สวัสดีครับ
ท่านผู้อ่านที่รักภาษาอังกฤษทุกท่านครับ ใน 4 อย่างข้างล่างนี้ ท่านอยู่ในอย่างไหน?
-บางคนต้องการพูดภาษาอังกฤษได้ และมีโอกาสพูด แต่ไม่พูด ก็เลยพูดไม่ได้
-บางคนต้องการพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ไม่มีโอกาสพูด ก็เลยพูดไม่ได้
-บางคนต้องการพูดภาษาอังกฤษได้ และมีโอกาสพูด ก็เลยพูดได้
-บางคนต้องการพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ไม่มีโอกาสพูด แต่ก็พยายามหาโอกาสที่จะพูด ก็เลยพูดได้
สำหรับบางคน
เมื่อมีโอกาสพูด ก็จะฝึกพูด, เมื่อไม่มีโอกาสพูด ก็จะหาโอกาสที่จะฝึกพูด
แต่สำหรับอีกบางคน
ทั้งๆที่มีโอกาสพูด ก็จะไม่พูด, ส่วนการหาโอกาสเพิ่มเติมที่จะพูด ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
ท่านผู้อ่านครับ เมื่ออ่านข้อความที่ผมเขียนข้างบนนี้ ท่านอาจจะรู้สึกว่า ผมสรุปว่า คนที่พูดภาษาอังกฤษได้ก็เพราะสนใจจะฝึกพูด ส่วนคนที่พูดไม่ได้ก็เพราะไม่สนใจจะฝึกพูด เพราะฉะนั้นอย่าไปโทษใครถ้าตัวเองพูดภาษาอังกฤษไม่ได้!
ขอเรียนให้ทราบ ณ บรรทัดนี้ก่อนเลยครับว่า ผมมิได้มิความคิดรวบยอดดื้อ ๆ อย่างข้างบนนี้เลย เพราะอะไรหรือครับ ? เพราะผมรู้ว่า เมื่อแต่ละคนเข้ามาเกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษ เขามีความรักและความเก่งพื้นฐานที่ต่างกัน สำหรับบางคนที่ไม่ค่อยรักหรือไม่ค่อยเก่ง ก็มิได้หมายความว่า คนเก่งทั้งหลายต้องไปต่อว่าเขา หรือบอกให้เขาต่อว่าตัวเอง ที่ไม่รักหรือไม่เก่งภาษาอังกฤษ และใช้ประโยชน์จากภาษาอังกฤษไม่ได้
แต่ความคิดรวบยอดของผมก็คือ เราคนไทยด้วยกันต้องช่วยเหลือกัน ไม่ว่าใครจะเกลียดหรือไม่เก่งภาษาอังกฤษขนาดไหนก็ตาม เราก็ควรจะช่วยเหลือกันเพื่อให้เราคนไทยด้วยกันมีความสามารถพอตัวด้านภาษาอังกฤษ, พอที่จะใช้ประโยชน์จากมันได้, พอที่จะใช้ทำมาหากินได้, พอที่จะใช้ศึกษาหาความรู้ได้, พอที่จะใช้พูดจากับคนต่างชาติได้, แม้จะไม่เก่ง-แม้จะไม่รักก็ตาม
อาจจะเปรียบเทียบได้อย่างนี้ เหมือนเรากินอาหารนั่นแหละครับ ถ้าไปต่างถิ่นและเจออาหารไม่ถูกปาก-ไม่ถูกใจ และไม่ยอมกิน ก็คงจะอดตายแน่ โลกทุกวันนี้ก็คล้าย ๆ กันแหละครับ คนต่างถิ่นเดินทางข้ามฟ้ามาประเทศเรา เราเดินทางข้ามถิ่นไปหาเขา มันก็เลือกไม่ได้หรอกครับที่เราจะต้องกินอาหารต่างถิ่น และพูดภาษาของคนต่างถิ่น ผิดรสชาติผิดลิ้นไปบ้าง ก็คงต้องกินเข้าไปทั้ง ๆ ที่อาจจะไม่อยากกิน คงต้องพูดออกมาทั้ง ๆ ที่ไม่อยากพูด ไม่ถนัดที่จะพูด
แต่สิ่งที่ต้องมองก็คือ ถ้าเราไม่ยึดติดกับความเคยชินเดิม ๆ และยอมก้าวเดินออกไปเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เราก็จะได้รับประโยชน์ที่ยิ่งกว่าคุ้มค่าจากภาษาที่เราอาจจะไม่คุ้นเคย
