สวัสดีครับ
วันที่ 10 – 19 พฤศจิกายน 2551 นี้ ผมเดินทางร่วมคณะเยาวชนไทยซึ่งไปแข่งขันฝีมือแรงงานระดับอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย
การแข่งขันฝีมือแรงงานก็คล้าย ๆ กับการแข่งขันอื่น ๆ เช่น เกี่ยวกับวิชาเคมี ฟิสิกส์ ที่เราส่งเยาวชนไทยไปแข่งขันที่ต่างประเทศ แต่การแข่งที่มาเลเซียนี้เป็นการแข่งขันฝีมือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า skill โดยผู้แข่งต้องมีอายุไม่เกิน 22 ปี
ใน 10 ปีที่ผ่านมานี้ ผมเคยเดินทางไปร่วมการแข่งขันฝีมือมาหลายครั้งแล้ว ทั้งระดับอาเซียนและนานาชาติ แต่การแข่งขันที่เพิ่งเสร็จสิ้นเมื่อวานนี้เป็นการแข่งขันที่เด็กไทยเรารวมทั้งผู้ใหญ่คึกคักที่สุด – เชียร์ดังที่สุด ในพิธีปิดซึ่งมีการมอบเหรียญรางวัล จะเรียกว่าเราเป็นแชมป์ครั้งนี้ก็ได้ครับ เพราะเราได้รับรางวัลเท่า ๆ กับเจ้าภาพจากการส่งเข้าแข่งขัน 16 สาขา ในขณะที่เจ้าภาพส่งแข่งขันครบ 19 สาขา
คลิกอ่านรายละเอียด 1 2 3
สำหรับท่านผู้อ่านบล็อกนี้ ผมขอเก็บเรื่องเกี่ยวกับภาษาอังกฤษมาเล่าแล้วกันนะครับ เป็นเรื่องที่ไม่มีการรายงานในเนื้อข่าวตามปกติ
ในงานนี้ผมไปในฐานะผู้ประสานงาน หรือ coordinator ซึ่งแปลว่าต้องพูดมากหน่อย และเพื่อให้ผมเองไม่สับสนในการเล่า และท่านไม่สับสนในการการฟัง ผมขอแบ่งการเล่าที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษเป็น 2 ข้ออย่างนี้ครับ
1. ขณะที่ผมอยู่ในห้องประชุม
2. ขณะคุยกับเจ้าหน้าที่ของประเทศเจ้าภาพ และคนที่มาจากประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน
* * * * *
1. ขณะที่อยู่ในห้องประชุม
ก่อนการแข่งขัน (11-13 พย.)มีการประชุมเพื่อกำหนดกฎ กติกา มารยาท ทางเทคนิคที่จะใช้ในช่วงวันแข่งขัน (14-16 พย.) และหลังการแข่งขัน (17-18 พย.)ก็มีการประชุมเพื่อประมวลและตัดสินผลการแข่งขัน
ผมสังเกตว่า ในการประชุมครั้งนี้หรือการประชุมครั้งอื่นที่ผมเคยเข้าประชุมซึ่งมีแต่คนจากประเทศกลุ่มอาซึยน 10 ประเทศ ชาติที่คนพูดภาษาอังกฤษเก่งก็คือมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และฟิลิปปินส์ ส่วนที่เหลืออีก 6 ชาติคือ ไทย ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย พูดภาษาอังกฤษเก่งน้อยกว่า มีข้อสังเกตว่าชาติที่เคยเป็นเมืองขึ้นประเทศอังกฤษจะเจริญมากกว่าและพูดภาษาอังกฤษได้เก่งกว่า ชาติที่เคยเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส
เมื่อเปรียบเทียบกับการประชุมของเวที WorldSkills ซึ่งเป็นเวทีแข่งขัน Skill ระดับนานาชาติ เวลาที่คนอาเซียนประชุมกันด้วยภาษาอังกฤษ จะใช้ศัพท์และรูปแบบประโยคที่ง่ายกว่า พูดช้ากว่า และสำหรับคนที่ไม่ค่อยเก่งอย่างผม... จึงฟังได้รู้เรื่องมากกว่า ส่วนเวทีการแข่งขันฝีมือระดับโลกหรือ WorldSkills นั้น เขาจะมี headphone ให้เลือกฟัง 3 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ผมเลือกฟังภาษาอังกฤษ ก็เห็นชัดเลยว่า เวทีระดับโลกอย่างนั้นเขาพูดเร็วกว่า และใช้สำนวนภาษาที่ยากกว่า ถ้าเราฟังรู้เรื่องก็ฟัง ถ้าเราฟังไม่ค่อยรู้เรื่องก็ต้องทำอะไรสักอย่างหรือหลายอย่างให้รู้เรื่องให้ได้ เช่น ศึกษาเอกสาร คุยกับคนที่สามารถช่วยให้เรารู้เรื่อง หรือวิธีอื่น ๆ แต่วิธีที่ไม่ควรทำอย่างเด็ดขาดคือ ซื้อเทียนมา 1 เล่มหรือหลายเล่ม จุดเทียนและหลับตาขณะเขียน Report หรือรายงานเพื่อส่งให้ผู้บังคับบัญชาอ่าน วิธีนี้เป็นวิธีที่อันตรายเกินไป
