วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

[2355] ศึกษาศัพท์และวลีในสต็อก ฝึกไว้พูดและเขียนให้ได้ดังใจ



สวัสดีครับ

โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่า คนสนใจเรื่องการฝึกเขียนภาษาอังกฤษน้อยกว่าการฝึกพูดและฝึกอ่าน ทั้ง ๆ ที่การเขียนก็เป็นเรื่องที่ควรฝึกมากพอ ๆ กัน

สมัยเป็นนักศึกษาผมเคยเรียนวิชาการประพันธ์กับ ดร.เสรี วงษ์มณฑา สิ่งที่ท่านสอนส่วนใหญ่ก็ลืมไปหมดแล้ว จำได้อยู่ประโยคเดียวคือท่านบอกว่า ภาษาเขียนที่ดีจะต้อง ชัดเจน กระชับ และสวยงาม ตอนนั้นท่านไม่ได้บอกว่า 3 อย่างนี้อย่างใดต้องมาก่อนมาหลังหรืออะไรสำคัญกว่า แต่ถ้าให้ผมตัดสินตอนนี้ก็ขอเรียงอย่างนี้แหละครับ คือ

(1) ชัดเจน - คือเขียนออกไปแล้วอย่าให้คนอ่านเข้าใจคลุมเครือหรือเข้าใจผิด

(2) กระชับ – อย่าให้คนอ่านเสียเวลาโดยไม่จำเป็นกับถ้อยคำที่เยิ่นเย้อ เนื้อน้อย น้ำเยอะ และ

(3) สวยงาม – คือนอกจากทำให้ผู้อ่านเข้าใจแล้ว ถ้าสามารถเขียนให้ผู้อ่านจับใจ กินใจ ถูกใจ และสุขใจ ยิ่งวิเศษ

ในกรณีที่เราไม่สามารถเขียนให้ดีครบสามข้อ ก็ให้ดีข้อ (1) ก่อนแล้วกันครับ



และแม้ภาษาไทยและอังกฤษจะมีหลายอย่างที่ต่างกัน แต่การเขียนให้ดีน่าอ่านคงจะคล้าย ๆ กัน


โดยส่วนตัว  ผมจะฝึกเขียนภาษาอังกฤษลงไดอะรี่ทุกวัน สำหรับผม การฝึกเขียนคือการฝึกพูดผ่านมือ วัตถุดิบที่ใช้ในการเขียน ทั้งเนื้อหา ศัพท์ และสไตล์การเขียนจะมาจากเรื่องที่อ่านและฟังซึ่งผมพยายามเจียดเวลาเพื่อฝึกทุกวัน วันละอย่างน้อย 20 นาที คือ อ่าน 20 นาที, ฟัง 20 นาที และเขียน 1 หน้า


ผมสังเกตว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่ชอบเรียนตามกรอบ เช่น บางทีผมไปเจอตำราดี ๆ ที่ให้คำแนะนำและมีแบบให้ฝึกเขียน  ผมก็ไม่ชอบที่จะฝึกตามไล่ตั้งแต่บทแรกไปถึงบทสุดท้าย มันเบื่อครับ สิ่งที่ผมฝึกก็คือ ถ้านึกอยากเขียนอะไรก็เขียนลงไปเลย ติดศัพท์ก็เปิดดิก นึกวลีไม่ออกก็เปิดดิก ไม่แน่ใจว่าเขียนถูกแกรมมาร์หรือไม่ก็เปิดดิก (ดิกสมัยใหม่เขามักทำให้มีเนื้อหาครบถ้วนเหมือนร้านสะดวกซื้อ) ถ้าขี้เกียจเปิดก็เขียนลงไปเลยตามที่นึกออก