วันนี้ผมขอชวนคุยตามหัวเรื่องข้างบน คือ การ ฝึกพูดด้วยการฝึกแปล
ในขณะที่เราฝึกพูดเมื่อมีโอกาส และหาโอกาสฝึกพูด เราก็ยังสามารถทำอีกเรื่องหนึ่งไปพร้อม ๆ กัน คือ การ ฝึกพูดด้วยการฝึกแปล ถ้าจะว่ากันจริง ๆ แล้ว การเขียนหรือการแปลภาษาอังกฤษ ก็คือการฝึกพูดด้วยมือนั่นเอง และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องพูดด้วยปาก ทักษะที่ฝึกผ่านมือและมี database อยู่ในสมอง มันก็จะไหลผ่านปากออกมาเป็นคำพูดตามที่เราสั่ง ใครพูดว่าการชกลมหรือชกกระสอบทรายไม่มีประโยชน์ต่อนักมวยอาชีพ ท่านก็คงไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใครพูดว่าการฝึกแปลไม่มีประโยชน์ต่อการพูด ท่านก็คงไม่เห็นด้วยเช่นกัน
การฝึกแปลหรือฝึกเขียนก็สามารถทำได้หลายแบบ ผมได้แนะนำไว้บ้างที่ลิงค์นี้ -เขียน -
นอกจากการฝึกเขียนไดอะรี่ประจำวันแล้ว ผมขอแนะนำให้ท่านฝึกแปลอะไรก็ได้วันละนิด ๆ หน่อย ๆ ทุกวัน ความสามารถที่เพิ่มพูนขึ้นก็เหมือนหยอดตังค์ใส่กระปุกนั่นแหละครับ มันมากขึ้นเองโดยเราไม่รู้ตัวและไม่ต้องพยายามอย่างหักโหม แม้สิ่งที่ผมพูดนี้จะมาจากประสบการณ์ส่วนตัว แต่ผมก็เชื่อว่า มันน่าจะเป็นวิธีที่ใคร ๆ ก็สามารถใช้ได้ผล ถ้าฝึกทำ
อย่างไรก็ตาม สำหรับผมเองแล้ว การเขียนไดอะรี่มีข้อติดขัดอยู่ 2 อย่าง คือ
1.บ่อยครั้งที่นึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไรดี เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันมันซ้ำ ๆ กัน และก็ไม่อยากเขียนเรื่องเดิมในไดอะรี่หน้าใหม่
2.บางวันมีเหตุการณ์ใหม่ ๆ ผ่านเข้ามาในชีวิต ผมก็มักจะไม่ค่อยได้เขียนตัวเหตุการณ์ลงไป แต่สิ่งที่เขียนมากกลับเป็นความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อเหตุการณ์ คำศัพท์ที่เป็น verb, adjective หรือ noun อันหลากหลายที่ควรจะใช้บันทึกเหตุการณ์ก็เลยไม่ค่อยถูกดึงมาใช้เขียน เพราะมัวแต่ใช้ศัพท์ที่เป็นเรื่องความรู้สึกนึกคิดเสียเป็นส่วนใหญ่
พอเป็นอย่างนี้ ผมก็เลยหาวิธีที่จะฝึกเขียนในลักษณะอื่น ๆบ้างที่ไม่ใช่ไดอะรี่
ผมรู้สึกว่า การอ่านภาษาอังกฤษเทียบภาษาไทย ประโยคต่อประโยค หรือย่อหย้าต่อย่อหน้าให้แนวทางที่ดีในการฝึกการแปลหรือการเขียน และท่านผู้อ่านจำนวนมากก็ชอบวิธีนี้ เพราะจากสถิติในปี 2552 ที่ผ่านมา 2 ลิงค์ข้างล่างนี้ มีคนเข้าชมมากที่สุด
[847]นิทานอีสปแปลไทยเทียบอังกฤษ(บรรทัดต่อบรรทัด)
[1168] รวมบทความภาษาอังกฤษแปลเป็นภาษาไทย