ในการประชุมนี่นะครับ ผู้เข้าประขุมมีหน้าที่ 3 อย่าง คือ ฟัง – พูด – และจด
เฉพาะเรื่องการพูด นอกจากพูดเนื้อหาให้คนฟังเข้าใจแล้ว ถ้าเก่งถึงขั้นพูดให้คนจับใจได้ยิ่งดี เพราะเพียงเข้าใจก็สำเร็จผลเพียงแค่คนฟังรู้เรื่อง แต่ถ้าพูดแล้วจับใจก็จะได้ผลสำเร็จสูงขึ้นไป คือคนฟังจะคล้อยตาม ที่พูดเช่นนี้พูดง่าย แต่ทำคงไม่ง่ายเหมือนพูด แต่ถ้าพยายามก็คงทำได้ไม่มากก็น้อย ถ้ารักที่ฝึก(ฉันทะ) พยายามฝึก(วิริยะ) ไม่วอกแวกขณะฝึก(จิตตะ) และปรับปรุงการฝึกอยู่เป็นนิตย์(วิมังสา)
ในห้องประชุมงวดนี้ ผมโชคดีที่มีผู้บังคับบัญชาที่เป็นแบบอย่างให้ศึกษา เช่น ควรจะพูดมากพูดน้อยขนาดไหน พูดยังไง สั้น-ยาวขนาดไหน ใช้ภาษาอย่างไร พูดเวลาใด ไม่ควรพูดเวลาใด ผมเพียงฟังและให้ความเห็นเล็ก ๆ น้อย ๆ ถือว่าเป็นการเรียนรู้งานไปในตัว
ไอ้เรื่องฟังเขาพูดและเราไม่รู้เรื่องนี่นะครับ ผมแพ้พวกแขกอินเดียครับ แม้พยายามเปิดรูหูให้กว้างที่สุดและทำใบหูให้กางที่สุด แต่บ่อยครั้งที่ยังไง ๆ ก็ไม่รู้เรื่อง มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเปิดปากพูดกับแขกคนที่สนิทด้วย คือผมพูดออกไปว่า “I found that your accent is…” แล้วผมก็หยุดนิดนึงเพื่อจะพูดต่อไปว่า “… difficult to understand” แต่ยังไม่ทันที่จะพูดต่อ พี่บังแกก็พูดต่อให้เองว่า “clear” ผมอ่านสายตาเขาและก็เห็นว่าเขารู้สึกอย่างที่เขาพูดจริง ๆ ผมก็เลยต้องหยุดและยิ้ม เออ! clear ก็ clear วะ
ถ้าท่านฟังแขกพูดในครั้งแรก ๆ แล้วไม่รู้เรื่องนี่นะครับ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดามาก แต่ถ้าฟังปุ๊บและรู้เรื่องปั๊บ นี่ซีครับแปลก ลองส่องหน้าที่กระจกเงาและมองให้ชัด ๆ ซีครับว่าท่านมีแววเป็นอาบังหรือสาวแขกอยุ่ในใบหน้าบ้างหรือเปล่า เพราะเมื่อชาติที่แล้วท่านอาจจะเกิดเป็นแขกก็ได้ ผมเองเคยได้รับทุนรัฐบาลอินเดียไปอบรมที่รัฐทมิฬนาดูทางตอนใต้ของอินเดีย ต้องใช้เวลาหลายวันทีเดียวครับกว่าจะฟังแขกรู้เรื่อง และต้องพยายามไปนั่งหน้าห้องจะได้ฟังเสียงแรกที่รัวและเร็วชัด ๆ หน่อย
เรื่องฟังแขกพูดไม่รู้เรื่องนี่นะครับ ไม่เป็นเฉพาะคนไทยเท่านั้น ผมเคยคุยกับคนหลายชาติและก็ได้เพื่อนร่วมนินทาแขก แต่จะว่าไปฟังแขกพูดนี่ก็สนุกดีเหมือนกันครับ เพราะหลายคนไม่ใช่พูดเปล่า ยังทำมือทำไม้-โยกคอ-ส่ายหน้า จนบางครั้งเดาไม่ออกจริง ๆ ว่าที่เราพูดเสนอออกไปนี่อีจะตอบ Yes หรือ No
ชักจะออกนอกเรื่องแล้ว ขอวกกลับนะครับ ในบล็อกนี้มีหลายลิงค์ที่ผมเคยแนะนำไว้แล้วเรื่องภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการประชุม ลองคลิกดูนะครับ อาจจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
[176] ศัพท์สำนวนอังกฤษ สำหรับการประชุม
การนำเสนอและการประชุมทางธุรกิจ
พร้อมสำหรับการประชุมหรือยัง?
