สวัสดีครับ
ความตั้งใจอย่างหนึ่งของผมในการทำบล็อกนี้ขึ้นมาก็คือ หาเครื่องมือที่ช่วยเหลือท่านผู้อ่านในการเรียนภาษาอังกฤษให้สำเร็จ โดยให้เรียนได้อย่างสนุก และ สะดวก ไม่ว่าจะเป็นการฟัง พูด อ่าน หรือเขียน
ในเรื่องการอ่านก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะว่าถ้าเราอ่านรู้เรื่อง ก็จะช่วยลดความยากลำบากในการฟัง พูด เขียน ลงไปด้วย แต่อะไรคือปัญหาของการฝึกอ่าน ทำไมคนไทยหลายคนจึงอ่านภาษาอังกฤษไม่ค่อยเก่ง อ่านไม่ค่อยเข้าใจ หรืออ่านได้ช้าเกินไป
เท่าที่ถาม ๆ ดู หลายคนก็บอกกันไปหลายอย่าง แต่มีอย่างหนึ่งที่พูดตรงกันคือ อ่านไม่รู้เรื่องเพราะไม่รู้ศัพท์ ถ้ารู้ศัพท์ก็รู้เรื่อง
จากประสบการณ์ของผม เมื่ออ่านอะไรก็ตามและเจอศัพท์ที่ไม่รู้ความหมาย ผมจะทำ 4 อย่างตามลำดับจากก่อนไปหลังดังนี้
1. เดา
พยายามอ่านและเดา อ่านเนื้อเรื่องที่พอรู้อยู่บ้างและเดาว่าศัพท์ที่ไม่รู้มันควรจะแปลว่าอะไร คำที่ไม่รู้นี้บางคำก็ไม่จำเป็นต้องไปรู้มัน บางคำเดาได้เลา ๆ ก็พอแล้ว แต่บางคำต้องรู้ให้ชัดทันทีจึงจะอ่านเนื้อเรื่องต่อไปได้ คำแบบนี้แหละครับที่จำเป็นต้องเปิดดิก
[คลิกอ่านคำแนะนำในการเดาศัพท์ ที่นี่ ]
2. เปิดดิก
การเปิดดิกมีปัญหา 2 อย่าง คือ 1.ขี้เกียจเปิด-เลยไม่เปิด, และ 2.ขยันเปิดแต่ก็เปิดได้ช้าเสียเวลามาก-เลยไม่เปิด สรุปก็คือไม่ว่าจะขี้เกียจหรือขยันก็ไม่เปิดดิกทั้ง 2 กรณี มีความเสมอต้นเสมอปลายในการไม่เปิดดิก ในกรณีอย่างนี้ ถ้าเดาเก่งจากข้อที่ 1 ก็พอจะมีอะไรติดมือเข้าไปสู่ขั้นที่ 3 แต่ถ้าเดาไม่เก่งและดิกก็ไม่เปิด ก็เหมือนต้องต่อสู้กับศัตรูด้วยมือเปล่า แต่กลับไม่รู้ว่าต้องใช้มือเปล่าอย่างไรในการต่อสู้ มือเปล่านี้ใช้เป็นอย่างเดียวคือตบยุง อย่างนี้ก็แย่หน่อย
3. เลือกความหมาย
สมมุติว่ายอมลงทุนเปิดดิก เช่น เพราะไม่รู้ว่า take แปลว่าอะไร หลังจากที่เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปมาห้าสิบตลบก็เดินทางไปถึงหน้าที่มีคำว่า take พอถึงแล้วก็อาจจะเกิดความงงขึ้นมาในบัดนาว เพราะ take ตัวเดียวอาจจะมีถึง 20 – 30 ความหมาย แล้วความหมายไหนล่ะที่เหมาะกับเรื่องที่อ่าน ยังไม่ทันหายเมื่อยสองมือจากข้อ 2 ก็ต้องมาเมื่อยสมองในข้อ 3 นี่อีก
4.ตีความหมาย
เวรกรรมยังคงตามมาติด ๆ ต้องเอาความหมายของ take ที่เลือกมาอย่างดีนี้วางลงไปในเนื้อเรื่องที่อ่านแล้วดูว่าพอแปลแล้วมันเข้าท่าเข้าทางหรือเปล่า หลายครั้งความหมายที่เราเลือกมานี้ก็ใช่อยู่หรอก แต่เราก็ยังต้องตีความอีกให้เข้าใจ “เข้าใจ” แปลว่า “เข้าไปในใจ” คือ รู้เรื่อง
พูดมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การจะอ่านและรู้เรื่องต้องมีความอึดต่อเนื่อง ถ้ายอมแพ้ก็จะแย่พร้อม ไม่ก้าวหน้าไปไหน
ที่พูดมาเป็นคุ้งเป็นแควได้อย่างนี้ก็เพราะผมเอาตัวอย่างของตัวเองนี่แหละครับมาคุย ผมก็เลยมีความคิดว่า ถ้าเราไม่หมดแรงซะก่อนในขั้นตอนที่ 2 คือเปิดดิก เราก็น่าจะมีแรงเหลือสำหรับขั้นตอนที่ 3 คือเลือกความหมาย และขั้นตอนที่ 4 ตีความหมาย
บุญกรรมคงทำมาดีพอสมควรครับ ผมจึงได้รับความช่วยเหลืออย่างดียิ่งจากคุณ วัชรเมธน์ ชิษณุคุปต์ ศรีเนธิโรทัย ซึ่งเป็น webmaster ของเว็บ http://www.select2web.com/ ที่เว็บนี้คุณวัชรเมธน์ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการเขียนเว็บ และเขียนบทความสอนการทำเว็บ น่าสนใจอย่างมากเลยครับ
คุณวัชรเมธน์เคยช่วยตอบหลายปัญหาที่ผมหาผู้ช่วยตอบ หลังจากที่ช่วยผมหลายครั้งแล้วคุณวัชรเมธน์ก็ยังใจดีอนุญาตให้ผมถามปัญหาที่ผมไม่รู้ เจอคนมีน้ำใจอย่างนี้ผมก็เลยไม่เกรงใจ และบอกคุณวัชรเมธน์ไปว่า
ผมต้องการให้คุณวัชรเมธน์ช่วยเอาดิกอังกฤษ – ไทย, ไทย – อังกฤษ มาแปะไว้ที่บล็อกนี้ เมื่อดับเบิ้ลคลิกที่ศัพท์อังกฤษก็มีหน้าต่าง pop-up โชว์คำแปลภาษาไทย, และเมื่อดับเบิ้ลคลิกที่ศัพท์ภาษาไทยก็มีหน้าต่าง pop-up โชว์คำแปลภาษาอังกฤษ พูดง่าย ๆอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ผมต้องการหาคนช่วยเปิดดิกอย่างรวดเร็วให้ท่านผู้อ่าน ส่วนการเลือกความหมายและการตีความหมายก็ให้ท่านผู้อ่านทำต่อเอาเองแล้วกัน
* * * * *
ก่อนที่ท่านจะอ่านต่อไป ผมขอเรียนว่าคุณวัชรเมธน์ได้ช่วยทำดิกที่ว่านี้ให้เรียบร้อยแล้ว ขอเชิญท่านลองใช้งานก่อนได้เลยครับ โดยดับเบิ้ลคลิกที่ 2 คำนี้ [ Hello และ สวัสดี ] หรือคำใด ๆ ก็ได้ ในหน้าไหนก็ได้ ของบล็อกนี้
* * * * *
ผมยังบอกความฝันของผมให้คุณวัชรเมธน์ฟังอีกว่า ผมจะเปิดบล็อกย่อยขึ้นมาใหม่อี ก 1 บล็อก คล้าย ๆ กับเป็นห้องอ่านหนังสือ online แต่มันจะต่างจากเว็บที่คนอื่นเขาทำ คือ ให้ท่านผู้อ่านถือหนังสือภาษาอังกฤษเข้าไปอ่านในบล็อกนี้ และผมจะช่วยเปิดดิกให้อย่างรวดเร็วไม่ว่าท่านผู้อ่านจะถามศัพท์คำว่าอะไรก็ตาม
ผมพูดจริง ๆ ครับ ไม่ได้พูดเล่น ก็คือว่า เมื่อท่านผู้อ่านเข้าไปในบล็อกนี้แล้ว ให้ถือหนังสือเข้าไปด้วย ซึ่งหมายความว่า ให้ท่าน copy ข้อความภาษาอังกฤษจากเว็บหรือจากที่ไหนก็ได้ เอาไป paste ในช่อง post a comment ในห้องอ่านหนังสือห้องใดห้องหนึ่งในบล็อกย่อยที่ผมสร้างขึ้นมา (ใส่ชื่อเรื่องและแหล่งที่มาด้วยก็ดีครับ) และคลิก PUBLISH YOUR COMMENT
หลังจากนี้มีอะไรเกิดขึ้นครับ
