สวัสดีครับ
มีอย่างหนึ่งที่ผมขอเรียนท่านผู้อ่านก็คือ ทุกเว็บ ทุกไฟล์ ทุกโปรแกรม ที่ผมนำมาแนะนำในบล็อกนี้ ผมทำหน้าที่เป็นพนักงาน QA หรือ Quality Assurance (ตรวจสอบคุณภาพ) มาแล้ว กล่าวคือ ผมได้ลองอ่าน ลองฟัง ลองเล่น ลองฝึก ลอง ฯลฯ มาแล้ว ไม่มากก็น้อย ถ้าผมพอใจจึงจะเอามาแนะนำ ถ้าไม่พอใจก็จะไม่ยอมเอามาแนะนำครับ
วันนี้ผมพบไฟล์ฝึก listening ที่น่าพอใจ 1 ชุด ชื่อ Reading Challenge จึงขอนำมาแนะนำครับ
ไฟล์ชุดนี้มี 3 ระดับ ทุกระดับมี mp3 สั้น ๆ ให้ฟัง 20 เรื่อง ๆ ละไม่เกิน 2 นาที และมีแบบฝึกหัดให้ฝึกทำด้วย มีประโยน์ – น่าฝึก – และน่าสนใจมากทีเดียวครับ
แต่ก่อนที่ท่านจะดาวน์โหลดไฟล์ mp3 และ pdf ข้างล่างนี้ ผมขอคุยด้วยนิดนึงนะครับ
ผมว่าการฟังนี่เป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับการฟัง เพราะคนไทยที่ศึกษาภาษาอังกฤษในโรงเรียนของไทยซึ่งรวมผมด้วยคนหนึ่ง มักจะคุ้นเคยกับ grammar-reading มากกว่า listening-conversation-writing เพราะฉะนั้น หลายท่านเมื่อโตขึ้นและทำงาน และจำเป็นต้องพูดคุยติดต่อกับฝรั่ง ทักษะที่ต้องใช้มากคือ listening-conversation-writing นั้นเราฝึกมาน้อย ส่วนทักษะที่ต้องใช้น้อย คือ grammar-reading เรากลับฝึกมามาก ดูไปก็ยังไง ๆ อยู่พิกล
แต่เอาเถอะ อดีตนั้นแม้สำคัญแต่ปัจจุบันสำคัญกว่า หากวานนี้ขาด listening-conversation-writing ก็เติมให้มันครบซะในวันนี้ก็แล้วกัน เราไม่สามารถเติมอดีตที่พร่องให้ปัจจุบันเต็ม แต่เราสามารถเติมปัจจุบันที่ยังไม่เต็มให้อนาคตไม่พร่อง และต้องเติมในวันนี้เท่านั้น
แต่ปัญหาที่หลายคนอาจจะเจอก็คือ มันเบื่อครับ พูดกับฝรั่งไม่รู้เรื่องเพราะฟังไม่รู้เรื่อง ถ้าฟังรู้เรื่องก็พอจะกล้าพูดบ้าง และเมื่อฝึกฟังทีไรก็ไม่รู้เรื่องสักที มันก็เลยเบื่อและเลิกฝึก
ที่น่าชมก็คือ หลายท่านมีความ “อึด” สูง ทนฝึกไปได้เรื่อย ๆ แม้จะเบื่อ และอาจจะถามตัวเองว่า นี่เราจะต้องทนไปอีกนานแค่ไหนจึงจะฟังรู้เรื่อง เลยต้องทนฝึกไปเรื่อย ๆ และรอวันที่ฉันไม่ต้องทนซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมาถึงวันไหน
ผมขอเรียนท่านผู้อ่านว่า อย่าทนอยู่อย่างนี้เลยครับ เพราะชีวิตคนเรามันสั้น ทำไมต้องทนอะไรกันนักหนา ไม่กี่ปีก็ตายแล้ว พูดอย่างนี้แปลว่าผมแนะให้อยากเรียนก็เรียน ไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องเรียน ไม่ต้องฝืนใจให้เป็นทุกข์ ผมแนะนำอย่างนี้หรือครับ?