เพื่อประโยชน์ในการฝึกแปล (ซึ่งช่วยในการฝึกพูด) ผมมีความเห็นว่า การศึกษาสิ่งที่ผู้รู้แปลไว้ควรตามด้วยการแปลเอง เพราะการดูนักกีฬาว่ายน้ำแข่งกัน แม้จะได้รับความสนุกและความรู้ แต่ยังไง ๆ ก็ไม่เหมือนการลงไปว่ายเองในสระ เพราะเราจะได้ออกกำลังกาย ความเหนื่อย และความแข็งแรงด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะไม่ได้รับจากการเป็นผู้ดูข้างขอบสระ การอ่านสิ่งที่ผู้รู้แปลถ้าไม่ตามด้วยการแปลเอง จะให้ประโยชน์เพียงครึ่งเดียว คือทำให้เราเข้าใจ แต่อาจจะใช้ไม่เป็น
และเพื่อความสะดวกในการฝึกแปล ผมได้เอานิทานอีสปมาเป็นแบบฝึกหัดในการฝึกแปล ที่ 2 ลิงค์นี้ครับ
- นิทานอีสป
(คลิกศัพท์ไทยเพื่อดูคำแปลอังกฤษ)
-[1248] อ่านนิทานอีสป แปลศัพท์ทุกคำ แค่ดับเบิ้ลคลิก
(คลิกศัพท์อังกฤษเพื่อดูคำแปลไทย)
ท่านผู้อ่านคงทราบแล้วนะครับว่า ศัพท์ทุกคำในบล็อกนี้ เมื่อดับเบิ้ลคลิกภาษาอังกฤษ จะมีคำแปลภาษาไทย, เมื่อดับเบิ้ลคลิกภาษาไทย จะมีคำแปลภาษาอังกฤษ
[อ่าน: คำแนะนำการใช้ 'click dict' ในบล็อกนี้]
เหตุใดผมจึงนำเอานิทานอีสปมาเป็นแบบฝึกหัดในการฝึกแปล ทั้ง ๆ ท่านอาจจะโตพ้นวัยอ่านนิทานแล้ว
1.แต่ละเรื่องไม่ยาว ท่านสามารถให้การบ้านแก่ตัวเองว่าต้องหัดแปลวันละเ 1 เรื่อง ถ้าแปลจบได้ก็จะเกิดความรู้สึกว่าทำ “สำเร็จ” ความรู้สึกนี้เป็นรางวัลที่เกิดขึ้นและเรามอบให้แก่ตัวเอง ซึ่งจะเป็นกำลังใจให้เราพยายามฝึกฝนต่อไปเรื่อย ๆ
2.นิทานอีสปมีคติ เด็กอ่านก็จะเข้าใจระดับเด็กและเป็นประโยชน์ต่อเด็ก, ผู้ใหญ่อ่านก็จะเข้าใจระดับผู้ใหญ่และเป็นประโยชน์ต่อผู้ใหญ่ ท่านที่เคยอ่านนิทานอีสปสมัยเป็นเด็ก ถ้าท่านอ่านวันนี้ แม้เป็นเรื่องเดิมแต่ท่านอาจจะคิดต่างไปจากที่เคยอ่านเมื่อวัยก่อน
3.ไม่ต้องหวังว่าจะต้องแปลได้ perfect ขอให้จินตนาการง่าย ๆ ว่า ท่านกำลังถ่ายทอดเนื้อหาให้เพื่อนต่างชาติฟังเป็นภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดคำต่อคำ อาจจะใช้หลักง่าย ๆว่า
-ท่านเล่าโดยใช้โครงสร้างประโยคง่าย ๆ คือ ประธาน + กริยา + กรรม ส่วนที่เป็นส่วนขยาย (ที่.... ซึ่ง.... อัน..... ) จนทำให้ประโยคยืดยาว และเราแปลตามไม่ค่อยถูกนั้น เอาไอ้ส่วนขยายพวกนี้มาทำเป็นประโยค (ประธาน + กริยา + กรรม )ย่อย ๆ ก็ได้ เหมือนเราเล่าเรื่องราวให้เพื่อนฟัง ไม่ต้องสละสลวย แค่พอรู้เรื่องก็ใช้ได้แล้ว
-ไม่ต้องแปลตรงตัว เช่น นิทานเรื่อง “กบกับหนู” มีข้อความเริ่มต้นว่า “หนูเเก่ตัวหนึ่งเดินทางเเรมรอนมาจนถึงลำธารที่ชายป่า หนูต้องการจะข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามจึงเข้าไปหาเจ้ากบตัวน้อยที่ริมลำธาร เเล้วเอ่ยขอให้กบช่วยพาข้ามลำธารด้วย...” เราก็อาจจะสงสัยว่า เดินทางนี้อาจจะใช้คำว่า travel แต่แรมรอนล่ะจะใช้คำว่าอะไร?
