วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551

[826] แนะนำ Webster's English Learner's Dictionary

สวัสดีครับ
ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟน blog นี้อาจจะรู้สึกสงสัยหรือรำคาญว่า ผมแนะนำหรือพูดถึงประโยชน์ของดิกชันนารีบ่อยเหลือเกินหรือบ่อยเกินไป
ผมก็รู้สึกตัวเองเช่นนี้เหมือนกันและมานั่งเงียบ ๆ หาสาเหตุว่าทำไมผมถึงมีอาการเช่นนี้ และต่อไปนี้ผมคิดว่าเป็นการวินิจฉัยที่เป็นกลางที่สุด คือ:

ผมเห็นว่า แม้เราจะเรียนภาษาอังกฤษกันมาตั้งแต่เด็ก แต่เราก็คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษน้อยเกินไป เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่เราจึงใช้งานภาษาอังกฤษได้น้อยเกินไป ฉะนั้น เพื่อชดเชยกับทักษะที่ควรมีแต่กลับขาดหายไป เราจึงต้องทำความคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษให้มากเป็นพิเศษ เพราะเมื่อตอนเป็นนักเรียนเราคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษน้อยเป็นพิเศษ วิธีทำความคุ้นเคยก็ทำได้ 2 แบบ

แบบที่ 1 – หาโอกาสที่จะคุ้นเคยกับฝรั่งหรือชาวต่างชาติตัวเป็น ๆ ที่พูดภาษาอังกฤษ เราจะได้พูดกับเขา ฟังจากเขา เขียนถึงเขา และอ่านสิ่งที่เขาเขียนถึงเรา นี่หมายถึงถ้าเรามีโอกาสที่จะทำได้เราก็น่าจะทำแบบนี้

แบบที่ 2 – แต่ถ้าหาโอกาสไม่ได้ในการทำแบบที่ 1 เราก็ต้องศึกษาจากอุปกรณ์เสริม คือ เราต้องฟังเยอะ ๆ จากวิทยุ โทรทัศน์ CD หรือ อินเตอร์เน็ต, เราต้องอ่านเยอะ ๆ จากสารพัดแหล่งที่เราจะอ่านได้ เช่นจากหนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม หรือจากเน็ต, เราต้องหัดพูดเยอะ ๆ จากแบบฝึกพูดที่จำลองสถานการณ์คล้ายกับเราเรียนกับครูจริง ๆ ซึ่งในเน็ตก็มีให้ฝึกเยอะเหมือนกัน หรือการเขียนก็เช่นเดียวกัน มีแบบฝึกหัดมากมายที่เราสามารถ train และ test ตัวเองได้

แล้วที่พูดมาทั้งหมดนี้มันเกี่ยวข้องอะไรกับดิกชันนารีที่ผมชอบพูดถึง ‘ท่าน’ นักหนา ? (ใช้สรรพนามว่า ‘ท่าน’ ไม่ผิดหรอกครับ เพราะดิกชันนารีต้องถือว่าเป็นผู้มีพระคุณที่ช่วยให้เราเก่งภาษาอังกฤษ)

คำตอบก็คือ เราสามารถฝึกให้ตัวเองเก่งอังกฤษโดยเรียนกับดิกชันนารี ทั้งเรื่องการฟัง – พูด – อ่าน และ เขียน แต่ต้องเป็นดิกชันนารี อังกฤษ – อังกฤษน ะครับ ไม่ใช่ดิกอังกฤษ - ไทยซึ่งก็มีประโยชน์เหมือนกันแต่น้อยกว่าดิก อังกฤษ – อังกฤษ

สำหรับพวกเราที่มีเป้าหมายในการฝึกฝนพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตนเอง เมื่อมองไปยัง ดิกชันนารี อังกฤษ – อังกฤษ ที่ฝรั่งเป็นผู้ทำ ก็จะพบว่า แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 - ดิกชันนารี อังกฤษ – อังกฤษ ที่ใช้ยาก เป็นดิกที่ฝรั่งซึ่งโตแล้วเขาใช้กัน และก็นาน ๆ อาจจะหยิบมาใช้สักครั้ง เช่น เปิดดูการสะกดคำ (spelling), เปิดดูความหมายที่แน่นอนในฐานะที่เป็นหนังสืออ้างอิง ดิกชันนารีที่ได้รับความเคารพนับถือเช่น ของ Merriam-Webster ก็จะถูกใช้มากในงานเช่นนี้, หรือเปิดเพื่อดูที่มาของคำศัพท์ หรือ etymology เป็นต้น

