วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

[1954] ทำหนังสือ ธรรมะ ส่วนตัว ไว้อ่านเอง

สวัสดีครับ
ในพระไตรปิฎก  พระพุทธเจ้าตรัสถึงแหล่งเกิดแห่งความพ้นทุกข์ไว้ 5 ประการ คือ
 1 การฟังธรรม ข้อนี้มีตัวอย่างมากหลาย เช่น พระอัญญาโกณฑัญญะ และคณะอีก 4 รูป เป็นต้น แม้พระสารีบุตรก็เหมือนกัน
 2.  การแสดงธรรม มีตัวอย่าง เช่น พระ-นาคเสนแสดงธรรมแก่อุบาสิกาผู้หนึ่ง ท่านก็ได้สําเร็จ อุบาสิกาก็ได้สําเร็จ
 3.  การสาธยายธรรม เช่น ท่องพระพุทธพจน์ หรือสวดบทพระธรรม มีตัวอย่างเช่น อุบาสิกาท่านหนึ่งสาธยายอาการ 32 จนได้บรรลุอนาคามิผล ปรากฏในอรรถกถาธรรมบท
 4.  การใคร่ครวญธรรม หมายถึง การเพ่งพินิจความหมายแห่งธรรม มีตัวอย่างมากหลาย เช่น พระมาลกะ ผู้เคยเป็นพรานเนื้อแล้วมาบวช เป็นต้น
ที่มา


สำหรับพวกเราชาวพุทธที่เป็นชาวบ้านไม่ใช่พระ  ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงใช้วิธี ฟังธรรม (อ่านธรรมะ), สาธยายธรรม (สวดมนต์) และ ใคร่ครวญธรรม ปน ๆ กันไป ส่วนเนื้อหาที่ฟัง(อ่าน) สวด และใคร่ครวญนั้น ก็อาจจะแตกต่างกันไปบ้าง เพราะแต่ละท่านคงต้องการธรรมะในแง่มุมที่ต่างกัน

ถ้าถามว่า จำเป็นแค่ไหนกันเชียวที่เราจะต้องทำให้ตัวเองใกล้ชิดธรรมะ เป็นคน “ธัมมะธัมโม  ผมขอตอบตามความรู้สึกส่วนตัวว่า   เราควรจะใกล้ชิดธรรมะ เพราะธรรมะช่วยให้ชีวิตของเราสมบูรณ์  มีค่าสมกับการเกิดมาเป็นคน

ถ้าถามอีกว่า เกิดมาเป็นคนต้องทำอะไร? ผมขอยกคำของพระพุทธเจ้ามาเป็นคำตอบว่า เกิดมาเป็นคนควรทำให้ครบ 3 อย่าง คือ 
1. สัพพปาปัสส อกรณัง - การไม่กระทำบาปทั้งปวง  
2. กุสลัสสูปสัมปทา - การทำความดีให้ถึงพร้อม  
3. สจิตตปริโยทปนัง - การชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด  
สำนวนพระข้างบนนี้อาจจะฟังยาก  แต่พูดให้ง่ายและสั้น ๆ ก็คือ เป็นคนทั้งทีควรจะ ละบาป ทำบุญ และรักษาใจให้สะอาด  หรือถ้าเป็นสำนวนที่ใกล้ชิดกับชีวิตคนรุ่นใหม่ที่มีชีวิตในองค์กร  ก็อาจจะพูดว่า ควรทำให้ชีวิตของตัวเอง
(1)ไม่เป็นคนเอาเปรียบใคร
(2)เป็นคนมีน้ำใจ, และ
(3)รักษาใจให้ไร้กังวล

ทั้ง 3 ข้อนี้คือเป้าหมายของการเกิดมาเป็นคน ที่ธรรมะมีคำตอบให้

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังคุยกับเพื่อนชาวอินโดนีเซียในโรงแรมห้องพักของเขาที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เขาบอกว่าขอเวลา 5 นาที และหันไปปูผ้าบนพื้นห้องเพื่อทำพิธีละหมาด ทำเสร็จแล้วก็กลับมาคุยกับผมต่อ มาคิดดูก็เห็นว่า การละหมาดของเพื่อนผมคงเป็นทั้งการเข้าถึง-ใกล้ชิด ศาสดาและศาสนาของเขาในเวลาเดียวกัน