แต่เมื่อมานั่งทบทวนดูอีกหลายที ก็ชักจะเห็นแสงสว่างว่า แม้การฝึกเขียนสไตล์ลูกทุ่งแบบมวยวัดจะไม่อึดอัด แต่จริง ๆ แล้วการเรียนรู้พื้นฐานด้านการเขียนไว้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ  ก็มีประโยชน์ไม่น้อย  อะไรคือ “พื้นฐาน” ที่ว่านี้มีหลายอย่างครับ ผมขอยกตัวอย่างสัก 2 – 3 อย่างสำหรับท่านที่เริ่มฝึกเขียน
1.ศัพท์พื้นฐาน – เป็นต้นทุนช่วยให้ง่ายในการเริ่มเขียนเรื่องง่าย ๆ และเป็นฐานในการรู้ศัพท์สูงเพื่อเขียนเรื่องที่ซับซ้อนและยากมากขึ้น ท่านลองเข้าไปฝึกได้ที่ลิงค์นี้ครับ

2.วลีหรือสำนวนพื้นฐาน – โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า collocation ถ้าฝึกได้และใช้ให้คล่อง จะช่วยให้ภาษาเขียนของเรา มีคุณสมบัติครบสาม คือ ชัดเจน  กระชับ และสวยงาม

วันก่อนผมได้แนะนำให้ท่านดาวน์โหลดตำราชุด Key Word for Fluency เพื่อใช้ฝึกและศึกษาเรื่อง collocation

วันนี้ผมมีมาให้ดาวน์โหลดอีกหนึ่งเล่มซึ่งมีสรรพคุณไม่แพ้กัน คือหนังสือ Longman Essay Activator
คลิกดาวน์โหลดหนังสือ
หนังสือเล่มนี้ เขารวมรวมวลีประเภทต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ในการเขียน (และพูด) หัวข้อต่าง ๆ เช่น เมื่อเราจะเขียนหรือพูดถึง:
-ข้อดี/ข้อเสีย
-เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย
-ความต่าง/ความเหมือน
-การประมาณ
-สาเหตุ
-ความแน่นอน/ไม่แน่นอน
-การสรุป
-การเน้น
-การอธิบาย
-การยกตัวอย่าง
-การให้ความเห็น
-การให้เหตุผล
-ฯลฯ
ดูสารบัญหนังสือเล่มนี้ คลิก   สารบัญ Longman Essay Activator

มันมีสำนวน หรือวลี ในสต็อกของภาษาที่เราสามารถหยิบขึ้นมาใช้ได้ทันที  เช่น เมื่อจะยกตัวอย่าง (Giving Example) เขาก็มีหลายวลีให้ใช้ เช่น
for example, for instance, particularly, in particular, a case in point, be shown by, such as, including, to name but a few เป็นต้น
ลองคลิกดูที่นี่ก็ได้ครับ  คลิก
http://translateitbangkokpost.blogspot.com/2012/08/giving-example.html

จะเห็นว่า มีหลากหลายสำนวนหรือวลีที่ท่านสามารถใช้ได้ โดยเขาจะอธิบายความหมายของแต่ละอัน ทำให้ท่านสามารถเปรียบและเห็นความคล้ายและความต่าง และเลือกใช้ให้เหมาะ

หนังสือ Longman Essay Activator นี้ท่านจะศึกษาแบบตะลุยตั้งแต่บทแรกจนถึงบทสุดท้าย หรือใช้พลิก(คลิก)ดูเฉพาะบทที่ต้องใช้ก็ได้

ผมขอแนะนำว่า ให้ท่านอ่านประโยคตัวอย่างที่เขาให้ไว้ในหนังสือออกมาดัง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ท่านจำได้และนึกออก เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้เขียนหรือพูด

ผมเชื่อว่า การเตรียมพร้อมเรื่องคำศัพท์และวลีดังที่ว่ามานี้ จะเป็นตัวช่วยที่ดีมาก ในการฝึกเขียนและฝึกพูดภาษาอังกฤษของท่าน ท่านไม่ต้องหักโหมฝึกหรอกครับ ฝึกวันละไม่ต้องมาก  แต่ให้ฝึกทุกวัน ท่านก็จะเขียนและพูดภาษาอังกฤษได้ชัดเจนขึ้น  กระชับขึ้น  และสวยงามมากขึ้น ในทุกวันที่ท่านฝึก

พิพัฒน์

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ31 สิงหาคม 2555 เวลา 23:10

    ขอบคุณค่ะ ขอคุณมากๆเลยสำหรับสิ่งดีๆนี้

    ตอบลบ