วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

[1739]เรียนภ.อังกฤษด้วยความรู้สึกเฉยๆหรือไม่ชิงชัง

สวัสดีครับ

ผมเริ่มต้นนั่งลงหน้าเครื่องคอมฯเพื่อคุยกับท่านผู้อ่านในวันนี้ด้วยเรื่องที่ไม่แน่ใจว่า ควรจะคุยดีหรือไม่ เพราะว่าดู ๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่สามัญเกินไปจนไม่น่าจะต้องหยิบขึ้นมาพูด แต่ถ้าไม่พูดมันก็รู้สึกเหมือนคันใจอยากเกาแต่ไม่ได้เกา เอาอย่างนี้แล้วกันครับ ถ้าท่านอ่านไปถึงตรงไหนแล้วรู้สึกว่าเบื่อไม่อยากอ่าน ท่านหยุดอ่านได้เลยครับ

ผมขอเล่าเรื่องสมัยที่ผมเรียนจบปริญญาตรีใหม่ ๆ ช่วงตระเวณหางานที่ต้องกรอกใบสมัครนั้น ถ้ามีช่อง ความสามารถพิเศษ........ ผมจะเขียนเติมลงไปทันทีเลยว่า พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้ (แต่ตอนนั้น ก็แค่ได้ ไม่ค่อยดีเท่าไหร่หรอกครับ) ผมมานึกเปรียบเทียบว่า ถ้าผมเป็นคนหนุ่มที่กรอกใบสมัครหางานสมัยนี้ ผมสงสัยว่า นายจ้างเขายังจะถือว่าการพูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษ เป็นความสามารถพิเศษหรือเปล่า เพราะมันอาจจะกลายเป็นความสามารถธรรมดาไปแล้วที่ทุกคนต้องมี เหมือนบอกว่า สามารถใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์งานในเอกสาร WORD ได้ นี่เป็นความสามารถที่ใคร ๆ ก็เห็นว่าเป็นของธรรมดา พอ ๆ กับมีความสามารถในการใช้นิ้วจิ้มเครื่องคิดเลข หรือแม้นายจ้างบางคนจะเห็นว่า ทักษะด้านภาษาอังกฤษเป็นความสามารถพิเศษ ผมเดาว่าเขาก็คงจะมุ่งหวังอะไรมากสักหน่อย ไม่ใช่พูดเป็นแค่ เยส, โน, ฮัลโหล, โอเค สรุปก็คือ ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็รู้ว่า ภาษาอังกฤษสำคัญ ต้องเข้าใจและใช้เป็น คำถามนี้ไม่ต้องถามอีกแล้ว

แต่เมื่อผมลองถามบางคนว่า ชอบภาษาอังกฤษไหม? หลายคนตอบว่าชอบ ถ้าเป็นรุ่นน้องผมอาจจะถามต่อไปว่า แล้วได้ฝึกหรือใช้ภาษาอังกฤษบ้างหรือเปล่าล่ะ? ส่วนใหญ่คำตอบจะเป็นว่า... งานยุ่งไม่ค่อยมีเวลาฝึก หรือ งานที่ทำไม่มีโอกาสหรือไม่มีเรื่องให้ต้องใช้ภาษาอังกฤษเลย

ถ้าผมจะลองเปลี่ยนคำถาม-คำตอบ ข้างบนนี้เป็นภาษาอังกฤษ ก็น่าจะออกมาในรูปนี้

คำถาม: Do you like English?

คำตอบ: Yes, I like English.

ทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยชอบก็ยังตอบว่าชอบ


คำถาม: Do you need to use English?

คำตอบ: No, I do not need to use English.

ทั้ง ๆ ที่ภาษาอังกฤษจำเป็นต่อการใช้งานก็ยังตอบว่าไม่จำเป็น

ท่านที่หลงอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้อาจจะสงสัยว่า วันนี้ผมทะเลาะกับเพื่อนจากที่ทำงานมารึไงจึงพาลมาหาเรื่องกับท่านผู้อ่าน ไม่ใช่อย่างนั้นเลยครับ ผมจะค่อย ๆ อธิบายนะครับว่า ทำไมคำถามข้างบนถึงได้เฉลยคำตอบอย่างนั้น

ผมขอพูดข้อที่ 2 ก่อน ทั้ง ๆ ที่ภาษาอังกฤษจำเป็นต่อการใช้งานก็ยังขืนตอบว่าไม่จำเป็น ที่หลายคนตอบเช่นนี้ก็เพราะว่า เขาไม่จำเป็นต้อง ฟัง-พูด-เขียน-อ่าน ภาษาอังกฤษ เขาก็ทำงานได้ แต่ท่านผู้อ่านอย่าลืมนะครับว่า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจส่วนตัว, เป็นลูกจ้างบริษัท หรือรับราชการ งานทุกอย่างจะต้องรุกไปข้างหน้า ต้องพัฒนาก่อนถูกปัญหาบีบหรือก่อนถูกหัวหน้าสั่ง และเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เราทำงานในเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสวงหาข้อมูล ความรู้ หรือการติดต่อสื่อสาร ก็คือภาษาอังกฤษ ท่านอาจจะโต้ว่า ฉันทำงานให้ดีได้โดยไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ ด้วยความเคารพครับ ผมไม่เถึยงแต่ขอแถมว่า ท่านทำงานให้ดีกว่าได้โดยใช้ภาษาอังกฤษเข้าไปช่วย

