย ๆ รู้ศัพท์มากขึ้นทีละตัว ๆ, ศัพท์ไม่เหมือนน้ำมันรถที่ยิ่งใช้ยิ่งหมด แต่ศัพท์ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่ม

คำถามถัดไปก็คือศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีอยู่เป็นแสน ๆ หรือล้าน ๆ คำนี้ มีศัพท์คำใดบ้างเป็นศัพท์พื้นฐานที่เราควรรู้ หรือต้องรู้?

ถ้าเป็นสมัยโบราณบริษัทดัง ๆ ที่ทำดิกขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งดิกที่โฆษณาว่าบรรจุศัพท์พื้นฐาน เขาจะมีทีมนักวิชาการคอยบันทึกเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของภาษา และเมื่อถึงเวลาที่จะตีพิมพ์ดิกedition ใหม่ นักวิชาการเหล่านี้ก็จะเป็นผู้ตัดสินว่าศัพท์คำนี้ หรือความหมายนี้ของศัพท์คำนั้น ไม่มีใครใช้แล้ว หรือ “ตาย”แล้ว ก็ดึงออกทิ้งไป ส่วนศัพท์คำนี้ที่เกิดใหม่ หรือความหมายใหม่ของศัพท์เก่าตัวนั้น ดูแววแล้วคงจะมีคนใช้ หรือ “มีชีวิตอยู่” ต่อไปอีกนาน ก็ใส่เพิ่มเข้าไปในการตีพิมพ์ครั้งใหม่

แต่เมื่อโลกสามารถนำเอาคอมพิวเตอร์คุณภาพสูงมาใช้งาน วิธีการทำดิกก็ถูก “ปฏิวัติ” บริษัททำดิกพวกนี้จะสร้าง database ซึ่งบรรจุข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษไว้มากมาย เป็นหลายสิบหรือหลายร้อยล้านคำ เมื่อถึงเวลาตีพิมพ์ดิกเล่มใหม่ ก็ให้คอมพิวเตอร์มันดูจากฐานข้อมูลที่เก็บไว้ว่าศัพท์ตัวใดหรือความหมายใดใช้บ่อยขนาดไหน ก็เอาศัพท์หรือความหมายที่ใช้บ่อยมาตีพิมพ์ นี่พูดคร่าว ๆ นะครับว่าเขาทำกันแบบนี้

แต่เรื่องที่น่าสนใจก็คือ หลายสำนักซึ่งต่างก็มี database ของตนเอง ก็ยังผลิต list คำศัพท์ขั้นพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน แม้อาจจะคล้ายกันก็ตาม อย่างนี้ถ้าอยากจะรู้ก็ต้องตามไปดูล่ะครับว่าใครมืออาชีพมากกว่ากัน เช่น มีศัพท์จากทั้งสื่อตีพิมพ์หรือสื่อที่ไม่ได้ตีพิมพ์(เช่น ข่าววิทยุ โทรทัศน์)ครบหรือเปล่า มีภาษาทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการหรือเปล่า มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนหรือเปล่า มีทั้งภาษาวิชาการและภาษาชาวบ้านหรือเปล่า มีภาษาอังกฤษที่ใช้กันอย่างสามัญจากมุมอื่นของโลกหรือเปล่า เช่น อังกฤษแบบอินเดีย อังกฤษแบบออสเตรเลีย ฯลฯ การที่ฐานข้อมูลของแต่ละสำนักต่างกัน การผลิตดิกชันนารีที่บรรจุศัพท์พื้นฐานก็เลยต่างกันไปบ้าง แต่ที่เหมือนกันก็คือ ทุกสำนักต่างก็โฆษณาว่าดิกชันนารีของตนดีที่สุด

ใน blog นี้ ผมเคยเอาศัพท์พื้นฐานของบางค่ายมาให้ท่านดู เช่น

วันนี้ผมจะพูดถึง Webster's English Learner's Dictionary ซึ่งผมเคยแนะนำไว้แล้วที่ ลิงค์นี้ Webster นอกจากผลิตดิกประเภท learner’s dictionary ออกมาให้ใช้ ยังทำ Word List ที่บอกว่า “3,000 Words—you need to know!” อีกด้วย