และอีกวันหนึ่ง ผมเดินข้ามสะพานลอยที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เจอฝรั่งยืนแจกใบปลิวเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ดูท่าทางแกคงพูดภาษาไทยได้นิดหน่อย ผมมีคำถามที่ต้องการให้เขาตอบยาว ๆ สักนิดและคิดว่าเขาคงลำบากที่จะตอบเป็นภาษาไทย  จึงถามเป็นภาษาอังกฤษว่า ไบเบิ้ลสำคัญต่อชาวคริสต์ขนาดไหน  และไบเบิ้ลเวอร์ชั่นไหนดีที่สุด เขาอธิบายยาวและลงท้ายด้วยการให้ไบเบิ้ลภาษาอังกฤษเก่า ๆ แต่สภาพสมบูรณ์แก่ผม 1 เล่ม บอกว่าเล่มนี้แหละดีที่สุด

ผมกลับมานั่งคิดเล่น ๆ ว่า ทั้ง 3 ศาสนาใหญ่ ของโลก คือ พุทธ คริสต์ อิสลาม ต่างก็มีธรรมเนียมแต่โบราณให้คนใกล้ชิดกับศาสดาและศาสนา โดยการสอนให้เข้า temple, church และ mosque และก็มีคัมภีร์ประจำศาสนาให้ศึกษา คือ  พระไตรปิฎก,ไบเบิ้ล และอัลกุรอาน
แต่ผมเดาว่า ทุกวันนี้ผู้คนของทั้ง 3 ศาสนาก็คงเข้า temple, church และ mosque น้อยลง  และอ่าน พระไตรปิฎก, ไบเบิ้ล และอัลกุรอาน น้อยลงเช่นกัน

มาคิดเฉพาะในแง่ของชาวพุทธ  ผมเองคิดว่า ในขณะที่พวกเราชาวพุทธอาจจะไม่ค่อยสะดวกที่จะเข้าวัด แต่ก็น่าจะสะดวกในการหาหนังสือธรรมะมาอ่าน  และจากที่ผมอ่านหนังสือธรรมะมามากพอสมควรตั้งแต่ยังไม่แก่ ก็ได้รู้สึกว่า หนังสือธรรมะเป็นสิ่งวิเศษที่ช่วยเตือนสติให้เราใช้ชีวิตอย่าง (1)ไม่เป็นคนเอาเปรียบ, (2)เป็นคนมีน้ำใจ, และ(3)รักษาใจให้ไร้กังวล  และเราควรได้รับการเตือนอยู่บ่อย ๆ, ได้รับการเตือนทุกวัน 

และน่าจะเป็นการดีอย่างยิ่งถ้าเราจะมีหนังสือธรรมะที่ดีที่สุดสำหรับตัวเราเอง เพื่อเตือนสติ ให้เราอยู่ในครรลอง ทั้งข้อ (1), (2) และ (3)  ที่กล่าวมานี้

ทำไมต้องมีทั้ง 3 ข้อ เราเห็นได้ชัดเลยว่า สภาพสังคมทุกวันนี้ ชวนให้เรามีธรรมะไม่ครบ 3 ข้อ เช่น เราไม่เอาเปรียบใคร แต่ก็เป็นคนไร้น้ำใจ, เราเป็นคนมีน้ำใจแต่ก็ปล่อยใจให้เป็นทุกข์, เราสามารถรักษาใจไม่ให้ทุกข์แต่ก็เอาเปรียบคนถ้ามีโอกาส ฯลฯ การเตือนสติครบทั้ง 3 ประการจึงเป็นสิ่งที่เราต้องให้แก่ตัวเอง... ทุกวัน

ตอนที่เรียนหนังสืออยู่มหาวิทยาลัย บางช่วงผมตั้งใจเลยว่า จะอ่านเทศน์ของพระอาจารย์ที่ผมเคารพวันละ 1 กัณฑ์เป็นอย่างน้อย แต่เมื่อมาทำงานก็ไม่มีเวลาที่จะอ่านหรือฟังให้จบกัณฑ์ ผมจึงคัดลอกธรรมะที่ถูกจริตตัวเอง  ความยาวประมาณ 10 หน้า มาพิมพ์และเย็บเล่ม  ตอนนั่งรอรถหรือมีโอกาสเหมาะก็หยิบมาอ่านได้ทันที ซึ่งผมก็ถือว่าเป็นการ ฟังธรรม,สาธยายธรรม  และ ใคร่ครวญธรรม ตามที่พระพุทธเจ้าสอน แม้ว่าจะไม่ได้เข้าวัดก็ตาม 