คราวนี้ย้อนมาข้อแรก ทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยชอบก็ยังตอบว่าชอบ การที่รุ่นน้องของผมตอบว่าชอบนี้ อาจจะเพราะว่า

1.เขาชอบและก็ตอบว่าชอบ

2.เขาไม่ชอบแต่ตอบว่าชอบ เพราะเขารู้ว่าผมชอบเลยตอบเอาใจ

3. (แต่ข้อที่น่าคิดที่สุดก็คือ) เขาไม่ชอบภาษาอังกฤษ แต่ชอบประโยชน์ที่จะได้รับจากการเก่งภาษาอังกฤษ แต่สับสนเลยตอบว่าชอบภาษาอังกฤษ

ท่านผู้อ่านครับ แม้ผมเองจะทำบล็อกนี้มานาน 4 ปีแล้ว แต่ผมก็ยอมรับความจริงครับว่า มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ ที่จะให้คนทุกคนชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนกันหรือเท่ากันหมด ทั้ง ๆ ที่ภาษาอังกฤษเป็นของดีมีประโยชน์ แต่ก็ต้องมีคนทั้ง 3 ประเภท คือ ชื่นชอบ, เฉย ๆ และ ชิงชัง อะไรหรือใคร ๆ ในโลกนี้ก็มีคนรู้สึก 3 อย่างนี้ทั้งนั้นแหละครับ เพราะฉะนั้น ผมจึงมิได้มุ่งหวังว่า คนที่ชิงชังหรือเฉย ๆ ต่อภาษาอังกฤษจะเปลี่ยนใจมาชื่นชอบ เพราะมันคงยาก แต่ผมหวังว่า อย่างน้อยเมื่อรู้ว่าภาษาอังกฤษจำเป็น ท่านจะพยายามทำให้ตัวเอง เข้าใจ (เมื่อต้องอ่านและฟัง)และใช้เป็น (เมื่อต้องเขียนและพูด) ... ท่านจะพยายามฝึกภาษาอังกฤษทั้ง ๆ ที่รู้สึกเฉย ๆ หรือแม้รู้สึกชิงชังก็ตาม

ทุกวันนี้มีครูหรือโรงเรียนเยอะแยะที่รับสอนภาษาอังกฤษ หลายคนหรือหลายแห่งมีชื่อเสียงเพราะสอนสนุกและนักเรียนเข้าใจ การที่ผู้เรียนรู้สึกสนุกทำให้เขาเปิดใจ เมื่อเปิดใจก็จะเข้าใจ แต่ถ้าไม่เปิดใจหรือถึงขั้นปิดใจ ต่อให้ครูพยายามเพียงใดใจก็ไม่รับ และจะไม่เข้าใจ

เมื่อผมเป็น blogger ของ e4thai.com ผมพบว่า ความยากของการเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองผ่านเน็ต แม้จะอยู่ที่เนื้อหาภาษาอังกฤษอาจจะเป็นของยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีพื้นน้อย จึงทำให้: พยายามมาก-รู้เรื่องน้อย, และ พยายามน้อย-ไม่รู้เรื่องเลย

แต่เรื่องที่ยากกว่ากลับเป็นเรื่องของใจ คือใจที่รู้สึกเฉย ๆ หรือชิงชังภาษาอังกฤษ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เพราะจะให้เราชอบทุกวิชาคงเป็นไปไม่ได้ อย่างผมนี่ ตอนเรียนก็ไม่ชอบวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ทำยังไงก็ไม่ชอบ ผมจึงเข้าใจคนที่ไม่ชอบวิชาภาษาอังกฤษเมื่อเอาใจเราไปใส่ใจเขา

แต่เรื่องของเรื่องก็คือว่า ในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจอังกฤษและสหรัฐฯ การที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านั้นพูดภาษาอังกฤษได้ก็คงมิใช่เพราะเขารักภาษาอังกฤษ แต่เป็นเพราะการถูกฝึกฝน ความเคยชิน ความจำเป็น และการเอาตัวรอด ทำให้เขาต้องฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ภาษาอังกฤษ เปรียบง่าย ๆ ก็คือ เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ภาษาอังกฤษเป็น "วิชาบังคับ" ถ้าสอบตกก็ต้องสอบใหม่จนสอบผ่านจนได้

เรื่องสุดท้ายที่ผมขอพูดในวันนี้ก็คือ ในโลกไร้พรมแดนเช่นทุกวันนี้ ภาษาอังกฤษกลายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการเอาตัวรอดไปซะแล้ว แต่สิ่งแวดล้อมในสังคมไทยยังไม่เอื้ออำนวยให้เราได้มีโอกาสฝึกฝนจนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างเคยชิน เมื่อสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ที่เป็น "วิชาบังคับ" ไม่มีให้เรา เราก็ต้องพยายามสร้างมันขึ้นมาให้แก่ตัวเราเอง เพื่อที่เราจะได้มีโอกาสฝึกฝน เข้าใจ และใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างที่จำเป็น... ได้อย่างคนที่ "สอบผ่าน"