ผมเข้าไปสำรวจ word list ของ Webster แล้ว และก็รู้สึกว่ามีหลายอย่างที่ดีกว่า หรือแตกต่างจาก word list ของสำนักอื่นที่ผมเคยเห็น เช่น
1.Webster บอกว่า Word List ของเขาเป็น 3.000 คำที่คุณต้องรู้ หรือ “3,000 Words—you need to know!” ไม่เหมือน word list ของ Oxford หรือ Longman ที่เขากำหนดขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายศัพท์ในดิกชันนารีทั้งเล่มของเขา จริง ๆ แล้วใน Word list ของ Oxford และ Longman ก็อาจจะเป็นคำสามัญที่ควรรู้ แต่ของ Webster นี่เขาบอกเลยว่าเป็น “3,000 Words—you need to know!” ไม่ใช่ 3,000 คำที่ใช้ในการอธิบายศัพท์ใน Webster's English Learner's Dictionary

2. ตัวอย่างที่ใช้อธิบายศัพท์มีมากกว่า Oxford และ Longman คือ มีมากกว่า 160,000 วลีและประโยคตัวอย่าง, ถ้าพูดว่าประโยคตัวอย่างของดิก Webster ดีกว่าดิกเล่มอื่น ก็ดูเหมือนจะเป็นการเชียร์ออกนอกหน้าเกินไป จึงไม่ขอพูด

3. ในเว็บ http://www.learnersdictionary.com/ ที่เขาให้ใช้ online สามารถคลิกฟังเสียงของคำศัพท์ได้ด้วย

4. ใน word list 3,000 คำนี้ยังบอกด้วยว่า ศัพท์ที่ you need to know นี้ ที่ควรจำเป็นคำอะไร และถ้ามีความหมายแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ควรจำความหมายของกลุ่มไหน (word list ของ Oxford และ Longman ไม่บอกละเอียดขนาดนี้)

ผมเอาศัพท์ทั้ง 3,000 คำนี้มารวมไว้ด้วยกันทั้งหมดในแต่ละตัวอักษร

ผมคุ้นเคยกับดิกของ Webster มานานพอสมควรทั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา และรู้ว่าดิกชันนารีของสำนักนี้เชื่อถือได้ และแม้นี่จะเป็นครั้งแรกที่ Webster ผลิตดิกประเภท Learner's Dictionary แต่ประสบการณ์และชื่อเสียงที่มีมายาวนานของเขาเป็นเครื่องรับประกันคุณภาพได้เลยครับ


ถ้าจะอนุญาตให้ผมพูดตรง ๆ ผมก็อยากจะพูดว่า ขอให้ท่านท่องทั้ง 3,000 คำนี้ให้ได้ทุกคำเถอะครับ ท่านจะท่องด้วยวิธ๊ไหนก็ได้ตามใจท่าน แต่ควรจะพยายามเรียนรู้ทั้งการสะกดคำ การออกเสียง การผูกประโยค ดิกทั้งเล่มมีมากกว่า 100,000 คำ และมีมากกว่า 160,000 วลีและประโยคตัวอย่าง เขาคัดมาให้เราท่องเพียง 3,000 คำ น่าจะพอไหวนะครับ
(ถ้าต้องการให้คลิกแล้วเปิดในหน้าใหม่, ให้คลิกที่ลิงค์พร้อมกับกดแป้น shift)
A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z
(เมื่อคลิกเข้าไปแล้ว, จะเห็นว่า ศัพท์บางคำอาจมีตัวเลข เช่น 1 หรือ 2 นำหน้า, นี่คือกลุ่มของความหมายของศัพท์คำนั้น)

สุดท้ายครับ: ที่พูดอ้อมค้อมยาวเหยียดตั้งแต่ต้นมาจนถึงบรรทัดนี้ ก็เพราะอยากจะบอกประโยคนี้ประโยคเดียวแหละครับ
- 3,000 คำนี้ถ้าท่องและจำได้หมดรับรองว่าคุ้มค่า - ได้กำไรเกินค่าครับ
พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะ ดิฉันณารี

เห็นด้วยจริง จริ๊ง เลย

ขอบคุณนะคะ


เราเพื่อนกัน

Nuch & Tor กล่าวว่า...

มายกมือสนับสนุนอีกหนึ่งเสียง

ขอบคุณสำหรับความรู้และแง่มุมที่น่าสนใจครับ

ขอบคุณบุญรักษา...