หนังสือธรรมะที่ผมทำเพื่อตัวเองนำมาจาก บทสวดมนต์บางบท, บทกลอนธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาส และคำสอนของหลวงพ่อชา
ถ้าท่านต้องการดูก็คลิกลิงค์นี้เพื่อดาวน์โหลดได้เลยครับ

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ถ้าท่านรู้สึกว่าน่าจะต้องเริ่มอ่านธรรมะทุกวัน โดยหาหนังสือธรรมะที่เหมาะกับตัวท่านเอง หรือคัดลอก-เย็บเล่มหนังสือธรรมะที่เหมาะกับตัวเอง พกติดตัวไว้อ่าน  ผมก็ขออนุโมทนาด้วยครับ

พิพัฒน์
e4thai@live.com

7 ความคิดเห็น:

  1. น่าอนุโมทนามากครับ ธัมมัสสวนะ การฟังธรรม เป็นกุศลประการหนึ่ง ทุำกวันนี้สะดวกมากครับ ไม่ว่าจะฟังธรรม จะอ่านหนังสือธรรมะ ขอเพียงแต่สละเวลานิดหนึ่งเปิดใจที่จะรับฟัง รับรู้ เพราะเรามีอินเตอร์เน็ต เรียกว่า ธรรมเดลิเวอร์ลี แต่ก่อนผมติดใจอ่านหนังสือธรรมเล่มหนึ่งคือ "แก่นพุทธศาสน์" อ่านประมาณร้อยกว่ารอบได้ ยิ่งอ่านยิ่งใจสงบ ยิ่งได้แนวคิดดี ๆ เพิ่มทุกวัน ในรอบวันลองใช้เวลาอ่านธรรมะกันเถอะครับ เราจะได้สิ่งดี ๆ ขึ้นอีกเยอะเลย

    ตอบลบ
  2. อ่าน "แก่นพุทธศาสน์" อ่านประมาณร้อยกว่ารอบ
    ขอแสดงความนับถือมาก ๆ ครับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ5 กันยายน 2554 เวลา 13:04

    อนูโมทนา สาธุ ค่ะ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ6 กันยายน 2554 เวลา 10:20

    อนุโมทนา สาธุ ค่ะ

    ท่านพุทธทาส ทำให้รู้จักพระุพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
    สอนให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
    หลวงพ่อชา สอนให้เห็นตามความเป็นจริง โดยการเปรียบเทียบเปรียบเปรย

    ทั้ง 2 ท่านเปรียบเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่เคารพ ศรัทธา

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ6 กันยายน 2554 เวลา 10:25

    อยากจะแนะนำหนังสือ "ทะเลความรู้" ของ ศ.ศิลาแลง (พ.อ.หลักแก้ว อัมโรสถ)เป็นหนังสือที่ดีมาก ลองอ่านดูนะครับ หรือจะดาวน์โหลดเก็บก็ได้ที่ http://lakkaew.com/bookname.php

    ...สิทธิศักดิ์

    ตอบลบ
  6. พระทินวัฒน์ เขมาภิรโต29 กันยายน 2554 เวลา 17:46

    เจริญพร คุณโยมทั้งหลาย
    อ่านธรรมะ ฟังธรรมะ ข้างนอกแล้ว อย่าลืม!โอปนยิโก
    คือกลับเข้ามาอ่านธรรมะภายในและฟังธรรมะภายในด้วยนะคุณโยม พูดอย่างนี้บางคนอาจจะงง
    แต่คุณโยมพิพัฒน์คงไม่งงแน่
    ให้คุณโยมพิพัฒน์ช่วยเพื่อนร่วมโลกด้วยการแสดงความเห็นหรือแนวความคิดหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า"วิชชั่น"น่าจะดีกว่าอาตมาเยอะเลย
    ด้วยความหวังดี
    เจริญพร

    ตอบลบ
  7. ท่านอาจารย์ครับ
    มีธรรมะอันใดเพิ่มเติมก็นิมนต์แสดงเพื่อความเอ็นดูต่อสาธุชนด้วยนะครับ
    พิพัฒน์

    ตอบลบ