ดิกชันนารีประเภทที่ 1 นี้ มีทั้งที่ขายเป็นเล่มและมีเว็บ online ให้ค้นหาศัพท์ได้ฟรี ๆ ยี่ห้อที่ดังที่สุดที่ผมรู้จักมี 2 ยี่ห้อ คือ (โขคดี มี audio ให้คลิกฟังการออกเสียงคำศัพท์ทั้ง 2 เว็บเลยครับ) คือ

[1] Merriam-Webster Dictionary
[2] American Heritage® Dictionary of the English Language

ดิกประเภทที่ 1 นี้มักไม่ได้บอกอะไรมาก นอกจากคำนิยามศัพท์, ที่มาของคำศัพท์ หรือมีตัวอย่างการใช้คำศัพท์นิด ๆ หน่อย ๆให้ดู

ใน blog นี้ผมแนะนำดิกชันนารีประเภทที่ 1 นี้น้อยมาก ส่วนใหญ่ผมจะแนะนำดิกชันนารี อังกฤษ – อังกฤษ ประเภทที่ 2

ดิกชันนารีประเภทที่ 2 มีศัพท์เรียกกันว่า learner’s dictionary คือเป็นดิกชันนารีสำหรับนักเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งนอกจากจะแสดงความหมายของคำศัพท์แล้ว ยังมีของแถมอีกหลายอย่าง เช่น คำอ่าน, เสียงอ่าน, หลาย ๆ วลีหรือประโยคตัวอย่างแสดงการใช้ศัพท์, หลักแกรมมาร์ที่เกี่ยวข้อง, collocation หรือคำศัพท์ตัวอื่น ๆ ที่มักจะใช้ควบคู่กับศัพท์ตัวนี้, idiom หรือสำนวน ฯลฯ พูดง่าย ๆ ก็คือ เราสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากการค่อย ๆ เรียนรู้คำศัพท์ไปทีละคำจาก learner’s dictionary นี่แหละ

ดิกชันนารีประเภทที่ 2 นี้ ก็มีทั้งที่ขายเป็นเล่มและมีเว็บ online ให้ค้นหาศัพท์ได้ฟรี ๆ เช่นเดียวกับประเภทที่ 1 ยี่ห้อดัง ๆ ที่มีทั้ง 2 แบบ คือ ดิกเล่มและดิกเว็บ ที่ผมรู้จักมี 5 ยี่ห้อ ดังนี้ครับ
1. Oxford
2. Longman
3. Cambridge
4. Cobuild
5. Newburry House
ต้องบอกว่าผมใช้ดิกชันนารี ประเภท learner’s dictionary มาจนคุ้นเคยและได้รับประโยชน์จากดิกเหล่านี้อย่างมาก จึงอยากให้ท่านได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน

ที่เล่ามาทั้งหมดตั้งแต่ต้นนี้คือไตเติ้ล แต่สิ่งที่ผมต้องการแนะนำเป็นพิเศษในวันนี้คือ Merriam-Webster's English Learner's Online Dictionary

เรื่องของเรื่องก็คือ ผมรู้จัก Webster Dictionary มานาน ทั้งในรูปดิกเล่มและดิกเว็บ โดย Webster เป็นดิกประเภทที่ 1 ที่ใช้ยากหน่อยอย่างที่บอกไว้ข้างต้น

แต่เมื่อไม่นานมานี้เอง(ตามที่ผมเข้าใจ) Webster ได้พิมพ์หนังสือ Merriam-Webster's English Learner's Online Dictionary ผมโทรศัพท์ไปถามที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯแล้ว ยังไม่มีขายครับ แต่มีเว็บให้ใช้ฟรี ๆ ที่นี่ครับ:
http://www.learnersdictionary.com/