มิได้ครับ ไม่ใช่เด็ดขาด ผมไม่ได้แนะนำอย่างนั้น แต่ผมกำลังบอกท่านว่า ในการเรียนภาษาอังกฤษนั้น ให้ฝึกโดยไม่ต้องฝืน ให้ทนโดยไม่ต้องทุกข์ ท่านอาจจะถามว่า แล้วจะต้องทำกันยังไงล่ะเนี่ย?
ก่อนที่จะคุยต่อไปผมขอชวนทุกท่านเข้าวัดสักเดี๋ยวนึงนะครับ หลายท่านคงจะเคยอ่านตอนนี้มาบ้าง คือตอนที่พระโมคคัลลานะ มหาสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าทำความเพียรแล้วเกิดความง่วง ทนอ่านสักนิดให้จบนะครับ
หลังจากอุปสมบทแล้ว ๗ วัน ได้ไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แขวงมคธ เกิดความอ่อนใจนั่งโงกง่วงอยู่ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่น ทรงสั่งสอน และแสดงอุบายสำหรับระงับความง่วง ๘ ประการ คือ
๑. โมคคัลลานะ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไร ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ เธอควรทำในใจถึงสัญญานั้นให้มาก จะละความง่วงนั้นได้
๒. หากยังละไม่ได้ เธอควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ตนได้ฟังและได้เรียนมาแล้วด้วยใจของเธอเอง จะละความง่วงได้
๓. หากยังละไม่ได้ เธอควรสาธยายธรรมตามที่ตนได้ฟังและได้เรียนมาโดยพิสดาร จะละความง่วงได้ ๔. หากยังละไม่ได้ เธอควรยอนหูทั้งสองข้างและลูบด้วยฝ่ามือ จะละความง่วงได้
๕. หากยังละไม่ได้ เธอควรลุกข้นยืน ลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ จะละความง่วงได้
๖. หากยังละไม่ได้ เธอควรทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือความสำคัญในแสงสว่าง ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในใจ ให้เหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน มีจิตใจแจ่มใสไม่มีอะไรห่อหุ้ม ทำจิตอันมรแสงสว่างให้เกิด จะละความง่วงได้
๗. หากยังละไม่ได้ เธอควรอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายว่าจะเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่คิดไปภายนอก จะละความง่วงได้
๘. หากยังละไม่ได้ เธอควรสำเร็จสีหไสยาสน์ คือนอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ตั้งใจว่าจะลุกขึ้น พอเธอตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้น ด้วยการตั้งใจว่าจะไม่ประกอบสุขในการนอน จะไม่ประกอบสุขในการเอนหลัง จะไม่ประกอบสุขในการเคลิ้มหลับ
ที่มา
เมื่ออ่านเรื่องของพระโมคคัลลานะจบแล้ว ผมได้ข้อสรุปง่าย ๆ 2 ประการ คือ
[1] วิธีทั้ง 8 วิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้แก้ง่วงนี้ มีทั้งวิธีแก้ง่วงที่ใช้ใจ (ข้อ 1, 2, 6), ใช้วาจา (ข้อ 3) และใช้ร่างกาย (ข้อ 4, 5, 7, 8) เป็นลำดับจากละเอียดไปหาหยาบ ผมเองบางครั้งทำสมาธิพอง่วงขึ้นมาก็ใช้วิธีสุดท้ายเลย คือข้อ 8 แต่ก็ใช้อย่างไร้มาดอันงดงาม คือนอนเลย ไม่ได้ทำตามเงื่อนไขที่พระพุทธเจ้าวางไว้ (คืออะไร? ลองเลื่อนขึ้นไปอ่านดูอีกครั้งก็ได้ครับ)