การประชุมธุรกิจเป็นภาษาอังกกฤษ
การประชุมทางธุรกิจกับลูกค้า
ไปงานแข่งขันที่มาเลเซียงวดนี้ ผมมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง คือร่างสุนทรพจน์เป็นภาษาอังกฤษให้ผู้บังคับบัญชาพูดในที่ประชุม เวลาจะพูดท่านก็มักจะแก้ไขตามที่ท่านเห็นสมควร
ในการเขียนอะไรทั้งหลายแหล่เป็นภาษาอังกฤษนี่นะครับ ผมว่าการเขียนสุนทรพจน์นี่ยากที่สุด ต้องเขียนให้คนเข้าใจ จับใจ และไม่เยิ่นเย้อ คือต้องดีทั้งเนื้อหาและสำนวนภาษา พูดง่ายแต่ทำยากจังเลยถ้าท่านต้องเขียนเอง นอกจากนี้ยังต้องเขียนให้ถูกใจคนพูดอีกด้วย
ถ้าท่านต้องเขียนสุนทรพจน์ ลองเข้าไปที่ลิงค์ข้างล่างนี้ อาจจะพอมีประโยชน์บ้าง
[178] เมื่อท่านต้องเขียนสุนทรพจน์ / speech
http://tinyurl.com/6fd9gg
2. ขณะคุยกับเจ้าหน้าที่ของประเทศเจ้าภาพ และคนที่มาจากประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน
ผมจะไม่พูดถึงเรื่องอะไรที่เป็นทางการละครับ แต่จะพูดถึงสิ่งเรียกกันว่า “small talk” คือกับคนต่างชาติที่เพิ่งจะรู้จักกัน มีบางครั้งที่เราต้องมายืนคุยกัน นั่งโต๊ะเดียวกัน นั่งรถคันเดียวกัน ติดต่อประสานงานกัน หรืออะไรทำนองนี้ บางทีหรือบ่อยครั้งถ้าเราสามารถหาเรื่องเบา ๆ มาคุยกันได้ ก็จะเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี หรืออาจจะนำไปสู่การเป็นมิตรถาวรกับคนที่พูดต่างภาษากันก็ได้ คนที่มีความสามารถในเรื่อง small talk จึงมักจะต้องพูดได้หลายเรื่อง หรือรู้อะไรเยอะ ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรู้ลึกก็ได้ครับ คือรู้เรื่องทั่ว ๆ ไป และรู้หลาย ๆ เรื่อง และหยิบบางเรื่องมาคุยกับคนอื่น ได้อย่างเหมาะสม แต่ระวังนิดนึงนะครับถ้าให้ดี อย่าคุยเรื่องการเมืองหรือความเชื่อทางศาสนาโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ เพราะคนขัดกันง่ายเพราะเรื่องพวกนี้ มีบางคนแนะนำว่า มี 3 คำถามที่ห้ามถาม คือ 1. คุณแต่งงานหรือยัง 2. คุณมีเงินเดือนเท่าไหร่หรือมีรายได้เท่าไหร่ และ 3. คุณอายุเท่าไหร่ ผมไม่แน่ใจว่าคำแนะนำนี้ใช้ได้หรือเปล่า ท่านพิจารณาเอาเองแล้วกันครับเมื่อต้องพูดคุยกับคนต่างชาติ หรือแม้คนไทยด้วยกันก็เถอะ