วันนี้ผมไม่ขอแนะนำอะไรมากเกี่ยวกับ Merriam-Webster's English Learner's Online Dictionary ที่เพิ่งออกตัว และเป็น talking dictionary ด้วย ผมขอให้ท่านลองเข้าไปใช้ด้วยตัวเองดีกว่าฟังผมพูด สำหรับท่านที่รักดิกและเคยใช้ประโยชน์จากดิกประเภท learner’s dictionary ผมขอรับรองว่า Merriam-Webster's English Learner's Online Dictionary เป็นสมาชิกอีก 1 ยี่ห้อที่จะไม่ทำให้ท่านผิดหวังเลย

แถม: http://dictionary.babylon.com/

* * * * *

พอเขียนมาถึงบรรทัดนี้ ผมก็กะว่าจะจบ แต่ฉับพลันก็นึกเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องที่คุยกันวันนี้สักเท่าไหร่ แต่ผมจะพยายามโยงให้มันเกี่ยวกันจนได้ ไม่เชื่อก็ลองอ่านดูไปจนจบซีครับ

ก็คือเรื่องของคนกลัวภาษาอังกฤษครับ…


เรื่องแรก
หลายปีมาแล้ว หน่วยงานที่ผมทำงานอยู่เป็นเจ้าภาพจัดงานแข่งขันฝีมือแรงงานระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน จัดที่กรุงเทพนี่แหละครับ เรื่องที่ พวกเราหลายคนที่เป็น เจนเนอรัล เบ๊ กลัวกันมากที่สุดไม่ใช่เรื่องการเตรียมงานสารพัดอย่างที่หนักหนาสาหัสทีเดียว แต่กลับเป็นว่า กลัวจะเผลอถูกต่างชาติเดินเข้ามาถามอะไรสักอย่างแล้วเราวิ่งหนีไม่ทัน อันที่จริงเราก็จัดเจ้าหน้าที่ซึ่งพูดภาษาอังกฤษได้ดีเป็นผู้ประสานงานกับทุกประเทศอยู่แล้ว แต่ก็นั่นแหละครับ เพราะงานใหญ่และคนก็เยอะจึงเป็นไปได้ว่า แขกอาเซียนไม่ว่าจะเป็นมาเลย์ อินโดนีเซีย หรือชาติอื่นจะเดินเข้ามาสอบถามอะไรสักอย่าง แล้วเขาก็ไม่รู้ด้วยว่า staff ไทยคนไหนพูดภาษาอังกฤษได้หรือไม่ได้ ยังไงสงสัยก็ขอถามไว้ก่อนล่ะ แล้วเรื่องก็เกิดจริง ๆ คือมีคนอินโดตัวดำคนหนึ่งเดินเข้ามาหารุ่นน้องของผมและคงแสดงท่าทางจะพูดอะไรสักอย่างหนึ่ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนที่ผมไม่ได้อยู่ตรงนั้น น้อง ๆ มาเล่าให้ฟังว่า ยังไม่ทันที่แขกอินโดคนนั้นจะพูดอะไรออกมา เจ้าหน้าที่ไทยหมายเลข 1 คนนั้นก็จูงมือแขกอินโดไปพบกับเจ้าหน้าที่คนที่ 2 เพราะตัวเองพูดภาษาอังกฤษไม่ได้หรือไม่กล้าพูดก็ไม่รู้แหละ เหตุการณ์กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่คนที่ 2 ก็จูงมือแขกไปหาเจ้าหน้าที่คนที่ 3 ... ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการพูดจาอะไรกันทั้งสิ้นระหว่างแขกกับเจ้าภาพ แขกน่ะคงอยากจะพูดอยู่หรอก แต่เจ้าภาพเอาแต่จูงมือแขกเหมือนส่งไม้วิ่งผลัดไม่ยอมพูดยอมจาอะไรทั้งสิ้น ผมว่าเจ้าหนุ่มชาวอินโดคนนี้ถ้าไม่อารมณ์ดีหรือมองโลกในแง่ดีเอามาก ๆ ก็ต้องเคยบำเพ็ญบารมีขันติธรรมขั้นอุกฤษฎ์จึงยอมให้คนไทยจูงไปได้จนถึงคนที่ 5 และผมก็ไม่รู้อีกเช่นกันว่าเจ้าภาพชาวไทยคนที่ 5 มีความกล้ามหาศาลที่จะรับแขก หรือหมดคนที่จะจูงไปหาแล้วก็ไม่รู้เหมือนกัน แขกจึงได้มีโอกาสพูดสิ่งที่เขาต้องการจะพูด คือเขาต้องการพูดว่า “Thank you very much” เพราะเจ้าหน้าที่ของเราไปบริการอะไรให้เขาสักอย่างหนึ่งนี่แหละ ผมไม่แปลกใจที่เขายืนยันจะกล่าวขอบคุณ เพราะผมรู้ว่าในงานครั้งนั้นพวกเราให้บริการแขกต่างบ้านต่างเมืองอย่างน่าประทับใจจริง ๆ แต่ผมแปลกใจว่า ทำไมความกลัวที่จะพูดภาษาอังกฤษมันถึงได้มีขนาดและปริมาณมหาศาลมโหฬารพันลึกปานนั้น ที่จริงถ้าเจ้าหน้าที่คนแรกระงับความกลัวและทำใจดีสู้เสือหยุดฟังสักนิด เรื่องก็คงไม่โกลาหลถึงปานนี้

เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องจริงสั้น ๆ ที่เกิดขึ้นสมัยผมเรียนมหาวิทยาลัย ณ นาทีนี้เมื่อนึกถึงเรื่องนี้ผมยังนึกแปลกใจและขำไม่หายว่าทำไมคนที่ไม่ชอบภาษาอังกฤษจึงเป็นไปได้ถึงปานนั้น ตอนนั้นผมพักอยู่ที่หอพัก ผมซื้อดิกชันนารีอังกฤษ – อังกฤษมาเล่มหนึ่ง รู้สึกว่าจะยี่ห้อ Random House Dictionary ดิกเล่มนี้ขนาดใหญ่มากแต่ชำรุดนิดหน่อย ผมเลยซื้อมาได้ด้วยราคา 130 บาทเท่านั้นเอง วันนั้นผมวางดิกไว้ที่ขอบโต๊ะ แล้วเพื่อนคนหนึ่งดันซุ่มซ่ามเดินมาปัดจนดิกราคาถูกที่ผมรักหล่นจากโต๊ะลงไปบนพื้น ผมชักยั๊วะจึงบอกมันไปว่า “มึงทำดิกกูตกพื้นจนช้ำอย่างนี้มึงมาเตะกูซะยังจะดีกว่า มึงหยิบขึ้นไปวางให้เหมือนเดิมนะ” เพื่อนผมก้มลงไปหยิบอย่างที่ผมสั่งแต่ก็พูดว่า ดิกหนักตั้ง 3 กิโลอย่างนี้มึงจะเปิดไหมล่ะวะ?” ต้องบอกก่อนว่า ไอ้เพื่อนคนนี้ของผมมันเกลียดกลัวภาษาอังกฤษจนหัวหด ผมเอาดิกเล่มนั้นไปวางบนตาชั่งวัดน้ำหนัก มันหนักไม่ถึงกิโล ผมก็เลยบอกมันว่า “นี่มึงกลัวภาษาอังกฤษจนขี้ขึ้นหัว จนอะไรที่เกี่ยวกับภาษาอังกฤษมันหนักไปหมด มึงนี่เป็นเอามาก ๆ นะ”

ผมยก 2 เรื่องนี้มาเล่าเพื่อที่จะสรุปสั้น ๆ ว่า (ขอประทานโทษนิดนึงนะครับ) ถ้าท่านผู้อ่านของผมคนใดเกลียดกลัวภาษาอังกฤษเหมือนเพื่อนร่วมงานของผม 5 คนนั้น หรือเหมือนเพื่อนที่อยู่หอพักเดียวกับผมสมัยเรียนหนังสือ ณ บัดเดี๋ยวนี้ ขอให้ท่านอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลยครับ ภาษาอังกฤษไม่ได้น่ากลัวและก็ไม่ได้หนักเหมือนที่ท่านคิดหรอกครับ ผมไม่กล้าพูดว่า ภาษาอังกฤษง่ายนิดเดียว เดี๋ยวมันจะไปเหมือนประโยคฮิตของคุณแอนครูว์ บิกส์