ถ้าท่านพยายามจริง ๆ เพราะความจำเป็นบังคับ ผมเชื่อว่าท่านก็จะประสบความสำเร็จตามที่ท่านพยายาม เพราะอย่างที่ปราชญ์ชาวจีนท่านหนึ่งว่าไว้ “ฟ้าไม่รานน้ำใจคนพยายาม

แต่ถ้าความพยายามของท่านบวกกับใจที่รัก ท่านก็จะประสบความสำเร็จอย่างที่คนที่มีความสุข อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านไม่สามารถทำใจให้รักภาษาอังกฤษได้ ก็พยายามฝึกไปด้วยใจที่เฉย ๆ ต่อภาษาอังกฤษแล้วกันครับ

ผมอยากให้ท่านได้รับความสำเร็จจากความพยายามของท่าน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้ท่านต้องทนทุกข์เพราะต้องพยายามทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ

ผมพยายามทำให้บล็อกนี้มีหลากหลายสิ่งที่ท่านสามารถหยิบเอาไปใช้ฝึกฝนภาษาอังกฤษได้โดยไม่ต้องฝืนใจมากนัก และนี่ก็คือความประสงค์ของบล็อกนี้ครับ... บล็อกสำหรับคนที่รักภาษาอังกฤษ, บล็อกสำหรับคนที่รู้สึกเฉย ๆ ต่อภาษาอังกฤษ และบล็อกสำหรับคนที่เกลียดชังภาษาอังกฤษ

พิพัฒน์

GemTriple@gmail.com

5 ความคิดเห็น:

  1. ได้อ่านบทความของคุณพิพัฒน์แล้วรู้สึกเหมือนว่า
    มีเพื่อนอีกคนที่พยายามจะเข้าใจเรา หวังดีและแนะนำสิ่งที่ดีๆให้กับเรา

    ขอบคุณคุณพิพัฒน์มากค่ะ

    ตอบลบ
  2. ใช่เลยค่ะ ฝืนมาก ทรมานจริงกับภาษาอังกฤษที่พยายามเท่าไรก็ยังไม่รู้เรื่องสักที คงเหมือนกับที่นิสิตไม่ยอมเข้าใจวิชาเคมีสักที เข้าใจนิสิตละ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณมากครับคุณ noon ความเห็นของคุณทำให้ผมนึกออกว่าผมลืมเขียนไปเรื่องหนึ่ง ลองกลับขึ้นไปอ่านที่ขีดเส้นใต้นะครับ

    ตอบลบ
  4. ใช่เลยค่ะ โลกในห้องเรียนกับโลกแห่งความเป็นจริง ที่มีความเหมือนกันอย่างไม่น่าเชื่อ แต่โลกแห่งความเป็นจริงมันยากตรงไม่มีใครมาบังคับได้ เราต้องบังคับตัวเองให้ได้

    ตอบลบ
  5. อ่านบทความนี้ของคุณพิพัฒน์แล้วก็ทำให้คิดว่า นั่นซินะ สังคม(ไทย)รอบตัวเรา มันไม่มีอะไรบีบบังคับให้เราต้องพัฒนาภาษาอังกฤษให้ได้เพื่อการงานหรืออะไรก็แล้วแต่ แม้แต่ตัวดิฉันเอง ถึงแม้มีอะไรบังคับอยู่บ้าง เช่นการเรียนในห้องที่ใช้ภาษาอังกฤษ (ที่เมืองไทย) ตัวเองก็สักแต่ว่า ทำให้แค่พอรอดตัวในการสอบหรือถูกไฟส์บังคับ เคยพยายามตั้งเป้าหลายรอบหลังจากอ่านบทความในลักษณะนี้ของคุณพิพัฒน์ สำนวนที่นึกถึงตลอดและทำให้หันกลับมาเริ่มฝึก ก็คือ การต้มน้ำในกาน้ำต้องการความร้อนในระดับหนึ่งที่สะสมมากพอ น้ำจึงจะเดือด แต่ถึงกระนั้นการฝึกของตัวเองก็ยังทำได้ไม่ต่อเนื่อง เรื่องที่ว่ามาทั้งหมด ก็ต้องลงที่ใจอย่างที่ว่า มันช่างยากในการบังคับใจจริงๆ แต่ก็จะพยายามต่อไปนะคะ ขอบคุณมากนะคะสำหรับบทความทำนองนี้ที่ช่วยกระตุ้นตัวดิฉันเองเป็นระยะ ต่อไปนี้คงต้องเป็นระยะำทำใจกับการจริงจังที่จะฝึกให้ใช้การได้ โดยเฉพาะฟังและพูดนี้คะ ขอบคุณจากใจจริงๆคะ

    ตอบลบ