จากประสบการณ์ของผม small talk นี่นะครับ ถ้า talk ได้ดี ผลดีที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ small, แต่อาจจะbig ทีเดียว แต่ small talk ก็เหมือนกับเรื่องอื่น ๆ นั่นแหละครับ คือเป็นทั้งพรสวรรค์ และพรแสวง บางคนจำ dirty joke และ clean joke ตุนเอาไว้พูดในเวลาที่เหมาะสม บางคนจดจำถ้อยคำหรือประโยคที่สร้างแรงบันดาลใจที่ฝรั่งเรียกว่า inspiration เอาไว้พูด หรือบางคนเมื่อรู้ว่าจะไปพูดกับคนชาติไหนก็อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไปของบ้านเมือง หรือวัฒนธรรม หรือเรื่องราวดี ๆ หรือเรื่องที่คนส่วนมากในชาตินั้น ๆ ภูมิใจหรือสนใจ หรือประโยคสั้น ๆ ของประเทศนั้นที่ใช้บ่อย ๆ หรือบางคนก็สะสมคำถามประเภทอะไรเอ่ย หรือ riddle ไว้เยอะ ๆ หรือบางคนก็สะสม story ที่ไม่ยาวเกินไป คือสามารถพูดจบได้ภายในเวลาอันสั้น เป็นการเปิดประเด็นให้เพื่อนร่วมโต๊ะได้ร่วมสนทนา ตัวอย่างหัวข้อ small talk พวกนี้ถ้ารู้จักพูดอย่างถูกกาละเทศะ ไม่มากไม่น้อยเกินไป จะเป็นผลดีมากต่อการผูกมิตร การเจรจาธุรกิจ หรือเรื่องอื่น ๆ และเราก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนพูดมากในกลุ่ม แต่อาจจะเปิดประเด็นที่คนส่วนใหญ่สนใจหรือสามารถที่จะร่วมพูดด้วย อย่างนี้ถ้าทำได้ดีก็ถือว่าเป็น small talk ที่เป็น big success ครับ
ลิงค์ข้างล่างนี้อาจจะเป็นประโยชน์บ้างสำหรับเรื่อง small talk
[88] เก่งภาษาอังกฤษกับการอ่านเรื่องเบา ๆ
[282] ฟิตอังกฤษกับ clean joke (พร้อมแปลศัพท์ทุกคำ)
http://www.cleanjoke.com/
[291] เรื่องแรงบันดาลใจ (inspiration)
[374] ฟังคำทักทาย ‘Hello’ ในภาษาต่าง ๆ
คำที่พูดบ่อยในหลาย ๆ ภาษา
เว็บ Reader’s Digest มีเรื่องราวมากมายให้ท่านเก็บมาพูดตอน small talk
ดาวน์โหลดหนังสือ Great Conversation & Small Talks
พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com
ยินดีต้อนรับกลับบ้านค่ะ
ตอบลบและขอบคุณนะคะ สำหรับเรื่องราวที่นำกลับมาเล่าให้ฟัง
ต้อนรับกลับบ้านนะครับคุณพิพัฒน์ ^^ คิดถึงบทความของคุณมากเลยขอรับ ปกติอ่านทุกๆวันเลย ขอบคุณเรื่องราวดีๆที่นำมาฝากจาก Malaysia นะครับ
ตอบลบดีใจมากที่กลับมาแล้ว เปิดอ่านรอคนเขียนทุกวันเลย ถ้าไม่มีบทความให้อ่านอีกคงเหมือนขาดอาหารสมองไป อยากให้รวมเล่มเป็นหนังสือขายน่าจะดี จะได้เผยแพร่สำหรับคนที่ไม่มีเนต
ตอบลบสวัสดีค่ะเข้ามาครั้งแรกแต่ประทับใจมากได้ความรู้จากที่นี่เยอะเลยตอนนี้อยู่ออสเตรเลียค่ะที่perthกดดันมากค่ะเรื่องภาษามีแต่คนเก่งๆทั้งนั้นเลย แต่ก็ไม่ยอมแพ้หรอกค่ะ สู้ สู้
ตอบลบ