ขอย้อนโยงกลับมาพูดเรื่องดิกยากและดิกง่าย หรือ learner’s dictionary ที่เป็นหัวเรื่องคุยของวันนี้ สำหรับดิกยากนั้นเขาจะไม่สนใจว่าคำศัพท์หรือลักษณะภาษาที่เขาใช้ในการนิยามศัพท์จะยากง่ายเพียงใด เพราะเขารู้ว่าคนอ่านเป็นผู้ใหญ่ มีความรู้ทางภาษา สามารถอ่านดิกของเขารู้เรื่อง แต่ดิกง่าย หรือ learner’s dictionary เขาจะจำกัดจำนวนคำศัพท์ที่ใช้สำหรับนิยามคำศัพท์หลัก พูดง่าย ๆ ก็คือศัพท์ที่เอามาใช้ในการอธิบายต้องง่ายกว่าคำศัพท์หลักที่ถูกอธิบาย อย่างเช่น ดิก Longman จะมี list คำศัพท์แค่เพียงประมาณ 2,000 คำที่นำเอามาใช้ในการอธิบายศัพท์ประมาณ 70,000 – 80,000 คำในดิกทั้งเล่ม หรือดิก Oxford หรือ learner’s dictionary ของ Webster ก็จะมีศัพท์เช่นนี้ประมาณ 3,000 คำเท่านั้นเอง

ขอยกตัวอย่างให้ท่านเห็นชัด ๆ คือคำว่า heaven ที่เรารู้อยู่แล้วว่าแปลว่า สวรรค์
ดิก Webster ฉบับยาก ให้คำจำกัดความไว้ดังนี้

Heaven = the dwelling place of the Deity and the blessed dead

ส่วน ดิก Webster ฉบับง่าย หรือ Merriam-Webster's English Learner's Online Dictionary ให้คำจำกัดความไว้ดังนี้

Heaven = the place where God lives and where good people go after they die…

ท่านเห็นความแตกต่างไหมครับ นี่ขนาดรู้แล้วนะครับว่า heaven แปลว่า สวรรค์ แต่พออ่านคำนิยามศัพท์ในดิก Webster ฉบับยาก แทบไม่รู้เลยว่ามันคือ สวรรค์ แต่เมื่ออ่านความหมายของ heaven เหมือนกันในดิก Webster ฉบับง่าย กลับรู้ได้ทันทีว่ามันคือสวรรค์แน่ ๆ

พออยากจะสรุปจริง ๆ ที่บรรทัดนี้ว่า
ถึงบางครั้งท่านจะรู้สึกว่า ภาษาอังกฤษนี้ยากนัก ก็ไม่ต้องไปกลัวมันหรอกครับ ถ้าเราเรียนภาษาอังกฤษด้วยความกล้าและร่าเริง เราก็จะค่อย ๆ รู้จักมันและเป็นเพื่อนกับมันได้ในเวลาไม่นานนัก ภาษาอังกฤษจะไม่น่ากลัวเหมือนที่เพื่อนของผม 4 – 5 คนนั้นกลัว, ภาษาอังกฤษจะไม่หนัก เหมือนที่เพื่อนร่วมหอพักของผมรู้สึกว่าหนัก และการเรียนภาษาอังกฤษจะเป็นเหมือนสวรรค์สำหรับเรา ตามที่นิยามไว้ใน Merriam-Webster's English Learner's Online Dictionary แม้ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่นี่แหละครับ

พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

4 ความคิดเห็น:

Nuch & Tor กล่าวว่า...

ไอเดีย เกิดครับ

อ่านบทความนี้แล้วเกิดไอเดียเลย

บุญรักษา

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากจะขอคำแนะนำหน่อยคะ คือตอนนี้เรียนอยู่ระดับมหาวิทยาลัย และกำลังฝึกเขียน essay อยู่คะ ก้อเลยอยากให้คุณช่วยแนะนำdictionary ที่เหมาะสมให้หน่อยคะ และอยากทราบข้อแต่ต่างของสำนักพิมพ์dictionaryแต่ละแห่งด้วยคะ
thank for your kindness.

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

บางหัวข้ออ่านตั้งหลายรอบ แต่ก็ไม่มีคำใดจะพูดมากไปกว่า
ขอบคุณค่ะ


เราเพื่อนกัน

pipat - blogger กล่าวว่า...

1. ดิกชันนารีที่ขอแนะนำอยู่ที่นี่
http://intereladsd.blogspot.com/2007/01/18.html

2.แต่ละเล่มไม่ค่อยแตกต่างกันนักหรอกครับ เพียงแต่ว่าคุณไปดูแล้วอาจจะชอบบางเล่มมากกว่า

พิพัฒน์