1. เนื้อหาที่ท่านเอาไป copy ไว้นั้น เมื่อท่านอ่านและพบคำศัพท์ที่ไม่รู้ ท่านสามารถดับเบิ้ลคลิกและจะมีคำแปลเป็นภาษาไทยโผล่ขึ้นมาให้ท่านเห็นทันที ท่านสามารถคลิกเพื่อฟังเสียงและเปล่งเสียงตามได้ด้วย เรียกว่าได้ฝึกทั้งอ่าน ฟังเสียง ออกเสียง three – in – one พร้อมกันไปเลย หรือท่านจะ copy ภาษาไทยมา paste ใส่ลงไปก็ได้ เมื่อดับเบิ้ลคลิกก็จะได้คำแปลเป็นภาษาอังกฤษ
2. ส่วนคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนกันหรือคนอื่น ๆ ที่เข้าไปในห้องนั้นก็สามารถเข้าไปอ่านได้ หรือ post เพิ่มเติมด้วยก็ยิ่งดี เรียกว่างานนี้ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว
เครื่องมือที่คุณวัชรเมธน์ช่วยสร้างขึ้นมานี้ ผมลองใช้ด้วยตัวเองจนคล่องมือแล้ว ในระยะแรกก็มีขลุกขลักอยู่นิดหน่อย เช่น
-ดับเบิ้ลคลิกแล้ว คำแปลไม่ pop – up ปุ๊บ – ปั๊บ ดังใจ ผมขอให้ท่านลองเล่นไปสักพักนึงนะครับ แล้วจะรู้จังหวะเล่นได้คล่องขึ้นเอง
-รู้สึกว่า คลิกศัพท์ภาษาอังกฤษให้แปลไทยจะทำได้ดีกว่า คลิกคำไทยให้โชว์ศัพท์อังกฤษ บางครั้งคำภาษาไทยกลายเป็นตัวยึกยืออ่านไม่ออก วิธีแก้ก็ง่าย ๆ ครับ ท่านปิดโดยคลิก x ที่มุมบนขวาของหน้าต่างคำศัพท์แล้วคลิกคำเดิมใหม่ ศัพท์ไทยบางตัวอาจจะดื้อต้องทำอย่างนี้ 2-3 ครั้ง แต่ถ้าเราตื๊อก็สู้เราไม่ไหวหรอกครับ ต้องแปลให้เราจนได้
-ศัพท์ไทยหลายคำที่เป็นคำประสมกัน เช่น แนะนำ พอเราดับเบิ้ลคลิกแล้วกลับแปลคำว่าแนะหรือนำเท่านั้น ไม่ยอมแปลควบแนะนำ อย่างนี้ก็พิมพ์เพิ่มเอาหน่อยในหน้าต่างคำแปลนั้นแล้วกันครับ (แต่บางครั้งเวลาใจดี มันก็ยอมแปลให้ครับ)
-ศัพท์บางคำเราอาจจะต้อง ตัดอักษรห้อยท้าย เช่น –ed, -d, -es, -s, -ing, ฯลฯ ออกแล้วคลิกให้แปลใหม่
สุดท้ายที่ขอเรียนแจ้งในวันนี้ก็คือ คุณวัชรเมธน์ได้เขียนอธิบายการใช้งาน click dictionary ตัวนี้อย่างละเอียด เรียบร้อยแล้ว สำหรับทั้งเว็บมาสเตอร์ บล้อกเกอร์ คนทั่วไป พร้อมแสดง live demo และตัวอย่างการใช้งาน ที่ลิงค์นี้ครับ
http://sites.google.com/site/dictionarybox/
โดยเฉพาะที่แสดงการใช้งานสำหรับคนทั่วไปนั้นมีประโยชน์มาก ท่านสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องมาที่บล็อกนี้ คำชี้แจงทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้ผมมุ่งท่านผู้อ่านที่ไม่ค่อยคล่องเรื่องคอมฯครับ
เอาละครับ เชิญไปที่บล็อกใหม่ที่ผมทำขึ้นเพื่อใช้เป็น Reading Room ที่มี double-click dictionary ไว้ให้บริการ เชิญได้เลยครับ ที่นี่ http://reading-room-e4thai.blogspot.com/
พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com
ตอนนี้บล๊อกนี้สุดยอดจริงๆครับ ลุงพิพัฒน์
ตอบลบ