ขอให้ท่านอย่าได้เป็นห่วงเรื่องทำนองนี้เลยครับ ถ้ามันนึกไม่ออกก็ไม่ต้องไปแปลมัน แต่ถ้าแปลก็ขอให้นึกในทำนองนี้ว่า แรมรอน – รอนแรมนี่มันแปลว่าอะไรนะ คืออาจจะต้องแปลไทยเป็นไทยง่าย ๆ ซะก่อน เช่น เดินทางรอนแรมนี้ คงจะแปลว่า เดินทางติดต่อกันมาหลายวันแล้ว, เดินทางข้ามวันข้ามคืน, ฯลฯ จะใช้ travel several days, travel many days, travel nonstop, travel without stopping หรืออะไรก็ได้ เขียนไปเถอะครับ ไม่ต้องกลัวผิด
4. ในการฝึกแปล ท่านอาจจะเขียนด้วยลายมือ หรือแปลปากเปล่าตั้งแต่ต้นจนจบแบบพูดเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง ทำแบบไหนก็ได้ตามสบายเลยครับ ขออย่างดียว ขอให้ท่านได้ใช้ความพยายามในการฝึกบ้างเท่านั้นแหละครับ
ท่านผู้อ่านครับ ในช่วงเวลาที่ท่าน ฝึกพูดด้วยการฝึกแปลนี้ ขออย่าได้คิดว่า ท่านเสียเวลาเปล่าไม่เห็นได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย อย่าคิดอย่างนี้เลยครับ ขอรับรองว่าสิ่งที่ท่านฝึกเรื่อย ๆ นี้เป็นประโยชน์แน่ ๆ มันเหมือนกับการหยอดตังค์ใส่กระปุกออมสินที่ผมพูดไว้แล้วนั่นแหละครับ ทักษะในตัวท่านจะเพิ่มขึ้นทีละน้อย ๆโดยไม่รู้ตัว และเมื่อถึงเวลาที่ท่านต้องพูด ท่านก็จะสามารถแคะกระปุกควักทักษะที่ท่านสะสมไว้นี้ออกมาใช้ได้ไม่ยาก แต่ถ้าไม่ได้สะสมไว้เลยถึงเวลาที่ต้องพูดก็คงพูดไม่ออก เหมือนไม่ได้ใส่ใจหยอดตังค์ไว้ทุกวัน แคะกระปุกออกมาก็จะเจอแต่กระปุกเปล่า ๆ
ผมเองนี่เป็นคนโชคดีอย่างหนึ่ง คือ เคยทำงานมาหลายจังหวัดและเที่ยวมาหลายประเทศ (ประเทศละนิด ๆ หน่อยๆ) มันทำให้เห็นชัดเข้าไปถึงใจว่า ภาษาอังกฤษมีประโยชน์มาก - - มากกว่า - - จนถึงมากที่สุด แต่คนไทยเราอาจจะมีสิ่งแวดล้อมน้อยเกินไปที่ช่วยกระตุ้นให้เราตระหนักถึงความจำเป็นที่มากและด่วนในการเก่งภาษาอังกฤษ
ณ วันนี้เราคงไม่สามารถรอให้ใครมากระตุ้น เราต้องกระตุ้นตัวเอง ฝึกตัวเอง ฟิตตัวเอง และเมื่อถึงเวลาที่เราจะเสวยผลประโยชน์จากความพยายาม ก็เรานั่นแหละครับจะเป็นผู้รับผลประโยชน์นี้
พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น