[2] พระพุทธเจ้าไม่ปล่อยให้ทำสมาธิไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังง่วงอยู่ ทรงแนะวิธีมีขั้นตอนตามลำดับเพื่อแก้ไขให้หายง่วงซะก่อน จึงค่อยนั่งลงทำสมาธิโดยไม่ง่วง
ผมเห็นว่าหลักการที่พระพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะให้ขจัดความง่วงก่อนนั่งสมาธิ น่าจะเป็นหลักการเดียวกันกับเรื่องภาษาอังฤษที่เรากำลังพูดถึง คือ ให้ขจัดความเบื่อก่อนที่จะฝึกภาษาอังกฤษ อย่าทนฝึกไปด้วยใจเบื่อ
เพราะว่าอะไรหรือครับ ก็เพราะว่า
1.เมื่อความเบื่อยังค้างหรือคับอยู่ในใจ มันจะบล็อกหรือแย่งเนื้อที่ของใจ จนทำให้ความจำ – ความรู้ – ความเข้าใจ ในภาษาอังกฤษ เกิดขึ้นได้ยาก ฝึกไปก็ไร้ผล หรือได้ผลน้อย
2.เมื่อยิ่งไม่ได้ผล ใจก็ยิ่งเป็นทุกข์ เสียทั้งเวลา เสียทั้งอารมณ์
และวิธีที่จะขจัดความเบื่อให้ออกไปจากใจจะทำยังไงล่ะครับ? ผมขอยืมศัพท์ที่คนสมัยใหม่ชอบใช้ คือ ต้องมีการ “บิลด์อารมณ์” ให้หายเบื่อหายเซ็งซะก่อน เช่น
[1]พูดอะไรก็ได้สักหลาย ๆ ประโยคออกมาเสียงดัง ๆ (เน้น! ต้องเสียงดัง ๆ) ถ้าจะให้ดี น่าจะเป็นกำพูดที่ปลุกปลอบใจ หรือให้กำลังใจตัวเอง เป็นคำขวัญ หรือ slogan, motto อะไรทำนองนั้น
[2]คิดให้ชัดเจนถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเก่งภาษาอังกฤษมากกว่าปัจจุบัน และเชื่อตัวเองว่า เราต้องทำได้
[3]หัวเราะไล่ความเบื่อ เมื่อเห็นความเบื่อที่เกิดขึ้นในใจ ให้รู้เท่าทัน และหัวเราะดัง ๆ ไล่มันไป ให้ทำกับความเบื่อเหมือนทำกับแขกที่เราไม่ต้อนรับที่มาเยือนบ้านเราโดยเราไม่ได้เชิญ เราอย่าไปยกน้ำหรือกาแฟมาเสิร์ฟแขกคนนี้ คืออย่าไปอ้อยอิ่งกับความเบื่อที่เกิดขึ้น ตัดบทความเบื่อเหมือนตัดบทคนที่มาตี๊อขายของแต่เราไม่ต้องการซื้อ
[4]นั่งหลับตา สงบใจสักเดี๋ยวนึง คิดถึงแต่สิ่งดี ๆ
-นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ถ้าวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผล ท่านต้องหาวิธีอื่นเอาเอง
เอาแหละครับ เชิญดาวน์โหลดไฟล์ดี ๆ เพื่อฝึก listening skill ได้เลยครับ
Reading Challenge 1 [1].zip
Reading Challenge 1 [2].zip
Reading Challenge 1 Exercises.zip
Reading Challenge 2 [1].zip
Reading Challenge 2 [2].zip
Reading challenge 2 Exercises.zip
Reading Challenge 3 [1].zip
Reading Challenge 3 [2].zip
Reading Challenge 3 Exercises.zip
ศึกษาเพิ่มเติม:
[1006] บัญญัติ 10 ประการของการฝึกฟังภาษาอังกฤษ
พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com
ขอบคุณคุณพิพัฒน์มาก ๆ เลยค่ะ
ตอบลบขอบคุณมากๆค่ะ
ตอบลบdown load มาแล้วดีมากๆเลยค่ะ แต่อยากรบกวนถามคุณพิพัฒน์ค่ะว่า จะหัดทำแบบฝึกหัดอย่างไร เพราะไม่เห็นมีคำถามมาให้ มีแต่ answer key มาให้
ขอบคุณค่ะ
เล็ก
คุณเล็กครับ
ตอบลบผมหาได้เท่าที่ให้ดาวน์โหลดเท่านั้นเองครับ - พิพัฒน์